สมัยนี้หญิงสาวจำนวนไม่น้อยหันมาสนใจดูแลเรื่องการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลอรีและไขมันต่ำ เพื่อรักษารูปร่างและควบคุมน้ำหนัก ดังนั้นหากใครมีสูตรอาหารที่ลองทานแล้วได้ผล ก็มักจะบอกต่อๆ กัน หนึ่งในสูตรอาหารที่ควบคุมน้ำหนักที่ได้ยินบ่อยๆ คือ การงดกินอาหารจำพวกแป้ง หรือคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว ขนมปัง บะหมี่ พาสต้า ถั่วอบแห้ง และผักที่ให้สารอาหารจำพวกแป้ง ได้แก่ มันฝรั่ง ข้าวโพด และ ฟักทอง หรือแม้แต่พวกผลไม้และผลิตภัณฑ์จากนมที่มี ฟรุคโตส และแลคโตส พูดง่ายๆ ว่าหากอยากควบคุมน้ำหนักแล้วก็ไม่มีสิทธิ์ชายตามองอาหารจำพวกแป้งหรืออาหารที่มีรสหวานได้เลย


และก็เป็นที่น่าสังเกตว่า มีอาหารลดน้ำหนักหลายสูตรแนะนำให้กินอาหารประเภทโปรตีนหรือเนื้อสัตว์ได้มากเท่าที่อยากกิน แต่ห้ามกินพวกคาร์โบไฮเดรต โดยอ้างว่าการกินอาหารที่ให้โปรตีนสูงจะช่วยเร่งการเผาผลาญไขมันได้ดีกว่าการกินอาหารที่มีอัตราไขมันต่ำ


กินข้าวทำให้อ้วนจริงหรือ?



อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาเร็วๆ นี้พบว่าการกินอาหารที่เน้นโปรตีน หรือมีไขมันต่ำ ต่างก็ให้ผลสำเร็จในการควบคุมน้ำหนักเหมือนกันหากทานต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี ขณะเดียวกันหากมัวแต่งดกินอาหารพวกแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตอย่างจริงจัง จะก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายดังนี้

ร่างกายจะขาดวิตามิน บี ซึ่งจะทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานช้าลง


หากงดกินผลไม้ หรือผักที่ให้สารอาหารประเภทแป้ง จะทำให้ร่างกายขาดใยอาหาร วิตามิน เอ ซี และ อี ซึ่งก่อให้เกิดอาการท้องผูก การมองเห็นตอนกลางคืนไม่ชัด ภูมิต้านทานต่ำ และอาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ตามลำดับ


หากงดดื่มนมจะทำให้กระดูกพรุนเมื่ออายุมากขึ้น เนื่องจากร่างกายขาดแคลเซียม


การจำกัดอาหารประเภทแป้ง จะทำให้คุณหันไปกินไขมัน โปรตีน และเกลือมากขึ้นซึ่งเสี่ยงทำให้ระดับโคเลสเตอรอลเพิ่มสูงขึ้น โรคไต และความดันโลหิตสูง
ดังนั้นผู้ที่กำลังลดน้ำหนักหรือควบคุมอาหาร ไม่ควรมุ่งลดอาหารจำพวกแป้งอย่างเข้มงวดอีกต่อไป เพราะจริงๆ แล้ว คาร์โบไฮเดรตไม่ได้ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด แต่กลับเป็นพวกไขมันกับน้ำตาลมากกว่าที่เป็นตัวการสำคัญ ดังนั้นเราควรเลือกกินอาหารที่มีคุณค่า มีสัดส่วนตามธงโภชนาการ นั่นคือกินอาหารจำพวกแป้งเป็นจานหลัก เช่น ขนมปังโฮลวีท ข้าวกล้อง เป็นต้น เพื่อให้พลังงานเพียงพอต่อร่างกาย รวมถึงใยอาหารและวิตามินต่างๆ นอกจากนั้นยังช่วยทำให้อิ่ม ไม่หิวเร็ว และที่สำคัญคือ ไม่กินมากเกินความจำเป็น

กินผลไม้และผัก โดยต้องให้ได้ 2- 3 ส่วนของปริมาณอาหารแต่ละวัน เนื่องจากประกอบด้วยวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย ส่วนอาหารประเภทโปรตีนควรทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันไม่มาก เช่น เนื้อปลา อกไก่ กินเต้าหู้ไม่เกิน 12 ช้อนโต๊ะต่อหนึ่งวัน กินผลิตภัณฑ์จากนมเพื่อป้องกันการขาดแคลเซียม ที่สำคัญต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่ให้พลังงานและไขมันมาก เช่น ของทอด มันฝรั่งทอด เค้ก ของหวาน ไอศกรีม น้ำหวานต่างๆ เป็นต้น


ที่มา : นิตยสาร Health Today