....ภาพสะท้อนจากบทเพลงลูกทุ่งอีสาน...

นักร้องเพลงลูกทุ่งอีสานได้เก็บรายละเอียดของความเป็นคนพื้นบ้านอีสานรวมถึงการจากบ้านมาก็มีการบรรยายการเดินทางและเรื่องราวที่พวกเขาประสบไว้มากมาย ตั้งแต่การที่ต้องปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่แปลกแยกในกรุง ไม่ว่าจะเป็นภาษาแตกต่างกันกับชาวกรุง การถูกต้มตุ๋นจากคนเมืองที่สถานีขนส่ง การดิ้นรนต่อสู้ชีวิต และการอำลาเมืองกรุงกลับสู่อ้อมอกอีสาน

ดนตรีลูกทุ่งอีสานสามารถจัดแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ให้เห็นถึงการสะท้อนชีวิตชาวอีสานได้...เช่น

๑. ชื่อจังหวัดในภาคอีสาน
นักร้องลูกทุ่งอีสานคือผู้ที่มาจากจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคอีสาน บทเพลงลูกทุ่งจึงมักมีเนื้อหาที่กล่าวถึงชื่อจังหวัดทางภาคอีสานเช่น
เพลงสาวชัยภูมิ ของประทีป ขจัดพาล ดนตรีที่ใช้ประกอบเพลงนี้มีลีลาการประสานเสียงแบบง่าย ๆ เน้นจังหวะชัดเจน สามารถจดจำทำนองได้ง่าย เนื้อเพลงตอนหนึ่งกล่าวว่า

“ซึ้งแล้วน้ำใจสาวชัยภูมิ แม่ดอกบัวตูมคนงามเชื่อใจบ่ได้ หลอกหนุ่มขอนแก่น อุบล อุดร หนองคาย เธอช่างเหลือร้าย หลอกได้ถึงยโสธร โคราช สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ หลอกจนสุดเขตทั่วแคว้นแดนอีสาน ใครลุ่มใครหลงพะวงร้าวราน เข็ดแล้วจอมขวัญ สาวงามเมืองพญาแล”

เพลงเซียงบัวล่องกรุง ของ ศักดิ์สยาม เพชรชมพู ที่บรรยายถึงการเดินทางและผ่านจังหวัดต่าง ๆ ดนตรีที่ฟังแล้วคิดถึงบ้าน เข้ากับเนื้อเพลง ใช้ภาษาถิ่นคล้องจองกับการบรรยายถ้อยคำ เนื้อหาในเพลง ดังเนื้อเพลงที่ว่า

“รถแล่นรี่ออกจากวารินฯ กินเข้าเช้าเมืองศรีสะเกษ ล่องเข้าเขตจังหวัดสุรินทร์ กูได้ยินรถไฟมันดัง เอียงหูฟังดังทุกข์คักคัก ทุกข์คักคัก ทุกข์คักคัก กูทุกข์คักคัก แล้วน้องคราวนี้ ทุกข์อีหลีจริงจริง บ่ นอ รถแล่นห้อนำรางจิ่นจิ่น เลยเข้าถิ่นเมืองบุรีรัมย์ฝนตกฮำรินอยู่จ้อยจ้อย น้ำตาย้อยย้าวอยู่ในอก บุญเดือนหกคิดนำทางบ้าน อีกบ่นานรถแล่นอาดอาด ฮอดโคราชเมืองใหญ่แม่โม โงหัวขึ้นกินข้าวอีกเทือ”

จะเห็นได้ว่ามีการกล่าวถึงจังหวัดต่าง ๆ เรียงตามลำดับก่อนที่จะถึงกรุงเทพได้อย่างชัดเจน

๒. สถานที่ท่องเที่ยว
เพลงอีสานมีการใส่สถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดนั้นๆ ทำให้ผู้ฟังได้รู้จักสถานที่ที่เป็นจุดเด่นของจังหวัดได้อีกด้วย เช่น
เพลงภูพานสะอื้น ของ ก้องเพชร แก่นนคร ดนตรีที่มีความไพเราะ ส่งกลิ่นป่ากลิ่นเขาเป็นมนต์สะกดให้รักบ้านเกิด ดังเนื้อเพลงตอนหนึ่งกล่าวว่า

“ภูพานสูงตระหง่านเอื้อมฟ้า ทาบพสุธาถิ่นอีสานนานนิรันดร์ น้ำตกโขดเขินแนวเนินหน้าผาสูงชัน กล้วยไม้ป่านานาพันธุ์ อบอวลชวนฝันชื่นฉ่ำ”

“ภูพานสงบทอดซบอกธรณินทร์ แม่โขงไหลรินโอบกอดอีสานมานานแค่ไหน ภูพานสะอื้นแม่โขงต้องกลืนน้ำตาร้องไห้ เคยร่มเย็นกลับลุกเป็นไฟ เพราะคนใจง่ายยอมขายชาติสิ้น”

กล่าวถึงสถานที่ท่องเที่ยวคือเทือกเขาภูพาน ที่มีทั้งน้ำตก หน้าผา ดอกกล้วยไม้ป่าธรรมชาติที่อยู่ท่ามกลางป่าเขา มองเห็นแม่น้ำโขง สถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดสกลนคร

เพลงกราบเท้าย่าโม ของสุนารี ราชสีมา ดนตรีช้า ๆ ประกอบเสียงหวาน ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ สื่ออารมณ์ความรู้สึกได้เป็นอย่างดี ดังเนื้อเพลงตอนหนึ่งกล่าวว่า

“สองมือกราบลงที่ตรงเหนืออาสน์แทบบาทย่าโม ที่หลานเติบโตเพราะพรแม่ย่า ลูกทิ้งแผ่นดินอีสาน จากมิตรวงศ์วานบ้านป่า ลูกต้องเข้ามาเป็นศิลปิน”

ย่าโม หรือ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีวีรสตรีที่กอบกู้เมืองนครราชสีมา ตั้งอยู่หน้าประตูชุมพล อำเภอเมือง นครราชสีมา เป็นที่เคารพสักการะของชาวโคราช และเป็นสถานที่หนึ่งที่ประชนที่เดินทางมาต้องมาเคารพบูชาหรือขอพร

๓. เพลงที่บ่งบอกสัญลักษณ์ประจำจังหวัด
เพลงอีสานที่มีการใส่สัญลักษณ์ประจำจังหวัดนั้น ๆ เข้าไปในเนื้อหา เช่น
เพลงลูกทุ่งคนยาก ของ สนธิ สมมาตร

ดนตรีที่ไพเราะ อ่อนหวาน เหมาะกับคำที่ว่า เป็นเพลงหวานแนวอีสาน บ่งบอกถึงความซื่อ และจริงใจของคนอีสานได้เป็นอย่างดี ดังเนื้อเพลงที่ว่า

“ผมจรรอนแรมจากลุ่มน้ำมูล ทิ้งถิ่นดอกคูนเพราะความรู้น้อยต่ำต้อยเพียงดิน เอาเสียงสวรรค์สร้างสรรค์ด้านศิลปิน เป็นนักร้องลูกทุ่งพลัดถิ่น หากินอยู่กับเสียงเพลง”

เนื้อเพลงกล่าวถึง ถิ่นดอกคูน นี่ก็คือสัญลักษณ์ประจำจังหวัดของแก่น

เพลงเพลงสาวงามเมืองอุบลฯ ของสายัณห์ สัญญา ดนตรีที่มีความไพเราะอ่อนหวาน ฟังแล้วให้รู้สึกเคลิบเคลิ้มไปตามอารมณ์ของเพลง ดังเนื้อเพลงตอนหนึ่งกล่าวว่า

“มาถิ่นอุบลเจอแต่คนง้ามงาม สมแล้วสมนาม คนงามแห่งเมืองดอกบัว บัวเมืองอุบล ผู้คนเขาลือไปทั่ว บัวเมืองไหน บ่ถูกใจตัว เหมือนดอกบัวของเมืองอุบล”

ดอกบัว คือ สัญลักษณ์ประจำจังหวัดอุบลราชธานี

๔. เทศกาล ประเพณี
เพลงลูกทุ่งนับว่ามีการเสนอวิถีชีวิต เทศกาล ประเพณี สอดแทรกเข้ามาในบทเพลงเช่น
เพลงเซิ้งม่วนซื่นบ้านเฮา ของ บุญเกิด หนูห่วง ดนตรีสนุกสนานตามลักษณะนิสัยของคนอีสาน ดังเนื้อเพลงตอนหนึ่งกล่าวว่า

“เดือนสามคล้อย ลมวอยวอยพัดวีวี ตกเดือนยี่เข้าเดือนเมษา ละดูกาลวันเดือนเคลื่อนเวลา ฮอดเมษา กุดสงกรานต์ปีใหม่ลาว เถิงเดือนหก ฝนตกฟ้าฮ้ำฮ้อง บวกนาหนองกบฮ้องเขียดจ่านา ม่วนแท้หนาเสียงขับเซิ้งบั้งไฟ สายลมโชย โบกโบยพัดพา ท้องทุ่งนาหอมกลิ่นข้าวใหม่ นกแจนแวน ฮูกฮ้องงอยง่าไม้ เตือนบอกให้เดือนสิบเอ็ดออกพรรษา”

เนื้อหาของเพลงนี้กล่าวถึงเทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ลาว และประเพณีออกพรรษาซึ่งเป็นประเพณีที่สำคัญของชาวอีสานที่ทำกันเป็นประจำทุกปี

เพลงเซิ้งบ้องไฟ ของไวพจน์ เพชรสุพรรณ ดนตรีสนุกสนานที่สะท้อนชีวิตของชาวอีสาน
ดังเนื้อเพลงตอนหนึ่งกล่าวว่า

“โอ้เฮาโอ้เฮาโอ้สาวเอย สางคนโก้เจ้าสิไปไส ไปเซิ้งบ้องไฟที่ยโสธร บ้องไฟไผสิมางามชวนมอง บ้องไฟตาดทองเขาก็ยังแห่มา”

เนื้อเพลงกล่าวถึงงานบุญบ้องไฟที่ยโสธร ซึ่งเป็นประเพณีที่สำคัญของชาวอีสาน และเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศเป็นสัญลักษณ์แห่งประเพณีอีสานอย่างแท้จริง

ขอบคุณข้อมูลจาก :
ยงกฤต สายเนตร อาจารย์ประจำหลักสูตร ศศ.บ. (ดุริยางคศาสตร์สากล)