คณะกลองยาวอีสาน

คณะกลองยาวอีสาน

คณะกลองยาว หรือวงกลองยาว ก็เกิดขึ้นก่อนที่โปงลางจะดัง เช่นกัน แต่ปัจจุบัน คณะกลองยาว ก็ได้รับการปรับปรุงพัฒนา ประยุกต์รูปแบบนำเสนอใหม่ และกำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก ในภูมิภาคอีสาน คณะกลองยาว นิยมใช้สำหรับประกอบขบวนแห่ต่างๆ เช่นเดียวกับวงมโหรีอีสาน

คณะกลองยาว ตามหมู่บ้าน ในสมัยก่อน ใช้กลองยาวเป็นเครื่องดนตรีหลัก โดยใช้กลอง ประมาณ ๓-๕ ลูก ไม่มีพิณหรือแคนบรรเลงลายประกอบ อาศัยลวดลายของ จังหวะกลอง และลีลาการตีฉาบใหญ่ เป็นสิ่งดึงดูด ซึ่งคณะกลองยาวนี้ ยังไม่มีขบวนนางรำ ฟ้อนรำประกอบ (และอาจยังไม่มีชุดแต่งกายประจำคณะ)

คณะกลองยาวอีสาน

เมื่อคณะกลองยาว พัฒนาขึ้นเป็นคณะกลองยาวจริงๆ เพื่อดึงดูดให้เจ้าภาพงานมาว่าจ้าง บางคณะ จึงได้เพิ่มจำนวนกลองขึ้นมา ให้ดูยิ่งใหญ่ขึ้น เช่น ๑๐ ลูกบ้าง ๑๔ ลูกบ้าง ๒๐ ลูกบ้าง และนอกจาก จะให้ผู้ชายตีกลอง บางคณะ อาจใช้ผู้หญิงตีก็มี แต่ในยุคนั้น ยังเป็นการโชว์กลองยาวอยู่ จึงยังไม่มีพิณ แคนบรรเลงประกอบ และยังไม่มีขบวนนางรำ ฟ้อนประกอบ คนตีกลอง จะฟ้อนไปด้วย ตีกลองไปด้วย

คณะกลองยาวในยุคปัจจุบัน ได้นำหลายๆ อย่างประยุกต์ เพื่อให้ดูทันสมัยขึ้น นั่นคือ นอกจากใช้การโชว์กลอง เป็นจุดขายแล้ว ยังขายความบันเทิงอื่นๆ ด้วย เช่น ใช้พิณ แคนบรรเลงประกอบ ใช้อีเล็กโทนบรรเลงประกอบ ใช้เครื่องขยายเสียง เพื่อให้เสียงพิณ หรืออีเล็กโทนดังไกล มีขบวนนางรำ ฟ้อนประกอบขบวนแห่ มีเครื่องแต่งกายเป็นเอกลักษณ์ และบางคณะ อาจมีการจัดรูปแบบขบวน ตกแต่งรถสำหรับขบวนแห่แบบต่างๆ เป็นต้น ซึ่งนี่คือตัวอย่างแห่งศิลปวัฒนธรรมที่ไม่หยุดนิ่ง

เครื่องดนตรีหลัก ประจำคณะกลองยาว
  • กลองยาว
  • กลองตึ้ง(บางแห่งก็ไม่ใช้)
  • รำมะนา
  • ฉิ่ง
  • ฉาบเล็ก + ฉาบใหญ่
  • พิณ, แคน, หรืออีเล็กโทน,เบส (ประยุกต์ใช้ร่วมคณะกลองยาวในภายหลัง)

คณะกลองยาว วงใหญ่หรือเล็ก ในสมัยก่อน ขึ้นอยู่กับ จำนวนกลองยาวที่ใช้  โดยวงขนาดเล็ก ใช้กลองยาวประมาณ ๓-๕ ลูก หากกลองยาวไม่เกิน๒๐ ลูก ยังถือว่า เป็นวงขนาดกลางอยู่ หากเกิน ๒๐ ลูกขึ้นไป จัดว่าเป็นวงขนาดใหญ่     ในปัจจุบัน นอกจากดูเรื่องจำนวนกลองยาวแล้ว ยังต้องดูขบวนนางรำประกอบด้วย

กลองยาว ที่ใช้ในคณะกลองยาว จะต้องปรับเสียงให้กลองทุกลูก ดังในคีย์เดียวกัน โดยใช้ข้าวเหนียวนึ่งสุก บดให้ละเอียด ติดหน้ากลอง และเมื่อเล่นเสร็จ ก็ต้องทำความสะอาด คราบข้าวเหนียวออกให้หมด ก่อนนำกลองไปเก็บ

คณะมโหรีอีสาน

คณะมโหรีอีสาน หรือ วงมโหรีอีสาน เป็นวงดนตรีพื้นบ้านอีสาน ซื่งได้รับความนิยม ในยุคก่อนที่โปงลางจะดัง นิยมใช้ประกอบขบวนแห่ต่างๆ ซึ่งเครื่องดนตรีหลักประเภทให้จังหวะ จะคล้ายๆ กันเกือบทุกหมู่บ้านหรือทุกคณะ ส่วนเครื่องดนตรีประเภทบรรเลงทำนอง อาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่า หมู่บ้านไหน จะสามารถเล่นเครื่องดนตรีอะไรได้บ้าง โดยเครื่องดนตรีหลักของคณะมโหรี อีสานจะประกอบด้วย

  • กลองตึ้ง
  • รำมะนา
  • ฉาบ
  • เครื่องดนตรีบรรเลงทำนองอย่างน้อย ๑ ชนิด
  • เครื่องดนตรีประจำวงมโหรีอีสานที่พบมากคือ
  • กลองตึ้ง
  • รำมะนา
  • ฉาบ
  • ฉิ่ง
  • ฆ้องโหม่ง
  • ซออีสาน
  • ปี่
  • หรือบางคณะอาจใช้
  • กลองตึ้ง
  • รำมะนา
  • ฉาบ
  • ฉิ่ง
  • พิณ
  • แคน

ลายเพลงที่ใช้บรรเลง หลักๆ แล้วจะใช้เพลงมโหรีอีสาน ซึ่งแต่ละวง อาจจะมีลูกเล่น หรือท่วงทำนองแตกต่างกันไป นั่นคือ เพลงหลัก แม้เรียกว่า มโหรีอีสานเหมือนกัน แต่ทำนองเพลง อาจจะไม่เหมือนกัน และนอกจากเพลงมโหรีอีสานแล้ว อาจจะมีลายเพลงอื่นๆ เข้ามาประกอบด้วย

วงดนตรีของทางวัฒนธรรมอีสานใต้

วงบรรเลง

1. วงตุ้มโมง ประกอบด้วย ฆ้องหุ่ย (ฆ้องชัย) 1 ใบ กลองเพลขนาดใหญ่ 1 ใบ ปี่ในขนาดเล้ก 1 ใบ ฆ้องราว 1 ใบ

2. วงกันตรึม ประกอบด้วย กลองกันตรึม (กลองโทน) 2 ใบ ปี่อ้อ 1 เลา ปีชลัย (ปี่ใน 1 เลา ฉิ่ง 1 คู่ ฉาบ 1 คู่ กรับ 1 คู่

3. วงมโหรี ประกอบด้วย ซอด้วง 1-2 คัน ซอตรัวเอก (ซออู้) 1-2 คัน ระนาดเอก 1 ราง พิณ 1 ตัว ปี่ชลัย 1 เลา กลองกันตรึม (โทน) 2 ใบ รำมะนา 1 ใบ ฉิ่ง, ฉาบ, และกรับอย่างละ 1 คู่

วงดนตีประกอบเรือมมม็วต

  • วงใหญ่ ประกอบด้วย ซอ 1 คัน ปี่อ้อ 1 เลา ปี่ชลัย 1 เลา กลองกันตรึม 2 ใบ กลองตะโพน 1 ใบ ฉิ่งและกรับอย่างละ 1 คู่
  • วงเล็ก ประกอบด้วย ซอ 1 คัน ปี่อ้อ 1 เลา กลองกันตรึม 2 ใบ เจรียง (นักร้อง) 1 คน (คนตีกลองทำหน้าที่เป็นนักร้องด้วย)

วงดนตีประกอบเรือมอันเร ประกอบด้วย ซออู้ขนาดกลาง 1 คัน ปี่อ้อ 1 เลา ปี่ชลัย 1 เลา โทน 2 ใบ ตะโพน 1 ใบ ฉิ่ง, ฉาบ และกรับอย่างละ 1 คู่

ที่มา http://www.student.chula.ac.th/~49467673/band_muse.htm