อดทนต่อถ้อยคำล่วงเกินของผู้อื่นได้ "ประเสริฐยิ่ง"

วจนกฺขโม = อดทนต่อถ้อยคำล่วงเกิน



อดทนต่อถ้อยคำล่วงเกินของผู้อื่นได้ "ประเสริฐยิ่ง"


เมื่อใดที่เราเป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำหยาบ คำเสียดสี...

เราจะลดและบรรเทากรรมเวรที่ต้องตอบโต้กับผู้กล่าววาจาร้ายใส่เราได้

เป็นการฝึก ขันติ (อดกลั้น) ทมะ (ข่มใจ) รวมไปถึงอภัยทาน(ทานที่ทำได้ยากเมื่อทำได้จะตัดเวรตัดกรรม) แก่ผู้ที่มาทำร้ายทางวาจา

บางท่าน ใครพูดทับถม หรือเสียดสีเล็กๆน้อยๆ ก็ร้อนใจ นอนไม่หลับ กินไม่ลง สายตาระทม ผิวพรรณหม่นหมองเพราะแรงฟุ้ง เป็นกิเลสอย่างหนึ่งทำให้คิดหมุนวน

นี่เป็นผลของการเก็บเอาคำพูดของคนอื่นมาทิ่มแทง
ใครล่ะที่ยินดีเก็บคำพูดของคนอื่นไว้ ถ้าไม่ใช่ใจท่านเอง

บางท่าน โดนด่า โดนพูดเสียด ตั้งแต่เดือนก่อน แต่เก็บเอาคำพูดมาแทงตัวเองทุกๆวัน
รู้หรือไม่ ว่าคนที่ด่าท่าน เขาลืมไปนานแล้ว ท่านต่างหากที่ยังไม่ลืม และใช้ใจตัวเองหมักหมมถ้อยคำไร้สาระเก็บไว้ไม่ยอมสลัดทิ้ง

ท่านห้ามพระอาทิตย์ไม่ให้ส่องแสงได้ ท่านคงสามารถห้ามคนนินทาได้

ธรรมดา..ที่ต้องเกิดมาเจอถ้อยคำกล่าวโทษ เพ่งโทษ

ธรรมดา..ที่ต้องเกิดมาเจอถ้อยคำเสียดสี เหน็บแนม

ธรรมดา..ที่ต้องเกิดมาเจอถ้อยคำด่าทอ ผรุสวาท


แต่อะไรก็ตามที่เป็นสิ่งสมมุติ ล้วน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ในที่สุด


ถ้อยคำล่วงเกินต่างๆ มันได้"ดับ"ไปนานแล้วตั้งแต่ที่คนๆนั้นเขาพูดเสร็จ
แต่ท่านเอง กลับทำให้ถ้อยคำเหล่านั้น "เกิดใหม่"ทุกๆวัน ด้วยการเก็บเอามาคิดแค้นใจ น้อยใจ เสียใจ ไม่หยุดหย่อน


ข้อความจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


“......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะอันภิกษุพึงละด้วยความอดกลั้น.... คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมเป็นผู้อดทนต่อหนาว ร้อน หิว กระหาย เหลือบ ยุง ลม แดด ย่อมเป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำหยาบ คำเสียดสี... อดกลั้นต่อทุกขเวทนาทางกาย.... เมื่อเธออดทนอยู่ อาสวะเหล่านั้นที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อนย่อมไม่มีแก่เธอ...."


พระพุทธองค์ท่านก็ยังกล่าวถึงการอดทนต่อถ้อยคำต่างๆที่มากระทบเรา หากอดทนได้ ก็เป็นปัจจัยในการปล่อยวางต่อกิเลสเครื่องร้อยรัดดวงจิตของเราได้



ปัญหา เมื่อเราถูกด่าว่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย เราควรจะปฏิบัติอย่างไร?


พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่านมีอยู่ ๕ ประการ คือ
กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๑
กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง ๑
กล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือคำหยาบคาย ๑
มีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าว ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม
จะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม
จะกล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือคำหยาบคายก็ตาม
จะกล่าวถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็ตาม
จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะภายในกล่าวก็ตาม
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน


เราจักไม่เปล่งวาจาลามก
เราจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์
เราจักมีจิตเมตตา ไม่มีโทสะในภายในเราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น
และจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่งหาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทางซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้นดังนี้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายถึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แลฯ ”



หากท่านกำลังฝึกปล่อยวาง ลองสำรวจดูอีกสักหน่อย ว่าได้ปล่อยวางคำพูดของผู้อื่นแล้วหรือยัง


พึงจดจำข้อความที่ให้กำลังใจท่านในการอดทนต่อคำพูดของคนอื่น
"อดทนต่อคำที่ล่วงเกินได้ ประเสริฐยิ่ง"


เมื่ออดทนได้แล้ว ให้ใช้เมตตาลบล้างอำนาจโทสะในใจท่าน การไม่สบายใจในคำพูดของคนอื่นก็เป็นโทสะอย่างหนึ่งที่ท่านเก็บฝังไว้
จงระงับโทสะจิตด้วย


1.เมตตาต่อคนที่ด่าเรา(สงสาร)
2.กรุณาต่อคนที่ด่าว่าเราด้วยการไม่ตอบโต้
3.มุทิตา ยินดีที่ได้ชดใช้กรรมให้เขาด่า (เพราะในอดีตเราต้องเคยทำกรรมกับเขาไว้ เขาจึงตามมาด่า-ทุกอย่างมีเหตุปัจจัย)
4.อุเบกขา เห็นถึงความไม่เที่ยงของคำพูด มีเกิดมีดับ


ชีวิตนี้น้อยนัก สั้นนัก คนเราได้เวลามาเท่ากัน คือ 1นาทีก็มี60วินาที เท่ากัน อยู่ที่ใครจะทำให้มีความสุขที่แท้จริงมากกว่ากัน


ดังนั้นอย่าเสียเวลากับการคิดหมุนวนในคำพูดของคนอื่นเลย....




ที่มา www.buddha-dhamma.com