ข้าวฮาง.. ภูมิปัญญาชาวภูไท

ข้าวฮางเป็นข้าวที่ทำมาจากข้าวที่ยังไม่แก่จัดนำมานึ่งและนำไปตากแดดให้แห้งแล้วจึงนำไปสี

ข้าวฮาง.. ภูมิปัญญาชาวภูไท

หากจะพูดถึง 'ข้าวฮาง' บางคนอาจจะส่ายหัวไม่รู้จัก หากพูดว่า'ข้าวหอมทอง' หลายคนพอได้ยินคงนึกหิวขึ้นมาทันใด ข้าวฮางเขามีกรรมวิธีการผลิตที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย น่าสนใจเพียงไร อรการ กาคำ ลงพื้นที่บ้านนาบ่อ ทำความรู้จักกับข้าวฮางภูมิปัญญาชาวภูไทกระป๋อง กลิ่นหอมตลบอบอวลของข้าวหอมทอง หรือข้าวฮางของชาวภูไทกระป๋อง ฟุ้งกระจายทั่วบริเวณศูนย์ทำการของกลุ่มแม่บ้าน บ้านนาบ่อ ทั้งที่ยังไม่ทันได้ก้าวเดินผ่านธรณีประตูด้วยซ้ำ นับว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตที่มีโอกาสได้สัมผัสกับข้าวหอมทองใกล้ๆ หลังจากได้ยินชื่อมานาน ภาพที่เห็นเบื้องหน้า กลุ่มแม่บ้านขะมักเขม้นกับการหุงข้าวเปลือก จากเตาที่มีแกลบเป็นเชื้อเพลิง ควันโขมง บ้างก็กำลังคัดเมล็ดข้าวเพื่อกรองครั้งสุดท้ายก่อนนำไปบรรจุถุง หรือขวดเพื่อเตรียมจำหน่าย แม่เฒ่าคนหนึ่งนั่งจี่ข้าวฮาง หอมฉุยจนเราต้องขอมาหม่ำสักก้อนสองก้อน ก่อนจะเข้าไปเปิบแกงหวายที่ชาวภูไทบ้านนาบ่อ เตรียมไว้รอผู้มาเยือนอย่างเรา พร้อมทั้งหุงข้าวฮางเม็ดอ้วนๆ เต็มกระติ๊บใบยักษ์ เปิบไปสัมภาษณ์กันไปได้บรรยากาศเป็นยิ่งนัก ตำนานเก่าแก่ตำรับภูไทเล่าขานกันมาว่า 200 ปีที่แล้ว ท้าวผาอิน จะอพยพมาอยู่บ้านนาบ่อ ท่านมีลูกหลายคน ก็มาเลี้ยงวัวเลี้ยงควายทำไร่ทำนา ข้าวไม่พอกิน เหลือเวลาอีกตั้งหนึ่งเดือนก่อนถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ก็เลยเกี่ยวข้าวที่ใกล้จะสุกมาหมักแล้วกลายเป็นต้นตำรับของ 'ข้าวฮาง'นับแต่นั้น ท้าวผาอินมีข้าวนึ่งให้ลูกกิน วิธีนี้ทำให้ข้าวสาร 12 กิโล สีแล้วได้ข้าว 8 กิโลกรัม หุงขึ้นหม้อ ได้ปริมาณเยอะขึ้นอีกต่างหาก ปกติแล้วข้าว 12 กิโลกรัม เมื่อสีแล้วจะเหลือ 7 กิโลกรัม เท่านั้น หุงขึ้นหม้อแต่ไม่เท่ากับข้าวฮางขึ้นหม้อและนุ่มอร่อยลิ้นกว่า กรรมวิธีการทำข้าวฮาง ก็คือเขาจะนำข้าวหอมทองมะลิ 105 ที่ใกล้จะเก็บเกี่ยวได้ แต่ยังมีน้ำนมอยู่ นำมานวดจนเป็นข้าวเปลือกแล้วนำมาหุงทั้งเปลือก จนเมล็ดข้าวแตก ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นนำข้าวที่สุกมาผึ่งลมหรือตากแดดจนแห้งเหมือนเป็นข้าวเปลือกอีกครั้ง ค่อยนำไปสี ดังนั้นรำข้าว และเส้นใยอาหารอยู่ในเมล็ดข้าวอย่างครบครัน เมื่อกะเทาะเปลือกออกคุณค่าทางอาหารจึงไม่สูญเสียไป เนื่องจากการนึ่งสุกมาแล้ว ไม่มีเมล็ดแตกร้าวเลย สีเหลืองธรรมชาติสวยงามดุจดังทองคำ กลายเป็นข้าวหอมทองที่ลือชื่อมีคุณภาพ จนกระทั่งติดอันดับสินค้าโอท็อปของจังหวัดสกลนคร สุพรรณี ร่มเกษ ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านนาบ่อ วัย 43 ปีเล่าว่า ชาวภูไท กับชาวอีสานทั่วไปมีวิถีชีวิตที่ไม่ต่างกัน อนุรักษ์ธรรมชาติเหมือนกัน ทว่าชาวภูไทนั้นหากมีแขกมาเยี่ยมเยือนก็จะต้อนรับขับสู้ด้วย แกงหวาย หรือ อ่อมหวาย ใส่ปลาร้าแสนอร่อยไว้ต้อนรับ แล้วทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ ให้กับแขกผู้มาเยือน

ข้าวฮาง.. ภูมิปัญญาชาวภูไท ข้าวฮาง.. ภูมิปัญญาชาวภูไท ข้าวฮาง.. ภูมิปัญญาชาวภูไท

"ความจริงเป็นคนจังหวัดนครพนม มาแต่งงานอยู่ที่นี่ คิดว่าวิถีชีวิตคนภูไทที่นี่กับคนภูไทนครพนมต่างกันนิดหน่อย เช่น การกินไม่เหมือนกัน อย่างแกงหวายที่โน่นเขาจะตำหวายให้ละเอียด แต่ที่นี่เขาจะแกงเป็นต้นๆ เลย อร่อยดี เพราะภูไทกระป๋องนี้ จะอพยพจากลาวมาอยู่แถว นครพนมกับสกลนคร วิถีชีวิตการกินอยู่ก็ยังเป็นแบบประเทศลาวเลยค่ะ"
สมาชิกกลุ่มที่เข้ามาทำข้าวฮางกันนี้ทำด้วยใจรัก สุพรรณียืนยัน "ไม่ใช่ว่าจะได้กำไรอะไรกันนักหนา ทำตั้งแต่ปี 2542-2546 ช่วงนั้นยังไม่ดัง เพิ่งมาเป็นประธานกลุ่มเมื่อตอนปี 2547 รวบรวมสมาชิก ระดมหุ้น ขอทุนกับผู้ว่า ก็เลยได้สร้างอาคารหลังนั้น

พวกเราเองก็ระดมหุ้นกันซื้อข้าวเปลือกที่หมู่บ้านของเรา จะไม่ซื้อข้าวจากที่อื่นเอาเฉพาะข้าวนาบ่อเท่านั้น เพราะนาบ่อดินกร่อยข้าวหอมนุ่ม เป็นข้าวพันธุ์มะลิ 105 ถ้าเป็นข้าวเหนียวก็ กข.6 ข้าวที่อื่นจะไม่อร่อย ครั้งแรกขายข้าวฮางได้ เดือนละ 3 หมื่นบาท ก็ดีใจกันมาก สมาชิก 32 คนมาร่วมกิจกรรมด้วยกัน ค่าแรงตกวันละ 17 บาท เราก็ภูมิใจ ทำงานตั้งแต่สองโมงถึงห้าโมง (08.00-17.00 น.) พวกเราทำด้วยใจรัก ไม่หวังรวย อยากอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของเรา เพราะเรามีของมีค่าอยู่ในหมู่บ้านเรา ตอนนี้มีคนสั่งข้าวฮางเยอะจนแทบทุกครัวเรือนในหมู่บ้านมาเป็นสมาชิกหมดแล้ว จากเมื่อก่อนมีบางครอบครัวเขาไม่ได้เข้ามาเป็นสมาชิก" 'ประธานกลุ่มแม่บ้าน'เล่าว่าเธอได้ยื่นของบประมาณจังหวัด จากผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อสร้างอาคาร ซื้อเครื่องแพ็คสุญญากาศ เครื่องวัดความชื้น โรงสี ปัจจุบันรายได้ที่เข้ามานั้น เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หน่วยงานราชการเริ่มให้ความสำคัญ ทว่าพวกเขาต้องเริ่มต้นเองก่อนที่หน่วยงานราชการจะเห็นความสำคัญ
"ทีแรกเราใช้เตาฟืน แบบบรรพบุรุษดั้งเดิม พอผู้ว่าฯ เขามาเยี่ยม แล้วก็บอกว่า พวกคุณใช้เตาฟืน ทำลายสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ให้ใช้เตาเศรษฐกิจ ก็เลยมานั่งคุยกับแฟน ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน ไปดูโรงฆ่าสัตว์ เขาใช้กระทะใหญ่ๆ กลมๆ เราก็คิดว่าเราจะเขียนเป็นสี่เหลี่ยมดีไหม เตาหนึ่งนึ่งข้าวได้ 10 หวด เรามี 3 เตา นึ่งได้ครั้งละ 30 หวด"

ปัจจุบันจึงหันมาใช้แกลบนึ่งข้าว เนื่องจากประหยัดพลังงาน ข้อดีของเตาแกลบนี้ก็คือข้าวจะสุกพร้อมกัน เพราะไอน้ำจากระดับไฟเท่ากัน สมัยโบราณใช้ฟืน ข้าวจะสุกไม่เท่ากัน เม็ดจะไม่เท่ากัน เพราะคุมไฟไม่ได้
เดิม...วิถีแห่งข้าวฮาง บ้านนาบ่อ ชาวภูไท ทำกินกันภายในครอบครัว หรือไม่ก็ทำเป็นของฝากไม่ได้ขาย เช่นลูกหลานบ้านไหนไปเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด ทางครอบครัวก็จะทำข้าวฮางส่งไปเป็นของฝากครั้งหนึ่งประมาณ 4-5 กิโลกรัม จนคนที่อื่นเริ่มรู้จักข้าวฮาง หรือข้าวหอมทองนี้ ทว่าก็ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร
"เราอยากจะเผยแพร่ภูมิปัญญาของคนภูไท ให้คนได้รู้จักข้าวฮาง ก็เลยไปเมืองทองธานี ทดลองไปขาย ทั้งหุง ทั้งนึ่งให้ชิมกันในงานเลย ขายดีมากสองวันหมดเกลี้ยงเลย สมัยที่เรายังไม่ทำข้าวฮางขาย คนแถวนี้เขาก็ขายขายหอมมะลิปกติ ปลูกข้าวแล้วก็ขายจะมีพ่อค้าคนกลางมารับ หมื่นละเท่าไหร่เราจะต้องขายให้เขา ตอนนี้เราต้องซื้อข้าวเปลือกมาทำต้นทุนกิโลละ 10 บาท"



ที่มา : แหล่งข่าว กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2548