การควบคุมอารมณ์โกรธ
1. ก่อนอื่นต้องรู้ตัวก่อนว่าตนเองกำลังตกอยู่ในอารมณ์โกรธ สิ่งที่บ่งบอกว่าตนเองกำลังตกอยู่ในอารมณ์โกรธ เช่น หัวใจเต้นเร็ว ตัวสั่น มือสั่น เม้มปาก กัดฟัน หรือกำมือ ร้องกรี๊ด บางคนมีอารมณ์อยากตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามด้วยการกระทำที่รุนแรง ฯลฯ

2. เมื่อรู้ว่าตนเองมีอาการตามข้อที่ 1 จงหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้าม และบอกตัวท่านเองว่า ‘เรากำลังตกอยู่ในความโกรธ’ ฉะนั้น ท่านควรรีบสงบสติอารมณ์ของท่านโดยเร็ว อาจจะใช้วิธีนับเลขถอยหลังในใจ เช่น เดิมเคยนับ 1-20 ก็ให้นับยี่สิบ สิบเก้า สิบแปด จนถึงหนึ่ง วิธีนี้จะช่วยให้ลดความโมโหและพลุ่งพล่านในจิตใจได้

3. คิดอย่างใช้เหตุผล เช่น ขณะขับรถอยู่จู่ๆ ก็มีรถคันอื่นขับปาดหน้า บางคนโกรธไขกระจกลงและตะโกนด่า บางคนขับรถปาดหน้ากลับเพื่อแก้แค้น ซึ่งถ้าลองทบทวนดูก็จะมีเหตุผลที่สามารถเป็นไปได้หลายๆ อย่าง เช่น เขากำลังรีบมองไม่เห็นรถท่าน เขาขาดความระมัดระวังจึงขับรถปาดหน้าโดยไม่ได้ตั้งใจ เป็นต้น ถ้าลองฝึกคิดอย่างมีเหตุผลบ้างจะช่วยยับยั้งอารมณ์โกรธไม่ให้ปะทุขึ้นมามาก ช่วยลดการระบายความโกรธไปยังผู้อื่นได้

4. เมื่อความโกรธความพลุ่งพล่านในใจลดลง จึงค่อยเผชิญหน้ากับคู่กรณีและพูดคุยโดยใช้เหตุผล ถ้าหากยังไม่สามารถควบคุมความโกรธไว้ได้ อาจจะต้องเลื่อนการเจรจากับคู่กรณีออกไปก่อน หรือโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากตำรวจ ญาติหรือคนใกล้ชิด

5. หลังจากเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อมีเวลาว่างถ้าอยากจะระบายความโกรธ ก็ลองเล่นกีฬาที่ต้องออกแรงมากๆ โดยเล่นอย่างน้อยครั้ง 30 นาทีขึ้นไป เช่น ตีเทนนิส ชกกระสอบทราย เตะฟุตบอล ฯลฯ หรือบางคนใช้วิธีตะโกนดังๆ ในห้องน้ำไม่ให้ใครได้ยิน ทั้งสองวิธีนี้จะช่วยให้รู้สึกสบายขึ้น

ถ้าใครรู้ว่าตนเองถูกอารมณ์โกรธครอบงำบ่อยๆ ละก็ ลองฝึกฝนตนเองบ้างตามข้อที่ 1-5 ข้างต้น อย่าปล่อยให้อารมณ์โกรธมีอำนาจเหนือจิตใจตนเอง เพราะถ้าไม่รีบกำจัดหรือควบคุมไว้นับวันความโกรธก็จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น อย่าปล่อยให้อารมณ์โกรธแผดเผาตนเองจนไม่มีความสุขเสียละ