ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ 4 ภาค

ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ 4 ภาค

“เทศกาลสงกรานต์” เป็นประเพณีสำคัญยิ่งของคนไทยที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ

ข้อมูลจากคมชัดลึก : “เทศกาลสงกรานต์” เป็นประเพณีสำคัญยิ่งของคนไทยที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ แต่ปัจจุบันความสำคัญของเทศกาลนี้มุ่งเน้นไปที่การเล่นสาดนํ้าเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง และการจัดกิจกรรมเพื่อความบันเทิงเพื่อธุรกิจการท่องเที่ยว เช่นมีการจัดขบวนแห่นางสงกรานต์และประกวดนางสงกรานต์

Advertisement

แต่ความสำคัญต่อการทำบุญทางศาสนา การแสดงความกตัญญูต่อญาติผู้ใหญ่ และการแสดงความปรารถนาดีต่อกัน กลับถูกลดทอนลงเรื่อยๆ จนหลายคนอาจหลงลืมไปว่าแท้ที่จริงแล้ววันสงกรานต์คืออะไร และสิ่งที่คนไทยควรทำในประเพณีสำคัญนี้คืออะไรบ้าง

อ.ประคอง นิมมานเหมินท์ ภาคีสมาชิกสำนักศิลปกรรม ประเภทวรรณศิลป์ สาขาวรรณกรรมพื้นเมือง ราชบัณฑิตยสถาน จึงมาบอกเล่าข้อมูลให้หลายคนที่อาจไม่เคยรู้มาก่อน และบางคนที่เคยรู้แต่อาจหลงลืมไปบ้างได้รับทราบกันอีกครั้ง  ว่าประเพณีสงกรานต์ในแต่ละภาค ส่วนใหญ่มีความเชื่อและการปฏิบัติที่คล้ายคลึงกัน จะมีแตกต่างกันบ้างก็เพียงในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น อย่างทางภาคเหนือ จะเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า “ประเพณีปี๋ใหม่เมือง” เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “วันสังกรานต์ล่อง” (สังขารล่อง) หมายถึงวันที่ปีเก่าผ่านไป หรือวันที่สังขารร่างกายแก่ไปอีกปี วันนี้ตอนเช้าจะมีการยิงปืน หรือจุดประทัดเพื่อขับไล่เสนียดจัญไร จากนั้นจะมีการทำความสะอาดบ้านเรือน ชำระล้างร่างกาย แล้วแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่เพื่อต้อนรับปีใหม่

“สำหรับวันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันเนา” หรือ “วันลา” จะเป็นวันเตรียมงานต่างๆ เช่น เครื่องสังฆทาน อาหารที่จะนำไปทำบุญและแจกจ่ายญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน หรือจะเรียกว่า “วันเน่า” ก็มีพูดกันด้วยถือเป็นวันที่ห้ามพูดจาหยาบคาย ถ้าพูดแล้วเชื่อว่าจะทำให้ปากเน่า และโชคร้ายไปตลอดทั้งปี วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า “วันพญาวัน” หรือ “วันเถลิงศก” ถือเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ เป็นวันที่ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าเข้าวัดทำบุญ เลี้ยงพระ ฟังธรรม อุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ และรดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ โดยใช้นํ้าดอกสารภี ดอกคำฝอย ขมิ้น และส้มป่อย วันที่ 16 เมษายน เรียกว่า “วันปากปี” ชาวบ้านจะพากันไปรดน้ำเจ้าอาวาสตามวัดต่างๆ เพื่อขอขมาคารวะ วันที่ 17 เมษายน เรียกว่า “วันปากเดือน” จะมีการทำพิธีสะเดาะเคราะห์ พิธีสืบชะตา และการทำบุญขึ้นท้าวทั้งสี่ (การไหว้เทวดาประจำทิศ) รวมถึงการจุดเทียนต่ออายุชะตาภายในบ้านเพื่อส่งเคราะห์ต่างๆ ออกไปจากตัวและเป็นการปิดฉากประเพณีสงกรานต์ล้านนา” ผู้เชี่ยวชาญเล่า

ถัดมาที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะมีความคล้ายคลึงกับทางภาคเหนือ ซึ่งจะนิยมจัดงานสงกรานต์อย่างเรียบง่าย แต่มากไปด้วยความอบอุ่น โดยคนอีสานจะเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า “บุญเดือนห้า” หรือ “ตรุษสงกรานต์” บางพื้นที่จะเรียกว่า “เนา” และจะถือฤกษ์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลาบ่าย 3 โมง เป็นเวลาเริ่มงานโดยจะตีกลองโฮมเปิดศักราช จากนั้นญาติโยมจะจัดเตรียมน้ำอบหาบไปรวมกันที่ศาลาวัด เพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป และมักมีการทำบุญอัฐิบรรพบุรุษที่เรียกกันว่า สักอนิจจา แล้วต่อด้วยการรดน้ำดำหัว ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติผู้ใหญ่ เพื่อขอขมาลาโทษ จากนั้นก็จะเป็นการเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน ซึ่งส่วนมากจะจัดกิจกรรม 3 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรืออาจจะ 7 วัน แล้วแต่ท้องถิ่นจะกำหนด ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ คนอีสานที่ไปทำมาหากินหรือตั้งถิ่นฐานอยู่ต่างถิ่น มักจะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อรวมญาติ และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพชนผู้ล่วงลับไป หนุ่มสาวอาจจับกลุ่มเล่นกีฬาพื้นบ้าน เช่น สะบ้า หรือบางทีมีมหรสพอย่างหมอลำด้วย

ต่อกันที่ประเพณีสงกรานต์ในภาคกลางจะเริ่มขึ้นในวันที่ 13 เมษายน เป็น “วันมหาสงกรานต์” วันที่ 14 เป็น “วันกลาง” หรือ “วันเนา” วันที่ 15 เป็น “วันเถลิงศก” จะมีกิจกรรมหลักๆ คล้ายภาคอื่นๆ คือการทำความสะอาดบ้านเรือนก่อนถึงวันสงกรานต์ ครั้งถึงวันสุกดิบ (ก่อนวันสงกรานต์ 1 วัน) จะเป็นการเตรียมอาหารคาวหวานไปทำบุญตักบาตร หรือนำไปถวายพระที่วัด ซึ่งอาหาร ขนมที่นิยมทำในเทศกาลสงกรานต์ อาทิ ข้าวแช่ ข้าวเหนียวแดง กะละแม ลอดช่อง เป็นต้น

“นอกจากนี้ยังมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ การสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ข้าวของที่ใช้ในการรดนํ้าโดยทั่วไปมักเป็นธูปเทียนแพ นํ้าอบนํ้าปรุง แป้งร่ำ หมากพลู ผ้าเยียรบับ (ผ้าเพ้นท์ลาย) มาลัยดอกไม้สดและของมีค่า อาทิ แหวน สร้อย เป็นต้น การจัดประกวดเทพีสงกรานต์ การจัดขบวนแห่ การขนทรายเข้าวัด การก่อพระเจดีย์ทราย รวมถึงการละเล่นพื้นบ้าน อาทิ ลำตัด เพลงเกี่ยวข้าว มอญซ่อนผ้า เป็นต้น”

ปิดท้ายที่ภาคใต้จะเรียกวันสงกรานต์ว่า “วันว่าง” ถือว่าเป็นวันละวางกายและใจจากภารกิจปกติ ซึ่งตามประเพณีจะจัดกิจกรรม 3 วันคือ 13, 14, 15 เมษายนของทุกปี วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “วันเจ้าเมืองเก่า” หรือ “วันส่งเจ้าเมืองเก่า” เพราะเชื่อว่าเทวดารักษาบ้านเมืองจะกลับขึ้นไปชุมนุมกันบนสวรรค์ ในวันนี้มักจะเป็นวันทำความสะอาดบ้านเรือน และเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ รวมทั้งทำพิธีสะเดาะเคราะห์ หรือที่เรียกว่า “ลอยเคราะห์” หรือ “ลอยแพ” เพื่อให้เคราะห์กรรมต่างๆ ลอยตามไปกับเจ้าเมืองเก่า และมักจะมีการสรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญ วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันว่าง” คือวันที่ปราศจากเทวดาที่รักษาเมือง ดังนั้น ชาวบ้านก็จะงดงานอาชีพต่างๆ แล้วไปทำบุญที่วัด รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ และสรงน้ำพระพุทธรูป ซึ่งอาจจะมีการละเล่นสนุกสนานรื่นเริงสาดนํ้ากันบ้าง แต่ไม่มากมายอย่างในภาคเหนือและภาคอีสาน และวันที่ 15 เมษายน เรียกว่า “วันรับเจ้าเมืองใหม่” คือวันรับเทวดาองค์ใหม่ที่ได้รับมอบหมาย ให้มาดูแลเมืองแทนองค์เดิม วันนี้ชาวบ้านมักจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้า เครื่องประดับใหม่เพื่อส่งท้ายประเพณีสงกรานต์

ข้อมูลจาก นสพ.คมชัดลึก
http://www.komchadluek.net/detail/20100408/55057/ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์4ภาค.html

- Advertisement -
Previous articleสถานที่ท่องเที่ยววันสงกรานต์ 2557ที่น่าสนใจ
Next articleอาหารหน้าร้อน กับการกินที่ถูกต้อง