ฝึกเอาชนะ ความโลภ ความเห็นแก่ตัว


คนธรรมดาทั่วไป มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่บูชาเงิน บูชาทรัพย์สินเป็นสรณะ จึงมีความต้องการมาก. ความต้องการมากเผาใจเขาให้เร่าร้อน ให้อยากได้ ไม่รู้พออยู่เสมอ. คนแทบทั้งสิ้น ในบ้านเมืองที่เจริญอย่างสมัยใหม่ ตามวัฒนธรรมวัตถุนิยมของชาวตะวันตก หายใจเป็นเงินทองทรัพย์สิน ใฝ่ฝันอยู่แต่เรื่องโชคลาภ เรื่องสลากกินแบ่ง เรื่องค้ากำไรเอารัดเอาเปรียบกัน. ในวงธุรกิจ มีการแก่งแย่งเอารัดเอาเปรียบกัน, ในวงการค้า มีผู้อยากได้ง่ายๆ มีสิทธิพิเศษผูกขาดเอาเสียคนเดียว, ในวงการปกครองมีการใช้อุบายบังคับทางอ้อม ให้ผู้น้อยต้องร่วมบริจาคทำสิ่งใดๆ เพื่อความมีเกียรติ เพื่อประดับบารมีจนเดือดร้อนกันไปมากๆ, แม้ใจวงการทางศาสนาก็ยังมีการเบียดเบียนกันทางอ้อมคล้ายๆ ทางโลก.
การฝึกเอาชนะความโลภ จึงควรเริ่มด้วยการฝึกครองชีวิตอย่างง่ายๆ มีการกินอยู่ที่ไม่ต้องให้ผู้อื่นเดือดร้อน.

ในวันพระ ผู้ถือศีลควรจะได้ประหยัดในเรื่องอาหารการกิน ละเว้นในสิ่งเสพติด สิ่งฟุ่มเฟือย ถือเอาอาหารที่หาได้ง่าย และไม่ต้องให้ผู้ใดต้องเดือดร้อนวุ่นวาย เพราะการถือศีลของตน. ในเวลาเดียวกัน ใช้เงินส่วนที่ประหยัดในการบริจาคเงินหรือสิ่งของ ให้เป็นทานแก่คนยากจนที่กำลังเดือดร้อน, ควรให้ด้วยความรู้สึกในทางละวาง เพื่อเอาชนะความโลภ. วันธรรมดาเราคอยแต่หาเงิน วันนี้เรามาแบ่งให้ผู้อื่นบ้าง, ในวันเกิดหรือวันพิเศษ ควรจะได้มีการแจกสิ่งของแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา แทนการรับของขวัญจากผู้น้อย, จะเป็นการเอาชนะความโลภได้เป็นอย่างดี. อริยบุคคลย่อมถือโอกาสบำเพ็ญทานด้วยการตั้งโรงทาน แจกเสื้อผ้าอาหาร แก่คนยากจนและขาดแคลน ทุกโอกาสที่จะทำได้.

การบริจาคทรัพย์เป็นทาน หรือบำรุงพระพุทธศาสนา ถ้ากระทำด้วยความโลภ เช่นอยากได้บุญมากๆ อยากเป็นผู้มีเกียรติมีชื่อเสียง อยากอวดว่าตนมั่งมี ความอยากนั้นๆ ก็เป็นตัณหา กลายเป็นสิ่งพอกพูนความโลภไปอีกก็ได้, แทนที่จะเป็นการฝึกเอาชนะความโลภ กลายเป็นพอกพูนความโลภไปก็มี. การบริจาคทานที่ถูกต้อง ต้องเป็นการบริจาคเพื่อฝึกเอาชนะความโลภ.

ทุกคราวที่บริจาคต้องหัดคิดจนเห็นแจ้งว่า ไม่อยากได้ตอบแทน. บริจาคเพื่อฝึกความปล่อยวาง วางความยึดมั่นที่ว่าสิ่งนี้ๆ เป็นของเรา เราไม่มีความตระหนี่ ไม่อยากได้อะไรทางวัตถุเป็นการตอบแทน.

เป็นการฝึกเอาชนะความโลภความอยากได้ทีละน้อยๆ, เมื่อถึงคราวของหายหรือเสียหาย เพราะภัยพิบัติต่างๆ ก็คงมีสติระลึกได้ว่า ควรมีใจบริจาค ไม่ควรเสียดาย ไม่ควรยึดถือผูกพันในสิ่งของที่เสียหายนั้นๆ. การมีใจไม่เสียดายเมื่อของหาย เมื่อมีภัยพิบัติได้ นับว่าได้รับผลจากการฝึกไม่โลภ ตามหลักการถือศีลข้อสองนี้.

อริยบุคคลในศาสนาทุกศาสนา ถือศีลข้อนี้ด้วยความระมัดระวังอย่างรอบคอบ ไม่ล่วงเกินในทรัพย์สินของผู้อื่น แม้กระทั่งใบไม้ผลไม้ที่แทบจะไม่มีราคา ก็ไม่ถือเอามาบริโภคใช้สอย ต้องแน่ใจว่าเจ้าของยินดีให้จึงยึดถือเอา, และถ้าผู้ให้ยากจนกว่า ก็พยายามหาทางตอบแทนจนได้. ในการไปตามท้องถิ่น เจ้าบ้านซึ่งเป็นคนยากจนกว่า นำสิ่งของมาให้ เลี้ยงดู ก็หาทางตอบแทน ด้วยสิ่งของเงินทอง หรือส่งเงินทองสิ่งของไปให้เป็นการตอบแทน ไม่ให้มีการล่วงเกินในทรัพย์สินของผู้ใด.

การเอื้อเฟื้อช่วยเหลือคนยากจนกว่าเรา ช่วยเหลือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ถ้าปฏิบัติด้วยความรอบคอบ จะเป็นการบำเพ็ญกุศลถึงสองชั้น คือเป็นทั้งการช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความเมตตา แล้วยังเป็นการฝึกเอาชนะความโลภ ความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัวได้เป็นอย่างดี.

ในอินเดีย ท่านวิโนพา ภเว ได้ท่องเที่ยวบำเพ็ญภูมิทาน เที่ยวขอทานที่ดิน จากผู้มีที่ดินเหลือใช้พอจะแบ่งให้ได้ และยินดีบริจาคให้, เมื่อท่านได้ที่ดินแล้ว ก็ขอให้องค์การกุศล แบ่งปันที่ดินให้คนยากจนที่ไม่มีที่ดิน ได้มีที่ดินพอทำมาหากิน. ตัวท่านผู้ออกบำเพ็ญภูมิทาน ออกบำเพ็ญโดยไม่มีค่าใช้จ่ายอย่างใดๆ ท่องเที่ยวเดินเท้าเปล่าไปทั่วประเทศ เพื่อแสดงการครองชีวิตตามแบบที่ถูกต้อง กินอยู่อย่างง่ายๆ ไปพักที่ไหน ไม่เป็นที่เดือดร้อนแก่ผู้ใด ไม่ต้องการต้อนรับเลี้ยงดูเป็นพิเศษแต่อย่างใด

ชีวิตที่ไม่มีความโลภ ครองชีวิตอยู่อย่างง่ายๆ กินอาหารเท่าที่คนยากจนกิน ไม่ใช้สิ่งที่ฟุ่มเฟือยใดๆ เป็นชีวิตที่เป็นสุขอย่างยิ่ง ตามแบบพระอริยบุคคล, พระพุทธ พระเยซูคริสต์ พระสาวกของพระศาสดาทุกองค์ ท่านมหาตมะคานธี และผู้นำมนุษย์ในด้านสงบสุข ล้วนครองชีพอยู่โดยปราศจากความโลภ ในท่ามกลางชาวโลก ที่อัดแน่นอยู่ในความโลภ.

การเอาชนะความโลภ และการเอาชนะความเห็นแก่ตัวได้ ในปัจจุบันนี้ ก็ยังมีบุคคลที่เห็นความจริงปฏิบัติกันอยู่และไม่เป็นการปฏิบัติที่ล้าสมัยแต่ประการใด, ตรงกันข้ามจะได้เป็นตัวอย่าง แก่ชาวโลกที่ยังต้องตกเป็นทาสของความโลภ ตรากตรำแต่การงาน จนไม่มีเวลาจะหยุดมองความจริงว่า ในด้านไม่โลภนั้น มีความสุขสงบกว่าเป็นไหนๆ.


ที่มา....สังคมธรรมะออนไลน์....