มุมหนึ่งของความคิดถึง

จะดูแลความรักได้อย่างไร

Rate this Entry

ดิฉันยังจำวันที่เดินทางมาถึงบ้านคุณพ่อคุณแม่ของสามีที่อังกฤษ หลังจากเราแต่งงานกันที่เมืองไทย ได้เพียงเดือนเศษๆ ตอนนั้น ดิฉันเริ่มตั้งครรภ์อ่อนๆ แล้ว มันเป็นวันหนึ่งในเดือนมกราคมที่อากาศหนาวมาก แต่ความหนาวของร่างกายในวันนั้น ยังไม่ได้เสี้ยวหนึ่งของความหนาวทางจิตใจที่ดิฉันกำลังจุ่มอยู่ในคืนนั้น

ดิฉันนั่งอยู่บนโซฟาเบื้องหน้าคนแปลกหน้าอันมีคุณพ่อคุณแม่น้องสาวและหลานสาว ที่กำลังเดินเตาะแต่ะ รวมทั้งสามีในห้องนั่งเล่นเล็กๆ ที่มีแผ่นเตาผิง ทำให้ร่างกายของดิฉันอบอุ่นมากขึ้น แต่ในจิตใจของดิฉันยังคงหนาวมากอยู่ ราวกับกำลังเดินฝ่าพายุหิมะด้วยร่างกายที่เปลือยเปล่าอยู่ที่ขั้วโลกใต้เพียงคนเดียว

ทันใดนั้น ดิฉันก็ได้ยินเสียงที่คุ้นเคยในหัวร้องตะโกนลั่นว่า

“ตายแล้ว นี่เราได้ตัดสินใจทำสิ่งที่ผิดพลาดที่สุดในชีวิตแล้วหรือนี่” ความรู้สึกตอนนั้น อยากให้เหตุการณ์นั้นเป็นเพียงฝันร้ายที่ดิฉันสามารถตื่นขึ้นมาได้อีก อยากให้เป็นเช่นนี้ว่า เมื่อเปิดประตูห้องเล็กๆ นั้นออกมา จะสามารถเห็นหน้าครอบครัวของดิฉันอันมีพ่อแม่พี่น้องที่อบอุ่นอยู่รอบข้าง แทนที่จะเป็นคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักเหล่านี้ มันเป็นความรู้สึกที่เจ็บปวดมากสำหรับเจ้าสาวที่ควรยังอยู่ในบรรยากาศของฮันนีมูน ดิฉันไม่เคยนึกว่าชีวิตแต่งงานจะไปรอดจนถึงบัดนี้เวลาก็ได้ผ่านไปแล้วถึง 25 ปี

สิ่งที่แน่นอนของชีวิตมนุษย์คือ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ดังที่ชาวพุทธมักพูดว่า ทุกอย่างเป็นอนิจจัง โดยเฉพาะความรู้สึกของคนเรา ยิ่งเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายมาก วันนี้อาจจะรู้สึกมั่นใจเหลือเกินว่าสิ่งที่เราตัดสินใจทำลงไปนั้นถูกต้องล้านเปอร์เซนต์ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป มีเหตุการณ์ที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อนเกิดขึ้น กลับไม่แน่ใจในการกระทำของตนเองเสียแล้ว โดยเฉพาะการแต่งงานซึ่งเป็นการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ของชีวิต ไม่ว่าเราจะแต่งงานด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ และหากมีลูกด้วยกันแล้ว เราไม่สามารถย้อนเข็มนาฬิกากลับได้อีกต่อไป ไม่สามารถเอาคู่ครองและครอบครัวของเรากลับคืนให้ใครได้ สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือ การดูแลครอบครัวของเราให้เจริญงอกงามด้วยความรัก ความอบอุ่น พยายามสร้างสิ่งสวยงามให้เกิดขึ้น เพราะเมื่อถึงยามแก่เฒ่าแล้ว สิ่งมีค่าที่สุดสำหรับชีวิตของเราคือ เหตุการณ์อันเนื่องกับความทรงจำในอดีตเท่านั้นที่จะเป็นน้ำหล่อเลี้ยงให้ชีวิตมีชีวาขึ้นมาได้ หากชีวิตครอบครัวของเราเต็มไปด้วยเหตุการณ์ที่มีแต่ความสุขแล้วละก็ เราในฐานะที่เป็นพ่อหรือแม่ก็สามารถภูมิใจในตนเองได้ว่า เราเป็นผู้สร้างสิ่งงดงามเหล่านั้นขึ้นมา แต่หากรูปการณ์เป็นไปในทางตรงกันข้ามแล้ว ชีวิตในยามแก่เฒ่าของเราย่อมเต็มไปด้วยความเสียใจ ขมขื่น รู้สึกสำนึกผิด และสิ่งที่มักจะพูดกับตนเองคือ ถ้าหากสามารถย้อนเข็มนาฬิกาได้แล้วละก็ จะทำทุกอย่างที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราได้ทำไป ซึ่งแน่นอน เราไม่สามารถย้อนเข็มนาฬิกาได้อีกแล้ว

ฉะนั้น ในฐานะที่ดิฉันได้ใช้ชีวิตแต่งงานซึ่งเป็นทั้งภรรยาและแม่คนมาถึง 25 ปีแล้ว ย่อมมีประสบการณ์ชีวิตเพียงพอที่จะเผื่อแผ่แก่เด็กๆ ที่กำลังจะก้าวย่างเข้ามาสู่การมีความรัก มีคู่ครองและมีครอบครัว เราควรที่จะดูแลรักษาคู่ครองและลูกๆ ของเราอย่างไร จึงจะทำให้ความรักภายในครอบครัวเจริญเติบโต งอกงามขึ้นมาได้ เพื่อเราจะได้มีสิ่งสวยงามไว้เชิดชูจิตใจของเราในยามแก่เฒ่า การฟังคำแนะนำของผู้มีประสบการณ์ชีวิตมากกว่า ย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และเป็นปัจจัยที่จะทำให้ชีวิตคู่ของเราประสบความสำเร็จมากขึ้น

ความรับผิดชอบ

ฝรั่งมีคำพูดว่า You made your bed, you lay on it. คุณเป็นคนปูที่นอน คุณก็นอนซะสิ ซึ่งหมายถึงการรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง สำนวนนี้มักใช้กับหนุ่มสาวที่เพิ่งแต่งงานกันใหม่ๆ หรือมีลูกคนแรก และเริ่มพบปัญหาชีวิต จึงรู้ว่าชีวิตแต่งงานไม่ได้หวานชื่นและสวยงามเหมือนทางที่โรยด้วยดอกกุหลาบ อยากเดินหนีไปให้ไกลที่สุด เมื่อมีโอกาสได้คุยกับพ่อแม่ของตนเองแล้วละก็ มักจะได้ยินประโยคนี้เสมอว่า “เธอได้ปูที่นอนแล้ว ก็ต้องนอนซะสิ” คือ พยายามบอกให้ลูกของตนรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง การรับผิดชอบนี้เป็นคุณธรรมที่สำคัญมากที่สุดที่จะทำให้ชีวิตคู่ดำเนินไปได้ตลอดรอดฝั่ง และเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ความรักเจริญงอกงาม และพบความสวยงามของชีวิตได้ในกาลต่อมา

ชีวิตแต่งงานโดยเฉพาะในช่วง 3-5 ปีแรกนั้น ย่อมเป็นเรื่องท้าทายมาก เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะพิสูจน์ความดีที่ซ่อนอยู่ในจิตใจของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีลูกเล็กเข้าไปแล้ว ความหวานชื่นที่คนสองคนเคยดูแลและเอาใจซึ่งกันและกันย่อมมีน้อยลง แทนที่ด้วยภาระหน้าที่การงานอันหนักหน่วงเพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูแลครอบครัวของตนเอง ชายหญิงที่สามารถรับผิดชอบต่อการเลี้ยงดูภรรยา สามี และลูกของตนเองได้ตลอดรอดฝั่งนั้น ต้องยกย่องว่านั่นเป็นการประสบความสำเร็จของการเป็นมนุษย์ที่น่าพอใจมากในระดับหนึ่งทีเดียว นี่จะเป็นสิ่งงดงามสิ่งแรกในชีวิตแต่งงานที่เหลือไว้ให้มองกลับได้ในยามแก่เฒ่า

โดยสถิติที่เกิดขึ้นในสังคมส่วนมากแล้ว หญิงมักจะเป็นฝ่ายที่ถูกชายทอดทิ้งและต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูลูกขึ้นมาด้วยลำแข้งของตนเอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ชายยังต้องเรียนรู้เรื่องการรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองมากขึ้น เพื่อจะได้อย่างน้อยที่สุดก็ตายเป็นสุข ไม่มีอะไรค้างคาใจตนเองอยู่

เห็นแก่ตัวเองน้อย เห็นแก่คนอื่นมาก

ดิฉันคงมีอายุราว 8 ขวบ จำได้ถึงวันที่กลับจากโรงเรียนแล้วคุณแม่เรียกให้ไปทานขนมไหว้พระจันทร์ชิ้นหนึ่งที่มีไส้ทุเรียน และมีไข่แดงติดมาเสี้ยวหนึ่งได้อย่างแม่นยำ แม่บอกว่า เพื่อนบ้านเอามาให้ ซึ่งขนมไหว้พระจัดจัดเป็นขนมที่แพงสำหรับฐานะครอบครัวของดิฉัน ดิฉันจึงไม่มีโอกาสได้ทานบ่อยนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขนมชนิดนี้จะมีเพียงปีละครั้งเท่านั้น ไม่ได้ทำขายตลอดทั้งปีอย่างสมัยนี้ เมื่อได้ยินว่ามีขนมไหว้พระจันทร์อยู่ในบ้าน จึงรีบนำมาทานอย่างเอร็ดอร่อย จำไม่ได้ว่า ทำไมวันนั้น จึงมีเพียงดิฉันกับคุณแม่เท่านั้นที่อยู่บ้าน ในขณะที่กำลังทานขนมอย่างอร่อยสุด ๆ อยู่นั้น ก็สะดุดนึกขึ้นมาได้ทันทีว่า หากมีขนมไหว้พระจันทร์แค่ชิ้นนี้ชิ้นเดียวอยู่ในบ้านละก็ เราคงจะทานมันหมดก่อนทันที ไม่เหลือไว้ให้ใคร นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสถึงความรักที่แม่มีต่อลูกอย่างแท้จริง หลังจากนั้น ดิฉันก็เฝ้าสังเกตเรื่อยมา แม่มักจะบอกให้พวกเราลูกๆ ทานข้าวที่เพิ่งหุงใหม่เสมอ และแม่จะทานข้าวที่เหลือค้างจากเมื่อวานเอง คนที่เห็นแก่ตัวคงเป็นแม่ที่ดีให้คนไม่ได้ เพราะคงไม่มีขนมในบ้านเหลือให้ลูกทานแน่นอน

คนที่จะรับผิดชอบต่อคนอื่นนอกเหนือจากตนเองแล้ว คุณสมบัติสำคัญที่บุคคลผู้นั้นต้องมีคือ เห็นแก่ตัวเองน้อย เห็นแก่ผู้อื่นมาก คนที่ไม่เห็นแก่ตัวเองเท่านั้น จึงจะสามารถรักคนอื่นได้อย่างแท้จริง การเอาความเห็นแก่ตัวออกจากตนเองเป็นสิ่งที่เป็นมงคลกับตนเองก่อน และผู้อื่นก็จะได้ความเป็นมงคลนั้นจากเราไปอีกทอดหนึ่ง

ความไม่เห็นแก่ตัวต้องถือเป็นคุณธรรมหลักในการดูแลความรักให้เจริญเติบโต งอกงาม ซึ่งคุณธรรมข้อนี้จะต้องเริ่มจากผู้เป็นพ่อแม่ก่อน จึงจะถ่ายทอดให้ลูกได้ พอไม่เห็นแก่ตัวแล้ว คุณธรรมย่อยๆ ก็ตามมา เช่น ความอ่อนโยน สงสาร เมตตา เกรงใจ ห่วงใย ให้เกียรติและไม่ทำร้ายน้ำใจซึ่งกันและกัน อดทน ดูแลกัน เขาสุข เราก็ดีใจกับเขาอย่างแท้จริง เขาทุกข์ เราก็ทุกข์ร้อนด้วย ช่วยเขา อยากให้เขาเป็นสุข เครื่องปรุงเหล่านั้นจะเกิดขึ้นมาได้ ก็ต้องเริ่มจากการละตัวตน หรือละทิ้งความเห็นแก่ตัวเองทั้งสิ้น ล้วนเป็นเรื่องการเห็นแก่ความสุขของผู้อื่นก่อน จึงจะทำได้ ซึ่งธรรมชาติหัดให้มนุษย์เริ่มทำกับคนรอบข้างที่เรารักก่อน เช่น พ่อแม่ พี่น้อง สามี ภรรยา และลูกๆ ของเรา ซึ่งทำได้ง่ายกว่ากับคนที่ไม่มีความสัมพันธ์ฉันครอบครัว อย่าง เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน คนแปลกหน้า ตลอดจนถึงเพื่อนร่วมโลก

ในอีกแง่หนึ่ง เราสามารถมองคุณสมบัติเหล่านี้เหมือนเครื่องปรุงย่อยๆ แต่สำคัญมาก ที่จะทำให้เกิดอาหารจานสำเร็จที่เรียกว่า “ความรัก” หากเปรียบเทียบกับการปลูก “ต้นรัก” แล้ว คุณสมบัติย่อยๆ เหล่านี้ก็เหมือนการลดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย เพื่อดูแลให้ต้นรักนี้เจริญเติบโตงอกงามขึ้นมาได้ ทำให้มีสิ่งสวยสดงดงามให้เราได้มองย้อนกลับและภูมิใจได้ในยามแก่เฒ่า

ไม่อิจฉา

เมื่อเราเห็นแก่ตัวเองน้อยลงแล้ว ความรู้สึกอิจฉาจะน้อยลงด้วย สามีภรรยาที่ยังมีความอิจฉาซึ่งกันและกันแล้ว มักจะมีความตึงเครียดและอาจถึงขั้นที่อยู่ด้วยกันไม่รอด เมื่อฝ่ายหนึ่งประสบความสำเร็จไม่ว่าจะในเรื่องอะไรก็แล้วแต่ คนที่ไม่เห็นแก่ตัวเท่านั้นจึงจะดีใจกับความสำเร็จของคู่ครองได้อย่างแท้จริง ความอิจฉาในคู่ครองหรือแม้ในลูกของตนเองนั้น เป็นสิ่งที่น้อยคนจะยอมรับอย่างเปิดเผยกับตนเอง ไม่ต้องพูดถึงการยอมรับกับคนอื่นเลย ซึ่งหากใครยังมีความรู้สึกอิจฉาอยู่ในส่วนลึกของหัวใจแล้วละก็ ย่อมหมายความว่า เรายังไม่ได้ดูแลความรักของเราให้เจริญงอกงามอย่างเต็มที่ สิ่งนี้จะกลายเป็นเรื่องที่ติดตัวและคาใจตัวเองในยามแก่เฒ่า ฉะนั้น ใครที่อยากสำรวจตัวเองว่าสามารถรักคู่ครองและครอบครัวของเราได้จริงหรือไม่นั้น ก็ควรดูความรู้สึกอิจฉาของตนเองทุกครั้งที่คู่ครองของเราประสบความสำเร็จ

พูดโดยสรุปแล้ว เสียงที่ก้องอยู่ในหัวที่มักบอกว่า “นี่ของฉัน” “นี่ความเจ็บปวดของฉัน” “นี่ควรเป็นการได้หน้าได้ตาของฉัน” หรือ เสียงอะไรก็ได้ที่มักเน้นว่า “ของฉัน” เสียงเหล่านี้ในหัวต้องค่อยๆ น้อยลงไปหากใครอยากให้ชีวิตครอบครัวประสบความสำเร็จจนถึงขนาดถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร

ในความเห็นของดิฉันแล้ว ความไม่เห็นแก่ตนเองต้องนับว่าเป็นสิ่งที่สวยสดงดงามมากที่สุดของชีวิต นี่เป็นคุณสมบัติเด่นที่ทำให้ชีวิตแต่งงานของดิฉันอยู่รอดมาได้ถึงทุกวันนี้

Problem shared, Problem halved

เคยสงสัยว่าทำไมพ่อแม่จึงอยากให้แต่งงาน มีคู่ครอง เพราะสาเหตุหนึ่งเป็นเรื่องของสองหัวดีกว่าหัวเดียว ตรงกับคำพังเพยของฝรั่งว่า Problem shared, Problem halved หมายความว่า เมื่อมีการเล่าปัญหาหนักอกให้ฟังซึ่งกันและกันแล้ว ปัญหานั้นจะน้อยลงไปครึ่งหนึ่งทันที นี่คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ธรรมชาติสร้างชีวิตคู่มาให้มนุษย์ เพราะการแบกปัญหาไว้คนเดียวย่อมหนักกว่าสองคนแบก ปัญหาของมนุษย์มีทุกเมื่อเชื่อวัน ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น วันนี้ทำผมอย่างไรก็ไม่ถูกใจเสียที ส่องกระจกทีไร ก็เห็นแต่คนขี้เหร่ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ เช่น การทำมาหารับประทาน เจ็บไข้ได้ป่วย เรื่องคอขาดบาดตาย หากใครมีคู่ครองที่สามารถพูดกันได้อย่างเปิดหัวใจกันแล้ว ต้องนับว่าเป็นความสวยสดงดงามอย่างหนึ่งของชีวิต และเป็นเรื่องที่โชคดีมากของคนๆ นั้น เพราะเพียงการได้คุยถึงปัญหาของเราอย่างเปิดอกเท่านั้น ความเจ็บปวด ความหนักที่เหมือนแบกภูเขาในอกก็จะค่อยๆ คลายไปเอง เป็นการแก้ปัญหาชีวิตทางหนึ่งที่ง่ายดายมากหากมีคู่ครองที่พึ่งพาหูของกันและกันได้ นี่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชีวิตคู่ไปได้ตลอดรอดฝั่ง

โดยเฉพาะมาถึงเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยแล้ว ธรรมชาติสร้างชีวิตคู่มาให้มนุษย์เพราะต้องการให้คนสองคน ดูแลมนุษย์อีกคนหนึ่งให้เจริญเติบโต ขึ้นมาได้จนถึงจุดที่เขาสามารถรับผิดชอบดูแลตัวเองได้ การเลี้ยงลูกคนเดียวไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่เป็นความต้องการของธรรมชาติ ฉะนั้น หากใครมีคู่ครองและมีลูกด้วยกันแล้วละก็ ควรพยายามรักษาความรักของตน ดูแลน้ำใจของกันและกันให้ดี ต้องรู้ว่า นี่เป็นความโชคดีอย่างมหาศาลของตนเองแล้ว ต้องพยายามละความเห็นแก่ตัว และประคับประคองชีวิตครอบครัวให้ตลอดรอดฝั่ง อย่าทิ้งสิ่งมีคุณค่าเหล่านี้เพียงเพราะอยากลองของใหม่ที่น่าตื่นเต้นมากกว่า เพราะจะทำให้เสียใจภายหลัง อย่าลืมว่า เราไม่สามารถย้อนเข็มนาฬิกาได้แล้ว พ่อแม่คู่ใดที่สามารถให้กำเนิดและดูแลลูกเต้าของตนเองจนเติบใหญ่ รับผิดชอบต่อตนเองและยังเป็นคนดีของสังคมแล้ว ต้องนับว่า พ่อแม่คู่นี้ประสบความสำเร็จในการเป็นมนุษย์ในระดับที่น่าพอใจยิ่ง จะเป็นสิ่งที่ตนเองภูมิใจได้ในยามแก่เฒ่า

ต้องเข้าใจความเป็นอนิจจัง

ทุกอย่างเป็นอนิจจัง ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความทุกข์ ตื่นเต้น หรือเจ็บปวด เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้อยู่ยงคงกระพัน มันเปลี่ยนแปลง จากสุขก็กลายเป็นทุกข์ และกลายเป็นสุขและทุกข์อีก จากความตื่นเต้น ก็กลายเป็นความเบื่อหน่าย แล้วก็ตื่นเต้นเบื่อหน่ายอีก อยู่อย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่เป็นภาพรวมที่ผู้ผ่านประสบการณ์ชีวิตมากเท่านั้นจึงจะดูออก เป็นความรู้ที่มากับอายุ ยิ่งมีอายุมากขึ้น ก็จะยิ่งดูออกว่าชีวิตมันก็แค่นี้เอง

ฉะนั้น การจะทำให้ชีวิตคู่ประสบความสำเร็จมากขึ้นนั้น เจ้าของชีวิตจะต้องรู้จักอดทนเมื่อถูกมรสุมชีวิตพัดกระหน่ำ ต้องพยายามแก้ปัญหาด้วยความอดทนและเห็นแก่ตัวน้อยที่สุด ต้องรู้ว่าเหตุการณ์ที่เจ็บปวดเหล่านั้นจะไม่อยู่เช่นนั้นตลอดไป มันจะเปลี่ยนแปลง และดีขึ้นได้ หากให้เวลากับมัน จึงไม่ควรตีโพยตีพายหรือตัดช่องน้อยแต่พอตัว หลบหนีปัญหาโดยเอาตัวเองให้รอดก่อน ใครที่ทำเช่นนี้ ย่อมไม่ได้สร้างสิ่งงดงามในชีวิตให้ตนเองได้ชื่นชมในยามแก่เฒ่า นอกจากนั้น หากมีเหตุการณ์ที่นำความสุข ตื่นเต้น หวือหวา เดินผ่านหน้าบ้านของเราแล้ว ก็ต้องรู้เช่นกันว่า เหตุการณ์นั้นจะไม่อยู่ยงคงกระพัน มันจะต้องหายไป จึงไม่ควรพาใจตนเองเข้าไปกอดรัดอย่างเต็มที่ราวกับว่ามันจะอยู่อย่างถาวร เพราะเมื่อมันผ่านไปแล้ว เราจะได้ไม่เจ็บปวดและโหยหา แต่จะทำให้เราฉลาดขึ้น เพราะนี่คือชีวิต ไม่มีอะไรคงทนถาวรสักสิ่งเดียว ลูกเล็กๆ ที่เคยน่ารัก ไร้เดียงสา ว่านอนสอนง่ายนั้น สักวันหนึ่ง ความไร้เดียงสาเหล่านั้นต้องหมดไป ในที่สุด เขาต้องแต่งงาน ออกจากบ้านและสร้างรังใหม่ สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือ ยอมรับทุกอย่างที่มาปะทะเราด้วยจิตใจที่หนักแน่น ไม่ว่าจะเป็นสุขหรือทุกข์ ต้องพยายามเข้าใจกฎสากลของธรรมชาติอันคือ ความเป็นอนิจจังของสรรพสิ่ง

ต้องรู้จักตักตวงความสุขที่แท้จริง

ความสุขที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่การจินตนาการถึงอนาคตที่อาจเป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้ เช่น ขอให้มีพร้อมทุกอย่างก่อน ขอให้ลูกโตก่อน เรียนจบก่อน ทำงานได้ก่อน แต่งงานก่อน มีหลานก่อน จึงจะเป็นสุข นั่นเป็นการคิดถึงความสุขอย่างลมๆ แล้งๆ โดยลืมคิดถึงตัวแปรที่สำคัญคือ ความเป็นอนิจจังของสรรพสิ่ง รวมถึงความตายที่อาจมาถึงตัวเราและคนที่เรารักในวันพรุ่งนี้ ความสุขที่แท้จริงอยู่ข้างหน้า ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เสมอ อยู่ที่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นอย่างจำเจในชีวิตประจำวัน เช่น ตื่นขึ้นมาทุกเช้าได้เห็นใบหน้าของคู่ครอง ได้เห็นหน้าลูก เห็นหน้าพ่อแม่ พี่น้อง ที่ดูเหมือนจำเจ แต่ที่จริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ได้ซ่อนความสุขที่ลึกซึ้งของชีวิตไว้มากทีเดียว

คนที่จะซาบซึ้งและเห็นคุณค่าของใบหน้าเก่าๆ ที่เราเห็นจำเจทุกวันได้ คือ คนเดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากใครเคยไปติดอยู่ในสนามบินที่ไม่ใช่ของบ้านเราเพียงคนเดียว ในท่ามกลางคนแปลกหน้ามากมายที่อยู่รอบข้างนั้น จะรู้ได้ทันทีว่า ใบหน้าที่เราเห็นจำเจนั้นมีคุณค่าต่อเรามากเพียงใด และหากได้เห็นในขณะนั้น จะมีความสุขมากเพียงใด

คนที่เข้าใจถึงความลึกซึ้งของความสุขเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้ จะสามารถสร้างสิ่งที่อบอุ่นและสวยงามให้เกิดขึ้นภายในครอบครัวได้ ดิฉันเห็นว่า การล้อมวงทานข้าวด้วยกัน และคุยเรื่องสัพเพเหระได้นั้น เป็นทรัพย์สมบัติที่มีค่าทางจิตใจชิ้นหนึ่งที่สมาชิกในครอบครัวสามารถสร้างให้กันและกันได้ และจะเป็นสมบัติทางจิตใจชิ้นสำคัญที่หล่อเลี้ยงให้ชีวิตในวัยชรามีความสุขได้อย่างไม่จบสิ้น เป็นการลงทุนที่ไม่ต้องใช้เงินแม้แต่บาทเดียว

เมื่อใดที่รักตัวเองน้อยลง เมื่อนั้นจึงจะรักผู้อื่นได้มากขึ้น

ด้วยความเมตตา

ศุภวรรณ

***

จาก http://www.dhammajak.net/book-supawangreen/8.html

Submit "จะดูแลความรักได้อย่างไร" to แชร์ไปที่ Facebook Submit "จะดูแลความรักได้อย่างไร" to แชร์ไปที่ Twitter Submit "จะดูแลความรักได้อย่างไร" to แชร์ไปที่ Printerest

แท็ก: ไม่มี แก้ไข Tags คำค้นหา
Categories
Uncategorized

Comments

Trackbacks

Total Trackbacks 0
Trackback URL: