สมเด็จโต หรือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี กับ ท่านอิคคิว ปรมาจารย์เซนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น มีประวัติที่คล้ายกันอยู่บางเรื่อง เช่น อารมณ์ขัน และการแสดงปริศนาธรรมอันเป็นแบบฉบับเฉพาะตัวชนิดที่เลียนแบบได้ยาก


สัจธรรมของคนนอกกรอบ


ใครจะไปนึกว่า อารมณ์ขันนั้นก็เป็น ธรรม อย่างหนึ่งซึ่งแสดงถึงความไม่ยึดติด มองเรื่องของโลกย์อย่างไร้สาระ แต่ก็ไม่เครียด แม้จะมีร่องรอยแห่งความเย้ยหยัน เสียดสี กระทบกระเทียบเปรียบเปรยอยู่ตลอดเวลา แต่ก็เป็นไปด้วยความเมตตา และเข้าใจในมนุษย์

ปรมาจารย์ทั้งสองท่านแสดงออกอยู่ตลอดเวลาว่า ท่านปฏิเสธที่จะนำตัวเองเข้าไปอยู่ใต้ร่มเงาแห่งยศถาบรรดาศักดิ์ เรื่องของการแสดงอำนาจทางการเมืองการปกครองของมนุษย์ ท่านก็หลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปข้องเกี่ยวด้วย
เรื่องที่ท่านเห็นว่า ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ไม่ใช่ว่าท่านไม่เอาด้วยอย่างเดียว แต่ยังแสดงการคัดค้านต่อต้านในแบบของท่าน

ท่านไม่หลีกหนี แต่ก็ไม่ถึงกับจับกลุ่มเป็นม็อบเดินขบวนเรียกร้องอะไรอย่างที่พระยุคดิจิตอลท่านทำอยู่ในปัจจุบัน

ช่วงที่รัชกาลที่ 3 สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ครองราชย์อยู่นั้น สมเด็จโตท่านได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตไม่รับราชการเทศน์ สวด ฉัน ในพระบรมมหาราชวัง ทำให้ท่านมีอิสระมากขึ้น ไม่วุ่นวายด้วยยศถาและบริวาร แบกตาลปัตรเอง พายเรือเอง สุดท้ายก็หนีเข้าไปธุดงค์ในป่า ข้ามไปลาวและเขมร รวมแล้วกว่า 20 ปี

ล่วงมาถึงรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ขึ้นครองราชย์ก็ประกาศตามตัวมหาโต หนักเข้าถึงกับต้องประกาศจับ ใครเห็นพระที่มีรูปร่างผอมๆ หน้าตาคล้ายมหาโตเป็นต้องถูกจับเข้าเมืองหลวงหมด เมื่อสมเด็จโตทราบก็อุทานออกมาว่า กูหนีมาตั้ง 25 ปี ทำไมเพิ่งมาประกาศจับ

ตอนนั้นท่านไม่รู้ว่าบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดยเฉพาะการเปลี่ยนรัชกาล ในที่สุด ท่านก็เลยไปมอบตัวกับตำรวจที่ขอนแก่นเพื่อให้พาเข้าเมืองหลวง

สมเด็จพระจอมเกล้าฯท่านทรงโปรดสมเด็จโตมาก จึงตั้งท่านเป็นพระราชาคณะ เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆษิตาราม สมเด็จฯท่านก็เดินแบกตาลปัตร เครื่องอัฐบริขาร กาน้ำ และกล้วย พะรุงพะรังไปหมด ใครไปช่วยก็ไม่ยอม เอาแต่เดินรอบวัดระฆัง แล้วก็พูดออกมาดังๆ ว่า ฉันมาเฝ้าวัดระฆังตามพระบรมราชโองการจ้ะ ใครได้เห็นสมเด็จฯตอนนั้นแล้วก็พากันหัวเราะขบขัน เพราะท่านได้แสดงให้เห็นว่า เรื่องยศถา สมณศักดิ์นั้น เป็นเรื่องสมมุติที่น่าขบขันทั้งนั้นไม่ใช่แก่นของพระธรรมสักหน่อย

ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระจอมเกล้าฯท่านทรงกริ้วเรื่องพระที่มาสวดพระอภิธรรมพระบวรศพของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ 8 รูป แต่ปฏิบัติยังไม่ถูกต้องระเบียบประเพณี พระท่านก็ตกใจวิ่งหนีไปแอบที่หลังม่านกั้นพระโกศ เพราะเกรงพระบรมเดชานุภาพ จึงมีรับสั่งให้สึกให้หมดทั้ง 8 รูป แล้วทรงพระอักษรถึงสมเด็จโต ให้นำพระราชหัตถเลขาไปถวายที่วัดระฆังฯ

สมเด็จโตอ่านพระราชหัตถเลขาแล้วก็จุดธูป 3 ดอก จี้ลงไปที่กระดาษข้างลายพระหัตถ์เป็นรอยไหม้ทั้ง 3 รู เมื่อสมเด็จพระจอมเกล้าฯทอดพระเนตรเห็นแล้วก็ทรงทราบปริศนาธรรมของสมเด็จโตว่า ท่านขอให้พระองค์ดับราคะ โทสะ โมหะ อันเป็นไฟ 3 กอง สมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงพระราชทานอภัยโทษ ให้ไม่ต้องสึกพระทั้ง 8 รูป

นั่นเป็นปริศนาธรรมที่ลึกซึ้งยากที่คนธรรมดาจะเข้าใจ

เช่นเดียวกับท่านอิคคิว ปรมาจารย์เซน การแสดงธรรมของท่านถือได้ว่า สุดขั้ว นอกกรอบนอกรีตไม่เหมือนใคร แต่เป็นการแสดงธรรมตามแนวของเซนที่เป็นแบบฉบับของท่านโดยเฉพาะ

เมื่อท่านนินาคาว่า พระภิกษุเซนที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่งใกล้จะสิ้นใจ ท่านอิคคิวได้มาเยี่ยม แล้วถามผู้ป่วยว่า จะให้ข้านำทางท่านไหม?

ท่านนินาคาว่าตอบว่า ข้ามาที่นี่เพียงลำพัง และก็จะไปเพียงลำพัง ท่านจะช่วยอะไรข้าได้

ท่านอิคคิวจึงตอบกลับไปว่า ถ้าท่านคิดว่าตนเองมาและจะไปจริงๆ แล้ว ก็เข้าใจผิด ให้ข้าชี้ทางที่ไม่มีการมาและไปแก่ท่านเถิด

ท่านนินาคาว่ายิ้มก่อนจะลาลับไปอย่างเข้าใจ เสมือนบรรลุธรรม เข้าถึง ซาโตริ อีกครั้ง

ท่านอิคคิวเป็นผู้ที่ไม่ถือสาเรื่องความสูงส่งหรือต่ำต้อยใดๆ ในสังคมระหว่างคนด้วยกันไม่ว่าจะเป็นขุนนาง ซามูไร พ่อค้า เด็กๆ ที่ชอบติดตามท่านไปตามที่ต่างๆ แม้แต่นกก็ยังมาจิกกินอาหารถึงในมือ และไม่ว่าจะได้อะไรมาท่านก็แจกจ่ายให้กับผู้คนที่มีความจำเป็นไปทั้งหมด

ตอนใกล้จะถึงวาระสุดท้ายของชีวิตท่านอิคคิวสั่งเสียศิษย์ว่า หลังจากข้าตายแล้ว พวกเจ้าบางคนอาจจะปลีกตัวไปบำเพ็ญเพียรตามป่าเขา บางคนอาจดื่มสาเก ไปกับผู้หญิง สำหรับเซนแล้ว ไม่เป็นไร แต่ถ้าพวกเจ้าไปเป็นนักเทศน์ที่เอาแต่พูดพร่ำว่า เซนคือหนทาง ก็ย่อมเป็นศัตรูกับข้า

รูปวงกลมอันเป็นสัญลักษณ์ที่พระเซนมักจะเขียนเพื่อแสดงธรรมนี้ก็เช่นเดียวกัน มันครอบคลุมสภาวะต่างๆ ทั้งโลกและจักรวาล และสภาวะจิตอย่างหนึ่งซึ่งเป็นอิสระอย่างยิ่ง


++++++++

คอลัมน์ คิดนอกกรอบ เดินนอกเกม
โดย อภิวัติ
มติชน วัน อาทิตย์ ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 หน้า 11