รักร้อยทุกข์ร้อย
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก



รักร้อยทุกข์ร้อย (เสฐียรพงษ์ วรรณปก)


นางวิสาขา มหาอุบาสิกา ว่ากันว่าเป็นนางงาม "เบญจกัลยาณี" ร่ำรวยที่สุด มีเครื่องประดับชื่อว่า มหาลดาประสาธน์ ซึ่งในยุคนั้นมีสตรีสองคนเท่านั้นที่มีโอกาสครอบครอง หรือมีเครื่องประดับมีมูลค่าเท่ากันคือ คนที่หนึ่งคือ พระนางมัลลิกา มเหสีพระเจ้าปเสนทิโกศล แห่งเมื่อสาวัตถี แคว้นโกศล และคนที่สองก็คือ นางวิสาขานี้เอง

ข้อเขียนวันนี้ มิได้ตั้งใจจะเขียนถึงเครื่องประดับระดับไฮโซนั้น แต่จะเล่าถึงภาวะจิตของเจ้าของเครื่องประดับนั้นมากกว่า วันหนึ่งหลานสาวที่นางรักมากตาย นางวิสาขารู้สึกเศร้าโศกเสียใจมาก ร้องไห้คร่ำครวญ อาลัยอาวรณ์ในหลานสุดที่รักที่จากไป เป็นเวลาหลายเพลา ความเศร้าโศกก็หาบรรเทาไม่

นางรำลึกถึงพระบรมศาสดา ว่าพระองค์อาจช่วยปัดเป่าความทุกข์โศกของตนได้ เนื่องจากเป็นสาวิกา (คือเป็นศิษย์ใกล้ชิด) พระพุทธองค์อยู่แล้ว จึงถือโอกาสเข้าเฝ้า เล่าความทุกข์ของตนพลางร้องห่มร้องไห้ไปด้วย

พระพุทธองค์ตรัสว่า "วิสาขา น้ำตาของเธอที่ไหลลง เพราะความเศร้าโศกเสียใจ ในสังสารวัฏอันยาวนานนี้ ถ้าจะวัดกันแล้ว มีมากกว่ามหาสมุทรทั้งสี่เสียอีก"

ความหมายก็คือ พระองค์กำลังเตือนนางว่า ในสังสารวัฏนี้ นางได้เวียนเกิดเวียนตายมาไม่รู้กี่ชาติ และแต่ละชาตินั้นก็ประสบความทุกข์โศก จนร้องไห้น้ำตาไหลมาจนนับไม่ได้ น้ำตาที่ไหลลงทีละนิดๆ ถ้าจะรวมกันแล้ว ตลอดชาติภพต่างๆ มีมากกว่ามหาสมุทรทั้งสี่อีก

และกำลังเตือนเธอว่า คราวนี้ก็เพิ่มปริมาณน้ำตาเข้าไปอีก จะให้มันไหลอีกสักกี่มหาสมุทรถึงจะพอ รู้จักพอเสียบ้างเถอะ

พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เลิกร้องไห้เสียเถอะ หัดดำเนินชีวิต "พอเพียง" กันบ้างเถอะ (แน่ะ ใช้สำนวนร่วมสมัยเสียด้วย !)

แล้วพระพุทธองค์ ก็ตรัสสอนด้วยวาทะอันเฉียบคม สั้นๆ ว่า

"วิสาขาผู้ใดมีสิ่งที่ตนรัก 100 ผู้นั้นก็มีทุกข์ 100
ผู้ใดมีสิ่งที่รัก 90 ผู้นั้นก็ทุกข์ 90
ผู้ใดมีสิ่งที่รัก 80 ผู้นั้นก็ทุกข์ 80...
ผู้ใดมีสิ่งที่รัก 1 ผู้นั้นก็ทุกข์ 1
ผู้ไม่มีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็ไม่ทุกข์ ไม่มีโศก ไม่มีคับแค้นใจ"

พุทธวจนะบทนี้สั้นๆ แต่กินความมาก เป็นหลักปรัชญาแห่งชีวิตสั้นๆ นางวิสาขาซึ่งกำลังเศร้าโศกอยู่ ได้ฟังเข้าเท่านั้น ก็กระทบความรู้สึกลึกๆ เรียกว่า "กระตุกความรู้สึก" ทันที นางค่อยคลายความเศร้าโศกลง หยุดร้องห่มร้องไห้ ว่าอย่างนั้นเถอะ

แล้วพระพุทธองค์ได้ตรัสต่อไปว่า

"วิสาขา โศก ปริเทวนา (ความคร่ำครวญ) และทุกข์มากหลาย ย่อมมีในโลกนี้

เพราะอาศัยสิ่งที่รัก, เมื่อไม่มีสิ่งที่รัก โศกเป็นต้นนั้นย่อมไม่มี, ผู้ไม่มีสิ่งที่รัก

ย่อมไม่มีทุกข์ ไม่มีโศก เพราะฉะนั้น ผู้ไม่ต้องการโศกเศร้า ก็ไม่ควรรักสิ่งใด"

คำสอนนี้ยิ่งลึกเข้าไปอีก นางวิสาขาซึ่งค่อยคลายความเศร้าโศกลงบ้างแล้ว หายสะอึกสะอื้นแล้ว เมื่อได้ฟังพระพุทธโอวาทนี้ ก็เข้าใจแจ่มแจ้ง เช็ดน้ำตาที่ไหลอาบแก้ม พร้อมความโศกเศร้าพลันหาย จิตใจแจ่มใสขึ้น

เรื่องความรัก ไม่ว่ารักระหว่างหนุ่มสาวหรือรักฉันญาติพี่น้อง แม้กระทั่งรักสิ่งของ รักสมบัติพัสถาน ทางโลกกับทางธรรมมองคนละมุม คือทางโลกมักจะมองว่าเป็นสิ่งดี สิ่งที่น่าปรารถนา แต่ทางธรรมท่านมองว่าเป็นสิ่งไม่ดีจริง

แม้ว่าจะเป็นความสุขที่มีสิ่งเหล่านั้น แต่ก็แฝงความทุกข์อยู่ด้วย ถ้ารักเป็น ก็อาจจะไม่ทุกข์มากนัก แต่ถ้ารักไม่เป็น รู้ไม่เท่าทัน (ซึ่งปุถุชนมักจะเป็นอย่างที่ว่านี้) ก็จะมีความทุกข์มากขึ้น เพราะฉะนั้นพระท่านจึงว่า "ความรักเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์ โศก และ ภัย" ดังคำเต็มว่า

"ปิยโต ชายเต โสโก ปิยโต ชายเต ภยํ
ปิยโต วิปฺปมุตตสฺส นต์ถิ โสโก กุโต ภยํ

โศก เกิดจากสิ่งที่รัก ภัย เกิดจากสิ่งที่รัก
ผู้พ้นจากความรัก โศก ภัย ก็ไม่มี"


ความจริงพระพุทธองค์ทรงทราบว่า ปุถุชนคนมีกิเลส ที่ครองเรือนนั้น ย่อมมีความรัก ความชัง ความโกรธ ความเกลียด สุข ทุกข์ เป็นต้น อันเป็นธรรมดาของโลก พระท่านก็มิได้ห้ามไม่ให้รัก เพียงแต่ให้รักให้เป็น หรือรู้จักรักเท่านั้น

คนที่รักเป็น หรือรู้จักรัก ถึงจะมีทุกข์ มีโศกบ้าง เมื่อยามมิได้ดังหวัง ก็สามารถระงับใจไว้ได้ ไม่โศกไม่เศร้าเกินไป แต่ถ้าใครไม่รู้จักติดดิสเบรกตัวเองบ้าง ปล่อยใจไปตามกระแสรัก กระแสหลงเต็มที่ ก็ทุกข์มาก โศกมากหน่อย

ประเด็นของปุถุชน มิใช่อยู่ที่ไม่ให้รัก แต่อยู่ที่รู้จักรักให้เป็น

มีแฟน ก็รักแฟนให้เป็น รักที่คุณความดี ไม่ใช่รักที่หุ่น ที่สมบัติ

เห็นเขาหุ่นดี หล่อ หรือสวยก็รัก พอหุ่นเปลี่ยน ฐานะเปลี่ยนเป็นยากจนขึ้น ก็หมดรัก หรือรักเพราะเขาตามใจ พอเขาไม่ตามใจทุกอย่างบางครั้งบางคราว ก็หมดรักแล้ว

คนที่รักที่ความดีงามของอีกฝ่าย ความรักจะยั่งยืนกว่าความรักที่มุ่งเป้าที่ความสวยความรวยอย่างเดียว

เพราะฉะนั้น ปุถุชนคนมีกิเลส ต้องรู้จักรักให้ถูก รักให้เป็น ความทุกข์ความโศกที่จะพึงเกิดอาจไม่เกิด หรือถ้าเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ก็จะไม่รุนแรง เพราะระงับใจไว้ได้

ความรักที่เป็นพิษเป็นภัย ส่วนมากมักจะเกิดจากรักที่เปลือกนอก (ความสวย หล่อ ความร่ำรวย เป็นต้น) เมื่อเงื่อนไขนั้นเปลี่ยนไป ความรักที่มีก็หดหาย

เงื่อนไขที่เปลี่ยนไป บางทีอยู่ที่ตัวคนคนนั้นเอง เมื่อได้ความรักสมใจแล้ว ตกลงปลงใจเป็นสามีภรรยากันแล้ว แทนที่จะทำหน้าที่ฉันสามีภรรยาที่ดี กลับละเลยต่อหน้าที่ ขาดตกบกพร่องต่อหน้าที่ของตน เคยเป็นสามีที่ดี กลับบ้านกลับช่องเป็นเวลา ไม่เที่ยวเตร่สำมะเลเทเมา กลับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นตรงข้าม ภรรยาเคยทำหน้าที่แม่ศรีเรือนด้วยความเอาใจใส่ ไม่นานก็เปลี่ยนไป หัดเที่ยวเตร่คบเพื่อน ทิ้งบ้านทิ้งช่อง บางรายถึงกับติดการพนัน เพราะเพื่อนชักจูงก็มี

ทั้งหมดนี้เป็นความเปลี่ยนไป ทำให้ไม่ทำหน้าที่ของสามี หรือภรรยา ที่พึงมีพึงเป็น แค่นี้ก็ทำให้รักร้าว ไม่ต้องถึงกับเรื่องใหญ่ขนาดต่างฝ่ายต่างไปมีกิ๊ก มีชู้ รักก็ร้าวแล้ว เผลอๆ ยับยั้งไม่อยู่ แก้ปัญหาไม่เป็น ก็อาจถึงขั้นหย่าร้าง หรือเตียงหักได้

ความทุกข์ความโศกเหล่านี้ เกิดขึ้นเพราะต่างฝ่าย ต่างละเลยหน้าที่ที่ตนพึงทำ

คนที่รักที่ความดีของอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่รักเพราะเปลือกนอกก็ดี คนที่ทำหน้าที่ของคนรักกันตามความเหมาะสมไม่เปลี่ยนแปลงก็ดี ถือว่าเป็นคนรักเป็น หรือรู้จักรัก

ความรักอย่างนี้ยั่งยืนได้ อยู่ได้นาน ดังคำโบราณว่า อยู่จน "ถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร" โน่นแหละ

ความรักอย่างนี้ทางพระเรียกว่า รักแบบไม่รัก คือรักแบบไม่หลง ไม่ดูแต่เปลือกนอก

ความรักที่ไม่รักนี้แหละ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "ความไม่รัก หรือความพ้นจากความรัก" ดังในพระบาลีที่ตรัสไว้ข้างต้นนั้น

ในกรณีนางวิสาขา มหาอุบาสิกา เธอรักหลานของเธอที่เปลือกนอก รักเพราะหลานช่วยทำหน้าที่ของหลาน รักเพราะความน่ารักในฐานะของหลานตน เป็นต้น อันเป็นความหลงมากกว่าความรักที่แท้จริง เมื่อเงื่อนไขเปลี่ยนไป คือหลานสาวเกิดตายไป ไม่อยู่ในฐานะที่จะพึงรับใช้ตนเหมือนเดิมแล้ว จึงเศร้าโศกเสียใจ

แต่หลังฟังพุทธโอวาทแล้ว เข้าใจความจริง และปฏิบัติตนได้ ความโศกเศร้าที่มีมา จึงสงบระงับลง



>>>>> จบ >>>>>



หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6
คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10