วิธีสร้างความสุขตามประสาชาวบ้าน



คนเรามีความต้องการไม่เหมือนกัน ชาวนาชาวไร่ต้องการผลผลิตมากมายไพศาล กรรมกรผู้ใช้แรงงานต้องการผลตอบแทนที่คุ้มค่า นักศึกษาต้องการความรู้สุดยอดในวิชาการที่เล่าเรียน พ่อค้าที่พากเพียรทำมาค้าขายต้องการกำไรมากที่สุด บุรุษต้องการภรรยาที่ดี สตรีต้องการความเป็นหนึ่งในบ้าน

ไม่ว่าใครจะต้องการอะไร ผลที่สุดจะสรุปลงในจุดเดียวกันคือ "ความสุข" ความสุขนั้นแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ

1. ความสุขของผู้ครองเรือนหรือชาวบ้านทั่วไป (ภาษาพระท่านว่า คิหิสุข=สุขของผู้ครองเรือน)

2. ความสุขของนักบวชผู้สละโลกียวิสัย เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือพระนิพพาน (ปพฺพชิตสุข หรืออนาคาริกสุข=สุขของบรรพชิตหรือผู้ไม่ครองเรือน)

ความสุขของชาวบ้านนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า มีอยู่ 4 ประการ คือ

1. สุขจากการมีทรัพย์ ชีวิตชาวบ้านต้องมีครอบครัว มีสามีภรรยา มีบุตร-ธิดา มีญาติพี่น้องทั้งสองฝ่าย และบริวารที่ต้องเลี้ยงดู ทรัพย์จึงเป็นสิ่งจำเป็นจะต้องแสวงหามาเพื่อใช้จ่ายให้พอเพียง ครอบครัวใดรายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง ความสงบสุขที่เคยมีจะกลายเป็นความทุกข์ ความร่มเย็นจะกลายเป็นความเร่าร้อนทันที ฉะนั้นต้องมีทรัพย์พอใช้จ่ายจึงจะมีความสุข คนที่จะอยู่ครองเรือนต้องตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะต้องทำมาหาเลี้ยงชีพเพื่อหาเงินตั้งเนื้อตั้งตัวให้ได้ ชีวิตผู้ครองเรือนต้องคำนึงถึงสิ่งนี้ให้มาก บางคนไขว้เขวว่าตนเป็นชาวพุทธ ต้องไม่ขวนขวายแสวงหาทรัพย์สินมาก เอาแค่พออยู่พอกิน เรียกว่ามีสันโดษ ว่าอย่างนั้น

ความจริงต้องดูความหมายของสันโดษให้ชัด สันโดษ ท่านแปลว่า "ความยินดีตามที่ได้ตามกำลังและตามความเหมาะสม" นั่นท่านแปลตามตัวอักษร ความหมายของสันโดษคือ

(1) ยินดีตามที่หามาได้, ยินดีเท่าที่หามาได้ด้วยความบากบั่นของตน (ยถาลาภสันโดษ)

(2) ยินดีตามความสามารถที่หามา มีสติกำลังเท่าไรทุ่มเทลงไป ได้เท่าไรก็พอใจ (ยถาลาภสันโดษ)

(3) ยินดีในสิ่งที่หามาได้โดยชอบธรรม, ของที่ได้มาเป็นผลของการสร้างสรรค์ของตนโดยวิธีการที่ชอบธรรม ไม่ทุจริตฉ้อโกงเขามา (ยถาสารุปปสันโดษ)

สรุปให้เข้าใจง่าย "สันโดษคือความพึงพอใจในผลสำเร็จหรือผลได้ที่ตนสร้างขึ้น ด้วยความบากบั่น ด้วยการทุ่มเทพละกำลังทั้งหมดลงไปและโดยชอบธรรม"

ลักษณะของคนสันโดษจะมีคุณสมบัติเด่นต่อไปนี้

(1) เป็นคนทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความพากเพียร ด้วยสติปัญญาและความเหมาะสม

(2) ไม่อยากได้ของของคนอื่น หรือของที่ไม่ชอบธรรม ไม่ทุจริตเพราะปากท้องหรือเพราะผลประโยชน์ส่วนตัว

(3) เมื่อหามาได้ก็ใช้สอยเท่าที่จำเป็น อยู่อย่างพอเพียง ไม่ตกเป็นทาสของสิ่งที่ได้มา

(4) เมื่อไม่ได้ หรือไม่อยู่ในวิสัยที่จะได้ก็ไม่เดือดร้อนกระวนกระวาย ไม่ยอมให้ความผิดหวังครอบงำ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ของตนไปได้

2. สุขจากการใช้จ่ายทรัพย์ หาเงินทองมาได้แล้วต้องรู้จักใช้จ่ายให้เหมาะสม จัดสรรปันส่วนให้ดี เช่น งบเป็นทุนหมุนเวียนเท่าใด งบฉุกเฉินเท่าใด งบสำหรับสาธารณกุศลเท่าใด งบสำหรับทุนรองรังเท่าใด ถ้าจัดไม่เหมาะ ไม่ถูกส่วน ความสุขที่มีอาจหดหาย

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ท่านพูดมีคติดีว่า "พระงามที่จน (คน(ทั่วไป) งานที่มี" พระงามที่จนน่ะรู้กันอยู่แล้ว ไม่ต้องย้ำเน้น แต่คนทั่วไปงามที่มี ยังมีบางคนเข้าใจว่า คนที่เป็นชาวพุทธ ต้องไม่มีมาก ต้องไม่รวย เป็นความเข้าใจผิด พระพุทธเจ้าท่านตรัส "ทิฏฐธัมมิกัตถะ" (เป้าหมายปัจจุบัน, เป้าหมายที่เฉพาะหน้า) ทรงเน้นว่า ผู้ครองเรือนทั่วไปจะต้องพึ่งพาตัวเองทางด้านเศรษฐกิจให้ได้ ทำมาหากินเพื่อให้ได้ทรัพย์สินเงินทองมาด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตให้ได้ อ่านพระไตรปิฎกจะพบข้อความนี้เสมอ "แสวงหาทรัพย์ มีโภคทรัพย์พอเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัวและคนที่ควรเลี้ยงได้ ที่เหลือไว้จุนเจือสังคม" หลายแห่งได้แสดง "หัวใจเศรษฐี" ไว้ ว่าถ้าอยากเป็นเศรษฐีจะต้องทำอย่างไร

ข้อสองนี้ (รู้จักใช้จ่ายทรัพย์) เป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่จะทำให้คนตั้งเนื้อตั้งตัวได้ มีทรัพย์สินพอกพูน "รายได้ไม่สำคัญเท่ารายเหลือ" ได้เป็นพันเป็นหมื่น แต่จ่ายทีละเป็นแสน ก็ไม่มีทางเหลือ ทำงานจนตายแล้วตายอีกกี่ชาติก็ไม่มีทางร่ำรวยได้

3. สุขจากการทำงานไม่มีโทษ หมายถึง มีอาชีพสุจริตทำถึงจะหาทรัพย์ได้มาก ใช้จ่ายทรัพย์เป็น ถ้าทรัพย์นั้นได้มาด้วยอาชีพทุจริต เช่น ฉ้อโกงเขามา ก็หาความสุขไม่ได้ แม้จะอยู่บ้านใหญ่โตรโหฐาน ใจก็มีแต่ความทรมานเร่าร้อน

การหาทรัพย์สินต้องคำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรม พูดง่ายๆ ว่าหามาด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทรัพย์สินที่ได้มาด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเป็นทรัพย์สะอาด เป็น "ทรัพย์เย็น" ไม่ใช่ทรัพย์ร้อน

4. สุขจากการไม่เป็นหนี้ สมัยนี้มักเข้าใจผิดว่าใครเป็นหนี้มาก แสดงว่ามีเครดิตดี มีคนให้กู้เงิน แต่การเป็นหนี้พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นทุกข์ ทางที่ถูกไม่ควรเป็นหนี้ใครจะเป็นไทแก่ตัว ครอบครัวจะมีแต่ความสุข แนวของพระพุทธองค์ตรงข้ามกับคติความเชื่อของคนสมัยนี้ พระพุทธองค์ตรัสย้ำเสมอว่าความจนเป็นทุกข์ และการกู้หนี้ยืมสินไม่ว่ารูปแบบใดเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ทั้งนั้น (ไอ้แบบเอาบัตรเครดิตรูดนั่นแหละคือการกู้หนี้ที่เป็นมหันตภัย เพราะยืมเงินอนาคตมาใช้ รูดไปๆ หนี้สินพร้อมดอกเบี้ยก็เพิ่มพูนขึ้นจนไม่มีทางใช้หมด บางคนก็ "ดับทุกข์" ด้วยการฆ่าตัวตายให้รู้แล้วรู้รอด)

พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า "คนไม่มีเงิน ไปกู้หนี้เขามาก็เป็นทุกข์ เมื่อใช้ดอกเบี้ยแพงๆ ก็เป็นทุกข์ ไม่มีเงินใช้หนี้เขาก็เป็นทุกข์ ถูกเขาทวงหนี้บ่อยๆ ก็เป็นทุกข์ เมื่อไม่สามารถใช้หนี้เขาได้จึงหนี ก็เป็นทุกข์ หนีไม่พ้นถูกเขาจับฟ้องร้องเข้าคุกเข้าตะรางก็เป็นทุกข์"

ชีวิตชาวบ้านทั่วไปไม่จำต้องไขว่คว้าหาเรื่องสูงส่งไกลตัวเพียงแค่บริหารครอบครัวให้สุขสบายก็นับว่าบรรลุเป้าหมายผู้ครองเรือน

หน้า 29

วันที่ 04 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 17 ฉบับที่ 6245 ข่าวสดรายวัน