พระพุทธศาสนามีข้อปฏิบัติที่ยึดทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทา หมายถึง ทางสายกลาง, ข้อปฏิบัติเป็นกลาง ๆ
ไม่หย่อนจนเกินไปและไม่ตึงจนเกินไป นั่นคือการรู้จักปฏิบัติตนให้พอดี ให้รู้จักประมาณ ซึ่งเรียกว่า มรรคมีองค์ 8 ประกอบด้วย
1. สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ
2. สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ
3 สัมมาวาจา คือ วาจาชอบ
4. สัมมากัมมันตะ คือ กระทำชอบ
5. สัมมาอาชีวะ คือ เลี้ยงชีพชอบ
6. สัมมาวายามะ คือ พยายามชอบ
7. สัมมาสติ คือ ระลึกชอบ
8. สัมมาสมาธิ คือ จิตตั้งมั่นชอบ
องค์ 8 ของมรรค เมื่อจัดเข้าในไตรสิกขา 3 คือ
1. ศีลสิกขา ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
2. จิตตสิกขา ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
3. ปัญญาสิกขา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ
การปฏิบัติตนตามทางสายกลาง เป็นการรู้จักประพฤติปฏิบัติตนตามกรอบของมรรคมีองค์ 8 หรือโดยย่อตามหลักไตรสิกขา นั่นคือ
1. ศีลสิกขา คือ การเล่าเรียนฝึกฝนและอบรมในด้านความประพฤติ คือประพฤติดีทางกาย คือมีสัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ ได้แก่ สุจริตทางกาย (ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัยพ์ ไม่ประพฤติผิดในกาม) มีสัมมาวาจา เจรจาชอบ ได้แก่สุจริตทางวาจา (ไม่พูดปด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ) มีสัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ คือมีอาชีพที่สุจริต
2. จิตตสิกขา คือ การฝึกฝนอบรมทางจิตใจ มีจิตใจที่มีประสิทธิภาพ หรือมีเกราะป้องกันจิต มีสุขภาพจิตที่ดี คือมีสัมมาวายามะ พยายามชอบ หมายถึง การเป็นคนมีนิสัยที่มีความพยายาม มีมานะบากบั่น มุ่งทำงานให้ประสบความสำเร็จด้วยดี ไม่ปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์ เป็นต้น มีสัมมาสติ ระลึกชอบ คือมีสติระลึกแต่สิ่งที่เป็นกุศลจิต เช่น ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ รู้สิ่งที่ทำให้เจริญและก่อให้เกิดความเสื่อม เป็นต้น มีสัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นชอบ คือ การเพ่งพินิจด้วยจิตที่เป็นสมาธิแน่วแน่ การมีจิตตั้งมั่นต่อการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นต้น
3. ปัญญาสิกขา ได้แก่ การฝึกฝนอบรมทางปัญญา คือมีความรู้ทั่ว มีปรีชาหยั่งรู้เหตุผล มีความรู้ความเข้าใจชัดเจน รู้จักแยกแยะเหตุผล รู้ดีชั่ว รู้คุณโทษ รู้ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น โดยให้มีสัมมาทิฎฐิ ความเห็นชอบ คือ มีความรู้ความเข้าใจในอริยสัจ 4 มรรค ผล นิพพาน หรือมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องโลกและชีวิต รู้บาปบุญคุณโทษ เป็นต้น มีสัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือการดำริออกจากกามทั้งหลาย ไม่พยาบาทจองเวร หรือเบียดเบียนคนอื่น การไม่เอาเปรียบใคร หรือมีความคิดดี ถูกต้อง และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดปรับปรุงแก้ไขในสิ่งที่ถูกที่ควร เป็นต้น
อมร โสภณวิเชษฐ์วงศ์ และกวี อิศริวรรณ (2533) กล่าวถึงวิธีปฏิบัติที่ยึดถือทางสายกลางในพระพุทธศาสนามี
แบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้คือ
1) การปฏิบัติตามทางสายกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทา เป็นข้อปฏิบัติตรงกลางระหว่างปลายสุด 2 ทางคือ ทางย่อหย่อน หรือความหมกมุ่นในกาม กับทางตึงเครียด คือการทรมานตนให้ลำบาก ทางสายกลางเป็นข้อปฏิบัติที่พอเหมาะพอดี คนส่วนมากยกเว้นคนจำพวกดอกบัวใต้น้ำสามารถปฏิบัติได้ทุกคน
2) การปฏิบัติอย่างกลาง ๆ ระหว่างความหย่อนเกินไปกับความตึงเกินไป เช่น การทำความเพียรในการปฏิบัติ ถ้ามีความเพียรหย่อนเกินไปหรือตึงเกินไป ก็ไม่บรรลุมรรคผล ต้องมีความเพียรพอดี คืออย่างกลาง ๆ จึงจะบรรลุ เปรียบเหมือนกับการขึ้นสายพิณ 3 แบบ คือขึ้นหย่อนไป ดีดไม่ดัง ขึ้นตึงไป ดีดก็ขาด ต้องขึ้นพอดี ดีดแล้วจะมีเสียงไพเราะ
3) ความรู้จักประมาณ หรือมัตตัญญุตา ในการกระทำต่าง ก็เป็นการปฏิบัติอย่างกลาง ๆ เช่น ความรู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร ไม่บริโภคมากเกินไป ไม่บริโภคน้อยเกินไป บริโภคแต่พอสมควร รวมทั้งความรู้จักประมาณในเรื่องอื่น ๆ ด้วย จึงมีพุทธศาสนสุภาษิตว่า มตฺตญฺญุตา สทา สาธุ ความรู้จักประมาณทำให้สำเร็จประโยชน์ทุกเมื่อ
4) การทำใจเป็นกลาง หรือมีอุเบกขา ในโลกธรรม โลกธรรมมี 8 ประการ จำแนกเป็นฝ่ายที่น่าปรารถนา เรียกว่า อิฏฐารมณ์ และฝ่ายที่ไม่น่าปรารถนา เรียกว่า อนิฏฐารมณ์ ฝ่ายที่น่าปรารถนา 4 ประการ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ฝ่ายที่ไม่น่าปรารถนา 4 ประการคือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ วิธีปฏิบัติขั้นต่ำ คือ ไม่ดีใจจนเกินไป เมื่อประสบโลกธรรมฝ่ายที่น่าปรารถนา ไม่เสียใจจนเกินไปเมื่อประสบโลกธรรมฝ่ายที่ไม่น่าปรารถนา วิธีปฏิบัติขั้นสูง คือ ไม่ยินดี ไม่ยินร้ายในโลกธรรม มีใจเป็นอุเบกขา
5) ไม่ส่งเสริมคนผิด และไม่ซ้ำเติมคนผิด คนทำผิดแล้วให้แก้ไข ให้กลับตัวเป็นคนดี เป็นต้น
หลักศรัทธา
ศรัทธา หมายถึง ความเชื่อ ศรัทธาในพระพุทธศาสนา หมายถึงความเชื่ออย่างมีเหตุผล
อาจแบ่งความเชื่อออกเป็น 2 ประเภทง่าย ๆ คือ
1. ความเชื่อแบบปิดกั้นปัญญา หมายถึง การใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อ การปลุกเร้า หรือการบังคับให้เชื่อ โดยไม่ให้มีข้อสงสัย ข้อคำถาม แต่ให้ทำตามเพียงอย่างเดียว เป็นสิ่งที่ต้องถือปฏิบัติตาม ยึดมั่นโดยไม่ต้องถามหาเหตุผล
2. ความเชื่อแบบสื่อนำสู่ปัญญา หมายถึง ความเชื่อที่มีเหตุผล โดยผู้ศึกษาอาศัยปัญญาพิจารณา วิเคราะห์ในสิ่งที่ควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อ เมื่อเชื่อแล้วก็ค้นหาข้อเท็จจริง พยายามศึกษาค้นคว้าทดลอง

แหล่งที่มา https://sites.google.com