แคน เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมือง ที่เป็นมรดกภาคอีสานที่เก่าแก่ที่สุด แคนเป็นเครื่องดนตรีที่มีความไพเราะ มีความซับซ้อนของเสียงมาก แคนเป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่าเป็นเพลง ใครเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องดนตรีนี้ขึ้นมานั้น ไม่สามารถบอกได้หรือไม่มีหลักฐานที่แน่นอนยืนยันได้ แต่มีเพียงประวัติตำนานที่เล่าขานกันสืบเรื่อยต่อมา ดังนี้ครั้งก่อนนั้นมีพราหมณ์คนหนึ่งได้เข้าไปในป่าเพื่อหาล่าสัตว์ตามวิถีชีวิตของชาวบ้าน และพราหมณ์นั้นได้เดินเข้าไปในป่าลึก ก็ได้ยินเสียงแววๆ มา มีความไพเราะมาก มีทั้งเสียงสูง เสียงต่ำ บ้างสลับกันไป แล้วพราณห์ก็ได้เข้าไปดูว่าเสียงนั้นมาจากที่ใด ทันใดนั้น ก็มองเห็นเป็นเสียงร้องของนกชนิดหนึ่ง เรียกว่า ?นกการเวก? จากนั้นก็ได้เดินทางกลับบ้าน แล้วนำเรื่องที่ตนได้ยินมานั้นไปเล่าให้ชาวบ้านได้ฟัง และมีหญิงหม้ายคนหนึ่งพอได้ฟังแล้วเกิดความสนใจอย่างมาก เลยขอติดตามนายพราณห์เข้าไปในป่าเพื่อไปดูนกการเวก ว่ามีความไพเราะจริงหรือไม่ ครั้งหญิงหม้ายได้ฟังเสียงนกการเวกร้องก็เกิดความไพเราะ เพลิดเพลินและติดอกติดใจ มีความคิดอย่างเดียวว่า จะทำอย่างไรดีถ้าต้องการฟังอีก ครั้งจะติดตามนกการเวกนี้ไปฟังคงจะยากแน่นอน จึงคิดที่จะทำเครื่องแทนเสียงร้องนกการเวก ให้มีเสียงเสนาะออนซอนจับใจ ดุจดังเสียงนกการเวกนี้ให้จงได้ เมื่อหญิงหม้ายกลับถึงบ้าน ก็ได้คิดทำเครื่องดนตรีต่างๆ เช่น ดีด สี ตี เป่า หลายๆ อย่าง ก็ยังไม่มีเสียงดนตรีชนิดใดมีเสียงไพเราะเหมือนกับเสียงนกการเวก ในที่สุดนางก็ได้ไปตัดไม้ชนิดหนึ่ง เอามาประดิษฐ์ดัดแปลงเป็นเครื่องเป่าชนิดหนึ่ง รู้สึกว่าค่อนข้างไพเราะ จึงได้พยายามดัดแปลงแก้ไขอีกหลายๆ ครั้ง จนกระทั่งเกิดเป็นเสียงไพเราะ เหมือนเสียงร้องของนกการเวก จนในที่สุดเมื่อได้แก้ไขครั้งสุดท้ายแล้วลองเป่ารู้สึกไพเราะ ออนซอนจับใจ ดุจดังเสียงนกการเวก นางจึงมีความรู้สึกดีใจในความสำเร็จของตนเป็นพ้นที่ได้ประดิษฐ์เครื่องดนตรีได้เป็นคนแรก จึงคิดที่จะไปทูลเกล้าถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล และนางยังได้ฝึกหัดเป่าลายต่างๆ จนเกิดความชำนาญเป็นอย่างดี จึงนำเครื่องดนตรีไปเข้าเฝ้าฯ ถวาย แล้วนางก็ได้เป่าลายเพลงให้พระเจ้าปเสนทิโกศลฟัง เมื่อฟังเพลงจบแล้วพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงมีความพึงพอใจอย่างมากที่มีเครื่องดนตรีประเภทนี้เกิดขี้นและทรงตั้งชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า ?แคน? ด้วยเหตุนี้เครื่องดนตรีที่หญิงหม้ายที่ได้ประดิษฐ์ขึ้นโดยใช้ไม้ไผ้น้อยเรียงติดต่อกันใช้ปากเป่า จึงได้ชื่อว่า ?แคน? มาตราบเท่าทุกวันนี้และ แคน ยังมีหลายท่านที่ให้ความหมายของคำว่าแคน บ้างกล่าวว่าแคนเรียกตามเสียงของแคน โดยเวลาเป่าเสียงแคนจะดังออกมาว่า แคนแล่นแคน แล่นแคน แล่นแคน แต่บางท่านก็ให้ความหมายว่า แคน เรียกตามไม้ที่นำมาทำเต้าแคน คือ ไม้ที่ทำเต้าแคนนั้น นิยมใช้ไม้ตะเคียน หรือภาษาอีสานเรียกว่าไม้แคนจากการสันนิษฐานจากนิยายเรื่อง หญิงหม้าย แล้วยังสันนิษฐานว่าแคนได้รับอิทธิพลมีที่มาอยู่ 2 ประการ คือ
ประการที่หนึ่ง ทางด้านโบราณคดี ในประเทศจีนซึ่งเป็นดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ ได้บ่งบอกว่า เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวไทย ได้มีการขุดพบหลุมฝังศพของหญิงสาวราชินีกุลคนหนึ่ง แถวมณฑลฮูนาน ราว 2,000 ปี ได้ค้นพบเครื่องดนตรีจำนวนมากมาย เช่น ขลุ่ย และเครื่องดนตรีสำหรับเป่าที่มีรูปร่างคล้ายกับแคน แต่มีเต้ายาวมาก เหมือนแคนชาวเขา เผ่ามูเซอ แถบภาคเหนือของไทย นั้นแสดงว่า เครื่องดนตรีประเภทนี้เคยมีอยู่แล้วในประเทศจีน
ประการที่สอง ด้านวรรณคดี จากวรรณคดีพื้นบ้านอีสานได้พบการใช้แคนอยู่หลายเรื่อง เช่น เรื่องท้าวฮุ่งท้าวเจือง และท้าวก่ำกาดำ และเรื่องท้าวก่ำกาดำ มีตอนหนึ่งว่า กาดำใช้แคนเป่าจีบสาว ดังว่า
ท้าวก็เป่าจ้อยๆ คือเสียงเสพเมืองสวรรค์
จนว่าฝูงคนเฒ่าเหงานอนหายส่วง
จนว่าสาวแม่ฮ้าง คะนงโอ้อ่าวผัว
ฝูงพ่อฮ้างคิดฮ่ำคนึงเมีย
เหลือทนทุกข์ผู้เดียวนอนแล้ว
เป็นที่อัศจรรย์แท้เสียงแคนท้าวก่ำ
ไผ่ได้ฟังม่วนแม้งในสว่างว่างเว
ฝูงกินข้าวคาคอค้างอยู่
ฝูงอาบน้ำป๋าผ่า แล่นมา
ในปัจจุบันนี้ แคน เป็นเครื่องดนตรีที่มีความเก่าแก่มากที่สุด เป็นเครื่องดนตรีที่มีความนิยมเป่ากันมาก โดยเฉพาะชาวจังหวัดขอนแก่น ถือเอาแคนเป็นเอกลักษณ์ชาวขอนแก่น รวมทั้งเป็นเครื่องดนตรีประจำภาคอีสานตลอดไป และในปัจจุบันนี้ชาวบ้านได้มีการประดิษฐ์ทำแคนเป็นอาชีพอย่างมากมาย เช่น อ.นาหว้า จ.นครพนม จะทำแคนเป็นอาชีพทั้งหมู่บ้าน รวมทั้ง จังหวัดอื่นๆ อีกมากมาย และแคนยังเป็นเครื่องดนตรีที่นำมาเป่าประกอบการแสดงต่างๆ เช่นแคนวง วงโปงลาง วงดนตรีพื้นเมือง รวมทั้งมีการเป่าประกอบพิธีกรรมของชาวอีสาน เช่า รำผีฟ้า รำภูไท เป็นต้น รวมทั้งเป่าประกอบหมอลำกลอน ลำเพลิน ลำพื้น รวมทั้งหมอลำซิ่ง ยังขาดแคนไม่ได้
ข้อมูลจาก
อ.สุรพล เนสุสินธ์
วิชาดนตรีอีสาน สาขาดนตรีไทย
คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- ดนตรีพื้นบ้านอีสาน
- ฟังเสียงพิณ-sound-phin
- ฟังเสียงแคน(khaen solo)
- โปงลางบรรเลง