กำลังแสดงผล 1 ถึง 2 จากทั้งหมด 2

หัวข้อ: บุญโดนตา (วันแห่งความกตัญญู)

  1. #1
    ศิลปิน นักเขียน สัญลักษณ์ของ maanoy
    วันที่สมัคร
    Jul 2006
    กระทู้
    2,271

    บุญโดนตา (วันแห่งความกตัญญู)

    "บุญโดนตา" : วันแห่งความกตัญญู

    "บุญโดนตา" บุญใหญ่ของชาวเขมร ถ่ายทอดมุมมองโดยนางเส็ง จิตรคง อายุ 54 ปี ชาวบ้านหมู่ 4 ต.ไพรขลา อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์

    --------------------------------------------------------------------------------
    "บุญโดนตา" หรือ โฎนตา" "เป็นบุญใหญ่ ของชาวเขมร ปีหนึ่งจะมีครั้งเดียว ในราวเดือนตุลาคม หรือ เดือน 10 ภาษาเขมรเขาเรียกว่า แคเบ็น บุญโดนตานี้สำคัญสำหรับชาวเขมรมาก คือว่าถ้ามีพี่น้อง ลูกๆหลานๆย้ายไปอยู่ที่อื่น เมื่อถึงบุญโดนตา ก็ต้องกลับมาโดนตามาเยี่ยมบ้าน

    การมาเยี่ยมบ้าน ก็มีของมาโดนตาด้วย ขาดไม่ได้ก็คือข้าวสาร ข้าวสารข้าวจ้าว ข้าวสารข้าวเหนียว กับข้าวพวกปลาหรือเนื้อสัตว์ เหล้า สุรา ขนมและผลไม้ ตามได้ตามมี เพื่อที่จะได้เซ่นไหว้ร่วมกันกับพ่อแม่และญาติพี่น้อง ครอบครัวที่เป็นหลักสำคัญคือครอบครัว คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย คุณพ่อ คุณแม่ อาศัยอยู่กับลูก ๆหลานๆ ก็มาโดนตาที่นั้นแหละ การมาโดนตาของลูกหลานผู้ที่เป็นปู่ย่า ตายาย หรือพ่อแม่ ก็ต้องมีของตอบแทนให้ลูก ๆหลาน ๆด้วยเงินหรือสิ่งของ เช่น ผ้าไหม หรือเส้นไหม ถ้าลูกสะใภ้เพิ่งแต่งงานใหม่ต้องให้เยอะ ๆหน่อย

    ก่อนจะถึงวันโดนตา เขาก็จะมีการเตรียมของก่อนขาดไม่ได้คือข้าวตอกแตก ข้าวตอกแตกนี้สำคัญมากลูกหลานที่มาโดนตาเขาให้ข้าวตอกแตกไปกินทุกคน เขาจะเตรียมทำข้าวตอกแตกก่อนวันโดนตาประมาณ 5วัน ต้องหาข้าวเปลือกข้าวเหนียว ถ้าไม่มีต้องไปหาแลกเปลี่ยน เมื่อมีแล้วต้องเอามาคั่ว อุปกรณ์ก็มี หม้อสาวไหมหม้อดิน เพราะหม้อดินจะเก็บความร้อนได้ดีและนาน

    การคั่วข้าวตอกแตก เขาต้องใช้ไฟแรงข้าวจึงจะแตกเมล็ดดี ก่อนคั่วก็ต้องฝัดข้าวเปลือกเอาเมล็ดลีบออกให้หมด ถ้ามีเมล็ดลีบจะทำให้ไหม้ ข้าวตอกแตกจะไม่แตกเมล็ดสวยงาม และนิยมเอาก้านกล้วยสดๆ คั่วข้าวตอกแตกเพราะทนความร้อนได้ดี วิธีคั่ว เขาจะเอาหม้อสาวไหมหรือหม้อดิน ตั้งในเตาไฟเมื่อหม้อร้อนได้ที่แล้ว ก็เอาข้าวเปลือกที่ฝัดแล้วใส่ลงไปกำมือหนึ่ง ถ้าใส่มากจะไม่แตกเม็ดดี แล้วเอาก้านกล้วยคน ๆและหาฝามาปิดปากหม้อด้วย เพื่อไม่ให้เมล็ดข้าวตอกแตกกระเด็นออกมาข้างนอกหม้อได้ ข้าวตอกแตกเมื่อคั่วได้เยอะแล้วก็เอามาร่อน มาฝัด เก็บกากออกให้หมดแล้วก็เอามาผสมกันกับข้าวเม่า กับน้ำตาล น้ำอ้อยกะทิ มะพร้าว

    ส่วนข้าวเม่านั้นทำยากมาก ทำจากข้าวเปลือกสด ๆจะทำเป็นข้าวเหนียวหรือข้าวจ้าวก็ได้ ข้าวกำลังเหลืองหางยังไม่แก่จัด ส่วนมากนิยมใช้ ข้าวดอ เขาเอามาคั่ว เหมืนกันกับข้าวตอกแตก เมื่อข้าวสุกพอประมาณ ก็เอามาตำกับครกตำข้าวหรือบางบ้านก็ตำกับครกกระเดื่องเขาใช้เท้าเหยียบ ตำข้าวเม่าต้องตำสองคน คนหนึ่งถือไม้ไว้เขี่ยคุ้ยเวลาเราตำ เพื่อไม่ให้ข้าวที่ตำจับกันเป็นก้อน ไม้ที่เขี่ยเป็นรูปแบน ส่วนกว้างประมาณ 3-4 นิ้ว ยาวประมาณ 1 เมตร ที่มือจับเราจะทำเป็นด้ามกลม ๆ ถ้าบ้านไหนไม่มี ก็เอาไม้คานหรือไม้หาบน้ำใช้แทนก็ได้


    เวลาตำข้าวเม่า ต้องตำให้แหลกแล้วก็เอามาฝัดให้แกลบออกให้หมด เก็บกากออกให้หมด แล้วก็เอามาคั่วอีกรอบหนึ่ง เพื่อให้เมล็ดข้าวเม่าพองขึ้น แล้วก็เอามะพร้าวมาขูด เคี่ยวกะทิ เอาน้ำมัน มะพร้าวอย่างน้อย ห้าถึงหกลูก เมื่อต้มกะทิมะพร้าวแล้ว ก็เอาน้ำตาลหรือน้ำอ้อยใส่ลงเคี่ยวด้วยกัน ตีจนละลายหมดแล้วก็เอาลงไว้ให้เย็นก่อน เมื่อเย็นแล้วก็เอามาผสมกันกับข้าวตอกแตกกับข้าวเม่า

    ภาชนะที่จะใช้ผสมคือกะละมังใบใหญ่ๆ แต่สมัยโบราณ เขาใช้กระดงเลี้ยงไหมเพราะมันใหญ่ เขาตัดใบตองกล้วยทั้งก้านวางปูลงในกระดงแล้ว ก็เอาข้าวตอกแตกกับข้าวเม่าลงไป ตักเอาน้ำกะทิเทราด แล้วก็คลุกไปมาให้เข้ากันดีแล้วก็เอาไปเก็บไว้ให้ดี สมัยนี้เขามีถุงพลาสติก สมัยโบราณมีตะกร้าๆ เขาทำจากไม้ไผ่ เขาสานจากไม้ไผ่จะเอาขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ได้ แล้วแต่เราจะต้องการ เขาเอาใบตองกล้วยสด ๆใส่ลงในตะกร้าให้ยาวเลย ปากตะกร้าออกไป ประมาณเกือบศอก เวลาใส่ข้าวตอกแตกเต็มตะกร้าแล้วก็ปิดด้วยใบตองอีกทีจนมิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้มดหรือแมลงต่างๆเข้าไปตอมได้เก็บไว้ได้นานเป็นเดือน ๆ

    ข้าวตอกแตกนี้เขาจะทำทุกครอบครัว วันบุญโดนตาเป็นแรม 14 ค่ำเดือน 10 ของทุกปี เป็นวันเซ่นไหว้ เขาก็มีของอยู่ของกินหลายอย่าง มีดอกไม้ธูปเทียน ขันห้า หมากพลูสี่คำ ยาม้วนสี่คำ ข้าวสองจาน ต้มแกง ลาบ ก้อย ย่าง ปิ้ง ก็ว่ากันไปตามมีตามได้ ขนม ข้าวต้ม ข้าวตอกแตก สมัยก่อนผลไม้ก็มีอยู่ในสวนไม่ได้ซื้อ มีขนุน กล้วย ส้มโอ น้อยหน่า สับปะรด มะพร้าวอ่อนเป็นต้น และก็มี เหล้า สุรา สมัยก่อนเขามีเหล้าโท เหล้าต้มเขาทำเอง

    และเมื่อได้เวลาบ่าย ๆ เขาก็ทำพิธีเซ่นไหว้ ก็จะเอาเสื่อมาปูที่บริเวณหน้าบ้านแล้วก็เอาอาหารการกินที่จัดเตรียมไว้แล้ว เอาออกมาวางบนเสื่อที่ปูไว้ เสร็จเรียบร้อยแล้วญาติพี่น้อง ลูกหลานเข้ามานั่งพร้อมเพรียงกันมีผู้เฒ่านำว่าจุดธูปเทียน แล้ว พูดนำหน้า พวกเราก็พูดตาม เขาให้กราบลงสามครั้งแล้วยกขันห้าขึ้นเหนือศีรษะแล้ว ก็วางลงและก็พากันเรียกชื่อคุณปู่ คุณย่า คุณตาคุณยาย และญาติพี่น้อง ผู้ที่วายชนม์ชีพไปให้มาอยู่มากินทุกคน เพราะวันนี้เป็นวันโดนตา มาหาบมาหามเอาไป มีการกรวดน้ำ เอาเหล้าหยาด เมื่อได้เวลาก็บอกว่าถ้ากินอิ่มแล้วก็เคี้ยวหมาก สูบยา ลูกหลานก็จะรับเศษกินทีหลัง ลูกหลานก็จะบอกว่ากินอิ่มแล้วคืนนี้ก็ไปวัดไปรับศีล รับพร ไปฟังพระสวดมนต์ไปรับเอาบุญกุศล เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็ย้ายไปบ้านหลังอื่นไปกันเป็นกลุ่ม

    วันโดนตาวันนั้นเขามีการเล่นพื้นบ้านคือ บั้งป๋อง ทั้งเด็ก ๆและหนุ่มๆ บั้งป๋องนี้เขาทำมาจาก กระบอกไม้ไผ่ ยาวประมาณ 1 ศอก ตัดออกเป็นสองชิ้น ชิ้นหนึ่งยาวเกือบคืบ เป็นด้ามจับเหลาไม้ไผ่กลม ๆใส่ให้พอดีกับรู ยาวเกือบสุดบั้งยิง ส่วนอีกท่อนหนึ่งคือท่อนยิง ตัดทะลุป้องทั้งบนและล่างเท่านั้น แล้วก็นำผลไม้มาใส่ในรูสองลูกแต่ใสคนละครั้ง ใช้ท่อนที่เป็นด้ามจับดันลูกที่สองตามเข้าไป แรงดันจะดันลูกที่ หนึ่งพุ่งออกทางปลายท่อยิงจะมีเสียงดังเสียงดัง ภาษาลาวเรียกว่า หน่วยพะพา หรือลูกพะพา ลูกกลมๆเขียวๆเท่ากับดินสอดำ หรือถ้าไม่มี ก็เอาใบตองกล้ายสดแล้วก็เคี้ยว ๆแล้วก็ใส่ยิงได้เหมือนกัน เวลากลางคืนก็ไปเล่นไปยิงกันที่วัด ดังโป้งป้าง สนุกสนานดี

    พอถึงเวลากลางคืนเขาก็จะเตรียมของเอาออกไปวัดอีก ของนั้นเขาจะใส่ในกระบุงหรือกระเชอ มีเผือก มัน ที่ต้มสุกแล้ว กล้วยสุกหนึ่ง ข้าวต้ม หนึ่ง มัดหรือหนึ่งพวง และผลไม้ตามมีตามได้ ฟักอ่อนหนึ่งลูก มะละกอหนึ่งลูก หมากพลู ยาสูบ ดอกไม้ขันห้า เหล้าหนึ่งถึงสองขวด เหล้าโทก็ได้ ครอบครัวใคร ครอบครัวมัน พากันแบกออกไปวัด พระสงฆ์ก็จะทำพิธีสวดมนต์เป็นตอนๆ ไป พวกคนที่แบกกระบุง กระเชอ ก็พากันมานั่งเป็นระเบียบ ถึงตอนเรียก ก็จะเรียกพร้อม ๆกันไป ปู่ย่า ตายาย ญาติพี่น้อง ของใครของมันให้ท่านมารับเอาสิ่งของ ของอยู่ของกิน มากินเหล้า ปู่ย่า ตายาย มากินก่อน ลูกหลานก็จะมารับเศษกินทีหลัง ก็เอาเหล้าแจกกันกิน บางคนก็เมา เมื่อสวดมนต์จบแล้วก็พากันแบกกระบุง กระเชอ กลับบ้าน

    ทีนี้พอเวลาประมาณตีสี่ตีห้าก็ลุกเตรียมตัวพากันไปวัดอีก ไปครอบครัวละสองคน คนหนึ่งก็แบกกระเชอ อีกคนหนึ่งก็ถือขัน ในขันมีข้าวเหนียว มีถั่วงา ที่ขั้วสุกแล้วมีมะพร้าวอ่อนขูดให้ เป็นชิ้น ๆ มีส้มโอ ส้มกะสัง ส้มมะขาม ส้มสะมอ ส้มอะไรก็ได้ขอให้มีรสเปรี้ยวๆ มีหมากพลูสี่คำ ยาสูบสี่ม้วน มีเงินด้วย เงินเอาไม้ไผ่ยาวประมาณ 1 คืบแล้วผ่าที่ปลายไม้ไผ่ เอาเงินใส่คีบไว้แล้วเอาไม้ปักลงในกลางขันข้าว เงินนั้นไม่จำกัดแล้วแต่จะใส่ของพวกนี้เขาจัดเตรียมไว้แต่หัวค่ำแล้ว เมื่อถึงเวลาเขาก็ปลุกเรียกกันรอไปพร้อม ๆกันพอมาถึงวัดแล้วเอาของที่แบกมาถือวางเรียงกัน ส่วนพระสงฆ์ท่านก็ทำพิธีสวดมนต์เสร็จแล้ว ก็หยิบเอาเงินที่ปักไว้ในขันข้าว ส่วนคนแบก กระเชอ ก็เอาของในกระเชอไปเททิ้งใต้ร่มโพธิ์ ส่วนคนที่ถือขันข้าวก็เอาขันข้าวกลับบ้านไปหว่านใส่ในนาข้าว คนโบราณเขาพูดไว้ว่า แม่โพสพจะต้องตั้งท้อง ตั้งครรภ์ อยากกินของเปรี้ยว ๆ เขาว่าอย่างนั้นแล้วก็พากันไปตักบาตร เสร็จพิธี นี่คือ บุญโดนตา ประเพณีของชาวเขมร เขาถือปฏิบัติกัน มาจนถึงทุกวันนี้.

  2. #2
    ฮอดมื้อโดนตา บ่าวเมืองแปะสิไปเล่นบ้านหมู่ที่จัดงานโดนตา เหล้ายาปลาปิ้ง ไปเฮียนได๋กะเอิ้นกิน จนว่าเมากลับบ้านเลย >:d8)
    ...เปรียบแม่เช่น โคมทองของชีวิต

    ช่วยชี้ทิศ ช่วยนำทาง ช่วยสร้างสรรค์

    ให้ความรัก ให้ความรู้ ชูชีวัน

    ลูกจึงมั่นกตัญญูบูชาคุณ..........เพื่อแม่ แพ้บ่ได้

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •