ทำดีลบล้างความชั่วได้หรือไม่
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก




ทำดีลบล้างความชั่วได้หรือไม่




คนส่วนมากมักจะคิดว่า “กฎแห่งกรรม” เป็นกฎตายตัวเป็นอย่างใดก็คงอยู่อย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง เห็นจะต้องขออนุญาต “จับเข่าคุย” เสียตรงนี้ (จะให้จับไหมเนี่ย) ว่า กฎแห่งกรรมนั้นเป็นหนึ่งในบรรดา 5 กฎคือ

1. พืชนิยาม กฎแห่งการสืบพันธุ์ หรือพันธุกรรม เช่น เมล็ดมะม่วงก็ย่อมงอกงามออกมาเป็นต้นมะม่วง จะเป็นต้นทุเรียนไปไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น นี้ก็เป็นกฎของธรรมชาติอย่างหนึ่ง

2. อุตุนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับอุณหภูมิ หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ โดยเฉพาะดิน น้ำ อากาศ และฤดูกาล เช่น เย็น ร้อน หนาว ฟ้าร้องฟ้าฝ่า เป็นต้น นี้ก็เป็นกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง

3. จิตตนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต เช่น การที่จิตรับรู้เรื่องราวต่างๆ แว่บไปโน่นไปนี่ได้รวดเร็วเหลือเชื่ออย่างไร จิตมันทำงานอย่างไร เป็นต้น นี้เป็นกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง

4. กรรมนิยาม กฎแห่งกรรม คือกฎธรรมชาติว่าด้วยการกระทำ และการให้ผลของการกระทำ เช่น ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว นี้เป็นกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง

5. ธรรมนิยาม กฎแห่งธรรมดาของสรรพสิ่ง เช่น สิ่งทั้งหลายมีการเกิดขึ้นแล้วย่อมแปรเปลี่ยนดับสลายไปในที่สุด พูดง่ายๆ ว่าทุกสิ่งไม่แน่นอน เกิดขึ้นมาแล้วย่อมเปลี่ยนแปลง และดับสลายไปตามเหตุปัจจัย

กฎที่ 5 นี้ครอบคลุมทุกกฎที่กล่าวมาข้างต้น กฎแห่งกรรมก็เป็นหนึ่งใน 5 กฎนั้น เพราะฉะนั้น กฎแห่งกรรมจึงเปลี่ยนแปลงได้ มิใช่กฎตายตัว

เมื่อกฎแห่งกรรมมันเปลี่ยนแปลงได้ แล้วแต่เงื่อนไขใหม่ๆ ที่จะมาผันแปร หรือสนับสนุนให้มันเป็นไปในทางใด คนที่ทำความไม่ดีมาก่อน ความไม่ดีนั้นจริงอยู่แนวโน้มจะให้ผลไม่ดีแก่ผู้กระทำมีอยู่ เพียงรอโอกาสที่เหมาะจะให้ผล บังเอิญว่าคนคนนั้นมากระทำความดีมากมายเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา ความดีนั้นอาจจะมี “พลัง” ละลายความชั่วให้หายไป หรือหมดโอกาสจะให้ผลเลยได้ ในทำนองเดียวกัน คนที่เคยทำความดีมามาก ภายหลังกลับทำความชั่วมากขึ้นกว่าเดิม ความดีที่เคยมี ก็อาจจะ “จางลง” ไปได้

เรื่องนี้ไม่ยกตัวอย่างคงจะกระจ่างยาก ผมขอยกตัวอย่างที่รับรู้กันได้ง่ายๆ สักเรื่องหนึ่ง สมมติว่า เรามีบ่อน้ำที่มีน้ำสกปรกมากอยู่บ่อหนึ่ง การที่เราจะทำน้ำให้สะอาดอาจมีหลายวิธี แต่วิธีหนึ่งที่ง่ายๆ ก็คือ ไขน้ำที่สะอาดเข้าไปให้มากๆ น้ำใหม่ที่สะอาดนั้นก็จะเข้าไปละลายน้ำเก่าให้เป็นเนื้อเดียวกัน สักพักน้ำในบ่อนั้นก็จะใสสะอาดจนกระทั่งดื่มกินได้

คำถามก็คือ น้ำที่สกปรกมันหายไปไหน ตอบว่า มันก็อยู่ตรงนั้นแหละ แต่มันเจือจางไปกลายเป็นน้ำที่สะอาดขึ้นมาแล้ว

ในเรื่องความดีความชั่วก็เช่นเดียวกัน เราเคยทำความดีมามาก ภายหลังกลับทำความชั่วมากกว่า ความดีก็ละลายหายไปโดยอัตโนมัติ หรือเคยทำความชั่วมา แต่ภายหลังทำความดีมากขึ้นๆ ความดีนั้นก็จะทำให้ความชั่วหมดไปได้

อย่างนี้เราจะเรียกว่า ทำชั่วลบล้างความดี ทำดีลบล้างความชั่วได้ไหม จะว่ามัน “ล้าง” กันตรงๆ เหมือนเอาผงซักฟอกล้างคราบสกปรกก็ไม่ใช่ดอกครับ เพียงแต่ว่า ความดี (บุญ) ถ้ามันมีมากขึ้นๆ มันก็ทำให้ความชั่ว (บาป) ที่มีอยู่เดิมละลายหายไปได้ คือไม่สามารถให้ผล หรือความชั่ว (บาป) เมื่อมีมากขึ้นๆ มันก็สามารถทำให้ความดี (บุญ) อันตรธานไปเช่นเดียวกัน

มีพุทธภาษิตรับรองไว้ว่า (ขอยกมาอ้างเพื่อความขลัง)

ยัสสะ ปาปัง กะตัง กัมมัง กุสะเลนะ ปะหิยะติ
โสมัง โลกัง ปะภาเสติ อัพภา มุตโตวะ จันทิมา

ใครทำความชั่วไว้ ภายหลังละได้ด้วยการทำความดี เขาผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว ดุจพระจันทร์พ้นจากเมฆหมอก ส่องสว่างกลางหาวฉะนั้น

แปลไทยเป็นไทยก็ว่า ใครก็ตามเคยทำชั่วไว้ ต่อมากลับทำความดีไว้มากๆ ความชั่วก็หายไป คนเช่นนี้เรียกว่า พบแสงสว่างแห่งชีวิตในโลกนี้ เหมือนพระจันทร์ไม่ถูกเมฆหมอกบดบัง

คงจะจำ พระองคุลิมาล กันได้ ในอดีตท่านได้ก่อกรรมทำเข็ญไว้มาก ฆ่าคนมาเป็นร้อยๆ ตามหลักของกรรม ความชั่วที่ท่านทำจะต้องตามสนองไม่เร็วก็ช้า แต่บังเอิญว่าท่านพบพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ เลิกละวางทางแห่งความชั่วร้าย ออกบวชบำเพ็ญพรต จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เงื่อนไขใหม่ที่ท่านทำนี้มีมาก และมีพลังทำให้เงื่อนไขเก่าเปลี่ยนแปลงไป พูดง่ายๆ ก็ว่า ทำความดีจนถึงที่สุดแล้ว ความชั่วที่เคยมีมาก็หมดโอกาสให้ผลเอง จะเรียกว่ามันหายไปหมดเลยก็ได้ เหมือนน้ำสกปรกในบ่อ เมื่อมีน้ำสะอาดไหลเข้ามากๆ มันก็ละลายหายไปเองดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

หลักกฎแห่งกรรมตรงนี้ ทำให้เราได้คิดว่า เราสามารถ “ลิขิต” ชีวิตตัวเองได้ ถ้าเรารู้ตัวว่าเราเคยไม่ดีมาก่อน (ไม่อยากใช้คำว่า “ทำชั่ว”) ใช่ว่าเราจะเป็นอย่างนั้นชั่วอมตะนิรันดร์กาลก็หาไม่ เราสามารถทำให้ชีวิตเราดีขึ้น ด้วยการพยายามปรับปรุงตัวเอง ทำความดีให้มากขึ้นๆ เช่น ให้ทาน รักษาศีล บำเพ็ญสมาธิภาวนา ในที่สุดเราก็จะกลายเป็นคนละคน

เพราะฉะนั้น อยากได้อะไร อยากเป็นอะไรในอนาคต ก็ทำเอาเองเถิด สร้างเหตุปัจจัยที่จะอำนวยผลในทางนั้น ไม่ต้องไปฝากชีวิตทั้งชีวิตไว้กับการเซ่นสรวงบูชา อ้อนวอนภูตผีเทวดาโดยไม่จำเป็น พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า กัมมุนา วัตตะตี โลโก แปลให้ฟังชัดๆ ว่า คนเราจะเป็นอะไรก็เพราะการกระทำของเราเอง ภูตผีเทวดาไม่เกี่ยว ครับ ใครไม่เกี่ยวก็ถอยไป


หนังสือข่าวสด รายวัน หน้า 29
คอลัมน์ ธรรมะใต้ธรรมาสน์ โดย ไต้ ตามทาง