ญา ทิวาราช

กวีวิถีพุทธ

Rate this Entry
บทกลอนกวีวิถีพุทธ


กลอนพรรณนากวีศรีสวัสดิ์
สรรค์สร้างวรรณศิลป์ทินกร
เพิ่มพูนชำระวิกฤตินิสสัย
ช่วยสะท้อนสอนส่องยองใย

แสวงหาความสงบในดวงจิต
ดำริคิดสติตั้งมิกังขา
ละสังโยชน์สิบได้จึงนำมา
ความสุขผานิรันดร์สิ่งมั่นคง

อมตะละโลกและสวรรค์
นรกนั้นมิย่ำเหยียบยะเยียบหลง
เห็นถ่องแท้แก่ชะตามาปลดปลง
เดินเส้นตรงสายกลางทางนิพาน

ขอบุญทำนำมาให้ถึงพร้อม
ส่งจิตน้อมสู่ไตรรัตน์ร่วมผสาน
อันกิเลสเหตุต้นเกิดผลมาร
จะสังหารณ์ทิ้งสิ้นแม้อินทรีย์

เพียงชาตินี้ที่สุดขอหลุดพ้น
เกิดเป็นคนสัตว์โลกชั่งโศกศรี
มิอาลัยอาวรณ์สิ่งที่มี
พอกันทีทุกข์สุขที่เกิดตาย


"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัย ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตว่า จิตมีราคะ(ความรัก) ก็รู้อยู่ว่าจิตมีราคะ จิตมีโทสะโมหะ ก็ให้รู้อยู่ว่าจิตมีโทสะโมหะ จิตไม่มีราคะโทสะโมหะ ก็ให้รู้ว่าจิตไม่มีราคะโทสะ โมหะ จิตไม่ฟุ้งซ่าน จิตไม่อยู่ในฌานภาวนา จิตยังไม่หลุดพ้นจากการเกาะร่างกายเราเขา ก็ให้รู้ว่าจิตยังไม่หลุดพ้น"

พิจารณาว่าจิตเรามี นิวรณ์ 5 หรือไม่ นิวรณ์ 5 ได้แก่
1. กามราคะ รักในรูปสวย รสอร่อย กลิ่นหอม สัมผัสทางเพศ ไม่ดี เพราะเป็นของสกปรกทุกอย่าง
2. ปฏิฆะ ให้กำจัดความหงุดหงิดไม่พอใจเพราะทำให้จิตเศร้าหมองเป็นทุกข์กำจัดด้วย เมตตา สงสาร
3. วิจิกิจฉา ความสงสัยในพระรัตนตรัย ไม่แน่ใจในผลของการปฏิบัติสมาธิภาวนา ว่าจะได้ผลเป็นสุขจริง
4. ถีนมิทธะ ง่วงเหงาหาวนอนเวลาปฏิบัติธรรม แก้ด้วยการเดิน วิ่ง ล้างหน้า หรือง่วงจริง ๆก็ภาวนาไปจนหลับ
5. อุทธัจจกุกกุจจะ ความคิดฟุ้งซ่านรำคาญใจ ทำให้ใจเศร้าหมอง วิธีแก้ก็ดูลมหายใจเข้าออกทำใจให้เป็นหนึ่ง มีกำลังเข้มแข็งไว้คอยปราบกิเลสออกจากใจให้สะอาดแจ่มใสเบิกบานอยู่เสมอ
(2) พิจารณาขันธ์ 5 คือร่างกายเป็นรูปมองเห็น ส่วนของร่างกายที่มองไม่แต่ทำให้จิตเป็นทุกข์ ไม่สบายใจ มีอยู่ 4 อย่างคือ
1.เวทนา ความรู้สึกหนาวร้อนเจ็บปวด
2.สัญญา ความจำ ความจำเสื่อมได้ จำโน่น จำนี่ ยุ่งเหยิงไปหมด
3.วิญญาณ (อายตนะ 6) ก็คือระบบประสาท วิญญาณเชื่อมต่อกับสมอง มีตาหู จมูกลิ้นกายใจ ทำให้เป็นทุกข์เดือดร้อนเพราะติดในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส ไม่ได้ดังใจก็ทุกข์แล้ว
4.สังขาร คืออารมณ์จิตคิดฟุ้งซ่านคิดไร้สาระ คิดโน่นคิดนี่ทำให้วุ่นวายใจ หากคิดดีเลิกคิดชั่วก็ทำให้จิตดี แต่สังขารนี้เป็นของกาย ตายสูญสลายสังขารนี้เป็นของกาย ตายสูญสลายไปกับกาย ไม่ใช่ของจิตที่สะอาด
(3) พิจารณาธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ 7 อย่าง คือ โพชฌงค์ 7
พระธรรมที่จะเข้าถึงมรรคผลเป็นพระอริยเจ้าเร็ว ๆ ไว พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้หลายแบบหลายข้อ ทุก ๆ ข้อก็ทำให้เป็นพระอริยเจ้าได้ทั้งนั้น ถ้าขยันและฉลาดไตร่ตรอง
โพชฌงค์ 7 มีดังนี้
1. สติ เป็นคนมีสติ รู้ว่าคิดดีหรือคิดชั่ว ถ้าคิดชั่วก็กำจัดออกจากจิต คิดแต่สิ่งที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เช่นคิดดูลมหายใจเข้าออก คิดถึงร่างกายว่าไม่ใช่ของเราจริง ตายสูญสลายแน่ เราคือจิตใจมาอาศัยร่างชั่วคราว นึกเอาไว้ว่าเราจะทำความดีทั้งกาย วาจา ใจ
2. ธัมมวิจยะ ใช้ปัญญาไตร่ตรองธรรมะที่เราปฏิบัติว่าตรงตามตำราพระธรรมคำสอนหรือไม่ เช่น พิจารณาว่าร่างกายนี้เปลี่ยนแปลงเป็นทุกข์เป็นโทษเหม็นสกปรกแตกสลายตายจริงหรือ ไม่ยอมให้ความอยากความโลภความโกรธหลงฟุ้งซ่านเป็นเจ้าหัวใจเรา
3. วิริยะ มีความเพียรดูลมหายใจเข้าออก เพียงบังคับจิตให้ใคร่ครวญ พิจารณาหาความจริงในร่างกายเราเขา ว่าเป็นของน่าเกลียดน่ากลัว เป็นที่ขังของโรคภัยเป็นของเน่าเหม็น เดินเข้าหาความพังสลาย ความเจ็บปวด ความหิวโหย ความร้อนหนาวเย็น เป็นภาระอันหนัก เพียรใคร่ครวญตามองค์พระพิชิตมารสอนใน บังสุกุลว่า
อจีรัง วะตะยัง กาโย ปฐวิง อธิเสสะติ
ร่างกายนี้ ถ้าไม่มีจิตใจแล้วมันก็เป็นที่ทอดทิ้งเหมือนขอนไม้ เหม็นเน่าไร้ประโยชน์ เราคือ จิตใจหรืออทิสมานกาย กายที่มองด้วยตาเนื้อไม่เห็น มาอาศัยร่างที่เหม็นสาบสางชั่วคราว เราคือจิตใจต้องการนิพพาน ไม่ต้องการโลกสวรรค์พรหม
4. ปิติ ความอิ่มเอิบใจต้องสร้างขึ้นจากการทำสมาธิให้ได้ดีที่สุด และพิจารณาความจริงของชีวิตคือ ของยืมกันใช้ชั่วคราวไม่มีอะไรจริง เต็มใจที่จะปฏิบัติตามพระพุทธองค์ทรงสอน
5. ปัสสิทธิ รักษาอารมณ์ใจให้สงบในโลภ โกรธ หลง ด้วยการให้ทาน สงบโกรธด้วยการเมตตา สงบความหลงด้วยการภาวนารู้ลมหายใจเข้าออกว่าถ้าหมดลมหายใจเราก็ต้องตาย
6. สมาธิ มีอารมณ์ตั้งมั่นในอารมณ์เดียวไม่วอกแวก เช่น ดูลมหายใจ นึกพุท-โธ ก็ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในลมหายใจ ตั้งมั่นพิจารณาร่างกายเป็นของสกปรก ของชั่วคราว ของเจ็บปวดทุกข์ทรมานเต็มไปด้วยโรคภัยเบียดเบียน
7. อุเบกขา จิตเราทรงอยู่ในสมาธิ ไม่ยุ่งกับเรื่องของผู้อื่น ยอมรับนับถือกฎธรรมดาเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย เฉยกับโลกธรรม 8 (ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์)




ธุจ้ามรรคผลนิพพานนั้นมีอยู่แล้ว รอแต่ผู้บรรลุ:l-

Submit "กวีวิถีพุทธ" to แชร์ไปที่ Facebook Submit "กวีวิถีพุทธ" to แชร์ไปที่ Twitter Submit "กวีวิถีพุทธ" to แชร์ไปที่ Printerest

Categories
Uncategorized

Comments

Trackbacks

Total Trackbacks 0
Trackback URL: