มักน้องสาวหมู่

วันหยุดยาวเสื่อมมนต์ ชาวจีนหนี "รถติด-แออัด"

Rate this Entry
วันหยุดยาวเสื่อมมนต์ ชาวจีนหนี "รถติด-แออัด"





ช่วงวันหยุดยาวต้นเดือนตุลาคมในประเทศจีน ซึ่งเรียกว่า "Golden Week" มีประชาชนจำนวนมากเดินทางไปท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เกิดปัญหาผู้คนแออัดยัดเยียด โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ของจีนเอง จนเทศกาลวันชาติที่น่าจะเป็นเวลาทำเงินของธุรกิจท่องเที่ยวและความสุขแห่งครอบครัว กลายเป็นเวลาแห่งความเครียดและเหน็ดเหนื่อย

ไชน่า เดลี่รายงานว่า สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอย่างพระราชวังต้องห้าม พระราชวังฤดูร้อน จัตุรัสเทียนอันเหมิน คลาคล่ำไปด้วยผู้คนจนผู้มาเยือนไม่สามารถชมความงดงามของสถานที่ได้ และต้องเสียเวลาไปกับการเบียดเสียดกับนักท่องเที่ยวคนอื่น ๆรวมถึงการจราจรที่ติดขัด

สถานตากอากาศบางแห่งอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนัก เพราะนักท่องเที่ยวจำนวนมากแห่เข้าพักพร้อม ๆ กัน ขณะที่รัฐบาลออกมาตรการจำกัดพนักงานให้บริการตามสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม

แม้ว่าแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจีนจะมีผู้มาเยือนเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่อานิสงส์ทางเศรษฐกิจจากช่วงวันหยุดยาวกลับต่ำกว่าที่ใคร ๆ คิด เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวที่พุ่งขึ้นในช่วงวันหยุดยาว

ไม่ได้หมายความว่ารายได้รวมตลอดทั้งปีจากการท่องเที่ยวจะสูงตามไปด้วย




ไคจีหมิง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยซิงหัว เผยว่าช่วง 13 ปีก่อนปี 2542 ซึ่งเริ่มกำหนดให้ต้นเดือนตุลาคมเป็นวันหยุดยาว รายได้จากการท่องเที่ยวของจีนเติบโตเฉลี่ย 28.75% ต่อปี แต่ 13 ปีหลังมี Golden Week รายได้ขยายตัวเฉลี่ยเพียง 17.91% ต่อปี "แม้ว่าวันหยุดยาวจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็มีผลกระทบ

แง่ลบต่อบางเซ็กเตอร์ อาทิ ตลาดหุ้น ตลาดซื้อขายล่วงหน้า การนำเข้าส่งออก ซึ่งมักไม่ได้รับการเหลียวแล"

นอกจากนี้ ไคชี้ว่า การบริโภคที่เพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวขึ้นอยู่กับรายได้ของประชาชน ไม่ใช่ช่วงวันหยุดยาว เนื่องจากคนจีนมีแนวโน้มจะลดการใช้จ่ายด้านเสื้อผ้า อาคาร ที่อยู่อาศัย และการศึกษา เพื่อกันเงินไว้สำหรับการท่องเที่ยวช่วงวันชาติ ซึ่งคนที่มีรายได้น้อยก็ยิ่งต้องกระเบียดกระเสียรมากขึ้น

และสำหรับบางคนช่วงวันหยุดยาวไม่ใช่เรื่องน่ายินดีแต่อย่างใดเพราะหลายคนต้องทำงาน 8 วันจาก 9 วันสุดท้ายก่อนถึงวันหยุดยาวประจำปี ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายแรงงานของจีนที่ระบุให้แรงงานควรมีวันหยุดอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์

ผู้เชี่ยวชาญแนะให้ภาครัฐขยายเวลาช่วงวันหยุดยาว หรือกลับไปกำหนดให้วันแรงงานในเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงวันหยุดยาว 1 สัปดาห์อีกครั้ง เพื่อลดการไหลบ่าของนักท่องเที่ยวช่วง "Golden week" เดือนตุลาคม บางคนชี้ว่ารัฐควรให้คนทำงานมีวันพักร้อนแบบได้รับค่าจ้างแทนที่ระบบวันหยุดยาวพร้อมกันทั่วประเทศเหมือนในปัจจุบัน






ที่มา : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1381330385
http://www.baanmaha.com/community/blog_post.php?do=updateblog&blogid=

Submit "วันหยุดยาวเสื่อมมนต์ ชาวจีนหนี "รถติด-แออัด"" to แชร์ไปที่ Facebook Submit "วันหยุดยาวเสื่อมมนต์ ชาวจีนหนี "รถติด-แออัด"" to แชร์ไปที่ Twitter Submit "วันหยุดยาวเสื่อมมนต์ ชาวจีนหนี "รถติด-แออัด"" to แชร์ไปที่ Printerest

แท็ก: ไม่มี แก้ไข Tags คำค้นหา
Categories
Uncategorized

Comments

  1. สัญลักษณ์ของ lungyai1123
    "บรูด้า" โผล่ทะเลกรุงเทพ 40 ตัวเริงร่าอ่าวตัว ก. บรรจุสัตว์ประจำถิ่น



    "บรูด้า" โผล่ทะเลกรุงเทพ 40 ตัวเริงร่าอ่าวตัว ก. บรรจุสัตว์ประจำถิ่น

    เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และนายเกษมสันต์ จิณณวาโส หัวหน้าผู้ตรวจราชการ ทส. ว่า หลังจากที่ ทช.โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ได้สำรวจเก็บข้อมูลเรื่องวาฬบรูด้าอย่างจริงจัง ในพื้นที่ทะเลอ่าวไทย โดยเฉพาะอ่าวไทยรูปตัว ก ตั้งแต่ 2551-2556 มีการพบเห็นวาฬบรูด้า เป็นประจำในพื้นที่ดังกล่าว จนขณะนี้สามารถพูดได้เต็มที่แล้วว่า วาฬบรูด้า คือ สัตว์ประจำถิ่นของทะเลอ่าวไทยรูปตัว ก


    "เจ้าหน้าที่รายงานข้อมูลมาที่ผม น่าตื่นเต้นและน่าสนใจมาก พบว่าที่ผ่านมาเราพบวาฬบรูด้าสามารถบันทึกและตั้งชื่อวาฬทุกตัวได้แล้ว 40 ตัว เป็นวาฬเพศเมีย 8 ตัว ที่สำคัญคือ ตลอดปี 2556 นี้ แม่บรูด้าได้กำเนิดลูกบรูด้าตัวใหม่ ถึง 4 ตัวด้วยกัน คือ แม่ตองอ่อน ออกลูกมา เจ้าหน้าที่ตั้งชื่อว่า ใบตอง โดยพบเจ้าใบตองเมื่อวันที่ 8 กันยายน ส่วนแม่ข้าวเหนียว ที่ก่อนหน้านี้ มีลูกชื่อ เจ้าส้มตำ เมื่อส้มตำ ออกหากินเองได้ก็มีลูกตัวใหม่ทันที เจ้าหน้าที่พบเมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา ทางผมขอทางเจ้าหน้าที่ให้ตั้งชื่อว่า เจ้าเอกน้อย ซึ่งเป็นชื่อเล่นผมเอง นอกจากนี้ยังมี แม่พาฝัน มีลูกคือ เจ้าอิ่มเอม เจอเมื่อวันที่ 26 กันยายน และแม่สาคร มีลูกชื่อ เจ้าท่าฉลอม ยังไม่ใช่ชื่อที่เป็นทางการ ที่เจ้าหน้าที่ของ ทช.จะต้องบันทึกเอาไว้ โดยในวันที่ 26 ตุลาคมนี้ ผมตั้งใจว่าจะเดินทางไปอ่าวตัว ก เพื่อตามหาเจ้าท่าฉลอมด้วย" นายวิเชษฐ์กล่าว

    นายวิเชษฐ์กล่าวว่า มีรายงานจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ว่า เจ้าท่าฉลอมนั้น เป็นลูกวาฬบรูด้าที่แข็งแรงมาก มีพฤติกรรมที่วาฬบรูด้าตัวอื่นๆ ไม่ค่อยทำกัน นั่นคือ ชอบกระโดด ปกติแล้ววาฬบรูด้าที่อายุไม่ถึง 1 ปี จะไม่ค่อยกระโดด ให้ใครเห็น แต่มักจะมีชาวประมง และเจ้าหน้าที่ ทช.ที่นั่งเรือสำรวจพื้นที่เห็น ท่าฉลอมกระโดด เป็นประจำ

    "ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม มีคนเห็น และสามารถบันทึกภาพเจ้าท่าฉลอมกระโดดเหนือน้ำถึง 11 ครั้งติดต่อกันในเวลาไล่เลี่ยกัน และเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ก็มีคนเห็นอีกว่ามันกระโดดถึง 7 ครั้ง ติดต่อกันอีก ถือเป็นความน่ารัก และหาได้ยาก ในกรณีของลูกวาฬบรูด้ามาก ซึ่งการที่เราเห็นบรูด้าเป็นประจำ ในพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก นี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเลในบริเวณดังกล่าว จะต้องช่วยกันดูแลไม่ให้มีอะไรไปกระทบ แล้วทำให้วาฬเหล่านี้หนีไปอยู่ที่อื่น" นายวิเชษฐ์กล่าว

    นายเกษมสันต์กล่าวว่า ที่มีการลงความเห็นกันว่าวาฬบรูด้าเป็นสัตว์ประจำถิ่นของทะเลอ่าวไทยรูปตัว ก เพราะมีหลักฐานแสดงชัดเจนว่าตลอดพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยที่มีวัดนั้น มักจะมีกระดูก หรือซาก ของสัตว์ชนิดนี้ถูกเก็บรักษาเอาไว้เกือบทุกที่

    "ตอนที่สำรวจใหม่ๆ เราก็ยังไม่ปักใจชัด คิดแค่ว่าเป็นสัตว์อพยพ ตามอาหารมาเท่านั้น แต่จากการบันทึก และบันทึกตำแหน่งจุดที่พบ เราก็พบหลายจุดในพื้นที่อ่าวไทย ตั้งแต่ทะเลชุมพร มาถึงทะเลฝั่งตะวันออก เจอมากที่สุดคือ อ่าวไทยตอนบน หรืออ่าวไทยรูปตัว ก ที่น่าสนใจคือ หลายครั้งเราเห็นพวกมันว่ายน้ำมาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา คือบริเวณทะเลบางขุนเทียน ซึ่งเป็นทะเลเขตกรุงเทพฯ แล้ว แสดงว่าอาหารของพวกมันอยู่ที่นั่นด้วย และไม่มีใครไปรบกวนพวกมันด้วย เป็นเรื่องที่ดีมากๆ" นายเกษมสันต์กล่าว

    นายสุรศักดิ์ ทองสุกดี นักวิชาการประมง ชำนาญการ หัวหน้าทีมสำรวจโลมา และวาฬบรูด้า ทช.กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทช.สามารถตั้งชื่อและจำแนกลักษณะที่แตกต่างกันอย่างเป็นทางการทั้งหมด 40 ตัว แต่ความจริงแล้ว คิดว่าในพื้นที่อ่าวไทย น่าจะมีวาฬบรูด้ามากกว่านี้ มีคนถามว่า จำนวนเท่านี้ถือว่ามากหรือไม่ ตอบว่า ขึ้นอยู่กับพื้นที่ และวิธีการนับของแต่ประเทศ เพราะธรรมชาติของบรูด้าคือ หากินแบบเดี่ยวๆ ยกเว้น บรูด้าที่เป็นแม่ลูกที่จะออกหากินเป็นคู่ โดยแม่บรูด้าจะเลี้ยงลูกประมาณ 2 ปี ระหว่างเลี้ยงลูกก็สามารถตั้งท้องใหม่ได้ด้วย

    เมื่อถามว่า การที่ลูกวาฬบรูด้า อายุไม่ถึง 1 ปี กระโดดเหนือน้ำ ถือเป็นพฤติกรรมผิดปกติหรือไม่ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า เท่าที่เก็บข้อมูลมา ก็ไม่ค่อยเจอพฤติกรรมแบบนี้ ในลูกบรูด้าตัวอื่นเลย ถือว่าเป็นลูกปลาที่ค่อนข้างแข็งแรง

    "แต่การกระโดดของลูกบรูด้าไม่เหมือนโลมากระโดด เพราะโลมาจะกระโดดเอาหน้าลง แต่บรูด้าจะกระโดดแล้วเหมือนกับการตีลังกาใส่เกลียวบิดตัวหงายท้องเอาหลังลง ลูกปลาที่กระโดดแบบนี้ได้ติดต่อกัน 11 ครั้ง ถือว่าแข็งแรงมาก เพราะบรูด้าตัวใหญ่กว่าโลมามาก แรกเกิดยาวประมาณ 4 เมตร หนักประมาณ 400 กิโลกรัม รูปที่เราถ่ายได้ ไม่ชัดนัก เพราะยอมรับว่า เห็นแล้วก็อึ้งเหมือนกัน ตั้งตัวไม่ติด" นายสุรศักดิ์กล่าว




    ที่มา : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1381380106

Trackbacks

Total Trackbacks 0
Trackback URL: