สาวชัยภูมิ ลูกพ่อขุน

ประวัติศาสตร์บ้านเป้า

Rating: 2 votes, 5.00 average.
ประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านเป้า(1)

การศึกษาประวัติศาสตร์ทำให้ทราบอนาคตข้อมูล



ทั่วไปของชุมชนบ้านเป้า หมู่ที่ 1
ต.บ้านเป้า อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ
ที่ตั้ง หมู่ที่ 1 ต.บ้านเป้า อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิการแบ่งเขตการปกครอง บริหารงานปกครองแบบเขตเทศบาลการคมนาคม อยู่ห่างจากสถานีอนามัยตำบลบ้านเป้า 1 กิโลเมตร ระยะทางถนนลาดยางถึงอำเภอเกษตรสมบูรณ์13 กิโลเมตร ถึงจังหวัดชัยภูมิ 102 กิโลเมตรข้อมูลประชากร จำนวนประชากรหมู่ที่ 1 ตำบลบ้านเป้า แยกเป็นเพศชาย – หญิง (พ.ศ.2549) ดังนี้ - ประชากรเพศชาย จำนวน 343 คน - ประชากรเพศหญิง จำนวน 339 คน ประชากรรวม จำนวน 682 คนการศึกษา ระดับประถมศึกษา (ช่วงชั้นที่ 1 ,2) ศึกษาที่โรงเรียนบ้านเป้า(สำราญไชยวิทยา) ระดับมัธยมศึกษา (ช่วงชั้นที่ 3,4) ศึกษาที่โรงเรียนบ้านเป้าวิทยา และ โรงเรียนภูเขียว ระดับปริญญาตรีขึ้นไป ศึกษาที่วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนทั่วประเทศศาสนา ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธอาชีพ ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม รองลงมามีอาชีพค้าขายและรับราชการเศรษฐกิจ เป็นที่ตั้งของตลาดสดเทศบาลตำบลบ้านเป้า เป็นเขตความเจริญของชุมชน เศรษฐกิจของประชนส่วนใหญ่อยู่ในระดับกลาง คนจนที่มีรายได้น้อยของสังคมถือว่ามีน้อยมาก สังคม มีลักษณะเป็นสังคมกึ่งเมืองกึ่งชนบท ในแง่มุมหนึ่งยังมีลักษณะการพึ่งพาอาศัยในระบบเครือญาติบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งกำลังเปลี่ยนเป็นแบบต่างคนต่างอยู่วัฒนธรรม ประชาชนส่วนใหญ่มีประเพณีวัฒนธรรมเหมือนกับชาวไทยโดยทั่วไป มีประเพณีวันขึ้นปีใหม่ สงกรานต์ เข้าพรรษา ออกพรรษา ลอยกระทง บวชนาค ขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น การเมือง มีการบริหารแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเทศบาลตำบลบ้านเป้าเป็นศูนย์กลางในการบริหารงานและการงบประมาณแผ่นดิน มีการสมัครและเลือกตั้งนายกเทศมนตรี สมาชิกสภาเทศบาล เข้ามาบริหารงาน พร้อมกันนี้ก็ยังมีระบบการบริหารงานแบบกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อีกด้วย



ประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านเป้า หมู่ 1 ต.บ้านเป้า อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรม (ลักษณะการขยายตัวของชุมชน,การอพยพเคลื่อนย้าย)มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีในบริเวณอันเป็นที่ตั้งของบ้านเป้าในปัจจุบันนี้ คือ มีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณพร้อมด้วยเครื่องปั้นดินเผา หม้อ ไห กำไลข้อมือทำด้วยโลหะ เป็นต้น ที่บริเวณทิศตะวันออกของวัดบูรพาราม ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ หมู่ 14 บ้านเป้า และ อีกแห่งหนึ่งที่ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ และภาชนะเครื่องใช้ เครื่องประดับ คือ โนนโป่ง ซึ่งปัจจุบันมีที่ตั้งอยู่บริเวณทุ่งนาของชาวบ้านเป้า หมู่ 8 ทางด้านทิศใต้ของหมู่บ้านอยู่ติดกับคลองส่งน้ำชลประทาน จากหลักฐานดังกล่าวทำให้สันนิษฐานได้ว่า ในอดีตบริเวณที่ตั้งบ้านเป้าในปัจจุบันนี้เป็นแหล่งอารยธรรมยุคเก่า มีความเจริญมาก่อน หลักฐานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ พระธาตุ อันเป็นโบราณวัตถุที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัดธาตุ บ้านเป้าในปัจจุบัน จากการสอบถามผู้มีชีวิตร่วมสมัย ก็ไม่มีผู้ใดสามารถให้คำตอบได้ว่า ใครเป็นผู้สร้าง และสร้างในสมัยใด จากเหตุผลดังกล่าวจึงสันนิษฐานได้ว่า ที่ตั้งบ้านเป้าในอดีตเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวไทยอีสานโบราณ มีความเจริญทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม และพระพุทธศาสนา จึงได้มีการก่อสร้างพระธาตุขึ้น ต่อมาไม่ทราบว่าจะเป็นด้วยสาเหตุใด อาจจะเป็นเพราะเกิดโรคระบาด ความแห้งแล้ง หรือสงคราม จึงทำให้มีการล้มตายของผู้คน หรือการอพยพย้ายถิ่น จึงทำให้บริเวณนี้กลายสภาพเป็นป่ารกร้างหลายสิบปี หรืออาจจะหลายร้อยปี หลังจากนั้นบรรพบุรุษของชาวบ้านเป้าในปัจจุบันนี้จึงได้พากันอพยพ โยกย้ายมาปักหลักตั้งถิ่นฐาน สร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นมาใหม่ ในสมัยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งเป็นระยะเดียวกับพระไกรสิงหนาท เจ้าเมืองเกษตรสมบูรณ์ และเจ้าพ่อพญาแล เจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก แต่บ้านเป้าในอดีตไม่มีเจ้าใหญ่นายโตขนาดนั้น คงมีแต่เจ้าเมืองระดับหมู่บ้าน ตำบล เท่านั้น ปัจจุบันสามารถยืนยันได้ว่ามีบริเวณป่าละเมาะถูกถางให้เตียนโล่งสำหรับเป็นที่ฌาปนกิจ..พเจ้าเมือง เคยถูกเรียกขานชื่อว่า “เดิ่นเจ้าเมือง” (ลานเจ้าเมือง) ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของชุมชนหมู่ที่ 8 ตำบลบ้านเป้า และเป็นที่ตั้งสถานที่ราชการหลายแห่ง เช่น สถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านเป้า สถานีอนามัยตำบลบ้านเป้า และโรงเรียนบ้านเป้าวิทยา (โรงเรียนมัธยมศึกษา) เป็นต้น ในอดีตบ้านเป้ามีชื่อเรียกว่าบ้านเนินคุณ บ้านหญ้านาง มีชื่อเรียกว่าบ้านหนองบัว บ้านโคกสะอาดมีชื่อเรียกว่าบ้านหนองปากช้าง หรือบ้านหินดาด (แหล่งข้อมูลจากแผนที่สำนักงานที่ดินจังหวัดชัยภูมิ สาขาอำเภอเกษตรสมบูรณ์)มีเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาว่า ก่อนจะตั้งบ้านเรือนขึ้นเป็นหมู่บ้านนั้น ยังมีนายพรานล่าเนื้อคนหนึ่ง ชื่อ พรานทา ได้ทำการล่าเนื้อและไล่ล่ามาจากจังหวัดสระบุรีตามเทือกเขาดงพญาไฟ(ดงพญาเย็นในปัจจุบัน) และเทือกเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งเทือกเขาเหล่านี้เป็นเทือกเขาขนาดใหญ่มาก กั้นพรมแดนระหว่างภาคกลางตอนบน ได้แก่ สระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ และภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่เพชรบูรณ์ พิษณุโลก กับภาคอีสาน และในเทือกเขาดังกล่าวนี้จะมีภูเขาหลายลูกสลับซับซ้อน และถูกเรียกชื่อแตกต่างหลากหลายกันไป เช่น เขาพญาฝ่อ เขาพังเหย ภูแลนคา ภูคลี ภูอ้ม ภูหยวก ภูกระแต ภูกุ้มข้าว ภูผักขะ ภูคำแหว่ ภูเป้า และภูนกแซว เป็นต้น นายพรานคงจะไล่ล่าเนื้อมาถึงบริเวณภูนกแซว แล้วไล่เรื่อย ลงจากหลังเขาไปทางทิศตะวันออก ซึ่งถ้าหากยืนมองจากหลังภูลงไป จะเห็นว่าบริเวณไกลออกไปทางทิศตะวันออก (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งหมู่บ้านเป้า) จะมีลักษณะเป็นแอ่งขนาดใหญ่อยู่ระหว่างกลางหุบเขาล้อมรอบทั้ง 4 ทิศ คือ ทิศเหนือจะมีภูเขาต่างๆ เช่น ภูเรือ ภูเวียง ภูนกเค้า ภูแข่วโหว่ เป็นต้น ทิศตะวันออกจะมีภูสำเถา ภูหยวก บริเวณอำเภอภูเขียว ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นภูคลี (บริเวณตำบลบ้านหัน ตำบลบ้านยาง ตำบลสระโพนทอง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ ทางทิศใต้จะเป็นภูอ้ม ติดกับภูแลนคา (บริเวณตำบลสระโพนทอง ตำบลโนนกอก ตำบลบ้านเดื่อ) ส่วนทางด้านตะวันตกก็คือภูนกแซว ภูผักขะ ภูกลาง ภูเขียว บริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์ บริเวณแอ่งระหว่างหุบเขาดังกล่าว มี ห้วย หนอง คลอง บึง มากมายหลายแห่ง เช่น หนองสามหมื่นตำบลบ้านแก้ง หนองปังตำบลฝักปัง หนองตูมตำบลหนองตูมอำเภอภูเขียว หนองยางตำบลบ้านยาง หนองหญ้าม้า กุดโง้ง หนองผักแว่น บุ่งกระเบา ร่องแอ่นสะแหย หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านเป้า หนองสิม หมู่ที่ 1,14 บ้านเป้า ทาม(ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบึงแก้ง) หมู่ที่ 4 บ้านพรม ตำบลบ้านเป้า ในแอ่งธรรมชาติเหล่านี้ในอดีตคงจะมีสัตว์ป่า เช่น ช้าง เสือ สิงห์ กระทิง แรด เก้ง กวาง เมย(ควายป่า) ฯลฯ และสัตว์น้ำ เช่น ปลา กุ้ง ปู หอย นกน้ำ ฯลฯ ตลอดจนผักธรรมชาติเป็นอย่างมาก แม้ปัจจุบันบางแห่งก็คงสภาพอุดมสมบูรณ์อยู่ ดังนั้น บริเวณหนองน้ำเหล่านี้จึงอุดมไปด้วยสัตว์ป่า สัตว์น้ำ พืชพรรณนานาชนิด และมีอยู่ 3 หนอง ซึ่งถูกเรียกขานว่า “หนองซำแฮด” (หนองน้ำที่แรดนอนปรัก) “หนองหิ่ง” (หิ้ง) ซึ่งเป็นบริเวณพรานย่างซิ้น (คำว่าซิ้น เป็นภาษาถิ่น แปลว่า เนื้อสัตว์) “หนองห่าง” (ห้าง) เป็นบริเวณที่พรานทำห้างหรือนั่งร้านสำหรับซุ่มหรือดักยิงสัตว์ ปัจจุบันหนองน้ำเหล่านี้ยังคงมีสภาพเหลืออยู่แต่เฉพาะหนองซำแฮด ส่วนหนองหิ่งและหนองห่าง ได้ถูกบุกรุกทำเป็นที่นาของประชาชนตำบลบ้านเป้า นี่คือที่มาของการสันนิษฐานว่านายพรานได้อาศัยบริเวณหนองน้ำเหล่านี้เป็นที่ “ผก” (ซุ่ม)ยิงสัตว์ และเมื่อได้เนื้อแล้วก็จะทำการชำระล้างทำความสะอาด ย่าง เผา ประกอบอาหาร ณ บริเวณหนองหิ่งนี้ดังนั้น ด้วยแอ่งที่อุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำท่า พืชพรรณไม้นานาชนิด ตลอดจนสัตว์ป่า สัตว์น้ำหลากหลายดังกล่าวแล้ว นายพรานจึงได้ยึดบริเวณที่เป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึงเป็นที่ตั้งหมู่บ้านขึ้นมา เดิมนั้นสันนิษฐานว่าจะมีชื่อ “บ้านโนนจำปา” อยู่บริเวณสันโนน (ที่ค่อนข้างสูงสุด) ปัจจุบันเรียกคุ้มสันโนน อยู่ใกล้วัดบูรพาราม หมู่ที่ 14 บ้านเป้า (คำว่าจำปา ในท้องถิ่นเรียกจำปาเทศ หรือจำปาเหลืองหมายถึงรำเพย และจำปาขาวหมายถึงลั่นทม) ต่อมาได้ย้ายไปบริเวณ “หนองอีเลิง” หนองอีเลิง สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ใกล้วัดร้าง สืบความได้ว่าชื่อวัดโพธิ์ ปัจจุบันเป็นที่สาธารณะว่างเปล่าและเป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดธาตุบ้านเป้าอยู่ในเขตหมู่ที่ 10 บ้านโนนโก อยู่ติดกับ หมู่ที่ 9 บ้านเป้า ตรงถนนสิงห์รังสรรค์ บริเวณต้นมะขามใหญ่ ปัจจุบันถูกถมทำถนน ต้นมะขามใหญ่ก็ถูกโค่นไปแล้ว และอีกบริเวณหนึ่งคือรอบๆหนองโน (โน เป็นภาษาถิ่น มีความหมายว่าโสน) ซึ่งอยู่บริเวณหมู่ที่ 1 ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยของหนองน้ำเหล่านี้แม้แต่น้อย แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะตั้งอยู่ที่ใดก่อนแต่ทั้งสองแห่งก็อยู่บริเวณหมู่บ้านเป้านั่นเอง หลังจากก่อตั้งหมู่บ้านแล้วก็แผ่ลูกแผ่หลานสืบเชื้อสายต่อกันมาเป็นหลายครอบครัว ขยายออกเป็นบ้านเป็นเมือง จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และในกาลต่อมาได้ชื่อว่าบ้านเป้า สันนิษฐานว่า นามนี้มาจากชื่อต้นเป้า ซึ่งเป็นพันธุ์พืชชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติทั่วไปในท้องถิ่น ต้นเป้า เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ โตเต็มที่สูงประมาณ 10 เมตร ลำต้นมีขนาดเท่าต้นมะพร้าว หรือต้นตาล มีกิ่งก้านสาขาแตกออกตามลำต้นเหมือนต้นไม้ปกติทั่วไป ผิวเรียบ สีออกน้ำตาลอ่อนจางๆ ใบมีลักษณะหนา ยาวรี ผิวมัน เรียบ ขอบใบมีหยักเล็กน้อย มีสรรพคุณเป็นยาใช้สำหรับต้มอาบต้มกินและนิยมต้มคู่กับใบหนาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยโบราณจะนิยมนำมาต้มรวมกันทั้ง 2 ชนิด สำหรับแม่ลูกอ่อนขณะอยู่ไฟได้อาบได้กิน ดีนักแล ดังนั้น ชื่อหมู่บ้านสันนิษฐานว่ามาจากชื่อของต้นเป้าด้วยประการฉะนี้



แหล่งน้ำอันเป็นปัจจัยการดำรงชีพที่สำคัญในอดีต ห้วย หนอง คลอง บึง อันเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่ชาวบ้านได้อาศัยอุปโภค บริโภค ทำไร่ ไถนา ทำมาหากินและการเกษตรอื่นๆอยู่หลายแห่ง ดังนี้ 1.หนองสิม (สิม เพี้ยนมาจากคำว่า เสมา) ในอดีตเรียกหนองบัว (แหล่งข้อมูลจากแผนที่สำนักงานที่ดินจังหวัดชัยภูมิ สาขาอำเภอเกษตรสมบูรณ์) เป็นหนองน้ำธรรมชาติ เนื้อที่ประมาณ 74 ไร่ (เดิมชื่อหนองบัว หรือหนองบัวทอง) ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล ติดกับหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 14 ในอดีตได้เคยสร้างสิมเพื่อใช้เป็นที่ปฏิบัติสังฆกรรมและลงอุโบสถของพระภิกษุสงฆ์และสามเณรวัดธาตุในช่วงระยะที่ยังไม่ได้สร้างโบสถ์ และชาวบ้านในสมัยที่ชุมชนยังไม่มีความเจริญ ได้อาศัยน้ำจากหนองสิมสำหรับใช้อุปโภคบริโภค โดยการสร้าง สะพัง เหื่อให้สามารถกักเก็บน้ำได้ในปริมาณมากๆ (สะพัง เป็นภาษาไทยโบราณ มีความหมายว่า คูกั้นน้ำ) ปัจจุบันได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำ หนองสิม โดยการขุดลอก เพิ่มคูกั้นน้ำ ทำถนน ปลูกต้นไม้ ซึ่งอยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบลบ้านเป้า (บางครั้งก็เขียนและอ่านคำว่า หนองสิม เป็นหนองฉิม ก็มี ซึ่งเป็นการใช้คำและความหมายของภาษาไทยผิดๆ เรียกว่า ภาษาเพี้ยน) ปัจจุบันหนองสิมเหลือเนื้อที่ไม่ถึง 74 ไร่ เนื่องจากถมที่สร้างสำนักงานเทศบาล ตลาดสดเทศบาล และถนนรอบๆ 2.ทาม (บึงแก้ง) ในอดีตเรียกหนองบัวทอง (แหล่งข้อมูลจากแผนที่สำนักงานที่ดินจังหวัดชัยภูมิ สาขาอำเภอเกษตรสมบูรณ์) เป็นหนองน้ำธรรมชาติ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้านเป้า แต่ขึ้นกับบ้านพรม หมู่ 4 ตำบลบ้านเป้า เป็นแหล่งอาศัยทำการประมง อุปโภคบริโถคและการเกษตรของชาวบ้าน มีหนองน้ำที่สำคัญภายในทาม คือ หนองบ้านแก้ง หนองแปน และหนองห่างฮะ (หนองห่างฮะเป็นหนองน้ำที่เล็กที่สุดในทาม ซึ่งห่างฮะ หรือ ห้างฮะ หมายถึง เสาไม้สามเสาที่ทำเป็นที่แขวนคันโซ่ ภาษาถิ่นเรียกข้องสระ หรือข้องโซ่ เป็นอุปกรณ์วิดน้ำชนิดหนึ่งเพื่อวิดน้ำจากห้วยหนองคลองบึงเข้านา หรือวิดน้ำจากบ่อหรือสระน้ำให้แห้ง) ปัจจุบันได้มีการขุดลอกและอาศัยน้ำเป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิตน้ำประปาผิวดิน ของการประปาส่วนภูมิภาค อำเภอภูเขียว ให้บริการแก่ชาวบ้านในเขตเทศบาลตำบลบ้านเป้า และเขตองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเป้า ในหมู่ที่ 4 บ้านพรม ตำบลบ้านเป้า 3.ห้วยเป้า ในอดีตเรียกน้ำหนองบัวน้อย (แหล่งข้อมูลจากแผนที่สำนักงานที่ดินจังหวัดชัยภูมิ สาขาอำเภอเกษตรสมบูรณ์) เป็นสายน้ำลำเล็กๆ กำเนิดจากภูนกแซว อยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านไหลลงสู่หมู่บ้านทางทิศเหนือ ชาวบ้านได้อาศัยทำนา ทำไร่ และการเกษตรอื่นๆ แต่หน้าแล้งไม่มีน้ำ เนื่องจากน้ำต้นทุนมีน้อยและน้ำสำรองไม่มี จะมีเพียงบางแห่ง(วัง) เท่านั้น 4.ห้วยแล้ง เป็นสายน้ำขนาดเล็กมาก ไหลแยกจากห้วยเป้าผ่านบ้านโพธิ์ทอง หมู่ที่ 13 ตำบลบ้านเป้า หน้าแล้งจะไม่มีน้ำ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้านเป้า 5.กุดเป้า เป็นหนองน้ำขนาดเล็กอยู่ปลายสุดลำห้วยเป้า สิ้นสุดอยู่ที่บริเวณสะพานข้ามไปมาระหว่างบ้านเป้ากับบ้านหญ้านาง หน้าแล้งไม่มีน้ำ 6.ห้วยหาด ในอดีตเรียกน้ำหนองบัว (แหล่งข้อมูลจากแผนที่สำนักงานที่ดินจังหวัดชัยภูมิ สาขาอำเภอเกษตรสมบูรณ์) เป็นสายน้ำเล็กๆกำเนิดจากภูนกแซวไหลลงสู่หมู่บ้านทางทิศใต้ ชาวบ้านอาศัยทำนาทำไร่และการเกษตรอื่นๆ แต่หน้าแล้งไม่ค่อยมีน้ำเช่นกัน 7.กุดแก และ กุดหิน (เรียกตามชื่อต้นไม้ คือไม้สะแก) เป็นส่วนหนึ่งของลำห้วยเป้าอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน (ปัจจุบันอยู่ในเขตหมู่ 14 บ้านเป้า) หน้าแล้งไม่มีน้ำ อาศัยน้ำที่สูบมาจากทามหรือบึงแก้ง 8.กุดหญ้านาง เป็นสายน้ำที่แยกมาจากลำน้ำทิกตอนเหนือของหมู่บ้าน อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านหญ้านาง และมาสิ้นสุดตรงนั้น จึงเรียกว่ากุด ในอดีตได้อาศัยทำการประมง การเกษตร และการอุปโภคบริโภค 9.ลำน้ำทิก เกิดจากภูเขาบริเวณใต้เขื่อนจุฬาภรณ์ ไหลผ่านทิศใต้บ้านทุ่งลุยลายอำเภอคอนสาร ต่อลงมาเป็นทิกสามบั้นบริเวณบ้านน้ำทิพย์ ผ่านภูชาดบ้านห้วยหินลับ บ้านทิกแล้ง บ้านโคกสง่า บ้านวังม่วง บ้านสารจอดเก่า บ้านสารจอดใหม่ บ้านหนองโพนงาม บ้านหญ้านาง บ้านร่องแสนคำ บ้านทิก และบ้านเป้าทางด้านทิศตะวันออก ไหลไปสิ้นสุดและบรรจบกับลำน้ำพรมด้านทิศตะวันออกของบ้านเป้า เรียกว่า ปากทิกตกพรม ห่างจากบ้านเป้าประมาณ 2.5 กิโลเมตร 10.หนองผักแว่น เป็นหนองที่อยู่ในเขตหมู่ที่ 3 บ้านทิก ตำบลบ้านเป้า ห่างจากบ้านเป้าไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 2.5 กิโลเมตรภูนกแซว ภูนกแซวเป็นภูเขาหินปูนขนาดกลางตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านห่างออกไปประมาณ 7 กิโลเมตร บนภูเขาจะมีต้นไม่นานาพรรณ สัตว์ป่านานาชนิด (ปัจจุบันร่อยหรอเกือบสิ้นเชิง) มีพวกเห็ด หน่อไม้ ผักต่างๆ ปัจจุบันได้รับการดูแลรักษาป่า ห้ามตัดไม้ทำลายป่า ห้ามทำไร่เลื่อนลอย และกำลังฟื้นฟูสภาพป่าให้ดีขึ้นตามลำดับ สถานที่สำคัญบนภูนกแซว มี 3 แห่ง คือ (1) หนองหิน เป็นหนองน้ำบนภูนกแซว มีน้ำขังตลอดปี(2) ตลาดกกไฮ เป็นพลาญหินและทางผ่านของน้ำบนภูนกแซว(3) เจ้าประเทศและน้ำส้มทั้ง 3 แห่งนี้ เป็นบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณนานาชนิด เพราะมีน้ำซับไหลตลอดทั้งปี จึงมีสัตว์ป่านานาชนิดมาพึ่งพาอาศัยหาอยู่หากิน ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือช่วยกันดูแลรักษา พัฒนา ได้อาศัยทมาหากิน พอถึงวันแรม 8 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี จะมีการจัดพิธีบวงสรวงเจ้าประเทศ ชาวบ้านจะนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ไปประกอบพิธี มีการถวายภัตตาหารเพล มีการจุดพลุ ตะไล ไฟพะเนียง เฉลิมฉลองด้วยมหรสพตามประเพณี บนบานศาลกล่าวและเสี่ยงทาย ด้วยการจุดบั้งไฟหรือตะไลถึงเทพาอารักษ์ขอฟ้าขอฝนเสมอมา ถ้าปีใดขึ้นสูงเสี่ยงทายว่าฝนฟ้าจะดี น้ำมาก การเกษตรอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันได้รับการพัฒนาโดยองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเป้าเป็นอย่างดีจานเกี้ยว อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน เป็นต้นจานที่มีเครือเถาวัลย์พันรอบต้น ปัจจุบันเป็นที่นาของชาวบ้าน



ประวัติศาสตร์การเมือง ผู้นำชุมชนที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการตั้งแต่ในอดีตนั้นเดิมทีเดียวบ้านเป้าไม่มีหลายหมู่ และขึ้นตรงต่อกำนันตำบลผักปัง อำเภอภูเขียว ต่อมาได้ตั้งอำเภอเกษตรสมบูรณ์ จึงขึ้นตรงต่อตำบลกุดเลาะ และได้แบ่งแยกตำบลตั้งเป็นตำบลบ้านเป้า จึงมีกำนันปกครองตามลำดับ ดังนี้ คนที่ 1 ท้าวดวงจันทร์ ซาภิญโญ (ในสมัยนั้นเรียกตำแหน่งตาแสง) คนที่ 2 ขุนวิเศษ (ต้นตระกูลกู้เขียว) (ในสมัยนั้นเรียกตำแหน่งตาแสง)คนที่ 3 ท้าวพิมสาร (ต้นตระกูลธรรมกุล) (ในสมัยนั้นเรียกตำแหน่งตาแสง) คนที่4 นายลม หือขุนเป้าประเสริฐ (ต้นตระกูลพลประเสริฐ) คนที่5 นายโหล่ง ดวงภมร คนที่6 นายชำนาญ (บุญมา) สำราญวงษ์ คนที่7 นายสิงห์ ฦาศักดิ์ คนที่8 นายสง่า ปัญญายิ่ง คนที่9 นายสมดี ลาภปรากฎ คนที่10 นายเฉลียง สุหญ้านาง คนที่11 นายวิชัย ลาภปรากฎ คนที่12 นายสุชาติ โขนภูเขียว คนที่ 13 นายเวียง ลาภขวัญ สามคนแรกนี้ คงจะได้รับการเห็นชอบจากชาวบ้านให้ทำหน้าที่ โดยไม่มีการแต่งตั้งเป็นทางการ และเข้าใจว่าจะไม่มีเงินเดือนหรือเงินตอบแทนอื่นใด ตั้งแต่คนที่ 4 จะมีค่าตอบแทนที่ทางราชการมอบให้ ประวัติสุขาภิบาล,เทศบาล เนื่องจากในปัจจุบัน บ้านเป้า(หมู่ที่ 1,7,8,9,10,14)และรวมถึงบ้านหญ้านาง หมู่ที่ 2 บ้านโพธิ์ทองหมู่ที่ 13 (แยกจากบ้านหญ้านางหมู่ที่ 2) ได้รวมกันยกฐานะขึ้นเป็นเขตสุขาภิบาล ในสมัยกำนันสิงห์ ฦาศักดิ์ และนายทองอินทร์ สุหญ้านาง อดีต สมาชิกสภาจังหวัดชัยภูมิและอดีตประธานสภาจังหวัดชัยภูมิ และต่อมาได้ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลตามลำดับ ปกครองดูแลบริหารงานโดยนายกเทศมนตรีตำบลบ้านเป้า (ปัจจุบันยังมีตำแหน่งกำนัน และผู้ใหญ่บ้านอยู่)

Submit "ประวัติศาสตร์บ้านเป้า" to แชร์ไปที่ Facebook Submit "ประวัติศาสตร์บ้านเป้า" to แชร์ไปที่ Twitter Submit "ประวัติศาสตร์บ้านเป้า" to แชร์ไปที่ Printerest

แท็ก: ไม่มี แก้ไข Tags คำค้นหา
Categories
Uncategorized

Comments

  1. สัญลักษณ์ของ สาวชัยภูมิ ลูกพ่อขุน
    ประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านเป้า(2)


    ในจำนวนเจ้าอาวาสทั้งหมด มีอยู่รูปหนึ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังทางเวทย์มนต์คาถา มีวิชาอาคมที่ศักดิ์สิทธิ์มาก เรียกได้ว่าเป็นเกจิจอมขมังเวทย์เลยทีเดียว คือเจ้าอาวาสรูปที่ 2 ที่ชื่อว่า “พระครูหลักคำ”ประวัติวัดประจำหมู่บ้านวัดธาตุ

    ที่ตั้งและอาณาเขต


    วัดธาตุ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๑๑ หมู่ ๙ บ้านเป้า ต.บ้านเป้า อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ มีเนื้อที่ ๘ ไร่ ๓ งาน ๓๐ ตารางวา หนังสือสำคัญ น.ส.๓ เลขที่ ๒๕๑๘ อาณาเขตทิศเหนือจดทางสาธารณะและชุมชนหมู่บ้าน ทิศใต้จดทางหลวงแผ่นดิน ทิศตะวันออกจดทางสาธารณะและโรงเรียน ทิศตะวันตกจดทางสาธารณะและชุมชนหมู่บ้าน ลักษณะทั่วไป ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่และกลิ่นอายของพระพุทธศาสนา มีลมโชยแผ่วเบาเย็นสบายตลอดเวลา เนื่องจากตั้งอยู่ในตำแหน่งรับลมไม่มีสิ่งปลูกสร้างปิดบัง สัญลักษณ์ภายในวัดอีกอย่างหนึ่งคือต้นตาลโบราณ ๒ ต้น อยู่ริมสระน้ำ ซึ่งปลูกบัวหลวงสวยงาม จากการสอบถามบรรพบุรุษไม่มีใครตอบได้ว่าใครเป็นคนปลูก เกิดมาก็เห็นมีขนาดความสูงเท่านี้แล้ว จากการสังเกตความสูงของต้นตาลเกิดได้โดยการผลัดก้านใบที่แห้งทิ้ง ปีหนึ่งจะผลัดก้านใบประมาณ ๑ หรือ ๒ ก้าน เท่านั้น ปัจจุบันนี้ไม่มีผู้ใดกล้าขึ้นวัดความสูงของต้นตาล ได้แต่ประมาณการว่าจะมีความสูงจากโคนต้นถึงปลายสุด ๓๐ เมตร ซึ่งเป็นต้นไม้ที่สูงที่สุดในบริเวณใกล้เคียง ถ้าหากจะคำนวณอายุของต้นตาลดูก็น่าจะมีอายุหลายร้อยปีสังกัด มหานิกายประวัติ วัดธาตุ ตั้งมาตั้งแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐานที่แน่นอน จากหลังฐานที่ปรากฏ เช่นโบสถ์ และพระธาตุ ซึ่งก่อสร้างโดยใช้อิฐมอญ ฉาบด้วยปูน ซึ่งอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ปฐมกษัตริย์รัตนโกสินทร์ ในปี พ.ศ.๒๓๒๕ จากการบอกเล่าของคนโบราณสืบต่อกันมา บ้านเป้านี้มีนามเดิมว่า บ้านโนนจำปา



    โบราณวัตถุ
    วัดธาตุบ้านเป้ามีโบราณวัตถุที่สำคัญ คือ๑.พระธาตุ ได้ชำรุดทรุดโทรมลงมาก พระธาตุส่วนกลางไปหายอดได้หักล้มลงมา เหลือแต่ฐานสูงจากพื้นประมาณ ๒ เมตร ส่วนที่หักมีความยาวประมาณ ๖ เมตร ชาวบ้านได้ตั้งไว้ใกล้เคียงกับฐานและได้ปลูกไม้ยืนต้นล้อมรอบส่วนที่หักเอาไว้ สันนิษฐานได้ว่าน่าจะสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เป็นศิลปะของชาวอีสานโบราณ เนื่องจากใช้ดินเผาไฟ ทำเป็นก้อนอิฐ หากแต่ถ้าเป็นศิลปะของชาวเขมร ส่วนมากแล้วที่พบเห็นจะเป็นหินศิลาแรง และมีความเก่าอยู่มาก หรือหากเป็นศิลปะของชาวมอญ รามัญ หรือพม่า ก็ไม่น่าจะแผ่อิทธิพลมาถึงบริเวณแถบนี้ พระธาตุที่อยู่ใกล้เคียงและน่าจะมีอายุในการก่อสร้างใกล้เคียงกันคือ พระธาตุกุดจอก อำเภอเกษตรสมบูรณ์ และพระธาตุหนองสามหมื่น ตำบลบ้านแก้ง อำเภอภูเขียว๒.อุโมงค์พระพุทธรูป ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งปางสมาธิมีนามว่า พระสีหนุราชบุราณ ทำด้วยวัสดุปูนปั้นฝีมือชาวไทยอีสานโบราณ ตั้งอยู่ในศาลาการเปรียญหลังเก่า เป็นที่กราบไหว้บูชาของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป๓.ศาลปู่หลักคำ ในจำนวนเจ้าอาวาสทั้งหมด มีอยู่รูปหนึ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังทางเวทย์มนต์คาถา มีวิชาอาคมที่ศักดิ์สิทธิ์มาก เรียกได้ว่าเป็นเกจิจอมขมังเวทย์เลยทีเดียว คือเจ้าอาวาสรูปที่ 2 ที่ชื่อว่า “พระครูหลักคำ” จากคำบอกเล่าของนายกา ล้วนมงคล ผู้เฒ่าชาวบ้านเป้าบอกว่า เดิมปู่หลักคำมีชื่อว่า “บุญมี” (ไม่ปรากฏนามสกุล) เป็นคนบ้านแก้ง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เป็นหนุ่มฉกรรจ์ที่เป็นคนดื้อ ชอบรันฟันแทง ชอบปล้นและลักวัว ควายของชาวบ้านเพื่อนำไปฆ่าขายหรือกิน มีวิชาอาคมอยู่ยงคงกระพัน ล่องหน หายตัว ฟันไม่เข้า ยิงไม่ออก ไม่มีใครกล้าตอแยต่อกรด้วย และจะด้วยเหตุใดไม่ทราบ ท่านได้เลิกเป็นนักเลงหัวไม้ในที่สุดได้มาบวชจำพรรษาอยู่ที่วัดธาตุ ก็คงจะหลายปีจนได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครู หันมาบำเพ็ญภาวนารักษาศีล กระทั่งเกิดพลังบารมีแห่งความศักดิ์สิทธิ์มนต์ขลัง เพราะปรากฏว่าเคยมีข่าวความศักดิ์สิทธิ์อยู่หลายครั้ง เช่น เคยมีม้าพยศ พยายามจะวิ่งเข้ามาในวัด แต่ก็เข้ามาไม่ได้ หากใครเข้าไปในบริเวณวัดแล้วพูดจาไม่เหมาะสม ไม่ถอดหมวก อันเป็นการไม่แสดงความเคารพต่อสถานที่จะเกิดเหตุอาถรรพ์ จะทำให้มีเหตุเป็นไปในทางไม่ดีกับบุคคลนั้น มีอยู่ครั้งหนึ่งในสมัยก่อนมีผู้แทน(ส.ส.)ได้นำภาพยนตร์กลางแปลงมาฉายภายในวัดเพื่อทำการปราศรัยหาเสียง แต่มีเหตุทำให้ลืมเคารพคารวะเจ้าของสถานที่ จึงทำให้เครื่องไฟที่ใช้ปั่นกระแสไฟฟ้าในการพูดเครื่องขยายเสียงและฉายภาพยนตร์ติดเครื่องไม่ได้ ช่างทำการแก้ไขอยู่นานก็ไม่สำเร็จชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่จึงแนะนำว่าให้ไปบนบาน ขอขมาศาลปู่หลักคำเสียก่อน ทางคณะผู้แทนจึงได้กระทำตามคำแนะนำของชาวบ้าน เสร็จแล้วพอมาติดเครื่องปั่นไฟฟ้าครั้งเดียวก็ติดเครื่องได้ และอีกครั้งหนึ่งมีเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้เมื่อไม่นานนักประมาณปี พ.ศ.2542 มีพ่อค้าต่างถิ่นนำสินค้ามาจำหน่ายตลาดนัดสินค้าราคาถูกภายในบริเวณวัด ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวบ้านแนะนำว่าให้ไปครอบ(สักการะ)ปู่หลักคำเสียก่อน แต่พ่อค้าไม่เชื่อและยังได้กล่าววาจาในเชิงลบหลู่หมิ่นประมาทเสียอีก พอพ่อค้าทำการติดเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้เป็นเครื่องขยายเสียง ทำอย่างไรเครื่องก็ไม่ติด ไปว่าจ้างช่างมาแก้หลายคนก็แก้ไม่ได้ ผู้เฒ่าจึงแนะนำให้พ่อค้าจงได้ไปครอบปู่หลักคำเสียก่อน โดยให้ไปจัดหาเครื่องสักการะมีพวงมาลัยเจ็ดสียาวเจ็ดศอก มีขุนนาง ช้าง ม้า และดอกไม้ขาว นำมาถวายและเซ่นสักการะ พ่อค้าคนนั้นไม่เชื่อแต่ยอมทำตามที่ผู้เฒ่าบอก เสร็จแล้วลองมาทำการติดเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าเพียงครั้งเดียวก็ติด ทำให้พ่อค้าคนนั้นเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก หากได้ผ่านมาทางบ้านเป้าเมื่อใดก็จะหาเครื่องเซ่นสักการะไปครอบปู่หลักคำทุกครั้งทันทีในปี พ.ศ.2547 มีเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยบ้านเป้าคนหนึ่งได้เป็นผู้นำในการจัดทำผ้าป่าหาปัจจัยมาก่อสร้างหอระฆังให้กับวัด ตอนสายวันหนึ่ง ฝนตก เขาได้ขับรถยนต์เข้าไปจอดในลานวัดเพื่อไปรับเจ้าอาวาสไปดำเนินงานผ้าป่าในต่างอำเภอ และได้สวมหมวกเข้าไปโดยมิได้มีเจตนาจะลบหลู่หรือหมิ่นประมาทแต่ประการใด เพียงแต่ได้ลืมนึกถึงกฎข้อห้ามนี้เท่านั้น พอติดเครื่องจะขับรถออกมาทำให้รถติดหล่มขยับไม่ได้ และได้ใช้ความพยายามอยู่หลายครั้งก็ออกไม่ได้ จึงนึกขึ้นได้ว่าตนเองได้สวมหมวกเข้ามาภายในบริเวณวัดอันเป็นการไม่เคารพสถานที่ จึงได้ถอดหมวกออกและได้กล่าวขอขมาลาโทษต่อหลวงปู่หลักคำและอธิษฐานขอให้รถได้ขึ้นจากหล่มได้เถิด พอหลังจากนั้นจึงกลับมาติดเครื่องรถและถอยออกไปนอกบริเวณวัดได้อย่างสะดวกอย่างไม่มีปัญหาเหมือนกับตอนแรก จะเป็นด้วยความบังเอิญหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ แต่เขาคนนั้นได้เชื่อว่าเป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงปู่หลักคำที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นด้วยสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในหลายๆครั้งจึงทำให้ชาวบ้านเป้าและบ้านใกล้เคียงยิ่งเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และให้ความเคารพยำเกรงในดวงวิญญาณของปู่หลักคำยิ่งขึ้นและชาวบ้านมีความเชื่อว่าเป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของศาลปู่หลักคำจึงทำให้เกิดสิ่งต่างๆดังกล่าว ด้วยเหตุที่เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นผู้มีวิชาอาคมของพระครูบุญมี หรือพระครูหลักคำ หรือปู่หลักคำนี้เอง ชาวบ้านเป้าในสมัยก่อนจึงได้ร่วมกันก่อสร้าง “หลักคำ” ไว้เป็นอนุสรณ์เพื่อให้ลูกหลานได้บูชากราบไหว้หลังจากที่ท่านได้ถึงแก่มรณภาพแล้ว โดยได้สร้างเป็นหลักไม้แก่นขนาดเส้นรอบวงของฐานหลักคำประมาณ 80 เซนติเมตร สูงประมาณ 100 เซนติเมตร แกะสลักทั้งลำต้นให้สวยงาม ปลายยอดแหลม ทาด้วยสีทองเหลืองอร่ามงดงามและน่าเคารพเกรงขามยิ่งนัก ทุกวันนี้เสาหลักคำได้สึกกร่อนไปตามกาลเวลา และต่อมาทางวัดได้ร่วมกับชาวบ้านสร้างหอปกคลุมไว้กันฝนกันแดด มีรั้วรอบทั้งสี่ทิศ มีประตูทางด้านทิศใต้เปิดปิดเข้าออกได้ด้วยเหตุนี้เอง จากนายบุญมี หรือท้าวบุญมี หรือพระครูบุญมีนี่เอง จึงได้กลายเป็น “พระครูหลักคำ” หรือ “ปู่หลักคำ” ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ชาวบ้านเป้าและชาวบ้านใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือมาจนกระทั่งปัจจุบัน นับว่าเป็นเกียรติประวัติของท่านและของชาวบ้านเป้าเป็นอย่างยิ่ง



    ๔.พระสังกัจจายน์เนื้อหินอ่อน ชาวบ้านนับถือในความศักดิ์สิทธิ์มาก หากทำพิธีสาบานแล้วชาวบ้านนิยมเอาพระสังกัจจายน์องค์นี้เป็นพระประธาน ตามตำนานเล่าว่าหลวงปู่หลักคำเป็นผู้อันเชิญพระสังกัจจายน์มาจากกรุงเทพมหานคร๕.พระพุทธรูปทองคำ มีอยู่ ๓ องค์ด้วยกัน สันนิษฐานว่าได้สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และตั้งข้อสังเกตได้ว่า แร่ประเภทองคำเป็นสิ่งมีค่า หายาก ซื้อหรือขายจะมีราคาแพง ในสมัยโบราณคนที่จะสามารถสร้างพระพุทธรูปด้วยทองคำได้ส่วนมากแล้วจะเป็นพระมหากษัตริย์ หรือเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงเท่านั้น องค์ที่ ๑ เป็นพระยอดธงปางนั่งสมาธิ ทำด้วยทองคำ ขนาดความสูงประมาณ ๔ - ๕ ซ.ม. ปัจจุบันมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมมาก และจากพระยอดธงปางสมาธิก็กลับกลายเป็นพระปางสมาธิธรรมดาแบบไม่มียอดธง และทำด้วยวัสดุคล้ายทอง องค์ที่ ๒ และ ๓ เป็นพระพุทธรูปยืนปางรำพึง ขนาดความสูงขององค์พระประมาณ ๔ - ๕ ซ.ม. ปัจจุบันมีขนาดหดเล็กลงกว่าเดิม ทำด้วยวัสดุคล้ายทองเช่นกัน๖.พระอัฐิธาตุของพระอานนท์ เป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาวบ้านเป้าที่บรรจุไว้บนพระธาตุ หลังจากที่มีการชำรุดของพระธาตุจึงได้นำมาเก็บไว้ในโกฎทำด้วยไม้ไผ่แกะสลักลวดลายสวยงาม โดยคนเฒ่าคนแก่ที่ชาวบ้านนับถือเป็นผู้จัดเก็บหมุนเวียนเปลี่ยนมือหลายคน และด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ของมนุษย์จึงทำให้พระอัฐิธาตุของพระอานนท์ได้แปรสภาพกลายเป็นเม็ดกรวดหินธรรมดาขนาดเล็กๆจำนวน ๔๑ เม็ด ๗.แก้วยอดพระธาตุ มีลักษณะทำด้วยแก้วใส ขนาดเท่าผลมะนาว มี ๒ อันๆหนึ่งกลมเรียบ อีกอันหนึ่งเจียระไนมีรูปทรงกลม ชาวบ้านเก็บไว้หลังจากที่พระธาตุได้หักลงมา ๘.พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร เป็นพระพุทธรูปยืนเก่าแก่ ยกมือขึ้นในลักษณะห้าม ทั้ง ๒ มือ นิ้วมือข้างซ้าย ๓ นิ้ว มีนิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อยหักขาดออก ซึ่งสันนิษฐานได้ว่ามีการชำรุดขององค์พระเนื่องจากการเคลื่อนย้าย เพราะองค์พระมีน้ำหนักมาก



    สิ่งก่อสร้าง
    ๑.อุโบสถ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๒ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๙.๒๐ เมตร ยาว ๑๗ เมตร แต่ก่อนเป็นอุโบสถทำด้วยไม้ ต่อมาได้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘ ทำด้วยอิฐถือปูน สิ้นค่าก่อสร้าง ๓๐๐,๐๐๐ บาท(สามแสนบาทถ้วน) ๒.ศาลาการเปรียญหลังเก่า แต่ก่อนทำด้วยไม้ทั้งหลัง ครอบอุโมงค์พระพุทธรูปโบราณเสากลมใช้ไม้ทั้งต้นยกสูงประมาณ ๑ เมตร ปูพื้นด้วยไม้กระดาน หลังคามุงด้วยไม้ลักษณะคล้ายเกล็ดปลา ฝาผนังทำด้านทิศเหนือเพียงด้านเดียว บนศาลาประดับด้วยรูปภาพของพระพุทธเจ้าในกิจต่างๆหลายภาพ ปัจจุบันได้มีการบูรณะโดยเปลี่ยนเป็นหลังคากระเบื้อง พื้นหินอ่อน บุฝ้าเพดาน ขยายความกว้างทางด้านทิศเหนือประมาณ 2 เมตร บันไดคอนกรีต มีลูกกรงล้อมรอบ ประตูเหล็กยืด ๓.ศาลาการเปรียญหลังใหม่ เริ่มลงมือก่อสร้างปี พ.ศ.๒๕๓๒ ทำด้วยคอนกรีต จำนวนเสา ๕๐ ต้น ทำได้หนึ่งชั้น ปัจจุบันหยุดการก่อสร้างเนื่องจากไม่มีทุนทรัพย์มาดำเนินการก่อสร้างต่อ ๔.หอระฆังหลังเก่า ลักษณะทำด้วยไม้ ๒ ชั้น ๕.หอระฆังหลังใหม่ เริ่มลงมือก่อสร้างเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๗ ทำด้วยคอนกรีต ปริมาณงานได้ประมาณ ๕๐ % ปัจจุบันหยุดการก่อสร้างเนื่องจากไม่มีทุนทรัพย์มาดำเนินการก่อสร้างต่อ ๖.กุฎี ๖.๑หลังที่๑ ลักษณะ ๒ชั้นใต้ถุนโล่ง มีจำนวนห้องพักหลายห้อง(หลังใหญ่ทางด้านทิศตะวันตก) สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ สมัยพระภิกษุเรียนเป็นเจ้าอาวาส๖.๒หลังที่๒ มีลักษณะ๒ชั้นทำด้วยไม้ยกพื้นสูง ๕๐ ซ.ม.ประตูเหล���กยืด (ติดกับกุฎีหลังใหญ่)สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๐ สมัยพระครูชัยสรโสภณ สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาท (สามหมื่นบาท)๖.๓ หลังที่๓ ลักษณะยกพื้นสูง ๑ เมตร ทำด้วยไม้ (หลังที่ ๓ นับจากทางทิศตะวันตก) สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ สมัยพระสัมพันธ์เป็นเจ้าอาวาสสิ้นค่าใช้จ่ายและค่าก่อสร้างประมาณ ๒,๐๐๐ บาท (สองพันบาท) และ (หลังที่๔ ลักษณะ ทำด้วยไม้ ๒ ชั้นใต้ถุนโล่ง (อยู่มุมวัดทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ สมัยพระสัมพันธ์เป็นเจ้าอาวาสสิ้นค่าใช้จ่ายและค่าก่อสร้างประมาณ ๒,๐๐๐ บาท (สองพันบาท) ปัจจุบันได้รื้อถอนแล้วสร้างกุฎีหลังใหม่ทดแทน)๖.๔ หลังที่๔ ลักษณะก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว หลังคามุงกระเบื้อง ประตูเหล็กยืด สร้างโดยนายล้วน เสมาทอง (หลังที่ ๔ นับจากทางทิศตะวันตก)๖.๕ หลังที่๕ ลักษณะก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว หลังคามุงกระเบื้อง ประตูเหล็กยืด สร้างโดยพระพิชัย นายตราสินทร์ นางหนูริ้ว ฦาศักดิ์ (หลังที่ ๕ นับจากทางทิศตะวันตก)๖.๖ หลังที่๖ ลักษณะก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว หลังคามุงกระเบื้อง ประตูไม้ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก๖.๗ หลังที่๗ ลักษณะก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว หลังคามุงกระเบื้อง ประตูไม้ สร้างโดยพระนาวิน ลือกำลัง ตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ๗.ศาลาเอนกประสงค์ ลักษณะก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว หลังคามุงกระเบื้อง ประตูเหล็กยืด ตั้งอยู่ติดกับกุฎีหลังที่๖ ติดไปทางทิศเหนือ ๘.หอถังสูงประปา ทำด้วยคอนกรีต ลักษณะเป็นถังเก็บน้ำข้างบนเพื่อจ่ายน้ำตามระบบท่อภายในวัด ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ๙.โรงเรียนปริยัติธรรม ลักษณะทำด้วยไม้ ชั้นเดียว สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๔,๐๐๐ บาท (สี่พันบาท) ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้วเนื่องจากเสื่อมสภาพตามกาลเวลาทำเนียบเจ้าอาวาส ตั้งแต่องค์แรกถึงองค์ปัจจุบัน๑.พระอธิการยาเพชร๒.พระครูหลักคำ๓.พระอธิการซา๔.พระอธิการเส็ง๕.พระอธิการรัง๖.พระอธิการซน๗.พระอธิการคำมี๘.พระอธิการบุญมา จิตสาภโท๙.พระอธิการพ้วย ฐิติปัญฺโญ๑๐.พระอธิการเจียง จิตฺตโม พ.ศ.๒๔๗๑ - ๒๔๘๔๑๑.พระอธิการพิมพ์ พ.ศ.๒๔๘๔ - ๒๔๘๗๑๒.พระอธิการพล พ.ศ.๒๔๘๗ - ๒๔๙๐๑๓.พระอธิการดี พ.ศ.๒๔๙๐ - ๒๕๐๐๑๔.พระอธิการเรียน ๑๕.พระอธิการโอกาส๑๖.พระอธิการคำพันธ์๑๗.พระอธิการดี๑๘.พระครูชัยสรโสภณ๑๙.พระอธิการสัมพันธ์๒๐.พระมหาถวิล๒๑.พระสุดใจ ภทฺทปญฺโญ๒๒.พระพิชัย ฐานจาโร (รักษาการเจ้าอาวาส)๒๓.พระจวน สิงหกำพล (รักษาการเจ้าอาวาส)๒๔.พระดาวเรือง(เต่า) เศียรเขียว (รักษาการเจ้าอาวาส)๒๕.พระถนัด คุณกาโร (รักษาการเจ้าอาวาส)๒๖.พระอธิการท้วม๒๗. พระอธิการถนัด คุณกาโร๒๘.พระทองอินทร์ ฐานธมฺโม (รักษาการเจ้าอาวาส)



    หลักฐานอ้างอิง ได้จากคำบอกเล่าของ
    ๑. นายสี สุหญ้านาง ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว๒. นายสุพรรณ ฦาชา อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านเป้า(สำราญไชยวิทยา) ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว๓. นายเชษฐ์ สนั่นเมือง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเป้า(สำราญไชยวิทยา) ผู้รวบรวมข้อมูล๔. และชาวบ้านในหมู่บ้านเป้า

    มีต่อ...เรื่องเล่าบ้านเป้า(3)

Trackbacks

Total Trackbacks 0
Trackback URL: