รำภูไทยสามเผ่า ฟ้อนผู้ไทจังหวัดนครพนม เป็นฟ้อนที่ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดี
การฟ้อนภูไทสามเผ่า
1. ฟ้อนผู้ไทจังหวัดนครพนม เป็นฟ้อนที่ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดีคือ การฟ้อนผู้ไทของอำเภอเรณูนคร จนถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนครพนม ในปี พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมานมัสการพระธาตุพนม นายสง่า จันทรสาขา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมในสมัยนั้นได้จัดให้มีการฟ้อนผู้ไทถวาย โดยมีนายคำนึง อินทร์ติยะ หัวหน้าหมวดการศึกษาอำเภอเรณูนคร ได้ปรับปรุงท่าฟ้อนผู้ไทให้สวยงามกว่าเดิม โดยเชิญผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์ในการฟ้อนผู้ไทมาให้คำแนะนำ จนกลายเป็นท่าฟ้อนแบบแผนของชาวเรณูนคร
ได้ถ่ายทอดให้แก่ลูกหลานสืบทอดต่อมา ท่าฟ้อนผู้ไทได้แก่ ท่าเตรียม ท่านกกระบาบิน ท่าลำเพลิน ท่ากาเต้นก้อน ท่ารำม้วน ท่าฉาย ท่ารำส่าย ท่ารำบูชา ท่าก้อนข้าวเย็น ท่าเสือออกเหล่า ท่าจระเข้ฟาดหาง ซึ่งการฟ้อนจัดเป็นคู่ๆ ใช้ชายจริงหญิงแท้ตั้งแต่ 10 คู่ขึ้นไป เครื่องดนตรีประกอบด้วย กลองกิ่ง กลองแตะ กลองยาว ฆ้องโหม่ง พังฮาด และกั๊บแก๊บ
สำหรับเครื่องแต่งกาย ฝ่ายหญิงนิยมใช้เสื้อสีน้ำเงินเข้มขลิบสีแดงทั้งเสื้อและผ้าถุง ผ้าสไบสีขาว เครื่องประดับใช้เครื่องเงินตั้งแต่ตุ้มหู สร้อยคอกำไลเงิน ผมเกล้ามวยสูงทัดดอกไม้สีขาว ห่มผ้าเบี่ยงสีขาว ซึ่งปัจจุบันใช้ผ้าถักสีขาว ส่วนผู้ชายจะใส่เสื้อม่อฮ่อมขลิบผ้าแดงนุ่งกางเกงขาก๊วยมีผ้าคาดเอวและโพกศีรษะ
2. ฟ้อนผู้ไทจังหวัดสกลนคร เป็นฟ้อนผู้ไทที่มีลีลาแตกต่างจากฟ้อนผู้ไทในท้องถิ่นอื่น เนื่องจากฟ้อนผู้ไทจังหวัดสกลนครจะสวมเล็บ คล้ายฟ้อนเล็บทางภาคเหนือ ปลายเล็บจะมีพู่ไหมพรมสีแดง ใช้ผู้หญิงฟ้อนล้วนๆ ท่าฟ้อนที่ชาวผู้ไทสกลนครประดิษฐ์ขึ้นนั้นมีเนื้อเพลงสลับกับทำนอง การฟ้อนจึงใช้ตีบทตามคำร้องและฟ้อนรับช่วงทำนองเพลง ท่าฟ้อนมีดังนี้ ท่าดอกบัวตูม ท่าดอกบัวบาน ท่าแซงแซวลงหาด ท่าบังแสง ท่านางไอ่เลาะดอน หรือนางไอ่เลียบหาด ท่านาคีม้วนหาง ดนตรีใช้กลองกิ่ง แคน กลองตุ้ม กลองแตะ กลองยาว ฆ้องโหม่ง พังฮาด ไม้กั๊บแก๊บ
เครื่องแต่งกาย
จะใส่เสื้อสีดำ ผ้าถุงดำขลิบแดง สวมเล็บทำด้วยโลหะหรือบางแห่งใช้กระดาษทำเป็นเส้นมีพู่ตรงปลายสีแดง ห่มผ้าเบี่ยงสีแดง ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้สีขาว บางครั้งผูกด้วยผ้าสีแดงแทน ในปัจจุบันพบว่า เสื้อผ้าชุดฟ้อนผู้ไทจังหวัดสกลนครได้เปลี่ยนไปบ้าง คือ ใช้เสื้อสีแดงขลิบสีดำ ผ้าถุงสีดำมีเชิง ผ้าเบี่ยงอาจใช้เชิงผ้าตีนซิ่นมาห่มแทน
3. ฟ้อนผู้ไทจังหวัดกาฬสินธุ์ มีลักษณะการแต่งกายแตกต่างจากฟ้อนผู้ไทในถิ่นอื่น จะสวมเสื้อสีดำขลิบด้วยผ้าขิด ห่มผ้าแพรวา นุ่งผ้าถุงมัดหมี่มีเชิง ลีลาการฟ้อนได้รับการผสมผสานจากท่าฟ้อนผู้ไท และเซิ้งบั้งไฟ ท่าฟ้อนจะเริ่มจากท่าฟ้อนไหว้ครู ท่าเดิน ท่าช่อม่วง ท่ามโนราห์ ท่าดอกบัวบาน ท่ามยุรี ท่ามาลัยแก้ว โดยใช้ผู้หญิงฟ้อนล้วนๆ ฟ้อนผู้ไทของกาฬสินธุ์จะมีการขับลำประกอบเรียกว่า “ลำภูไท” ฟ้อนผู้ไท 3 เผ่าเป็นการประยุกต์การฟ้อนผู้ไทของทั้ง 3 ถิ่น ให้เห็นถึงลีลาการฟ้อนที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละถิ่น ซึ่งการฟ้อนผู้ไท 3 เผ่าจะแสดงให้เห็นถึงลักษณะร่วมกันของชาวผู้ไททั้ง 3 เผ่า
ฟ้อนผู้ไท 3 เผ่าจะเริ่มจากฟ้อนผู้ไทกาฬสินธุ์ ผู้ไทสกลนครและผู้ไทเรณูนคร ในการฟ้อนผู้ไท 3 เผ่านี้จะเพิ่มผู้ชายฟ้อนประกอบทั้ง 3 เผ่า มีการโชว์ลีลาของรำมวยโบราณต่อสู้ระหว่างเผ่าและ หรือการเกี้ยวพาราสีกันระหว่างชายหญิง
ข้อมูลอ้างอิง
http://www.yodmongkol.com/puthai.htm
http://www.youtube.com/
ฟ้อนภูไทสามเผ่า Forn Phuthai sam phao