ครอบครัวควรมีแต่เรื่องดีๆ แต่ในความเป็นจริง ครอบครัวแต่ละครอบครัวก็คงไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ ตลอดเวลา ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือ เราต้องรู้สิ่งที่เรามีในครอบครัวว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่ดี ที่ควรมี ควรรักษาไว้และสิ่งไหนเป็นสิ่งที่ไม่ดีที่ต้องขจัดให้หายไป

เครือข่ายครอบครัวได้มีการสำรวจเพื่อระบุว่าสิ่งใดบ้างที่ไม่ควรให้มีพื้นที่อยู่ในครอบครัว

1. ความรุนแรง

ภาพที่ชัดเจนที่สุดของความรุนแรง ในครอบครัวคือ การใช้อารมณ์ของพ่อแม่ทั้งต่อพ่อแม่ด้วยกันเองและต่อลูก บางครั้งอาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยและปกติ เช่น การดุด่าว่ากล่าวหรืออารมณ์เสียใส่ลูก แต่สิ่งเหล่านี้ก็อาจสามารถนำมาซึ่งความรุนแรงกับเด็กอย่างไม่รู้ตัว ฉะนั้น “อารมณ์เสีย” จึงเป็นอย่างแรกๆ ที่ควรนำออกไปจากครอบครัว

คุณอัณศยา แซ่ลี้ แกนนำเครือข่ายครอบครัวแนะนำว่า

“พ่อแม่ต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ อย่าใช้อารมณ์กับลูก ไม่มีใครทำร้ายเรา ทางอารมณ์ได้ นอกจากตัวของเราเอง ถ้าลูกซนบ้าง เราก็ต้องควบคุมอารมณ์ตัวเองเอาไว้ ให้คิดถึงแต่ความรักความหวังดี คิดถึง เหตุผลว่าทำไมลูกเราถึงมีพฤติกรรมแบบนี้แล้วหาวิธีแก้ไขอย่างมีสติ”

2. เหล้า/บุหรี่

นอกจากจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อลูกๆ แล้ว เหล้าและบุหรี่ ยังเป็นตัวการทำให้บรรยากาศในครอบครัวเสียอีกด้วย

ในครอบครัวที่พ่อหรือแม่ดื่มเหล้า และเมาเป็นประจำ สติที่ควรมีในการเลี้ยงลูก ก็จะหายไป อาจเป็นเหตุให้พ่อแม่ทำสิ่งที่ไม่ควรจะทำหรือร้ายกว่านั้น อาจนำความรุนแรงมาสู่ครอบครัวอีกด้วย

ในส่วนของบุหรี่ก็ไม่แพ้กัน เพราะมีข้อมูล ชัดเจนว่าคนที่อยู่รอบข้างคนสูบบุหรี่จะได้รับสารพิษมากกว่าตัวผู้สูบเองหลายเท่า การสูบบุหรี่จึงเหมือนเป็นการแสดงออกถึงความไม่ห่วงใยคนในครอบครัว ลูกๆ จึงอาจมีความรู้สึกเชื่อมโยงว่า พ่อแม่ที่สูบบุหรี่ไม่รักตนก็ได้

คุณทนง แว่นสุวรรณ ประธานชมรมเครื่องข่ายผู้ปกครอง โรงเรียนกุนนที-รุทธาราม กล่าวว่า

“เรื่องไม่ดีที่อยากจะให้ช่วยกันเพลาๆ ลงก็คือ เรื่องที่บั่นทอนสุขภาพอย่างเรื่องการดื่มเหล้าและการสูบบุหรี่ เพราะนอกจากจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพแล้ว ยังส่งผลทำให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัวได้ง่ายด้วย”

3. บริโภคนิยมและความฟุ่มเฟือย

นอกจากจะเป็นสาเหตุต้นๆ ที่จะนำพาปัญหาเศรษฐกิจมาสู่ครอบครัวแล้ว ยังเป็นพิษเป็นภัยต่อวัฒนธรรมการออมที่พ่อแม่ควรจะปลูกฝังกับลูกด้วย

ที่น่าวิตกมากกว่านั้น คือ วัฒนธรรมบริโภคนิยม ซึ่งผลักดันให้ผู้คนโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นให้หันไปให้ความหมายกับชีวิตที่เน้นการบริโภคเพียงอย่างเดียว ตั้งแต่บริโภคเพื่อสร้างอัตตลักษณ์ บริโภคเพื่อแสดงอำนาจ บริโภคเพื่อเข้ากลุ่ม เป็นที่มาของการบริโภคที่มาเกินความพอเพียง นำมาสู่ความเสี่ยงต่อปัญหาอื่นๆ ได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเด็กติดเกม ปัญหาโรคอ้วน ซึ่งล้วนมีส่วนมาจากวัฒนธรรมบริโภคนิยมทั้งสิ้น

4. สื่อไม่สร้างสรรค์

สื่อโฆษณา มอมเมาบริโภคนิยม เกินเหตุ ค่านิยมผิดๆ แฝงเร้น แถมยังผลิตซ้ำจนฝังหัวหรือแม้แต่ความรุนแรงโหดร้าย จนด้านชา ล้วนแต่มีแฝงอยู่ในสื่อไม่สร้าง-สรรค์ในสังคมไทยมาโดยตลอด ครั้นจะกีดกันลูกออกจากสื่อไม่สร้างสรรค์ที่เกลื่อนกลาดอยู่ทั่วสังคมก็คงเป็นไปได้ยาก แต่หากครอบครัวเข้มแข็ง สร้างภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า “ วิจารณญาณ” ให้กับลูกๆ ได้ ก็จะสามารถนำสื่อไม่สร้างสรรค์ ที่มีอยู่ดัดแปลง ให้เป็นสื่อสร้างสรรค์และสร้างความระแวดระวังให้กับลูกๆ ได้

คุณสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ประธานชมรมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า

“ทุกวันนี้ รายการโทรทัศน์บางรายการได้รับการดูแลไม่ทั่วถึง และไม่มีการควบคุม ถ้าพ่อแม่นั่งดูอยู่กับลูกด้วย ก็พอจะอธิบายแนวคิดสอนลูกได้ เพราะฉะนั้น การดูโทรทัศน์หรือการรับสื่อของลูกจึงควรได้รับการใส่ใจจากพ่อแม่อย่างที่ขาดไม่ได้ และนอกจากพ่อแม่ ต้องคอยดูแลการรับสื่อของลูกแล้ว อีกวิธีหนึ่งที่ควรทำก็คือหากิจกรรมอื่นๆ ให้ลูกทำด้วย จะได้ไม่หมกมุ่นกับการรับสื่อมากเกินไป เช่น พาเขาไปออกกำลังกาย หรือหาหนังสือดีๆ อ่าน”

5. การโกหก

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับครอบครัว ก็คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน หากไร้ซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจกันแล้ว ครอบครัวที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ย่อมมีบรรยากาศไม่ต่างไปจากซ่องโจร และสิ่งที่จะทำลายความไว้ใจได้ดีที่สุด คงหนีไม่พ้นการโกหก

การโกหกเล็กๆ น้อยๆ เพียง 1 ครั้ง อาจนำมาเพียงความระแวงเล็กๆ เพียง 1 อย่าง แต่ความหวาดระแวงที่ไม่มีวันลบเลือนนี้ ก็สามารถแผ่ขยายทำลายบรรยากาศของครอบครัวได้ง่ายๆ



นอกจาก 5 ประการข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่ควรปล่อยให้เข้ามากล้ำกลายครอบครัวของเรา แต่ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะมีมากน้อยเพียงใดก็ตาม หากครอบครัวมีความรักและความเข้าใจให้แก่กัน ก็ย่อมจะกำจัดสิ่งไม่ดีเหล่านั้นให้หมดไปได้ในที่สุด



ที่มา : จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพ ฉบับสร้างสุข