บ้านเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตของคนเรา การมีบ้านเป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มชีวิตใหม่ที่จะเจริญก้าวหน้าต่อไป ดังนั้นการปลูกสร้างบ้านที่ได้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ จึงเป็นการส่งเสริมความมั่นคงของชีวิตในฐานะเป็นพลเมืองดี และเสริมสร้างความดีงามแก่จิตใจ

ขั้นตอนในการปลูกสร้างบ้าน
ในเขตที่ประกาศใช้กฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคารหรือกฎหมายผังเมืองบ้าน หรืออาคารที่จะปลูกสร้าง ต้องได้รับอนุญาตแบบแปลนเสียก่อน และจะสร้างเกินกว่าแบบที่ได้รับอนุญาตไม่ได้ โดยยื่นคำร้องได้ที้สำนักงานเทศบาล สำนักงานเมืองพัทยา และสำนักงานเขต หรือกรุงเทพมหานคร อำเภอ และสำนักงานสุขาภิบาล แล้วแต่กรณี
บริเวณนอกเขตควบคุม บ้านหรืออาคารที่จะปลูกสร้างไม่ต้องขออนุญาตสามารถปลูกสร้างได้เลย

การแจ้งการปลูกสร้างบ้านและผู้มีหน้าที่รับแจ้ง
เมื่อปลูกสร้างบ้านหรืออาคารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เจ้าบ้านไปแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่นั้น ๆ คือ นายทะเบียนท้องถิ่น หรือกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน หรือปลัดอำเภอ หรือผู้ช่วยนายทะเบียน ณ สำนักงานเทศบาล สำนักงานเมืองพัทยา สำนักงานเขต กรุงเทพมหานคร ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอ แล้วแต่กรณี เพื่อขอเลขประจำบ้านภายใน 15 วัน นับแต่วันปลูกสร้างบ้านเสร็จ หากไม่ไปแแจ้งตามกำหนดมีความผิดตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

หลักฐานที่จะต้องนำไปแจ้งเพื่อขอเลขประจำบ้าน
- หนังสือหรือเอกสารการได้รับอนุญาตการปลูกสร้างบ้านหรืออาคาร (เฉพาะในเขตพื้นที่ที่ประกาศใช้กฎหมายควบคุมอาคารหรือกฎหมายผังเมือง)
- สำเนาทะเบียนบ้านหรือบัตรประจำตัวของผู้แจ้งกรณีผู้ที่ได้รับมอบหมายให้นำบัตรประจำตัวของผู้รับมอบ และหนังสือมอบหมาย (ถ้ามี) ไปแสดงด้วย
- หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ปลูกสร้างบ้าน สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่า (ถ้ามี)
- ผู้แจ้งให้ยื่นคำร้องตามแบบที่กำหนดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งพร้อมหลักฐานที่นำไปแสดง
- เมื่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งได้รับแจ้งการสร้างบ้านใหม่แล้ว ให้ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐานที่นำไปแสดง

วิธีการรับแจ้ง
เมื่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งได้รับแจ้งการสร้างบ้านใหม่แล้ว ให้ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐานที่นำไปแสดง เมื่อเห็นว่าถูกต้อง ก็ให้กำหนดเลขประจำบ้านให้พร้อมกับจัดทำทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านต่อไป โดยจะมอบสำเนาทะเบียนบ้านให้แก่ผู้แจ้งไว้เป็นหลักฐาน เพื่อดำเนินการในเรื่องการย้ายบุคคลเข้ามาอยุ่ในทะเบียนบ้านในโอกาสต่อไป หรือจะดำเนินการในคราวเดียวกันก็ได้ ส่วนเลขประจำบ้านที่นายทะเบียนกำหนดให้นั้น ให้เจ้าบ้านไปจัดทำเลขประจำบ้านติดไว้ที่หน้าบ้านหรือที่รั้วบ้านซึ่งเห็นได้ชัดแจ้ง

การรื้อถอนบ้านซึ่งมีเลขประจำบ้าน
เมื่อได้มีการรื้อถอนบ้านหรืออาคารโดยไม่ประสงค์จะปลูกสร้างใหม่ในที่ดินนั้นอีก หรือรื้อเพื่อไปปลูกสร้างที่อื่น ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายใน 15 วัน นับแต่วันรื้อถอนเสร็จ พร้อมกับนำสำเนาทะเบียนบ้านคืนแก่นายทะเบียนด้วย หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

หมายเหตุ : การแจ้งเกี่ยวกับบ้านไม่เสียค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด

แหล่งที่มา กระทรวงมหาดไทย