สาวชัยภูมิ ลูกพ่อขุน

ข้อมูลของนายฮ้อย(ต้นฉบับแบบร่าง ตามหานายฮ้อยที่หายไป)

Rate this Entry



เว็บไซต์ว่าด้วยศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา อธิบายว่า "นายฮ้อย" เป็นภาษาท้องถิ่นอีสานที่เรียกกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทในการค้าขายซึ่งเรียกตามชื่อประเภทสินค้า ดังนั้น คนที่ค้าขายวัวควาย จึงถูกเรียกขานว่า นายฮ้อยวัวควาย และนายฮ้อยวัวควายนี่เองที่มีบทบาทสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตอีสานมากกว่ากลุ่มพ่อค้าสินค้าอื่น จากสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่เลี้ยงวัวควายเป็นอาชีพควบคู่กับทำนาทำไร่ วัวควายจึงมีความสำคัญทั้งในสถานะปัจจัยการผลิต คือแรงงานไถนา ผลิตปุ๋ยคอก เป็นพาหนะคมนาคมขนส่ง เป็นสิ่งแสดงถึงสถานะทางสังคม และเป็นสินค้าที่สามารถขายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว

ตลาดวัวควายของยุคนั้นอยู่ในถิ่นภาคกลาง ต้องใช้เวลารอนแรมหลายเดือน การจะนำวัวควายไปขายจึงต้องอาศัยการรวมตัวกันไปเพื่อความปลอดภัย และการเดินทางนี้เองได้บ่มเพาะประสบการณ์ กลายเป็นตำนานนายฮ้อยในเวลาต่อมา ความยากลำบากของการเดินทาง และเพื่อให้แต่ละครั้งสามารถขายวัวควายได้เงินกลับบ้าน นายฮ้อยจึงต้องเป็นผู้มีความรู้สารพัดเรื่องสัตว์ รวมทั้งการประเมินราคาต่อรองค้าขาย ด้วยบทบาทดังกล่าวชุมชนจึงให้ความเชื่อถือ เป็นภูมิปัญญาของชุมชนตลอดมา

ยังมีข้อมูลจากซองคำถาม นิตยสารสารคดี ซึ่งได้จากเว็บไซต์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ว่า ทุกปีราวเดือนสองเดือนสาม (มกราคม-กุมภาพันธ์) หลังเก็บเกี่ยวข้าว นายฮ้อยจาก "เมืองบน" หรือดินแดนที่ราบสูงโคราช แถบขอนแก่น โคราช ชัยภูมิ จะเริ่มออกหาซื้อวัวควายจากหมู่บ้านต่างๆ และเมื่อรวบรวมได้ 400-500 ตัว หรือบางคราวอาจถึง 1,000 ตัว ก็จะเริ่มเดินทางพร้อมกองคาราวานเกวียน บรรทุกสัมภาระ ข้าวปลาอาหาร และลูกน้องไม่น้อยกว่า 10 คน ถ้าเป็นฝูงใหญ่อาจต้องใช้คนนับร้อยไล่ต้อนลงมาขายที่ "เมืองล่าง" หรือดินแดนที่ราบลุ่มภาคกลางแถบลพบุรี สระบุรี อยุธยา มาถึงราวเดือนสี่เดือนห้า (มีนาคม-เมษายน) เริ่มฤดูกาลไถหว่านทำนาพอดี

ระหว่างการเดินทางรอนแรมกลางป่าเปลี่ยวเสี่ยงอันตราย เผชิญอุปสรรคนานัปการ นายฮ้อยต้องรับผิดชอบดูแลทุกชีวิตทั้งคนและฝูงวัวควายที่เสี่ยงต่อการถูกปล้นสะดมระหว่างทาง ต้องปกครองคนได้ เป็นผู้นำที่ได้รับการยอมรับนับถือจากทุกคน กล้าหาญ เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว สามารถจัดการฝูงวัวควายนับร้อยนับพันตัวได้ โดยจะแบ่งออกเป็นฝูงย่อย ฝูงละ 80-100 ตัว มีคนคุมต้อน 9-12 คน มีหัวหน้าหนึ่งคน แต่ละกลุ่มย่อยเรียกว่า "หนึ่งพาข้าว"

เส้นทางไล่ต้อนเริ่มต้นจากขอนแก่น นครราชสีมา ผ่านช่องเขาต่างๆ ในแนวเทือกเขาพังเหย จ.ชัยภูมิ เช่น ช่องสำราญ ช่องตานุด ช่องลำพญากลาง หรือช่องตะพานหิน เป็นต้น ผ่านเข้าสู่ประตูภาคกลางที่ อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี หยุดแวะขายที่บ้านโคกสลุง อ.พัฒนา นิคม ลพบุรี เป็นแห่งแรก โดยนายฮ้อยจะเข้าไปแจ้งข่าวให้คนในหมู่บ้านแวะมาดูมาซื้อวัวควาย จากนั้นจะตระเวนขายไปจนสิ้นสุดเส้นทางที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี กว่าจะหมดบางครั้งใช้เวลาร่วมเดือนหรือ 2 เดือน

รวมเวลาเดินทางกลับแล้วกว่าครึ่งปีที่พวกเขาต้องจากบ้านมาใช้ชีวิตรอนแรมห่างไกลจากครอบครัว ทว่าสิ่งที่พวกเขานำมาพามาด้วยพร้อมกับคาราวานวัวควาย คือวัฒนธรรมจากอีสาน โดยมีนายฮ้อยเป็นสื่อเชื่อมกับอารยธรรมในภาคกลาง ปรากฏร่องรอยให้เห็นผ่านขนบธรรมเนียม ประเพณี การแต่งกาย อาหารการกิน ภาษาพูด ของกลุ่มคนที่หลากหลายแถบลพบุรี สระบุรี แต่เกือบ 30 ปีแล้วที่ภาพกองคาราวานนายฮ้อยไล่ต้อนฝูงวัวควายหายไป ภายหลังที่มีเส้นทางรถยนต์เข้ามาแทนที่ ฝูงวัวควายที่ต้อนมาขายยังตลาดนัดวัวควายทุกวันนี้จึงมาพร้อมกับรถบรรทุก

Submit "ข้อมูลของนายฮ้อย(ต้นฉบับแบบร่าง ตามหานายฮ้อยที่หายไป)" to แชร์ไปที่ Facebook Submit "ข้อมูลของนายฮ้อย(ต้นฉบับแบบร่าง ตามหานายฮ้อยที่หายไป)" to แชร์ไปที่ Twitter Submit "ข้อมูลของนายฮ้อย(ต้นฉบับแบบร่าง ตามหานายฮ้อยที่หายไป)" to แชร์ไปที่ Printerest

แท็ก: ไม่มี แก้ไข Tags คำค้นหา
Categories
Uncategorized

Comments

Trackbacks

Total Trackbacks 0
Trackback URL: