ผลของการเป็นผู้ค้ำประกัน
ช่วยค้ำประกันให้หน่อย..จะกู้เงินมาซื้อรถ ช่วยค้ำประกันให้หน่อย..จะกู้เงินมาซื้อบ้าน ช่วยค้ำประกันให้หน่อย..จะกู้เงินมาซื้ออะไรต่างๆนานา เชื่อว่าคุณคงเคยเจอกับตัวเองมาบ้าง เมื่อเจ้าเพื่อตัวดีของคุณเกิดอยากจะได้อะไรขึ้นมาซักอย่าง แต่เงินไม่มี จึงต้องกู้ยืม และทางเจ้าหนี้เค้าก็ให้กู้ แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องมีคนค้ำประกัน และคนนั้นจะเป็นใครไปได้ล่ะครับ นอกใจคนขี้ใจอ่อนอย่างคุณ

แล้วเคยได้ยินสำนวนไทยมั้ยครับ ที่บอกว่า อยากเป็นเจ้าให้เป็นนายหน้า อยากเป็นขี้ข้าให้เป็นคนค้ำประกัน สำนวนนี้ผมอาจจะจำมาไม่ถูกต้องนัก แต่มันโดนใจ 100 % เต็ม เพราะมันเป็นอย่างนั้นจริงๆครับ มันเป็นเรื่องของคนที่เรียกว่า เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง แต่เอากระดูกมาแขวนคอนั่นเอง

แต่จะให้ทำยังไงได้ล่ะครับ ในเมื่อคนเราต้องมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น บางคนอาจเป็นคนขี้เกรงใจ ขี้ใจอ่อน ใครมาขอให้ช่วยอะไรก็ได้เสมอ โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า ตัวเองจะต้องโดนอะไรบ้างหากคนที่มาขอให้ช่วยไม่รับผิดชอบในสิ่งที่เค้าทำไว้ มีเยอะแยะไปนะครับ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องกันแท้ หรือเพื่อนที่สนิทกันมากก็ตาม บทเค้าจะเบี้ยวแล้วโยนภาระทั้งหมดมาให้เรา เค้าก็ทำได้หน้าตาเฉย และก็หายเข้ากลีบเมฆอย่างลอยนวล ปล่อยให้เราต้องชดใช้หนี้ที่ตัวเองไม่ได้ก่อขึ้นอย่างเดียวดายและขมขื่น

เอาล่ะครับ โม้มามากแล้ว ที่จะบอกวันนี้ก็คือ ก่อนจะลงนามค้ำประกันอะไรให้กับใครก็ตาม สิ่งที่คุณจะต้องรู้ก็คือ โดยมากแล้วสัญญาค้ำประกันจะทำโดยเจ้าหนี้ และมักจะระบุให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่า เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ เค้าไม่ต้องวิ่งไปหาลูกหนี้ให้เมื่อยตุ้ม แต่มาทวงเอาจากผู้ค้ำประกันได้โดยตรง และส่วนใหญ่ก็จะไม่กำหนดวงเงินค้ำประกันไว้ หรือกำหนดไว้ก็เท่ากับจำนวนเงินที่กู้นั่นเอง ซึ่งมันก็ไม่ต่างจากลูกหนี้ตรงไหน

นอกจากนั้นแล้ว ความรับผิดยังไม่ได้หยุดอยู่แค่วงเงินที่กู้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายอย่างอื่น ค่าเสียหายที่เกิดจากการที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ด้วย เช่น ค่าทนายความ ค่าใช้จ่ายในการทวงถาม ค่าดำเนินการ ซึ่งก็หมายความว่า ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดอย่างไม่จำกัดวงเงินนั่นเอง และส่วนมากก็ยังมีเงื่อนไขไม่ให้ผู้ค้ำประกันเลิกสัญญาก่อน หมายความว่า อยากยกเลิกการเป็นผู้ค้ำประกัน ก็เลิกไม่ได้นั่นเอง

ในบางกรณี เจ้าหนี้ยังอาจกำหนดเงื่อนไขอื่นๆไว้เช่น ยอมให้บริษัทของผู้ค้ำประกันหักเงินเดือนเพื่อชดใช้หนี้ ในกรณีที่บริษัทคุณให้ความร่วมมือ กับเจ้าหนี้ ทั้งนี้ สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญามาตรฐานซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ถ้าคุณลงนามไปแล้วก็มีหน้าที่รับผิดอย่างเดียว ที่สำคัญ สคบ.(สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค) ก็ไม่ได้สนใจที่จะคุ้มครองผู้ค้ำประกันในกรณีที่ไปทำสัญญาค้ำประกันที่เอาเปรียบแต่อย่างใด สรุปว่า คุณพึงใครไม่ได้นั่นเอง

ถึงตรงนี้แล้ว คงจะเข้าใจว่า ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดตามกฎหมายอย่างไรบ้าง ทางที่ดี หากต้องลงนามค้ำประกันให้ใคร ก็ขอให้เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างที่สุดจริงๆ และอยู่ในขอบเขตที่เราสามารถรับผิดชอบได้ด้วย เพื่อจะไม่เกิดปัญหาในภายหลัง บางครั้ง การปฏิเสธอย่างนุ่มนวลก็เป็นทางออกที่ดีสำหรับคุณครับ