ฉายารัฐสภา ปี 50

ส.ส.ร.แสบสนิท ศิษย์คมช.

ธรรมเนียมปฏิบัติทุกปีสื่อมวลชนประจำรัฐสภาจะร่วมกันระดมความเห็นในการตั้งฉายาผู้ที่ทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงบุคลิก และการทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตามแม้ว่าในปีนี้ผู้ที่มาทำหน้าที่ดังกล่าวจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ตาม แต่สื่อมวลชนประจำรัฐสภา เล็งเห็นว่าผู้ที่ทำหน้าที่นี้มีความสำคัญ ต่อการเปลี่ยนผ่านการเมืองของประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย สื่อมวลชนประจำรัฐสภาจึงอาศัยเทศกาลปีใหม่นี้ตั้งฉายาให้ “สนช.” และ “ส.ส.ร.” ตามผลงานที่ปรากฏออกมา ในมุมมองของสื่อมวลชน
สื่อมวลชนประจำรัฐสภา ขอยืนยันว่า ในการตั้งฉายาทุกครั้งได้ใช้เหตุผล ความบริสุทธิ์ใจ และอารมณ์ขันโดยพยายามหลีกเลี่ยงการใช้อคติ ปราศจากการแทรกแซง หรือตกเป็นเครื่องมือของใครคนใดคนหนึ่ง เพราะตระหนักดีว่า ผู้ที่ได้รับฉายา อาจมีทั้งที่ถูกใจ หรือไม่ถูกใจ ทั้งนี้ฉายาที่ตั้งขึ้นได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ของสื่อมวลชนประจำรัฐสภา โดยผลการพิจารณามีดังต่อไปนี้

1.ฉายา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้แก่ “ขัน-ที สีเขียว” หลังจากที่สนช.ชุดนี้ได้รับการคัดสรรโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)ให้เข้ามาทำหน้าที่นิติบัญญัติ สมาชิกส่วนใหญ่มาจากสายทหารและข้าราชการประจำ และอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จนถูกมองว่าเป็นสภา “สีเขียว” ทำให้สนช.ชุดนี้มีกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้กับคมช.และเพิ่มอำนาจทหารมากขึ้น ผ่านการพิจารณาหลายฉบับ โดยเฉพาะ ร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรพ.ศ. .... นั้น สนช.ใส่เกียร์เดินหน้าโดยไม่สนใจเสียงคัดค้านอย่างหนักจากองค์กรภาคสังคม และที่ถือได้ว่าเป็นมหกรรมทิ้งทวนของสนช.ชุดนี้คือการทำคลอดกฎหมาย 70 ฉบับภายในเวลาเพียง 3 วัน สิ่งเหล่านี้ตอกย้ำให้เห็นการกระทำว่าสนช.มีกริยาเปรียบได้กับ “นกเขา” เมื่อเจ้าของดีดนิ้วก็พร้อม “ขัน” ตอบรับตามสัญชาตญาณทันที

2.ฉายาประธานสนช. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้แก่ “ซีอีโอ สนช.” นายมีชัยถือเป็นนักกฎหมายระดับปรมาจารย์ ที่ได้รับความไว้วางใจจากทุกกลุ่มอำนาจตลอดมา ซึ่งภายหลังการเปลี่ยนแปลงทางสถานการณ์ทางการเมือง นายมีชัยยังได้รับความไว้วางใจจาก คมช. ให้มาเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งนายมีชัยก็ไม่ได้ทำให้ผู้แต่งตั้งผิดหวัง เมื่อสามารถลำเลียงกฎหมายที่รัฐบาลและคมช.ต้องการเข้าสู่ที่ประชุมได้อย่างไม่บกพร่อง และใช้ความเด็ดขาดในการควบคุมการประชุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังใช้ฝีมือบวกความเก๋าสยบความขัดแย้งและความแตกแยกระหว่างสนช.กลุ่ม ก๊ก ต่างๆได้เป็นอย่างดี ทำให้สมาชิกมีความยำเกรงในตัวนายมีชัย ราวกับพนักงานบริษัทที่เกรงอกเกรงใจซีอีโอของบริษัทเลยทีเดียว

3.ฉายาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ได้แก่ “แสบสนิท ศิษย์คมช.” ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี2549 ได้กำหนดที่มาของส.ส.ร.ให้มาจากกลุ่มวิชาชีพต่างๆที่เรียกว่า “สมัชชาแห่งชาติ” จำนวน 2,000 คน ให้เลือกกันเองเหลือ 200 คน แล้วนำมาให้ คมช.คัดเหลือ 100 คนเพื่อมาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งส.ส.ร.100 (บวก10 กมธ.ยกร่างฯ) ก็ได้ตอบแทนคมช.ด้วยการพ่วงมาตรา 309 ซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายในบทเฉพาะกาลให้ยกเว้นความผิดที่คมช.ได้กระทำมาหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “นิรโทษกรรม” นั่นเอง พฤติกรรมที่แสบซ่าของส.ส.ร.ยังถูกกล่าวขวัญอย่างหนาหูจากการทำงานที่ขัดแข้งขัดขากันเอง ข่าวฉาวซื้อเก้าอี้ประธานกรรมาธิการ แม้กระทั่งโค้งสุดท้ายยังไม่วายมีความความไม่โปร่งใสในการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติปูดขึ้นมาอีก “แสบสนิท” จริงๆ

4.เหตุการณ์แห่งปี ได้แก่ “ม็อบยึดสภา” เกิดขึ้นในวันที่ 12 ธ.ค. เมื่อกลุ่มเอ็นจีโอ กว่า 500 คน นำโดยนายจอน อึ๊งภากรณ์ ที่คัดค้านการออกกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ยื่นคำขาดให้สนช.ยุติบทบาททันที โดยนำกำลังปิดล้อมทางเข้า-ออกรัฐสภา ก่อนที่เหตุการณ์ไม่คาดฝันจะเกิดขึ้น กลุ่มผู้ชุมนุมกว่า 50 คน ปีนรั้วบุกเข้ามาภายในอาคารรัฐสภา ยกพลเข้าประชิดห้องประชุม ระหว่างที่สนช.กำลังถกกฎหมายสำคัญ เป็นเหตุให้ต้องยกเลิกการประชุมทันที และการประท้วงครั้งนี้ยังสามารถทำให้ สนช.กำหนดวันเวลาที่ชัดเจนในการพิจารณากฎหมาย ถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับสถาบันทางนิติบัญญัติมาก่อน

5.เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ได้แก่ “ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550” ที่ผ่านมาประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 17 ฉบับ แต่ไม่มีครั้งไหนที่ประชาชนจะมีโอกาสได้ร่วมตัดสินใจในร่างรัฐธรรมนูญแม้แต่ครั้งเดียว จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในวันที่ 19 ก.ย.49 ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2540 คมช.ได้มีการแต่งตั้งส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และในวันที่ 19 ส.ค.50 ก็มีการจัดให้ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 2475 อย่างไรก็ตามการลงประชามติครั้งนี้ไม่ได้เป็นการชี้วัดว่าคนไทยเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญหรือไม่เพียงอย่างเดียว แต่ได้ถูกข้อสังเกตว่าเป็นการตัดสินว่าประชาชนเห็นด้วยกับการรัฐประหารหรือไม่ด้วย

6.ดาวเด่น ได้แก่ “นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์” เป็นสนช.สายสังคม ที่มีบทบาทโดดเด่นในการเสนอกฎหมายด้านสังคม หรือสาธารณประโยชน์ โดยเฉพาะการปกป้องสิทธิของผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ไม่เคยมีข้อครหาว่ารับผลประโยชน์กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด นายวิริยะยังควรได้รับการยกย่องว่าเป็นสนช.ที่เข้าประชุมอย่างสม่ำเสมอด้วย รวมทั้งยังมีสปิริตในการปฎิบัติหน้าที่โดยเห็นได้จากกฎหมายบางฉบับที่แม้ตนเองเป็นผู้เสนอแต่ปรากฎว่าที่ประชุมไม่เห็นด้วย ก็จะยอมรับมติของเสียงส่วนใหญ่ ไม่มีการตีรวนทำให้เกิดความวุ่นวายในสภา

7.ดาวดับ “ได้แก่ “พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน” แรกเริ่มเมื่อเข้ารับตำแหน่งสนช.ได้ประกาศตัวว่าจะเข้ามาเป็นมือปราบคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะการตรวจสอบการทุจริตภายในสนามบินสุวรรณภูมิ และยังเป็นตัวตั้งตัวตีในการล่าชื่ออภิปรายซักฟอกรัฐมนตรีในรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่สุดท้ายการดำเนินการทั้งหลายกลับไปไม่ถึงฝั่งฝัน เมื่อถูกย้อนเกล็ดโดยสนช.สายทหารด้วยกันเองที่กล่าวหาว่าพล.ร.อ.บรรณวิทย์ไม่โปร่งใสในระหว่างทำหน้าที่บริหารองค์การแบตเตอรี่ ต่อมาถูกปลดออกจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวงกลาโหม หลังจากที่กระทบกระทั่งกับผู้บังคับบัญชา จากกรณีที่ออกมาปกป้องเพื่อนซี้ที่ชื่อพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร เท่านั้นยังดับไม่พอ ในบั้นปลายชีวิตราชการอยากจะเล่นการเมืองก็วืดอีกเช่นเดิมเนื่องจากรมว.กลาโหม เล่นเกมดึงเวลาไม่เซ็นหนังสืออนุมัติลาออกให้จนแห้วไม่สามารถลงสมัครส.ส.ได้

8.คู่กัดแห่งปี ได้แก่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ กับ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ แม้จะมาจากแหล่งกำเนิดเดียวกันคือคมช. แต่ก็อยู่คนละกลุ่ม ตั้งแต่วันแรกที่สนช.ตั้งไข่ ทั้งคู่ก็กลายเป็นหนามตำใจของกันและกัน เมื่อเป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานสนช.แต่ศึกยกแรกน.ต.ประสงค์ พ่ายไปอย่างราบคาบ หลังจากนั้นก็ตั้งป้อมใส่กันแบบไม่เกรงศักดิ์ศรี เพราะต่างเป็นมวยเฮฟวี่เวททั้งคู่ กฎหมายฉบับไหนนายมีชัยหนุน น.ต.ประสงค์ก็จะค้านอย่างสุดลิ่ม เช่น ร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยออกนอกระบบทั้งหลาย และในช่วงทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ เวทีไหนมีน.ต.ประสงค์ก็จะไม่มีนายมีชัย เช่นเดียวกันถ้านายมีชัยเข้าไปนั่งหัวโต๊ะวงประชุม ก็จะไม่เห็นเงาน.ต.ประสงค์ เข้าทำนอง “เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้”

9.วาทะแห่งปี ได้แก่ “ไปตายเอาดาบหน้า” เป็นคำพูดที่ออกมาจากปากของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ขณะทำหน้าที่ประธานที่ประชุมสนช.ในระหว่างการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมในวาระ 2 ซึ่งนายมีชัย ได้ทักท้วงว่าคณะกรรมาธิการ(กมธ.)กำหนดรายละเอียดข้อห้ามในการรับของกว้างเกินไป แม้แต่การไปตรวจราชการแล้วประชาชนนำผ้าขาวม้ามาผูก หรือเอาลองกองมาให้กิน ก็ยังรับมาเป็นของส่วนตัวไม่ได้ ต้องนำเข้าเป็นของหลวงเท่านั้น แต่ทางกมธ.ยังยืนยันตามร่างเดิม ทำให้นายมีชัย กล่าวเชิงประชดว่า “ถ้างั้นให้ไปตายเอาดาบหน้าแล้วกัน” จนในที่สุดกมธ.ก็นำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวไปปรับปรุงใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด