สาวชัยภูมิ ลูกพ่อขุน

ทุ่งกุลาเปิด ร.ร.เตรียมนายฮ้อย

Rate this Entry





ทุ่งกุลาเปิด ร.ร.เตรียมนายฮ้อย ฟื้นสัมพันธ์"คน"กับ"ควาย"
โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย


ต๊อก...แต๊ก..ต๊อก...แต๊ก..ต๊อก...แต๊ก.....

เสียงที่ดังมาเป็นจังหวะ ท่ามกลางลมหนาวที่โชยมาเป็นระยะๆ แม้จะมีแดดจ้าในยามบ่าย ทำให้เด็กเล็ก 3-4 คน ที่วิ่งเล่นอยู่ในลาน "วัดป่าธรรมนิเทศก์วราราม" หมู่ 9 ต.ดอนแรด อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ หยุดเงี่ยหูฟังอย่างตั้งใจ พร้อมทั้งตะโกนบอกกันอย่างดีใจว่า "ฝูงควายของพวกเขาอยู่ในทามใกล้ๆ นี่เอง"

"คนอื่นฟังเสียง อาจได้ยินต๊อก...แต๊ก... เหมือนกันหมด แต่คนที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เกิด และโตมาคู่กับวัวควาย พอได้ยินเสียงก็จะแยกออกทันทีว่าเป็นเสียงเกราะที่ห้อยคอวัว หรือควายตัวใด ซึ่งแม้จะใช้เหล็ก, ไม้ หรือพลาสติค เป็นวัสดุเหมือนกัน แต่เสียงจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย เช่น คุณภาพไม้ อายุไม้ ชนิดของไม้ เปรียบเหมือนเครื่องดนตรี ที่ให้โน้ตเพลง ต่างกัน" บุญมี โสภัง อดีตแกนนำม็อบชาวนาอีสาน ผู้ผันตัวเองมาร่วมงานกับทีมวิจัยชาวบ้านดอนแรด อธิบายถึงรายละเอียด

คนสมัยก่อนเลี้ยงวัว หรือควายกันเป็นฝูง ราวๆ ครอบครัวละ 10-50 ตัว บางช่วงจะปล่อยวัวควายลงทาม (ริมฝั่งน้ำที่มีน้ำท่วมถึงเป็นครั้งคราว) โดยตัดสะพายประมาณ 3 เดือน พอปล่อยไป 4-5 วัน เจ้าของก็จะติดตามดูแล ว่าควายของตนมุ่งหน้าไปทางไหนอย่างไร หรือบางทีก็ผลัดกันกับเพื่อนบ้าน ซึ่งวิธีการที่จะรู้ว่าวัวควายของตนอยู่ที่ใด ก็คือฟังจากเสียงเกราะ หรือกระดิ่งที่ห้อยคอ และเกิดเสียงเวลาวัวควายเคลื่อนไหวนั่นเอง ส่วนในช่วงกลางคืนที่ควายนอนพักผ่อน มักจะมียุง แมลงรบกวน จึงมักพบว่าควายทามนอนแช่ตัวอยู่ในขี้เลนรวมกันเป็นฝูง เป็นการช่วยป้องกันยุงหรือแมลงกัดต่อย

แต่ในระยะหลัง ตั้งแต่ปี 2534-2536 รถไถนาแบบเดินตาม ได้รุกเข้าสู่ชุมชน วัวควายจึงหายไปจากสังคมชาวทุ่งกุลาร้องไห้เรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะขายให้ "นายฮ้อย" (พ่อค้าวัว-ควาย ที่มีวิถีชีวิตคลุกคลีกับวัวควายอย่างใกล้ชิด เพราะเวลาจะขายวัว หรือควาย ต้องไล่ต้อนเป็นฝูงผ่านป่า และหมู่บ้านหลายๆ แห่งจนถึงจุดหมาย และระหว่างทางก็จะแวะซื้อขายกับชาวบ้านในละแวกนั้นๆ ไปด้วย) ในราคาถูกแบบยกครอก เพื่อเอาเงินไปซื้อรถไถนา

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้เลี้ยงควาย หลังจากเรียนจบ พวกเขาจึงมุ่งหน้าเข้าสู่โรงงาน และสร้างครอบครัวในเมืองหลวง พอมีลูกก็หอบลูกมาให้พ่อแม่ที่อยู่ทางบ้านเลี้ยงดู ตัวเองเดินทางกลับไปเป็นลูกจ้างทำงานต่อ ช่องว่างความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และสังคมขยายห่างยิ่งขึ้น อาชีพพ่อค้าวัวควายก็จะถูกเรียกอย่างล้อเลียนว่า "นายฮ้อย 5 นาที" แค่ต้อนขึ้นรถไปตกลงซื้อขายกันในตลาดเท่านั้น ไม่ต้องเลี้ยงดูระหว่างทาง หรือรอนแรมเป็นระยะเวลาหลายๆ เดือนเหมือนก่อน

"ขณะเดียวกัน การพัฒนาของรัฐที่เข้ามาตั้งแต่ปี 2514 โดยประกาศให้ทุ่งกุลาร้องไห้ ที่อยู่ในเขต 5 จังหวัดประกอบด้วย ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม และยโสธร เป็นพื้นที่ยากจน ต้องได้ รับการพัฒนาเป็นการเฉพาะ จนมีการดำเนินการอย่างจริงจัง ภายใต้โครงการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ ช่วงปี 2524-2534 ก็ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เพราะเป็นการพัฒนาที่คิดริเริ่มจากคนข้างนอก มีแนวคิดมาจาก กลุ่มประเทศตะวันตกตามกระแสโลกาภิวัตน์ คนข้าง ในชุมชนแค่ทำตามนโยบายหรือกระแสการพัฒนา" บุญมีกล่าว

ต่อมา เมื่อมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาในพื้นที่ เช่น ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นทุ่งกุลาร้องไห้ มูลนิธิประสานความร่วมมือพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ (GRID FOUNDATION) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ชาวบ้านจึงตื่นตัว และคิดทำวิจัย เพื่อค้นหารากเหง้าของตนเอง และเกิดโครงการชุดวิจัย "การจัดการพื้นที่ทามลุ่มน้ำมูลตอนกลางแบบบูรณาการโดยองค์กรชุมชน" ขึ้น

โดยมีจุดประสงค์เพื่อพยายามสร้างการเรียนรู้ของคนในพื้นที่ทาม วิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำกับความสัมพันธ์กับพื้นที่ทาม และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง แนวทางข้างหน้าชุมชนจะอยู่ร่วม จัดการกับทามอย่างไร และถึงขณะนี้มีโครงการที่กำลังดำเนินการ 10 โครงการด้วยกัน ซึ่งในส่วนของ ต.ดอนแรดเอง ก็ทำ 1 โครงการ คือ โครงการวิจัย "ฟื้นฟูวิถีชีวิตควายทาม"

และเพื่อให้โครงการนี้บูรณาการยิ่งขึ้น จึงมีการเปิด "โรงเรียนเตรียมนายฮ้อยทุ่งกุลาร้องไห้" ขึ้น เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 บริเวณหน้าวัดป่าธรรมนิเทศก์วราราม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "วัดป่าโนนยาง" โดยมีกลุ่มเด็กและเยาวชน ทั้งในหมู่บ้าน และต่างถิ่นมากกว่า 10 คน เข้ามาขอสมัครเป็นศิษย์รุ่นบุกเบิก

บุญมีผู้เพิ่มบทบาทเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมนายฮ้อย แบบใหม่ๆ หมาดๆ เล่าว่า "บทบาทของนายฮ้อยไม่ได้มีแค่การซื้อขายวัวควายเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นคนมีคุณธรรม มีปฏิภาณไหวพริบ ที่ดี พูดเสียงดังฟังชัด สามารถดูแลรักษาวัว ควาย และทรัพยากรของตนเองได้ เช่น พื้นที่ทาม จะเลี้ยงวัวควายได้อย่างไร โดยไม่มีปัญหาเรื่องอาหารสัตว์ ที่เลี้ยงที่ชื้นแฉะจะแก้ไขได้ไหม ควรใช้การรักษาโรคแบบดั้งเดิมหรือสมัยใหม่ เมื่อสัตว์เลี้ยงเกิดโรคขึ้น รวมถึง วิธีแลกเปลี่ยนซื้อขาย และการคัดเลือกพันธุ์-ลักษณะวัวควายที่ดี เป็นต้น"

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ "มูลมัง" ซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของคนในแถบทุ่งกุลาร้องไห้ ในการรักษาและดูแลมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ไร่นา หรือวัวควาย โดยถ้าเป็นวัวควายชุดแรกที่ได้จากพ่อแม่เมื่อจะออกเรือน หากตายลงก็จะเก็บเขาวัวเขาควายนั้นไว้บนยุ้งฉาง เพื่อแสดงถึงความเคารพ และเป็นเครื่องเตือนใจให้นึกถึงการก่อร่างสร้างครอบครัวในช่วงที่ผ่านมา

"โรงเรียนเตรียมนายฮ้อย จะมีทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ โดยเน้นให้นักเรียนทุกคนได้ปฏิบัติจริง และจะเริ่มเรียนทันทีที่สถานที่พร้อม ซึ่งเบื้องต้นในวันเปิดโรงเรียน ได้รับบริจาคเงินเพื่อซื้อกระเบื้องมุงหลังคาแล้ว 12 แผ่น คาดว่าจะได้รับความสนับสนุนจาก ทุกฝ่าย ทำให้สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ทันในช่วงเดือนมีนาคม 2551-กุมภาพันธ์ 2552 เพื่อให้นักเรียนนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้"

ด้าน ด.ช.ศักดิ์พล นมัสสิลา นักเรียน ม.1 โรงเรียนบ้านไพรขลา ต.ไพรขลา อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็น 1 ในศิษย์ที่สมัครเข้าเรียนกลุ่มแรก บอกว่า แม้บ้านเกิดจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ทาม แต่เขาก็อยากเรียนรู้เรื่องราวของนายฮ้อย เพราะที่บ้านเลี้ยงวัว และควายมาตลอดตั้งแต่เขาจำความได้ แม้ว่าถึงขณะนี้จะขายออกไป จนเหลือเพียง 4-5 ตัวเท่านั้น

"การเรียนนายฮ้อยจะช่วยให้รู้จักรากเหง้าตัวเองที่มีความผูกพันกับวิถีเกษตรมานานหลายชั่วอายุคน รู้ถึงความสำคัญของวัวควายที่มีต่อคน และยังรู้วิธีเลี้ยงให้เติบโตแบบมีคุณภาพ สามารถรักษาอย่างถูกต้องเมื่อวัวควายเจ็บป่วย รู้จักเลือกซื้อวัวควายที่มีลักษณะดีมาเลี้ยง ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตพ่อแม่จะยังเลี้ยงวัว หรือควาย และสืบทอดมาถึงผมแน่นอน" ศักดิ์พลอธิบาย

เช่นเดียวกับ ศราวุฒิ ปราสัย เพื่อนร่วมชั้นที่ดั้น ด้นมาสมัครเรียนนายฮ้อยด้วยกัน เล่าว่า บ้านของเขาเลิกเลี้ยงวัวควายมาหลายปีแล้ว แต่ที่บ้านตายายยังมีอยู่หลายตัว จึงสนใจฝึกเป็นนายฮ้อย เพราะมั่นใจว่าจะได้ใช้ประโยชน์ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เช่น นำไปบอกเล่าให้ผู้มาเยี่ยมเยือนในแถบทุ่งกุลาร้องไห้ฟัง เพื่อให้รู้จักและเข้าใจวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง ยิ่งขึ้น

ณ วันนี้ แม้สังคมไทยจะหันมาพึ่งเทคโนโลยีในภาคเกษตรมากขึ้น ทำให้วัวควายถูกลดบทบาทลงเหลือเพียงการเลี้ยงเพื่อค้าขาย แต่ความผูกพันระหว่างคนกับวัวควายไม่ได้เลือนหายไปด้วย

และโรงเรียนเตรียมนายฮ้อย น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้เยาวชนรุ่นใหม่ มีองค์ความรู้ของนายฮ้อย จนสามารถนำมาประยุกต์ใช้เลี้ยงวัวควาย หรือดำเนินชีวิตในท้องถิ่นของตนได้อย่างราบรื่นในสถานการณ์ปัจจุบัน.



ที่มา : มติชน วันที่ 28 เมษายน 2551 (222.123.221.151) [2008-04-30 11:02:59]




ศูนย์ข้อมูล กป.อพช. อีสาน 53/1 ซ.สระโบราณ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ 3200

Submit "ทุ่งกุลาเปิด ร.ร.เตรียมนายฮ้อย" to แชร์ไปที่ Facebook Submit "ทุ่งกุลาเปิด ร.ร.เตรียมนายฮ้อย" to แชร์ไปที่ Twitter Submit "ทุ่งกุลาเปิด ร.ร.เตรียมนายฮ้อย" to แชร์ไปที่ Printerest

แท็ก: ไม่มี แก้ไข Tags คำค้นหา
Categories
Uncategorized

Comments

  1. สัญลักษณ์ของ กะเม็งสะเร็น
    น่าสนใจ ครับ แล้วเรียนกี่เทอม กี่ปีล่ะ มีภาคพิเศษไหมครับ....
    จบมากะมีงานทำเลย ไม่ต้องไปเที่ยวเดิน สมัครงานให้ลำบาก.....
  2. สัญลักษณ์ของ บ่าวจัย
    ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ สิ่งดีๆต้องซ่อยกันครับเดียวมันสิบ่มีให้เรียนให้เห็นเด้จักหน่อยนะ

Trackbacks

Total Trackbacks 0
Trackback URL: