มวยไทย 4 ภาค

มวยไทย 4 ภาค


มวยไทยกับคนไทย

....จากการจำแนกเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ คนไทยมีเชื้อชาติอยู่ในกลุ่มมองโกเลีย ลักษณะร่างกายโดยทั่วไปตัวเล็กกว่าคนที่อาศัยอยู่ในเขตหนาว ความสูงโดยเฉลี่ย 5 ฟุต 3 นิ้ว ร่างกายล่ำสัน สมส่วน ทะมัดทะแมง น้ำหนักตัวน้อย มีความคล่องตัวและยืดหยุ่นสูง มือมีเนื้อนุ่มนิ่ม ผิวสีน้าตาลอ่อน ผมดกดำ ขนตามตัวมีน้อย เคราไม่ดกหนา รูปศีรษะเป็นสัดส่วนดี ลูกตาสีดำตาขาวมีสีเหลืองเล็กน้อย กระพุ้งแก้มอวบอูม ใบหน้ากลม เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศเป็นเมืองร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตรประชาชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ใช้เรือเป็นพาหนะ จึงทำให้คนไทยสวมเสื้อผ้าน้อยชิ้น ไม่สวมหมวกและรองเท้า สามารถใช้อวัยวะหมัด เท้า เข่า ศอก ได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว จึงนำไปผสมผสานกับการใช้อาวุธมีด ดาบ หอก เพื่อป้องกันตนเองและป้องกันประเทศ

....มวยไทยนั้นมีมาพร้อมกับคนไทย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทยมาช้านาน ในสมัยโบราณประเทศไทยมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ จึงมีการสู้รบกันอยู่เสมอๆ ดังนั้นชายไทยจึงนิยมฝึกมวยไทยควบคู่กับการฝึกอาวุธ ต่อมาได้วิวัฒนาการจนกลายเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้น มีลีลาการเคลื่อนไหวที่สวยงามแฝงไว้ด้วยความแข็งแกร่งดุดัน สามารถฝึกเพื่อป้องกันตนเอง เพื่อความแข็งแรงของร่างกาย และเพื่อเป็นอาชีพได้เป็นอย่างดีอีกด้วย


ประวัติมวยไทย ๔ ภาค

....รัชสมัยกรุงธนบุรี ต่อเนื่องถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนต้น ชนชาวสยาม เป็นปึกแผ่น รวมเขตแดน รวมแผ่นดินได้มากแล้ว แต่ยังไม่ว่างเว้น จากศึกสงครามใหญ่น้อย ภัยรอบบ้าน เรื่องการฝึกปรือ กลมวย เพลงดาบ จึงนับได้ว่าเป็นศิลปะประจำชาติที่สำคัญ ซึ่งคนไทยโดยทั่วไป ใส่ใจ และให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว จึงได้เกิด สำนักมวย สำนักดาบ ขึ้น แม้แต่ในพระมหาราชวัง ก็ยังมีการเรียนการสอน กระบี่กระบอง วิชามวย และพิชัยสงคราม อันเป็นหลักสูตรสำคัญ โดยเฉพาะมวยไทย ที่มีรูปแบบการใช้อวัยวะเป็นอาวุธ ทั้ง หมัด เท้า เข่า ศอก คล้ายคลึงกันทั่วประเทศ แต่ถึงกระนั้น ด้วยความเป็นชนชาติอิสระ และมีภูมิปัญญา วิชามวย ก็ได้แตกแขนง แบ่งกลุ่ม แบ่งภาค กันออกไปอย่างเด่นชัด ทั้งท่ารำร่ายไหว้ครู รูปแบบลีลาท่าย่าง ท่าครู แม่ไม้ ลูกไม้ อีกทั้งความชำนาญเรื่อง การจัก สาน ร้อย ทำให้การคาดเชือก ถักหมัด มีรูปแบบเฉพาะตัวอีกมากมาย โดยหลักใหญ่แบ่งได้ตามภูมิภาค คือ

....ภาคเหนือ มวยท่าเสา มวยเม็งราย มวยเจิง ฯลฯ มวยท่าเสา เป็นมวยเชิงเตะ คล่องแคล่ว ว่องไว ทั้งซ้ายขวา จนได้ฉายา มวยตีนลิง คาดเชือกประมาณครึ่งแขน

....ภาคอีสาน มวยโคราช มวยหลุม ฯลฯ มวยโคราช ลักษณะการ เตะ ต่อย เป็นวงกว้าง นิยม คาดเชือก ขมวดรอบแขนจนจรดข้อศอก เพื่อใช้รับการเตะ ที่หนักหน่วงรุนแรง

....ภาคกลาง มวยลพบุรี มวยพระนคร ฯลฯ มวยลพบุรี ลักษณะการชก ต่อย วงใน เข้าออกรวดเร็ว เน้นหมัดตรง การคาดเชือก จึงคาดเพียงประมาณครึ่งแขน

....ภาคใต้ มวยไชยา ฯลฯ มวยไชยา ลักษณะการรุก-รับ รัดกุม ถนัดการใช้ศอกในระยะประชิดตัว การคาดเชือกจึงนิยมคาดเพียง คลุมรอบข้อมือ เพื่อกันการซ้น หรือเคล็ด เท่านั้น

....สาวประวัติมวยดัง 4 ภาค เริ่มจากภาคเหนือ "มวยท่าเสา" สร้างชื่อยุคกรุงธนบุรี นับแต่พระยาพิชัยดาบหักจัดแข่งขันชกมวยเสมอๆ บนสังเวียนลานดิน ชื่อเสียงดีก็มีมีนายเมฆบ้านท่าเสา นายเที่ยงบ้านเก่ง นายแห้วแขวงเมืองตาก นายนิลทุ่งยั้ง นายถึกศิษย์ครูนิล ถึง พ.ศ.2472 นายแพ เลี้ยงประเสริฐ จากบ้านท่าเสา อุตรดิตถ์ ชกนายเจีย แขกเขมรตายด้วยหมัดคาดเชือก ทำให้รัฐบาล (สมัยรัชกาลที่ 7) มีคำสั่งให้การชกมวยไทยทั่วประเทศเปลี่ยนจากคาดเชือกเป็นสวมนวม

ภาคอีสาน "มวยโคราช"มีบันทึกว่าเฟื่องฟูสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นมวยต่อยวงกว้างเรียกกันว่าเหวี่ยงควาย ด้ายดิบคาดหมัดแล้วขมวดรอบๆ แขนจนจรดข้อศอกเพื่อป้องกันการเตะ ที่เลื่องลือได้แก่เจ้าฉายา หมื่นชงัดเชิงชก คือนายแดง ไทยประเสริฐ จากเมืองโคราช เตะรุนแรง หมัดเหวี่ยโด่งดัง อีกคนคือนายยัง หาญทะเล จากวังเปรมประชากรของกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ผู้สอนท่ารำหนุมานควานสมุทรให้ (สมัยรัชกาลที่ 6)

ภาคกลาง "มวยลพบุรี" มีชื่อเสียงรัชกาลที่ 5 เช่นกัน ในงานพระเมรุกรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ณ ท้องทุ่งพระเมรุป้อมเผด็จดัสกร กรุงเทพฯ มีการตีมวยหน้าพระที่นั่งครั้งใหญ่ เลื่องชื่อว่าเป็นมวยชกหมัดตรงดี ต่อยแหวกการคุมได้ดีกว่ามวยถิ่นอื่น คาดหมัดเพียงครึ่งแขนใช้ด้ายผ้าดิบ ครูมวยคนดังเจ้าฉายา หมื่นมวยแม่นหมัด คือนายกลิ้ง ไม่ปรากฏสกุล จากเมืองลพบุรี ผู้มีลีลาการชกฉลาด รุกรับ หลบหลีกว่องไว ใช้หมัดตรงดียอดเยี่ยม

ภาคใต้ "มวยไชยา" เจ้าฉายา หมื่นมวยมีชื่อ คือนายปล่อง จำนงทอง ผู้มีท่าเสือลากหางเป็นอาวุธสำคัญ ทั้งเน้นวงในใช้ความคมของศอก เข่า ประวัติมวยไชยาสืบค้นได้ถึงพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) เจ้าเมืองไชยาในแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ถ่ายทอดมายังบุตรชายคือปรมาจารย์เขตร์ ศรียาภัย ซึ่งภายหลังย้ายมาตั้งรกรากในกรุงเทพฯ เผยแพร่มวยไชยาแก่ศิษย์มากมายกระทั่งจากไปในปี 2521



สนใจเชิญติดตามเพิ่มเติมที่เว็บเจ้าของข้อมูลนะคะ โปรดคลิ๊กไปที่ลิ๊งค์ http://student.nu.ac.th/muaythaiboran/prawatmuay.htm