ญา ทิวาราช

การเดินทาง ตอนที่ 5

Rate this Entry


"ใจของเราคุ้นกับกิเลส เหมือนเสือคุ้นป่า ปลาคุ้นน้ำ แล้วกิเลสก็ย้อนกลับมาเผาใจเรา จนเร่าร้อนกระวนกระวาย เราจึงต้องบำเพ็ญตบะเพื่อเผากิเลส ให้มอดไหม้เสียแต่ต้นมือ ก่อนที่กิเลสจะเผาใจเราจนวอดวาย"

พึงบำเพ็ญ ตบะ ละกิเลส
อันเป็นเหตุ หักห้าม กามฉันท์
มุ่งทำลาย ถ่ายบาป สาบสูญพันธุ์
เข้าสู่ขั้น สุโข ฌาณโกลีย์


อะไรคือการบำเพ็ญตบะ

1.เหตุแห่งความประพฤติไม่ดีทั้งหลาย ล้วนเกิดมาจากกิเลสที่ซุกซ่อนอยู่ในใจเรา
2.เหตุที่ทำให้กำจัดกิเลสยาก เป็นเพราะ
2.1 เรามองไม่เห็นตัวกิเลส อย่างมากก็เพียงแค่เห็นอาการของกิเลสทำให้ไม่รู้จักกิเลสดี บางคราวถูกกิเลสโจมตีเอาแล้วก็ยังไม่รู้ตัว
2.2 ใจของเราคุ้นเคยกับกิเลสมาก เหมือนเสือคุ้นป่า ปลาคุ้นน้ำ ปลาพอถูกจับพ้นน้ำแล้วมันจะดิ้นรนสุดชีวิต จะกลับมาลงน้ำให้ได้
คนส่วนใหญ่ก็เหมือนกัน รู้สึกว่าการมีกิเลสเป็นของธรรมดา รักกิเลส พวกขี้เมาติดเหล้าเสียแล้ว ใครไปดึงขวดเหล้าออก เดี๋ยวเถอะได้ตามฆ่ากันเลย“อุ๊ยไม่ได้ ไม่ได้ ไอ้ขวดเหล้านี้มันเป็นกล่องดวงใจของฉันเชียวนะ” มันไม่ยอมหรอก หรือบางคนใครทำอะไรขัดใจหน่อยก็โกรธพูดจาโผงผางไปเลย แล้วก็ภูมิใจ “เออ มันต้องให้รู้ซะบ้าง ไม่งั้นหนอยแน่ะ ไม่เกรงใจเราเลย”ภูมิใจในความมีกิเลสของตัวเองเป็นเสียอย่างนี้
2.3 เรายังขาดวิธีที่เหมาะสมไปกำจัดกิเลส ตราบใดพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่บังเกิดขึ้น เราก็ยังไม่รู้วิธีกำจัดกิเลส บางศาสนา บางลัทธิเขารู้ว่ากิเลสมี แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แก้ไม่ตก หาทางออกไม่เป็นเรื่อง บูชาไฟบ้าง กราบไหว้อ้อนวอนเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ้บ้าง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนวิธีกำจัดกิเลสที่เหมาะสมและได้ผลเด็ดขาด เฉียบพลันให้กับเรา โดยถือหลักว่า “หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง”
เมื่อกิเลสมันเผาใจเราให้รุ่มร้อน เราก็ต้องเอาไฟไปเผากิเลสบ้าง แต่เป็นการเผาไฟภายในเผา วิธีการที่เอาไฟภายในเผากิเลสในตัวเองนี้เราเรียกว่า "ตบะ"
ตบะ แปลว่า ทำให้ร้อน หมายความรวมตั้งแต่ การเผา ลน ย่าง ต้ม ปิ้ง อบ คั่ว ผิง อะไรก็ได้ที่ทำให้ร้อน
บำเพ็ญตบะ จึงหมายถึง การทำความเพียรเผาผลาญความชั่ว คือกิเลสทุกชนิดให้ร้อนตัวทนอยู่ไม่ได้ เกาะใจเราไม่ติด ต้องเผ่นหนีไปแล้วใจของเราก็จะผ่องใส หมดทุกข์
การที่เราจะขับไล่สิ่งใด เราก็จะต้องทำทุกอย่างที่ฝืนความต้องการของสิ่งนั้น เหมือนการไล่คนออกจากบ้าน เขาอยากได้เงินเราก็ต้องไม่ให้ อยากกินก็ไม่ให้กิน อยากนอนก็ไม่ให้นอน คือ ต้องฝืนใจเขาจึงจะออก การไล่กิเลสออกจากใจก็เหมือนกัน หลักปฏิบัติอันสำคัญคือ ต้องฝืนความต้องการของกิเลสลักษณะการบำเพ็ญตบะมีดังนี้

1. การมีใจสำรวมในอินทรีย์ทั้ง 6 (อายตนะภายใน 6 อย่าง) ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไม่ให้หลง ติดอยู่กับสัมผัสภายนอกมากเกินไป
ไม่ให้กิเลสครอบงำใจเวลาที่รับรู้อารมณ์ผ่านอินทรีย์ทั้ง 6 (อินทรีย์สังวร)

1.1.ตาคนเรานี้เหมือนงู คือ ชอบที่ลับๆ อะไรที่เขาปกปิดเอาไว้ละก็ชอบดู ยิ่งปกปิดยิ่งอยากดู แต่อะไรที่เปิดเผยออกแล้วไม่ลับแล้ว ความอยากดูกลับลดลง
1.2.หูคนเรานี้เหมือนจระเข้ คือ ชอบที่เย็นๆ อยากฟังคำพูดเย็นๆ ที่เขาชมตัว หรือคำพูดเพราะๆ ที่เขาพูดกับเรา
1.3.จมูกคนเรานี้เหมือนนกในกรง คือ ชอบดิ้นรนพอได้กลิ่นอะไรหน่อยก็ตามดมทีเดียวว่ามาจากไหน
1.4.ลิ้นคนเรานี้เหมือนสุนัขบ้า คือ บ้าน้ำลายว่างๆ ไม่รู้จะทำอะไรขอให้ได้นินทาชาวบ้านละก็ชอบ
1.5.กายคนเรานี้เหมือนสุนัขจิ้งจอก คือ ชอบที่อุ่นๆ ที่นุ่มๆ ชอบซุก เดี๋ยวจะไปซุกตักคนโน้น เดี๋ยวจะไปซุกตักคนนี้ ชอบอิงคนโน้น ชอบจับคนนี้
1.6.ใจคนเรานี้เหมือนลิง คือ ชอบซน คิดโน่น คิดนี่ ประเดี๋ยวก็ฟุ้งซ่านถึงเรื่องในอดีต ประเดี๋ยวก็สร้างวิมานในอากาศถึงเรื่องในอนาคต ไม่ยอมอยู่นิ่ง ไม่ยอมสงบ

2. การปฏิบัติธรรม คือการรู้และเข้าใจในหลักธรรมเช่นอริยสัจ เป็นต้น ปฏิบัติตนให้อยู่ในศีล และถึงพร้อมด้วยสมาธิ และปัญญา


โดยมีจุดหมายสูงสุดที่พระนิพพาน กำจัดกิเลส ละวางทุกสิ่งได้หมดสิ้นด้วยปัญญา คือ

ทานบารมี ช่วยกำจัดความตระหนี่ ฝึกการละกิเลส


วิริยบารมี ช่วยให้มีความพากเพียร จนกว่าจะบรรลุธรรม


ศีลบารมี ช่วยประคองตน ไม่ก่อกรรมใหม่ จนสิ้นกรรม สิ้นชาติภพ


เนกขัมมบารมีช่วยให้หลีกเร้นออกจากครัวเรือน แสวงหาความวิเวกสันโดษ


ขันติบารมี ช่วยให้ไม่ละออกจากการพิจารณาทุกข์ อดทนจนรู้ทุกขสัจ


อุเบกขาบารมี ช่วยวางจิตตรงกลาง ไม่เอนซ้ายขวา พ้นจากคู่ตรงข้ามของโลก


สัจจบารมี ช่วยให้จิตตรง เห็นสัจธรรม ต้องมีสัจจะ เป็นพื้นฐาน


อธิษฐานบารมีช่วยให้จิตมีปณิธานแน่วแน่ ไม่คลอนแคลน จนกว่าจะบรรลุ


เมตตาบารมี ช่วยให้มีจิตไม่ยึดตัวตนของตน เข้าสู่ภาวะสากลเป็นหนึ่งเดียวกัน


ปัญญาบารมี ช่วยให้รู้แจ้งแทงตลอดในธรรม มองเปลือกธรรมก็ถึงแก่ธรรม


บารมีทุกตัวล้วนนำไปสู่นิพพาน ถ้าบารมีไม่มีเลย ไหนเลยจะนิพพานได้ ขอให้เห็นชัดเจนประการนั้นในการบรรลุธรรมและตรัสรู้ธรรม




ธุจ้า

ขอขอบคุณในมารับชมและติดตามครับ :l-

Submit "การเดินทาง ตอนที่ 5" to แชร์ไปที่ Facebook Submit "การเดินทาง ตอนที่ 5" to แชร์ไปที่ Twitter Submit "การเดินทาง ตอนที่ 5" to แชร์ไปที่ Printerest

แท็ก: ไม่มี แก้ไข Tags คำค้นหา
Categories
Uncategorized

Comments

Trackbacks

Total Trackbacks 0
Trackback URL: