สาวชัยภูมิ ลูกพ่อขุน

ข้อมูลนายฮ้อย(ต้นร่าง ตามหานายฮ้อย ที่หายไป)

Rate this Entry
'นายฮ้อย'อีสาน พ่อค้าแห่งที่ราบสูง




วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7332 ข่าวสดรายวัน



หลายคนคุ้นชินกับภาพ "คาวบอยหนุ่ม" ขี่ม้าอาจอง ไล่ต้อนฝูงสัตว์ไปตามทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ ดังปรากฏในภาพยนตร์ตะวันตกหลายเรื่อง แต่แทบไม่รู้เลยว่า ท้องทุ่งแถบอีสานของไทยเราก็มี "นายฮ้อย" พ่อค้าแห่งที่ ราบสูง ที่ใช้ชีวิตโลดโผนไม่แพ้คาวบอยหนุ่มแห่งโลกตะวันตกเช่นกัน

ในงาน "เทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น" ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เชิญผู้xxxวชาญประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอีสาน และลูกหลานนายฮ้อย มาล้อมวงพูดคุยถึงที่มาที่ไป และการใช้ชีวิตของ "คาวบอยแห่งโลกตะวันออก" เรื่อยไปจนถึงจุดพลิกผัน ที่ทำให้นายฮ้อย ค่อยๆ เลือนหายไปจากวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่

นายสมศักดิ์ สีบุญเรือง ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน บ้านเกวียนมุก จ.มุกดาหาร ที่มีบรรพบุรุษเป็นนายฮ้อย เล่าให้ฟังว่า "นายฮ้อย" คือพ่อค้า หรือผู้มีฐานะอันเนื่องมาจากการต้อนวัวควายไปค้าขายตามที่ต่างๆ

คำว่า "นายฮ้อย" มีที่มาจากพ่อค้าในสมัยก่อนเมื่อขายวัวขายควายได้ จะเก็บเงินทองใส่ผ้าขาวที่เย็บเป็นถุงเล็กๆ สำหรับห้อยสะพายบ่า ส่วนเงินที่เป็นสตางค์รู จะเอามาร้อยเป็นพวงเข้าด้วยกัน และเนื่องจากภาษาอีสานไม่มี ร เรือ แต่จะให้ ฮ นกฮูก แทน คำว่า "ฮ้อย" จึงมาจากคำว่า "ร้อย" หมายถึงเงินที่ร้อยเป็นพวงกันอยู่

ปราชญ์ชาวบ้าน บอกว่า จากคำบอกเล่าของคุณตา นายฮ้อยมีคุณ สมบัติสำคัญ คือต้องเป็นชายชาตรี หมายถึง มีวิชาอาคม ดูได้จากขาที่สักเป็นลายมาจนถึงหัวเข่า เพื่อให้อยู่ยงคงกระพัน และสักนกน้อยที่ริมฝีปาก เพื่อผลด้านเมตตามหานิยม



นอกจากนี้ นายฮ้อยยังต้องเป็นคนกว้างขวาง มีหมู่มิตรมาก ต้องมีลายดาบ คือรู้วิทยายุทธ์ ที่สำคัญต้องรู้ภูมิประเทศ และเส้นทางค้าขายเป็นอย่างดี

"คุณตาของผมเล่าให้ฟังว่า ท่านใช้เส้นทางจากมุกดาหาร ผ่านไปร้อยเอ็ด ที่อ.เกษตรวิสัย อ.พุทไธสง แวะจุดพักใหญ่ ที่ด่านเกวียน จ.นครราชสีมา เป็นชุมทางที่เกวียนจากเขมร และอุบลราชธานี มาพบกัน จากนั้นเดินทางต่อไปอรัญประเทศ จ.สระแก้ว และอ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ถ้าโชคดีก็ขายวัวควายหมดที่นั่น แต่ถ้าไม่หมด ก็ต้อนมาขายต่อที่กรุงเทพฯ จนเป็นที่มาของชื่อสะพานควาย และสี่แยกคอกวัว"

นายสมศักดิ์บอกว่า ทุกวันนี้แม้การคมนาคมจะสะดวกสบาย และรถยนต์เข้ามามีบทบาทแทนที่เกวียน จนไม่เหลือการเดินทางแบบคาราวานอย่างในอดีต แต่นายฮ้อยก็ยังมีอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นค้าขายกันในตลาดวัวควาย มีรถบรรทุก 6 ล้อ 10 ล้อ มารับซื้อถึงที่ และเปลี่ยนจากการขายวัวควายเพื่อทำนา มาเป็นขายเข้าโรงฆ่าสัตว์แทน

ด้านนายอภิชาติ พานเงิน ผู้ร่วมก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านปะอาว จ.อุบล ราชธานี ร่วมให้ข้อมูลว่า ไม่ได้ค้าขายวัวควายอย่างเช่นที่ จ.มุกดาหาร แต่จะเป็น "นายฮ้อยเกลือ" รวบรวมเกลือที่ชาวบ้านผลิตได้จากท้องนา ขึ้นเกวียนไปแลกข้าวกับชาวบ้านถิ่นอื่น คาราวานนายฮ้อยเกลือ จะเดินทางแค่ระยะสั้นๆ ใช้เวลา 9-10 วัน ต่างจากนายฮ้อยวัวควายที่ไปกันเป็นกลุ่มใหญ่ ต้อนไปเป็นร้อยเป็นพันตัว และใช้เวลาเดินทางร่วม 2 เดือน

"คาราวานของนายฮ้อยเกลือ มีกัน 8-10 คน จะออกจากหมู่บ้านในช่วงค่อนรุ่ง พอสัก 2 โมงเช้า จะหยุดพักให้วัวได้กินหญ้า ให้คนหาอาหารกิน พอถึงจุดที่จะต้องข้ามน้ำ คือ ลำเซบาย ที่กั้นระหว่าง อ.วารินชำราบ กับ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี และแม่น้ำมูน ขบวนจะช่วยกันเอาเกลือขึ้นแพไม้ไผ่ลากไปอีกฝั่ง

ส่วนวัวก็จะปล่อยลอยคอในน้ำ และมีคนคอยต้อนขึ้นฝั่ง พอไปถึงหมู่บ้านก็หาทำเลที่เหมาะสมหยุดพัก สมัยนั้นใช้วิธีเอาเกวียนล้อมรอบ เอาวัวเข้าไปอยู่ตรงกลาง เจ้าของเกวียนนอนอยู่ใต้ถุนเกวียนของใครของมัน และตั้งเวรยามเอาไว้ เพื่อรักษาความปลอดภัยจากพวกโจรผู้ร้าย" อภิชาติ กล่าว

ขณะที่แถบเมืองท่าบ่อ จ.หนองคาย ก็มีนายฮ้อยอีกประเภทหนึ่ง คือ "นายฮ้อยยาสูบ"

นายประภาส นครภักดี ตัวแทนจากพิพิธภัณฑ์เมืองท่าบ่อ เล่าให้ฟังว่า นายฮ้อยจากท่าบ่อจะนำใบยาสูบ ยาเส้น ขึ้นเกวียนไปขายที่ จ.อุดรธานี ยุคทองของนายฮ้อย คือช่วงรัชกาลที่ 5 ที่มีรถไฟมาถึงภาคอีสาน ปัจจุบันเมื่อมีเครื่องจักรทันสมัย และการคมนาคมสะดวกสบายขึ้น นายฮ้อยที่วันนี้อายุล่วงเข้า 80-90 ปี ก็ยังมีอยู่ แต่เปลี่ยนรูปแบบไป จากเดิมที่นำยาสูบขึ้นเกวียนไปขายแค่ จ.อุดรธานี ก็ส่งออกไปไกลถึงมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

ด้าน ศ.สุวิทย์ ธีรศาศวัต นักวิชาการประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอีสาน ซึ่งมีโอกาสได้พูดคุยกับนายฮ้อยหลายกลุ่มเล่าว่า การเดินทางของนายฮ้อย มีเรื่องโชคลางเข้ามาเกี่ยวข้องไม่น้อย นับตั้งแต่การหาฤกษ์ยามก่อนออกเดินทาง ไปจนถึงกฎข้อห้ามระหว่างทาง

"ก่อนออกเดินทางจะสาบานกันก่อนว่า จะซื่อสัตย์ต่อกัน นายฮ้อยใหญ่จะสั่งคนในขบวนว่าห้ามกินผึ้ง เพราะจะทำให้ทะเลาะกันเอง ห้ามกินเต่าเพราะจะทำให้การเดินทางล่าช้า และขายวัวควายยาก สุดท้ายคือห้ามหามของ เพราะเป็นลางไม่ดี เดี๋ยวจะมีคนตาย"

ศ.สุวิทย์ พูดถึงภาวะซบเซาของนายฮ้อยว่า เริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ. 2500 เป็นต้นมา เนื่องจากมีถนนเข้าไปถึงทุกท้องที่ มีเทคโนโลยีรถไถเข้ามาแทน แรงงานจากวัวควายจึงลดความสำคัญลง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องที่ดินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะคนเอาพื้นที่ไปปลูกปอ ปลูกมันกันหมดตามที่ได้รับการส่งเสริม จึงไม่มีที่สำหรับเลี้ยงวัวควาย

นี่คือเรื่องราวของเหล่า "นายฮ้อย" แห่งที่ราบสูงอีสาน

Submit "ข้อมูลนายฮ้อย(ต้นร่าง ตามหานายฮ้อย ที่หายไป)" to แชร์ไปที่ Facebook Submit "ข้อมูลนายฮ้อย(ต้นร่าง ตามหานายฮ้อย ที่หายไป)" to แชร์ไปที่ Twitter Submit "ข้อมูลนายฮ้อย(ต้นร่าง ตามหานายฮ้อย ที่หายไป)" to แชร์ไปที่ Printerest

แท็ก: ไม่มี แก้ไข Tags คำค้นหา
Categories
Uncategorized

Comments

Trackbacks

Total Trackbacks 0
Trackback URL: