หน้าที่ 1 จากทั้งหมด 5 หน้า 123 ... หน้าสุดท้ายหน้าสุดท้าย
กำลังแสดงผล 1 ถึง 10 จากทั้งหมด 41

หัวข้อ: การเลี้ยงมดแดง

  1. #1
    ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมหา สัญลักษณ์ของ ฅนภูไท
    วันที่สมัคร
    Apr 2007
    กระทู้
    2,115
    บล็อก
    1

    ความเยือกเย็น การเลี้ยงมดแดง

    การเลี้ยงมดแดง

    การเลี้ยงมดแดง

    ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับมดแดง
    แมลงที่น่าสนใจในการศึกษามากที่สุด ได้แก่ แมลงที่มีการจัดระเบียบสังคม ที่เรียกว่า Social Organization มี มด ผึ้ง และต่อ และเรียกแมลงพวกนี้ว่า Social Insects หมายถึง แมลงที่มีการทำงานร่วมกัน มีการสร้างรัง เลี้ยงดูตัวอ่อน ต่อสู้ศัตรูที่มาทำอันตรายให้กับพวกของมัน มดแดงจึงจัดเป็นแมลงที่มีสังคมชนิดหนึ่ง จึงได้ทำการรวบข้อมูล ความรู้เกี่ยวกับมดแดงไว้ ดังนี้

    การเลี้ยงมดแดง

    1. รูปร่างลักษณะของมดแดง
    มดแดง มีลำตัวสีส้มค่อนแดง ความยาวตลอดลำตัวประมาณ 1 เซนติเมตร ชาวบ้านโดยทั่วไป เรียกว่า “มดแดง” บางท้องถิ่น เช่นชาวผู้ไท เรียกว่า “มดส้ม” ฝรั่งเรียกว่า “Red Ant” ในทางวิทยาศาสตร์ มดแดงจัดเป็นสัตว์อยู่ใน ไฟลัมอาร์โทรโปดา (Artropoda) อยู่ในคลาส อินเซกต้า (Insecta Class) สัตว์ที่อยู่ในคลาสนี้ ได้แก่สัตว์จำพวกแมลงต่างๆ เช่น ตั๊กแตน มด ปลวก ผีเสื้อ ต่อ แตน ผึ้ง ฯลฯ สัตว์จำพวกนี้ มีร่างกายแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
    1. ส่วนหัว มีอวัยวะที่สำคัญ คือ หนวด 1 คู่ ใช้ในการติดต่อสื่อสาร ตา 1 คู่ และปาก ซึ่งมีเขี้ยวที่แหลมคม ใช้ประโยชน์ในการขบกัดต่อสู้ศัตรู กัดกินอาหาร รวมทั้งกัดแทะเยื่อใบไม้ ในการสร้างรัง
    2. ส่วนอก มีอวัยวะที่สำคัญ คือ ขาที่เรียวเล็ก ยาว จำนวน 3 คู่ ภายในร่างกาย (Body) มีท่อสำหรับการหายใจโดยใช้ท่อลม (Trachea) ที่มีกิ่งก้านสาขาแยกไปทั่วร่างกาย และเปิดออกสู่ ภายนอกตรงช่อง Spiracle ซึ่งอยู่ข้างลำตัว มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างในการเจริญเติบโต ตามกระบวนการ Metamorphosis
    3. ส่วนท้อง เป็นส่วนที่อยู่หลังสุดของมดแดง เป็นศูนย์รวมของน้ำกรด หรือกรดมดที่มีความเป็นกรดพอดี มดแดงใช้กรดนี้เป็นประโยชน์ในการสร้างรัง ต่อสู้ขับไล่ศัตรูผู้รุกราน

    การเลี้ยงมดแดง

    2. วิถีชีวิตและวงจรชีวิตของมดแดง
    มดแดงแดงเป็นสัตว์สังคม เนื่องจากมดแดงชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ช่วยกันสร้างรังออกไข่ เลี้ยงดูออกอ่อนให้เจริญเติบโตเป็นสมาชิกใหม่ ขยายประชากรมดแดงให้เพิ่มมากขึ้น ภายในรังของมดแดง จะมีสมาชิก ดังต่อไปนี้
    2.1 แม่เป้งหรือนางพญา (Queen Caste) มีรูปร่างขนาดใหญ่กว่ามดแดงธรรมดา มีขนาดเท่ากับตัวแตนหรือตัวต่อบางชนิด ลำตัวมีสีเขียวปนน้ำตาล มีปีกสำหรับบิน มีหน้าที่ออกไข่คล้ายกับนางพญาผึ้ง เมื่อใดที่แม่เป้งเห็นว่าสภาพไม่เหมาะ ในการสร้างรังและวางไข่ แม่เป้งจะทิ้งรังเดิม แล้วบินไปหาแหล่งที่อยู่ใหม่ ที่มีน้ำ อาหารอุดมสมบูรณ์ ต้นไม้ที่มีใบดก เขียวชอุ่ม หนาทึบ และไม่มีศัตรูรบกวน

    2.2 มดดำหรือพ่อพญาหรือพ่อพันธุ์ (Male Caste) จะพบพ่อพญาในฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น คือประมาณเดือนเมษายน ถึงเดือนมิถุนายน หรือต้นฤดูฝน เนื่องจากพ่อพญาจะต้องผสมพันธุ์กับนางพญาหรือแม่เป้งเพื่อให้แม่เป้งบินไปสร้างรังแล้ววางไข่ คล้ายการผสมพันธุ์ของผึ้ง เมื่อมดดำผสมพันธุ์กับแม่เป้งแล้ว ไม่นานก็จะตายจนกว่าจะถึงฤดูกาล มดดำจะถูกฟักออกมาอีกครั้ง มดดำจะมีปีกสำหรับบินได้ ลักษณะพิเศษนี้คล้ายแมลงเม่าของปลวก

    2.3 มดแดงหรือมดงาน (Workers Caste) ได้แก่ มดแดงที่พบเห็นกันโดยทั่วไป มีหน้าที่สร้างรัง หาอาหาร เลี้ยงดูตัวอ่อน ตลอดทั้งการป้องกันศัตรูผู้รุกราน มดแดงทุกตัวทำหน้าที่ทุกอย่างด้วยความขยันขันแข็งตลอดเวลา แม้ในเวลากลางคืน หากไม่มีอาหารที่สะสมไว้ในรัง มดแดงก็จะออกหาอาหาร โดยไม่หยุดพักผ่อนเลย

    วงจรชีวิตของมดแดง
    วงจรชีวิตของมดแดงจะเริ่มต้นที่แม่เป้งออกไข่ที่มันสร้างเพียงตัวเดียวก่อน โดยการพับใบไม้ใบเดียว หรือสร้างใยบริเวณ ซอกของก้านกล้วย ใบไม้ที่ชอบพับทำรังและวางไข่ของแม่เป้ง คือ ใบข่า ใบม้วนหมู ใบยางอินเดีย ใบยอ ใบมะพร้าว เป็นต้น ไข่มดแดงมีหลายลักษณะ ดังนี้
    1. ไข่มาก เป็นไข่ที่มีขนาดใหญ่กว่าไข่ธรรมดา สีขาว ใส สะอาด จะฟักออกมาเป็นแม่เป้ง หรือนางพญา สำหรับการออกไข่ขยายพันธุ์ จะมีมากในราวเดือนมกราคม ถึงเมษายน

    2. ไข่ฝาก เป็นไข่ที่มีขนาดเล็ก ไม่โต ไม่เต่ง เหมือนไข่มาก จะฟักออกมาเป็นตัวมดแดงธรรมดา กลายเป็นมดงานซึ่งถือเป็นประชากรที่สำคัญมากในสังคมมดแดง หากมีประชากรมดแดงมาก ย่อมหมายถึงการขยายประชากรเป็นไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมดแดงหรือมดงานนี้ เป็นกำลังในการสร้างรัง หาอาหาร น้ำ เลี้ยงดูไข่หรือตัวอ่อน เพื่อให้เจริญเติบโตภายในเวลาอันรวดเร็ว

    การเลี้ยงมดแดง

    3. กระบวนการสร้างรังของมดแดง
    มดแดงทุกตัวจะมีใยพิเศษ ที่สร้างมาจากกรดน้ำส้มหรือกรดมดจากส่วนท้อง ผสมกับเยื่อหรือยางของใบไม้ ถ้ากล่าวในเชิงวิทยาศาสตร์โครงสร้างของใบไม้จะมีแป้ง หรือคาร์โบไฮเดรตปนอยู่ มดแดงจะดึงใบไม้มายึดให้ติดกันโดยใช้ใยนี้ เมื่อแห้งจะมีสีขาวและเหนียว คล้ายสำลี ยึดติดให้ใบไม้เป็นรูปทรงกลม สามารถป้องกันน้ำฝนได้
    มดแดงชอบทำรังอยู่ตามต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น ริมลำห้วย ลำธาร หนองน้ำ จะพบมดแดงอาศัยทำรังอยู่อย่างหนาแน่น มากกว่าแหล่งที่ไม่มีน้ำ เนื่องจากมดแดงต้องการน้ำมาก เพื่อใช้ในการสร้างกรดน้ำส้ม บรรจุไว้ในส่วนท้อง แล้วนำไปใช้ในการดำรงชีวิตของมัน
    ต้นไม้ที่มดแดงชอบทำรัง ได้แก่ ต้นไม้ที่มีใบอ่อน นุ่ม หนา ไม่ผลัดใบง่าย มีอัตราการคายน้ำ คายก๊าซออกซิเจนที่ดี เช่น ต้นหว้า ชมพู่ สะเม็ก มะม่วง ลำไย มะเฟือง มะไฟ ต้นจิก ต้นรัง ต้นพอก กะบก กะบาก เป็นต้น
    ในฤดูฝน มดแดงจะสร้างรังอยู่ตามต้นไม้เล็กๆ ไม่สูงมากนักเนื่องจากการสร้างรังในที่สูง มดแดงจะประสบกับปัญหาจาก ลม ฝน พายุ ทำให้รังได้รับความเสียหาย จึงพากันสร้างรังขนาดเล็ก หลายๆ รัง ในที่ต่ำเกือบติดดิน เพื่อป้องกันความเสียหายดังกล่าว ดังนั้นหากมีใบของพืชประเภทไม้เลื้อย เช่น บวบ ม้วนหมู ตำลึง หรือไม้เถาพื้นบ้าน มดแดงจะสร้างรังอาศัยอยู่ทันที

    4. อาหารของมดแดง
    มดแดงชอบอาหารที่สะอาด ทั้งสดและแห้ง ที่สามารถจะกัด แทะได้ ซึ่งเป็นอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ที่ชอบมากเป็นพิเศษ คือ พวกแมลงต่างๆ โดยจะคาบไปเก็บสะสมเอาไว้ในรัง ถ้าเป็นอาหารชิ้นใหญ่ที่ไม่สามารถจะคาบหรือ ลากไปเก็บในรังได้ มดแดงจะช่วยกันกัด และเยี่ยวราดหรือปล่อยกรดมดใส่ไว้ เพื่อไม่ให้อาหารนั้นบูดเน่าเสียหาย เปรียบเสมือนเป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง และรอให้อาหารนั้นแห้ง จึงค่อยกัดเป็นชิ้นเล็กๆ นำไปเก็บไว้ในรัง เพื่อป้อนตัวอ่อนหรือกินเป็นอาหารพร้อมๆ กัน
    ในการหาอาหาร มดแดงจะเดินทางไปรอบๆ ที่อยู่ของมัน ถ้าหากพบเหยื่อ หรืออาหาร
    มดแดงจะส่งสัญญาณให้กันได้รับรู้และเดินทางมาทันที หากเหยื่อยังมีชีวิตอยู่ มันจะรุมกัด และเยี่ยวราด (ปล่อยกรดมดหรือกรดน้ำส้ม) เหยื่อจะตาย หรือได้รับบาดเจ็บ มดแดงจะช่วยกันลากไปเก็บไว้ในรัง สะสมไว้เป็นอาหารเลี้ยงดูลูกอ่อน ต่อไป

    ข้อสังเกตประการหนึ่งพบว่า มดแดงจะนำอาหารไปเก็บสะสมไว้ในรังเสมอ เนื่องจาก
    ภายในรังอาหารจะไม่ถูกน้ำค้าง น้ำฝน อาหารจะไม่บูดเน่า รวมทั้งเป็นที่รวมของสังคมมดแดง ซึ่งจะมีการประชุม วางแผนการทำงานและกินอาหารร่วมกัน อีกประการหนึ่งด้วย

    5. ศัตรูของมดแดง
    ศัตรูของมดแดง กล่าวได้ว่า มีค่อนข้างน้อย เพราะมดแดงมีเยี่ยวเป็นกรดน้ำส้ม หรือกรดมดที่บรรจุไว้ในส่วนท้องของมัน สามารถขับไล่ศัตรูผู้รุกรานที่อยู่อาศัย โดยมดแดงจะกัดและเยี่ยวราด ทำให้ปวดแสบ ปวดร้อน ประกอบกับมีกลิ่นที่ฉุน ทำให้ศัตรูพ่ายแพ้ หลบหนีหรือถูกทำลายไป แต่ก็ยังพบว่า มดแดงมีศัตรูอยู่บ้าง ได้แก่
    5.1 ปลวก มดแดงจะไม่ชอบปลวก แต่ปลวกก็ไม่ใช่ศัตรูโดยตรงของมดแดง เพราะปลวกไม่ได้ทำอันตรายมดแดงแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงว่า มดแดงไม่ชอบอยู่ในที่ที่มีปลวก คงเป็นเพราะปลวกมีกลิ่นที่มดแดงไม่ชอบก็อาจเป็นได้
    5.2 มดดำ มดดำทุกชนิดเป็นศัตรูโดยตรงของมดแดง หากมดฝ่ายใดพลัดหลงเข้าไปในกลุ่มของฝ่ายตรงข้าม ก็จะถูกรุมกัดจนตาย มดดำจะเก่งกล้ากว่ามดแดงมาก โดยเฉลี่ยแล้วมดดำ ตัวเดียว จะสามารถทำลายมดแดงได้ถึง 10 ตัว
    5.3 มดไฮ มดชนิดนี้บางท้องถิ่น เรียกว่า “มดเอือด”1 เป็นมดขนาดเล็ก ลำตัวยาวไม่เกิน 1 มิลลิเมตร เป็นศัตรูที่ร้ายแรงที่สุดของมดแดงอย่างยิ่ง เนื่องจากมดชนิดนี้มีเยี่ยวที่มีกลิ่นฉุนรุนแรงมาก หากมดแดงได้รับกลิ่น และถูกเยี่ยวของมันก็จะตายทันที คล้ายกับว่าได้รับแก็สพิษฉันนั้น มดไฮ 1 ตัว สามารถทำลายมดแดงได้ถึง 20 ตัวเลยทีเดียว

    * 1 เอือด เป็นภาษาอีสาน หมายถึง ดินที่มีแร่เกลือสินเธาว์ผสมอยู่ เรียกว่าขี้ทา ขี้เอือด มดเอือด บางที เรียกว่า “มดไฮ”

    6. ประโยชน์ของมดแดง
    ประโยชน์ของมดแดง มีมากมายหลายประการ พอสรุปได้เป็นหัวข้อ ดังนี้
    6.1 ใช้เป็นอาหาร ได้จากไข่ และตัวมดแดง มดแดงมีกรดน้ำส้ม ให้รสเปรี้ยว อร่อย
    มีคุณสมบัติเป็นกรดใช้แทนมะนาว หรือน้ำส้มสายชู ให้รสชาติอร่อยกลมกล่อม รายการอาหารที่ได้จากมดแดงและไข่มดแดง ได้แก่ ยำไข่มดแดง ก้อยไข่มดแดง ห่อหมกไข่มดแดง ต้มยำปลาช่อนไข่มดแดง แกงขี้เหล็กไข่มดแดง ทอดไข่ยัดไส้ เป็นต้น
    6.2 ใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรค ดังนี้
    6.2.1 ใช้สูดดม แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย โดยใช้มดแดง นำมาขยำแล้ว สูดดม
    6.2.2 แก้ท้องร่วง ใช้เนื้อไก่พื้นบ้าน นำส่วนที่เป็นเนื้อแหย่เข้าไปในรังมดแดง เมื่อมดแดงกัดได้ปริมาณมากดึงออกมาแล้วใช้มือขยำนำไปย่างไฟให้สุกรับประทานขณะที่ยังร้อน อาการท้องร่วงจะบรรเทาและหายไป
    6.2.3 แก้ท้องผูก นำมดแดงมาต้มใส่น้ำสะอาด ประมาณ 1 – 2 ถ้วย พอเดือด ยกลงแต่งรสโดยใช้เกลือพอเหมาะ กรองด้วยผ้าขาวบาง ดื่มทันที อาการท้องผูกจะหาย
    6.2.4 ใช้ลบรอยไฝหรือขี้แมลงวัน โดยจับเอาตัวมดแดงกัดตรงเม็ดไฝ ให้มันเยี่ยวใส่ ถ้าไฝเม็ดโต ให้กัดหลายตัวพร้อมกัน ด้วยฤทธิ์ของน้ำกรด ไฝจะบวมและเปื่อยละลายเอาสีดำไหลออกมา เมื่อแผลหายจะไม่ปรากฏเม็ดไฝอีกต่อไป มีเพียงรอยแผลเป็นเล็กน้อยเท่านั้น
    6.2.5 ใช้แก้โรควูบ นำรังมดแดงร้างที่เกิดจากต้นคูณ มาใส่หม้อนึ่งต้มให้เดือดแล้วใช้ผ้าคลุมศีรษะอังกับไอน้ำเดือด สูดเอาไอร้อน ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ ผู้ที่เป็นโรควูบจะมีอาการดีขึ้นและหายไปในที่สุด
    6.3 ใช้กำจัดศัตรูพืช ต้นผลไม้ต่างๆ ตลอดทั้งพืชผัก เช่น บวบ ถั่วฝักยาว แตงร้าน หากมีมดแดงอาศัยอยู่ จะปราศจากหนอน แมลง เพลี้ย รบกวน เนื่องจากมดแดงจะจัดการนำไปเป็นอาหารจนหมดสิ้น ต้นมะม่วงที่มีปัญหาเพลี้ยจักจั่น เพลี้ยแป้งในต้นมะขาม หากนำมดแดงไปเลี้ยงเอาไว้ จะหมดปัญหาไป ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ลดต้นทุนการกำจัดศัตรูพืชและปลอดสารพิษด้วย
    6.4 ให้ความเพลิดเพลิน ผู้ที่เลี้ยงมดแดงทุกคน จะมีความเพลิดเพลิน ไม่เคร่งเครียด มดแดงจะช่วยผ่อนคลาย ทำให้เกิดคุณธรรมที่ได้จากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรม การดำรงชีวิตของ มดแดงอยู่เสมอ มดแดงให้ข้อคิด คติและสัจธรรมแก่เรามากมายหลายประการ ซึ่งผู้ที่เลี้ยงมดแดงทุกคนจะสัมผัสได้

    7. ข้อพึงระวังจากมดแดง
    แม้ว่ามดแดง จะมีประโยชน์ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว มดแดงก็ยังมีสิ่งที่พึงระวังอยู่บ้าง
    ดังรายละเอียด ต่อไปนี้
    7.1 กัดเจ็บ แต่ไม่เป็นอันตราย
    7.2 เยี่ยวของมดแดงซึ่งเป็นกรด หากเข้าตาจะปวดแสบ ปวดร้อนวิธีแก้ไข ใช้น้ำลายป้ายตาจะหายทันที
    7.3 เสื้อผ้าที่ถูกน้ำกรดจากมดแดง จะซีดด่าง ขาดความสวยงาม
    7.4 ก่อความรำคาญ ในกรณีที่มดแดงไต่เข้าไปหาอาหารในบ้านเรือน อาจเข้าใจผิดว่า มดแดงก่อความรำคาญ แท้จริงแล้วมดแดงไปหาอาหารเพื่อนำไปป้อนลูกอ่อนของมันนั่นเอง หากจัดที่ให้น้ำ ให้อาหารและนำอาหารวางไว้ที่ต้นไม้ที่มันสร้างรังอยู่ มดแดงจะไม่เข้ามารบกวนเราเลย ข้อสังเกต มดแดงจะสร้างรังที่ต้นไม้เท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีการสร้างรังในบ้านเรือนของคนเรา



    ยังมีต่อเด้อ ตอนนี้โพตส์ต่อไม่ได้

  2. #2
    ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมหา สัญลักษณ์ของ lukhin_inter
    วันที่สมัคร
    Sep 2007
    ที่อยู่
    อิสานใต้ ประเทศไทย
    กระทู้
    1,860
    อ้าย..สนใจตรงประโยชน์ของมดแดง..ถ้าเป็นไฝเม็ดโตให้ใช้มดแดงกัดหลายตัวพร้อมกัน...แล้วเราจะสั่งมดกันยังไง..กัดทีละตัวก็ดูจะยากแล้วนะ..ล้อเล่น..อ่านแล้วได้รับความรู้ดีคะ
    อุปสรรคเป็นได้ทั้งบันไดให้ก้าวขึ้นไป...หรือ
    เป็นภูผาที่ขวางกั้น...ขึ้นอยู่กับว่าจะมองมุมไหน

  3. #3
    ป้าดสู่มื้อนี่ได้เลี้ยงแล้วตี้ เว้าเป็นตาอึด หากินยากแท้อ้าย
    คนที่กล้าจะพ่ายแพ้เท่านั้น...ที่จะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่

  4. #4
    ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมหา สัญลักษณ์ของ ฅนภูไท
    วันที่สมัคร
    Apr 2007
    กระทู้
    2,115
    บล็อก
    1
    8.ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมดแดง

    มดแดง นอกจากจะมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับสัตว์จำพวกแมลงประเภทอื่นๆ แล้ว ยังมีความสัมพันธ์กับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์เรามาช้านานแล้ว โดยได้สนับสนุนปัจจัยทั้ง 4 ประการที่จำเป็นในการดำรงชีวิตมนุษย์ กล่าวคือ ด้านอาหาร ได้แก่ ไข่มดแดงเป็นอาหารที่คนอีสานนิยมบริโภค ด้านยารักษาโรค มดแดงถือเป็นสมุนไพร เช่น ใช้มดแดงมาขยำแล้วสูดดม แก้ลมวิงเวียนได้ นอกจากนั้น มดแดง ยังเป็นแมลงที่ช่วยสร้างความสมดุล ให้แก่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศ ตลอดทั้ง ได้นำเอาวิถีชีวิตของมดแดงมาเปรียบเทียบกับคุณธรรม เพื่อสั่งสอนเราได้ดีอีกด้วย ดังคำประพันธ์ที่ว่า
    “ มดเอ๋ย มดแดง เล็กเล็กเรี่ยวแรงแข็งขยัน...” เป็นต้น



    การเลี้ยงมดแดง



    1 การเตรียมสถานที่
    การเตรียมความพร้อมของสถานที่ที่จะเลี้ยงมดแดง นับเป็นขั้นตอนแรก เราคงทราบแล้วว่า มดแดงชอบสร้างรังบนต้นไม้ที่ยังมีชีวิต เพราะต้องอาศัยใบไม้นั่นเอง ต้นไม้ที่มดแดงชอบสร้างรัง ได้แก่ ต้นไม้ที่มีใบหนา อ่อนนุ่ม เป็นมันวาว ใบดก ไม่ผลัดใบง่าย เช่น ต้นหว้า สะเม็ก ชมพู่ จิก รัง มะม่วง ลำไย เป็นต้น
    เมื่อได้ต้นไม้ที่จะทำการเลี้ยงมดแดงแล้ว ประการสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้เลี้ยงมดแดงจะต้องทำ คือ ตรวจดูต้นไม้เหล่านั้นว่า มีมดดำ หรือ มดไฮ อาศัยอยู่หรือไม่ เพราะมดดำและมดไฮ เป็นศัตรูของมดแดง ถ้าพบว่ามีมดดังกล่าวอาศัยอยู่ ควรพ่นด้วยน้ำสะเดา หรือพ่นน้ำตะไคร้หอม ซึ่งเป็นสารธรรมชาติที่ใช้กำจัดมดได้ เพื่อให้มดดำหรือมดไฮหนีไปที่อื่น จึงสามารถนำ มดแดงมาเลี้ยงได้

    2 การจัดทำที่ให้น้ำ ให้อาหารแก่มดแดง
    เมื่อเตรียมสถานที่พร้อมต่อการที่จะเลี้ยงมดแดงแล้ว ก่อนที่จะนำมดแดงมาปล่อยเลี้ยง ควรจัดที่ให้น้ำ ให้อาหารแก่มดแดง ติดตั้งล่วงหน้าเอาไว้เสียก่อน โดยใช้วัสดุที่เหลือใช้ หรือที่พอหาได้ในท้องถิ่น ซึ่งมีวิธีการทำ ดังนี้
    1. ที่ให้อาหาร จัดหาวัสดุเหลือใช้ เช่น กะลามะพร้าว ไม้ไผ่ผ่าซีก ใบไม้แห้ง หรือแผ่นตะแกรงลวดตาถี่ นำมาดัดแปลงตามความเหมาะสม ควรเป็นวัสดุที่ไม่ขังน้ำ เพื่อป้องกันอาหารเน่าเสียใช้ตะปูตอกวัสดุดังกล่าวติดกับต้นไม้ให้สูงจากพื้นดินไม่เกิน 2 เมตร แล้วนำอาหารเช่นแมลง เศษเนื้อ เศษปลา ก้างปลา กระดูกไก่ มาวางไว้ มดแดงจะทยอยกันมา กัด แทะ เล็ม และคาบไปสะสมเป็นอาหารต่อไป
    2. ที่ให้น้ำ ที่ให้น้ำมดแดงนั้นมีความสำคัญกว่าที่ให้อาหาร เนื่องจากมดแดงชอบกินน้ำมาก จะเห็นได้จากมดแดงตามธรรมชาติ มักสร้างรังอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ลำห้วย หนองน้ำ เพื่อการดำรงชีวิตของมัน วัสดุที่ใช้จัดทำที่ให้น้ำมดแดง ควรเป็นวัสดุเหลือใช้ ที่หาได้ในท้องถิ่นเช่นเดียวกับที่ให้อาหาร เช่น กะลามะพร้าว กระป๋องนม กระบอกไม้ไผ่ผ่าซีก ขวดน้ำพลาสติก ฯลฯ นำมาดัดแปลงตอกติดกับต้นไม้ สูงจากพื้นดินไม่เกิน 1.50 เมตร บรรจุน้ำ และนำกิ่งไม้หยั่งเอาไว้ มดแดงจะทยอยเดินทางมากินน้ำตลอดเวลา เมื่อเห็นว่าที่ให้น้ำมดแดงสกปรก ควรล้างทำความสะอาดอยู่เสมอ

    3 การจัดทำทางเดินมดแดง

    ในการหาอาหาร มดแดงจะเดินทางไปรอบๆ ที่อยู่ของมัน เพื่อหาอาหารไปป้อนตัวอ่อน ตลอดจนการไปมาหาสู่กัน หรือการไปสำรวจที่ในการสร้างรังใหม่ ดังนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนให้มดแดงเดินทางโดยสะดวก ในช่วงฤดูฝน มดแดงจะเดินทางด้วยความลำบากอย่างยิ่ง เนื่องจากพื้นดิน เปียกแฉะและมีหญ้าขึ้นรกรุงรัง หากผู้เลี้ยงมดแดงจัดทำทางเดินให้ นอกจากจะไม่ทำให้มดแดงหลงทางแล้ว ยังเป็นการย่นระยะทาง ย่นเวลาได้อีกด้วย การจัดทำทางเดินให้มดแดง ควรใช้เศษวัสดุ จำพวกเชือก ไนล่อน เส้นลวดตากผ้า สายไฟเก่า ไม้ไผ่ หรือเถาวัลย์ที่ได้จากป่ารอบบ้าน นำมาผูกขึงเชื่อมระหว่างต้นไม้ มดแดงจะเลือกเส้นทางนี้ เดินไปมาหาสู่กันระหว่างต้นไม้
    ทำให้เกิดความปลอดภัย สามารถขยายรังและเพิ่มประชากรมดแดงได้เร็วขึ้น ทางเดินของมดแดง ควรติดตั้งไว้ในระดับที่สูงพ้นศีรษะ เพื่อความสะดวกต่อการปฏิบัติงานของผู้เลี้ยง ในการให้น้ำ ให้อาหารแก่มดแดง
    อีกประการหนึ่ง ผู้เลี้ยงมดแดง อาจประยุกต์ใช้วัสดุอื่นที่เห็นว่าเหมาะสมกับสภาพต้นไม้ที่จะเลี้ยงมดแดง จัดทำเป็นทางเดินได้ โดยยึดหลักการประหยัด คุ้มค่าและสวยงาม



    4 การนำมดแดงมาปล่อยเลี้ยง

    ในการนำมดแดงมาปล่อยเลี้ยงนั้น สามารถเสาะหามดแดงที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ที่อยู่ตาม ต้นไม้ในป่าใกล้บ้าน หรือตามแหล่งที่มีตามธรรมชาติ โดยยึดขนาดรังมดแดงเป็นหลัก แยกเป็น 2 ลักษณะ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
    1. มดแดงรังเล็ก ตามธรรมชาติมดแดงจะชอบสร้างรังเล็กๆในช่วงฤดูฝนมดแดงจะสร้างรัง เล็กๆ อยู่ค่อนข้างต่ำ เมื่อพบรังมดแดงดังกล่าวให้ใช้กรรไกรตัดกิ่ง ตัดรังมดแดงบรรจุลงถุง หรือกระสอบปุ๋ยมัดปากให้แน่น เพื่อไม่ให้มดแดงไต่ออก แล้วนำไปเปิดปากถุงที่โคนไม้ที่เตรียมไว้ มดแดงจะไต่ขึ้นไปอาศัยบนต้นไม้และเตรียมทำรังต่อไป

    2. มดแดงรังใหญ่ มดแดงรังใหญ่มักอยู่ในที่สูง วิธีการนำรังมดแดงลงมาจากต้นไม้ จึงลำบาก จึงควรใช้วิธีแหย่ โดยวิธีดั้งเดิม หรือวิธีประยุกต์ จะได้มดแดงมาปล่อยเลี้ยงตามต้องการ


    5 วิธีการเก็บผลผลิต (การแหย่ไข่มดแดง)

    การเก็บผลผลิต หรือการแหย่ไข่มดแดง เป็นขั้นตอนที่เป็นเป้าหมายสำคัญของการเลี้ยงมดแดง เพราะถ้าหากได้ไข่มดแดงจากรังมากที่สุด ถือว่าเป็นความต้องการของผู้เลี้ยง เพื่อนำไปประกอบอาหาร และการจำหน่าย สำหรับในโรงเรียนก็นำไปเป็นอาหารเสริมสำหรับนักเรียนได้ การแหย่ไข่มดแดง มีขั้นตอนและรายละเอียด ดังนี้

    1. การแหย่ไข่มดแดงแบบดั้งเดิม วัสดุที่ใช้แหย่ คือไม้ไผ่ (ไม้ส้าว) ตะกร้า โดยใช้ตะกร้าผูกติดกับปลายไม้ไผ่ เหลือปลายไม้ไผ่เลยสายตะกร้า ประมาณ 1 คืบ ไว้สำหรับแหย่เข้าไปในรังมดแดง ตะกร้าจะทำหน้าที่รองรับไข่ และมดแดงที่ร่วงลงมาจากรัง ใช้มือเคาะที่ไม้ไผ่ขณะที่แหย่ จะเกิดการสั่นสะเทือน ทำให้ไข่มดแดงและมดแดงร่วงลงมาโดยเร็ว เมื่อเสร็จการแหย่ นำไม้ไผ่ พร้อมตะกร้าลงมา ใช้มือหรือไม้เคาะที่ไม้ไผ่อยู่เสมอ มดแดงจะไต่มากัดไม่ได้เพราะร่วงลงไปก่อน


    2 การแหย่ไข่มดแดงแบบประยุกต์ การเก็บผลผลิตโดยวิธีนี้ คล้ายกับวิธีแหย่แบบดั้งเดิม แต่ต่างกันตรงที่ วัสดุที่ใช้แหย่นั้น เปลี่ยนมาเป็นท่อ พี.วี.ซี. แทนไม้ไผ่ เพื่อแก้ไขปัญหาไข่มดแดงและมดแดงตกเรี่ยราดและไม่ถูกมดแดงกัดมาก ขนาดของท่อ พี.วี.ซี. ที่ใช้ควรมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ขนาด 1.5 นิ้ว หรือ 2 นิ้ว ความยาวของท่อแล้วแต่ความสูงของรังมดแดงหากสูงมากควรเตรียมข้อต่อพร้อมที่จะต่อท่อได้ ใช้เลื่อยตัดปลายท่อให้มีลักษณะเสี้ยมแหลม สำหรับแหย่เข้าไปในรังได้ ส่วนปลายท่อด้านล่าง ควรใช้ถุงพลาสติกใส เพื่อให้มองเห็นได้ง่าย เมื่อแหย่ใช้มือตบที่ท่อ ทั้งไข่และมดแดงจะตกลงมาตามท่อลงสู่ถุงพลาสติก แล้วนำมาแยกไข่ออกจากมดแดงได้ตามต้องการ

    6 วิธีแยกไข่มดแดง
    เมื่อแหย่ไข่มดแดงทั้ง 2 วิธีแล้ว จะได้ทั้งไข่และมดแดงรวมกัน เราสามารถนำมาแยกออกจากกันได้ โดยการนำเอาตะกร้า หรือถุงพลาสติกที่บรรจุไข่มดแดงมาเทลงในกระจาด หรือกระด้ง โรยด้วยแป้งมันสำปะหลัง เกลี่ยให้กระจายออกออก มดแดงจะไต่ออกไปจากไข่ทันทีโดยที่ไม่คาบเอาไข่ไปด้วย ควรนำกระจาดหรือกระด้ง1 วางชิดกับโคนต้นไม้ที่ต้องการเลี้ยงมดแดงด้วย มดแดงจะขึ้นไปอาศัยอยู่บนต้นไม้และเตรียมสร้างรังต่อไป คงเหลือแต่ไข่มดแดงเท่านั้น จากนั้นนำไข่ที่ได้ ไปดำเนินการต่อไป



    7 การจัดการผลผลิตจากมดแดง

    ผลผลิตจากมดแดง คือ ไข่มดแดง เมื่อได้ไข่มดแดงมาแล้ว ถ้าไม่รีบดำเนินการทันที ไข่มดแดงจะเน่าเสียหายได้ การจัดการผลผลิตมี 2 วิธี คือ
    1. การประกอบอาหาร ในการนำผลผลิตไปประกอบอาหารนั้น จะต้องคำนึงถึงปริมาณผลผลิตที่ได้มา ถ้าไข่มดแดงมีปริมาณมาก ควรนำไปประกอบอาหารประเภทยำ หรือ ก้อยไข่มดแดง ถ้าปริมาณไข่มดแดงมีน้อย ควรใช้ประกอบอาหารประเภทอื่น เป็นส่วนประกอบของแกง ต้มยำ เช่น แกงขี้เหล็กไข่มดแดง แกงหน่อไม้ไข่มดแดง หรือต้มยำปลาช่อนไข่มดแดง เป็นต้น

    2. การจัดจำหน่าย การนำไข่มดแดงไปจำหน่าย ควรจัดเตรียมวัสดุที่ใช้ห่อด้วย ที่นิยมมาก ในท้องถิ่น คือ การห่อด้วยใบตอง กาบกล้วย และใบตองที่มีในท้องถิ่น ได้แก่ “ตองกุง”* เป็นต้น เพื่อป้องกันไข่มดแดงไม่ให้เน่าเสียหาย เพราะไข่มดแดงเป็นผลผลิตที่เน่าเสียหายเร็ว ฉะนั้น เมื่อเก็บผลผลิตมาแล้ว ควรนำไปจำหน่ายโดยเร็ว ถ้าจำหน่ายไม่หมด ให้รีบนำไปเก็บไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ เช่น เก็บไว้ในตู้เย็น เป็นต้น



  5. #5
    ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมหา สัญลักษณ์ของ ฅนภูไท
    วันที่สมัคร
    Apr 2007
    กระทู้
    2,115
    บล็อก
    1
    ตัวอย่างรายการอาหารที่ได้จากมดแดง

    หมกไข่มดแดง

    เครื่องปรุง
    1. ไข่มดแดง
    2. พริกแห้งป่น หรือพริกสดพอประมาณ
    3. น้ำปลา หรือปลาร้า หรือเกลือป่น
    4. ตะไคร้
    5. หัวหอม
    6. ใบแมงลัก
    วิธีปรุง
    1. นำไข่มดแดงใส่ภาชนะ เช่น ชามหรือกะละมัง
    2. โขลกพริกให้ละเอียดเทลงในชาม
    3. เติมน้ำปลา หรือ ปลาร้า หรือเกลือ พอสมควร
    4. เติมตะไคร้หั่นฝอย
    5. ใช้ทัพพีคลุกให้เข้ากัน ชิมรสดูเมื่อเห็นว่าอร่อยแล้ว ตักใส่ในตองที่เตรียมไว้ โรยด้วยใบแมงลัก ต้นหอม นำไปตั้งไฟอ่อนๆ เมื่อสุกยกลง แล้วนำมารับประทานได้

    ก้อยไข่มดแดง

    เครื่องปรุง1. ไข่มดแดง
    2. น้ำปลา
    3. ข้าวคั่ว
    4. ต้นหอม ผักชีหั่นฝอย ใบสะระแหน่
    5. พริกป่น
    6. น้ำมะนาว (อาจใช้มดแดงแทน)
    วิธีปรุง
    1. นำไข่มดแดงที่เตรียมไว้ใส่ภาชนะ
    2. เติมพริกป่น ข้าวคั่ว น้ำปลาพอประมาณ
    3. ใช้ทัพพีคลุกให้เข้ากันแล้วชิมรส เมื่อเห็นว่าได้ที่แล้วใส่หอมผักชี ใบสะระแหน่
    4. หากต้องการรสเปรี้ยวก็เติมน้ำมะนาวหรือมดแดงก็ได้
    5. ตักไข่มดแดงที่ปรุงสำเร็จแล้ว ตกแต่งจานให้สวยงาม เพื่อให้น่ารับประทาน

    ก้อยหอยโข่งใส่มดแดง

    เครื่องปรุง
    1. ไข่มดแดง มดแดง
    2. แคะหอยโข่งนึ่งเอาเฉพาะส่วนหัว หั่นเป็นชิ้นๆ
    3. น้ำปลา
    4. ข้าวคั่ว
    5. ต้นหอม ผักชีหั่นฝอย ใบสะระแหน่
    6. พริกป่น

    วิธีปรุง
    1. นำเนื้อหอยโข่งใส่ชามพร้อมมดแดงคลุกให้เข้ากัน
    2. เติมพริกป่น ข้าวคั่ว น้ำปลา ต้นหอม ผักชี พร้อมปรุงรสให้กลมกล่อม
    3. ตักใส่จานที่ตกแต่งด้วยผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี
    4. โรยใบสะระแหน่ แต่งหน้าให้สวยงาม น่ารับประทาน
    5. รับประทานกับผักสด ๆ เช่น ผักกาด ผักกระโดน ผักสะเม็ก ยอดผักติ้ว เป็นต้น


    ต้มยำปลาช่อนไข่มดแดง

    เครื่องปรุง
    1. ไข่มดแดง 1 ถ้วย
    2. ปลาช่อนตัวใหญ่ 1 ตัว
    3. น้ำปลา ซีอิ้วขาว
    4. มะเขือเทศ หรือ มะขามเปียก
    5. เห็ดฟาง
    6. ตะไคร้ ใบมะกรูด ต้นหอม ผักชี
    7. กระเทียม หอมแดง ข่าอ่อนหั่นเป็นแว่น
    วิธีปรุง
    1. นำปลาช่อนมาขอดเกล็ดควักไส้หั่นเป็นชิ้นๆ ใส่ลงในหม้อเติมน้ำพอประมาณ
    2. นำไปตั้งไฟให้เดือดใส่ตะไคร้ ข่า ใบมะกรูด หอมแดง และกระเทียมทุบ
    3. ต้มปลาจนสุกแล้ว ปรุงรสด้วยน้ำปลา ซีอิ้วขาว
    4. ใส่มะเขือเทศ เห็ดฟาง ชิมรสแล้ว ใส่ไข่มดแดง
    5. ยกลงโรยด้วยต้นหอม ผักชี ตักรับประทาน ตามต้องการ


    แกงขี้เหล็กใส่ไข่มดแดง

    เครื่องปรุง
    1. ใบขี้เหล็กอ่อน หรือดอกขี้เหล็ก
    2. ไข่มดแดง
    3. ปลาร้า หรือ น้ำปลา
    4. ต้นหอม
    5. ตะไคร้
    6. หอมแดง
    7. พริกแห้ง
    8. หนังเค็ม1
    9. ข้าวสารเหนียวแช่น้ำโขลกละเอียด (ข้าวเบือ)
    10. น้ำ
    11. เกลือป่น
    วิธีปรุง
    1. นำใบขี้เหล็กอ่อน หรือดอกขี้เหล็ก ที่ต้มเทน้ำจืดแล้ว ใส่ในหม้อ
    2. โขลกพริกแห้ง เติมเกลือป่นเล็กน้อยกับข้าวสารเหนียวที่โขลกพร้อมหอมแดง ให้ละเอียด ตักใส่หม้อ เติมน้ำ
    3. ใส่ตะไคร้ที่ตัดยาวพอประมาณ เติมปลาร้า หรือน้ำปลา แล้วคนให้เข้ากัน
    4. ใส่หนังเค็มที่เผาทุบแล้ว ตัดเป็นชิ้นแล้วเทลงหม้อ หากต้องการให้หนังเค็มนุ่ม ควรต้มก่อนก็ได้
    5. นำไปตั้งไฟใส่ไข่มดแดงจนกว่าจะสุก ชิมรสว่าอร่อยแล้ว ใส่ต้นหอมที่เตรียมไว้ ตักมารับประทานได้ ตามต้องการ

    1 หนังเค็ม เป็นภาษาอีสาน หมายถึง ชื่ออาหารพื้นบ้านชนิดหนึ่ง ที่นำหนังของ โค กระบือ มาหมักด้วยเกลือและแกลบ ได้ที่แล้วนำไปตำด้วยครกกระเดื่องให้นุ่ม แล้วตัดเป็นเส้น ยาวประมาณ 1 ฟุต ตากแห้ง เป็นการถนอมอาหาร เก็บไว้รับประทานยามขาดแคลน โดยการเผาไฟให้สุกแล้วทุบ.


    ผัดเปรี้ยวหวานไข่มดแดง

    เครื่องปรุง
    1. ไข่มดแดง
    2. มะเขือเทศ
    3. น้ำมันหอย หรือ น้ำมันพืช
    4. แครอท
    5. กะหล่ำดอก
    6. ข้าวโพดอ่อน
    7. กระเทียม
    8. น้ำปลา ซีอิ้วขาว น้ำเปล่า
    9. เนื้อหมู
    10. น้ำตาลทราย
    วิธีปรุง
    1. ตั้งกระทะใส่น้ำมันลงไป ใช้ไฟแรงๆ เจียวกระเทียมให้เหลือง
    2. ใส่หมูหั่นและผักที่เตรียมไว้ลงไป เติมน้ำ ปิดฝาทิ้งไว้ 2 นาที
    3. เติมน้ำปลา ซีอิ้วขาว น้ำมันหอย น้ำตาลทราย คนให้ทั่ว ชิมรส
    4. ตักรับประทานขณะร้อนๆ ตามต้องการ

    ไข่มดแดงยัดไส้

    เครื่องปรุง1. ไข่มดแดง 2 ถ้วย
    2. ไข่ไก่ 10 ฟอง
    3. แครอท
    4. หอมหัวใหญ่
    5. ข้าวโพดอ่อน
    6. มะเขือเทศ
    7. หมูสับ
    8. กระเทียม
    9. น้ำตาลทราย
    10.น้ำปลา ซีอิ้วขาว
    11. น้ำมันพืช หรือน้ำมันหอย
    12. ผักชี
    13. น้ำเปล่า
    วิธีปรุง
    1. หั่นหอมหัวใหญ่ แครอท ข้าวโพดอ่อน มะเขือเทศเป็นชิ้น พอประมาณ สับให้ละเอียด ตีไข่ที่เตรียมไว้เพื่อที่จะทำเป็นไข่แผ่น สับหมูให้ละเอียด ตั้งกระทะใส่น้ำมันพืชลงไป พอน้ำมันร้อนใส่กระเทียม เจียวให้เหลืองไว้ นำหมูสับพร้อมไข่มดแดงใส่ลงไปเติมเครื่องปรุงที่เตรียมไว้ทุกอย่าง ปิดฝาทิ้งไว้ 2 นาที จึงใส่น้ำปลา ซีอิ้วขาว น้ำตาลทราย น้ำมันหอย คนให้ทั่วแล้วชิมรส ตักใส่ภาชนะ
    2. นำกระทะไปล้างเพื่อตั้งกระทะใหม่ เติมน้ำมันพืช เมื่อกระทะร้อน นำไข่ที่คลุก ให้แตกซึ่งเตรียมไว้แล้ว นำมาใส่กระทะทำเป็นแผ่นบางๆ พอไข่สุกนำเครื่องปรุงหมูสับที่ผัดไว้ใส่ในไข่แผ่นนั้นและห่อตักใส่จาน นำมารับประทานได้ ตามต้องการ

    ตำใบกระโดนใส่มดแดง

    เครื่องปรุง
    1. มดแดง 1 ถ้วยตวง
    2. ใบกระโดน* 3-5 ถ้วยตวง
    3. น้ำปลา หรือปลาร้า
    4. พริกแห้ง หรือพริกสด
    5. เกลือ
    วิธีปรุง
    1. โขลกพริกแห้งที่เตรียมไว้แล้ว ให้ละเอียดนำใบกระโดนอ่อน โขลกกับพริก ให้ละเอียด
    2. นำมดแดงที่เตรียมไว้ ใส่ลงในครกโขลกเข้าด้วยกัน
    3. เติมเกลือ น้ำปลา หรือปลาร้าตามชอบใจ
    4. ปรุงรสให้กลมกล่อม ตักมารับประทานได้

  6. #6
    ดูแลตรวจสอบเนื้อหา สัญลักษณ์ของ auddy228
    วันที่สมัคร
    Jun 2007
    ที่อยู่
    THAILAND
    กระทู้
    1,176
    บล็อก
    1
    รายการอาหารต่างๆ ที่อ่านมาเกี่ยวกับมดแดง...อยากกินจังเลย..ที่ไหนมีขายบอกด้วย..จะตามไปกิน...

  7. #7
    ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมหา สัญลักษณ์ของ มั่วหน่าฮ่าน
    วันที่สมัคร
    Jan 2007
    กระทู้
    1,781
    ไผอยากกินไข่มดแดงครับ...มีคนล่ะสองไข่...คริ..คริ
    ไม่เข้าถ้ำมอง เหตุไฉนจะได้มอง...http://img198.google.co.th/img198/6016/iinjiisjiisj.gif

  8. #8
    เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สัญลักษณ์ของ สาวบ้านนา
    วันที่สมัคร
    Oct 2006
    กระทู้
    1,745
    เขียนป้ายติดไว่แหน๋ว่ามีเจ้าของ หังนี้ห้ามแหย่ พะนะ ไข่ซันท์

  9. #9
    แม่ดอกกระโดน
    Guest
    หอบกระโด้งใส่ไข่มดแดง
    กอบแม่เป้งไปก้อยนำ

    ขอบคุณ ฅนภูไท
    ได้ความฮู้หลายกระบุง

    8)

  10. #10
    มิสบ้านมหา 2008 - 2009 สัญลักษณ์ของ หมูหวาน
    วันที่สมัคร
    Sep 2007
    กระทู้
    1,353
    บล็อก
    5
    มดแดง กินได้หมด เนาะ ทั้งไข่ ฮอดแม่มดแดง อิอิ
    ขำบางโอกาส ฉลาดเป็นบางเวลา บ้าเป็นพักๆ แต่น่ารักตลอดกาล (^_^)

หน้าที่ 1 จากทั้งหมด 5 หน้า 123 ... หน้าสุดท้ายหน้าสุดท้าย

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •