มาลัยศรี

ไกลบ้านครั้งแรกของชีวิต

Rate this Entry
จบม.ศ.5 สอบเอ็นทรานสามที่ไม่ติดซักที่ เป็นไงล่ะเด็กเก่งโรงเรียนบ้านนอกเรา ถือว่าเจ๋งสุดแต่สอบเอ็นฯไม่ติดไม่เป็นไรมีสิทธิ์สำรองคือ"วิทยาลัยรำไพพรรณี" จังหวัดจันทบุรีไปเรียนได้เลยไม่ต้องสอบแข่งขันเหมือนคนอื่น พีติ่งก็เลยได้เรียนที่ วิทยาลัยรำไพพรรณี ตอนนั้นเป็นวิทยาลัยอยู่ ยังไม่ได้เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีเหมือนปัจจุบันนี้ เดินทางวันแรกมีพ่อไปส่ง อาจารย์ให้พักในหอพักหญิง เด็กแรกเข้าต้องพักที่หอหนึ่งคือหอเด็กใหม่ หน้าหอมีศาลาสวยงามไว้ให้แขกที่จะมาขอพบนักศึกษาหญิงในหอนั่งรอ พี่กับพ่อก็นั่งที่ศาลาจนเกือบห้าโมงเย็น เพราะไม่ยอมให้พ่อกลับและก็ไม่รู้ว่าต้องให้พ่อนอนที่ไหนด้วย คนแรกที่ได้คุยคือพี่วีระเป็นคนจังหวัดอุบลฯพี่เขาลาศึกษาต่อสองปีสมัยนั้นกระทรวงให้ครูลาเรียนต่อจนจบปริญญาตรีได้ พ่อก็เลยได้ไปพักกับพี่วีระ พ่อต้องอยู่ให้พี่ได้เจอหน้าต่ออีก 6 วัน จะกลับวันไหนก็ร้องไห้ตามจะไม่เรียน ตอนร้องไม่สนใจใครด้วย คือไม่อาย รู้แต่ถ้าพ่อกลับเมื่อไหร่เรากลับด้วย ห่างพ่อแม่ไม่ได้ ไม่เคย (ลูกสาวหล่าเนาะ) วันที่ 6 พ่อไม่ทำตามกติกาที่ตกลงกันไว้ว่าแอบหนีกลับตั้งแต่เช้าเราไปหาพ่อที่ห้องพักพี่วีระ พ่อมีแต่จดหมายไว้ให้อ่านฉบับเดียว หลายคนปลอบใจให้เข้มแข็ง แต่มีอยู่เสียงเดียวที่ทำให้เราหยุดร้องไห้ได้ คือผู้ชายคนหนึ่งเรามองไป เอ๊ะไอ้นี่เรียนอยู่เอกเดียวกันกับเรานี่หว่าห้องเดียวกันด้วย เมื่อวานยังได้ฟังแนะนำตัวกันอยู่เลย เขาพูดว่า "เอกภาษาไทย คงลดลงอีกคนหนึ่ง เรียนต่อไม่ได้แน่ๆเพราะแค่ห่างอกพ่อแม่มาเรียนแค่นี้ยังร้องไห้ไม่คิดจะหยุดอย่างนี้ ไม่อายคนอื่นเลย พึ่งเคยเห็นว่ะ" นี่คำพูดของคนแปลกหน้าที่เราต้องทำความรู้จักเขาอีกคน หยุดได้เลยฮึดขึ้นสู้ ทำใจคิดถึงไว้ค่อยกลับไปเยี่ยมบ้านก็ได้ แค่สองอาทิตย์ทุกอย่างเข้าสู่สภาพความคุ้นเคย รู้จักร้านค้าขายข้าวตั้งแต่ร้านแรกจนร้ายสุดท้าย เพื่อนร่วมห้องเรียน เพื่อนร่วมห้องในหอ ยายติ่งคุยกับเขาไปหมด จากที่เราเป็นคนไม่เก็บตัว และรู้จักกลุ่มครูที่เขาลาศึกษาต่อตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาเหยียบในวิทยาลัยฯก็เลยทำให้คนรู้จักเยอะ และเราก็เริ่มสังเกต คนอีสานหลายคนที่ไม่ยอมเปิดเผยตัวเองว่าเป็นคนอีสาน บางคนก็ไม่พูดอีสาน บอกบ้านอยู่ในเมือง เอ..ทำไมไม่เหมือนบ้านเราวะ เว่าลาวฮอดเจ็กขายของในตลาด เดือนแรกผ่านไปเริ่มสนิทกับเพื่อนๆหลายคนทั้งหญิงและชาย ส่วนมากจะเป็นคนอีสานด้วยกันหลังเลิกเรียนตอนเย็นเราก็จะชวนเพื่อนๆเดินไปไหว้ "พ่อปู่โป่งลาง" ที่สักการะบูชาของทุกคนที่อยู่ในวิทยาลัยแห่งนี้ และเราก็สังเกตเห็นกอไผ่เยอะมาก ไปดูหน่อไม้เต็มเลย และใกล้กับพ่อปู่ก็มีบ้านพักของพวกนักศึกษาเอกเกษตร ถามดูก็เป็นคนอีสานด้วยกันทั้งนั้น พอสนิทสนมแล้วเราก็จะไปเก็บหน่อไม้มาแกงกินกันเอร็ดอร่อย ได้ความสามัคคีกันเพิ่มขึ้นอีก เพื่อนผู้หญิงด้วยกันหลายคนก็ปิ๊งกันเองในกลุ่มเพื่อนแต่พี่คิดอยู่อย่างเดียวว่าเราคือเพื่อนกัน และต้องรักสามัคคีกันกับคนอีสานด้วยกัน เพื่อนเยอะมากสไตล์เดิม พูดเสียงดัง ฟังชัด รักเพื่อน พี่ชายเป็นคนส่งให้เรียนเดือนหนึ่งส่งให้เดือนละ 800- 1200 บาท ติ่งพอใช้ เป็นเรื่องจริง พี่บอกว่าถ้าขอเพิ่มก็ไม่ได้เพราะภาระเยอะมากเช่นกัน จากเงินเดือนครูสมัยนั้นไม่กี่พันบาท และบรรจุครูใหม่ๆด้วย เจียดค่าใช้จ่ายให้น้อง และต้องผ่อนรถมอเตอร์ไซด์ด้วย เราก็เข้าใจ ทีนี้เริ่มหารายได้พิเศษในวิทยาลัย บ้านอาจารย์ท่านหนึ่งรับทำขนมสำหรับส่งให้รถทัวร์พรนิภาทัวร์ โดยแพ็คใส่กล่อง โดยจะมีรถของบริษัทนี้มารับกล่องขนมเป็นประจำ ขนมที่ทำก็มีขนมกลีบลำดวนอบเทียน (หอม อร่อยมาก) มีคุ้กกี้บ้าง เรารู้จักกับพี่อ้วนที่เป็นแม่บ้านอยู่บ้านอาจารย์ท่านนี้เป็นคนจังหวัดมหาสารคาม(อ้าวคนบ้านเดียวกันตั่วนี่)ไม่รีรอเลยเดินไปถามอาจารย์เลยว่าหนูขอมาช่วยอาจารย์ทำขนมได้ไหมคะ หนูอยากหารายได้พิเศษไว้จ่ายค่าหอพักค่ะ (ค่าหอเดือนละ 400 บาท) อาจารย์ตกลงให้ไปช่วยตอนเลิกเรียนหรือว่างตอนไหนก็ให้เข้าไปดูทำอะไรได้ก็ทำ ไม่เหนื่อยแต่มีความสุขลดกิจกรรมการเดินหาหน่อไม้มาเป็นคนทำขนมดูเก่งและเท่ดีออก เพื่อนๆที่เคยเดินเล่นด้วยกันหลังเลิกเรียนบ่นว่าเหงาตามๆกัน..ทำไงได้ก็บ้านเรามันจน พอขนมเหลือจากแพ็คอาจารย์ก็จะให้มากินที่หอ ให้หลายอย่างรวมกันบางทีก็เป็นโลครึ่งโล ตอนแรกแบ่งเพื่อนกินแต่ตอนหลังเริ่มงก เอ..เราน่าจะแพ็คใส่ถุงเล็กๆไปเดินขายตามหอยังได้เงินเพิ่มอีก และก็ลงทุนซื้อเตาไฟฟ้า (50 บาท) ซื้อมาม่ามา 1 ลัง ติดประกาศหน้าห้องว่า ห้องนี้มีมาม่าขาย แถมน้ำร้อนด้วย ได้ขนมจากอาจารย์มาก็มาแพ็คใส่ถุงทีละ 8-10 ถุงผสมกันไป กิจการดี เริ่มงกอีกเพราะจังหวัดจันทบุรีวันหนึ่งมีสามฤดูเดี๋ยวฝน เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว มีพี่สาวทำงานที่กรุงเทพฯนี่หว่า เราก็เขียนจดหมายเล่าให้ฟังว่าเราซื้อขนม ซื้อมาม่ามาขายในหอขายดีมาก หอหญิงหอไหนไม่มีคนขายเราก็จะลงทุนซี้อเอาไปฝากเพื่อนขายให้ และบอกพี่สาวซื้อพวกชุดนอน ร่มสวยๆจากกรุงเทพฯมาให้ เดินตามหอพักให้เพื่อนๆผ่อน กิจการเริ่มใหญ่ขึ้นเงินจากพี่ชายแทบไม่ได้ใช้ เรียนด้วยความสบายใจเพราะเราไม่มีปัญหาอะไรให้คิดมาก เปรียบกับเพื่อนหลายคนบางทียังไม่ถึงเดือนเลยไม่มีเงินกินข้าวแล้ว ลูกหนี้ติดค่ามาม่าเพรียบ ไม่ได้ๆพอต้นเดือนก็เดินเก็บใครจ่ายดีเครดิตก็ดี แต่ไม่เคยใจร้ายกับใครเป็นอู่ข้าวอู่น้ำให้เพื่อนๆเหมือนเดิม คิดย้อนไปถึงห่อข้าวสมัยเรียนมัธยมเหมือนกัน มันส่งผลกับการคิดดี ทำดี และปรารถนาดีกับทุกคนจริงๆ กิจกรรมตอนเรียนปีหนึ่งได้ถูกคัดเลือกให้เป็นรองประธานชมรม มีความโดดเด่นคือ รุ่นพี่ได้ประชุมหารือกันว่าคนอีสานบ้านเรามาเรียนที่นี่เยอะมาก หลายร้อยคน แต่บางคนก็ไม่รู้จักกันทั้งที่รู้จักกัน ต่างคนต่างอยู่มีปัญหาก็หลายอย่างแต่เรารวมกันไม่ได้ พี่ๆที่เป็นครูลาศึกษาต่ออย่างพี่วีระ พี่โอวาท พี่มานะ พี่ระวิวรรณ ฯลฯหลายคน ก็เลยคิดตั้งชมรมขึ้นมาโดยให้ชื่อว่า "ชมรมโฮมต้อมหมู่เฮา" ร่างวัตถุประสงค์ บอกผลจะได้รับทุกอย่างละเอียดเสนอต่ออธิการบดี ท่านบอกไม่ให้ผ่านเพราะชื่อนี้เหมือนรวบรวมเอาเฉพาะกลุ่มตน ขาดความสัมพันธ์ที่ดีต่อภาคอื่น พวกเราก็เลยเปลี่ยนชื่อว่า "ชมรมอีสานสัมพันธ์" เราอยู่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ชมรม ทำอย่างไรคนจะเข้าร่วมชมรมเราเยอะๆ โดยเราไม่เจาะจงว่าเป็นคนอีสานอย่างเดียวคนภาคอื่นก็ได้ มีนักศึกษาเลือกเข้าชมรมเราเยอะมาก เพราะมีแรงดึงดูดใจอย่างหนึ่งคือเราบอกว่าวันจัดงานจะจ้างวงโปงลางของจังหวัดกาฬสินธุมาแสดง แต่เราก็ทำจริงจัดงานครั้งแรกปีแรก ตอนกลางวันเราจัดนิทรรศการผ้าไหมของภาคอีสาน ทุกคนที่บอกว่าบ้านตัวเองมีให้กลับมาบ้านหรือประสานทางบ้านให้ส่งมาให้ เรารวบรวมเตรียมตัวกันเป็นเดือนงานครั้งแรกก็เกิดขึ้น ผ้าไหมที่นำมาจัดนิทรรศการขายหมดตั้งแต่ห้าโมงเย็นบางคนได้เงินหลายพันบาทส่งกลับไปให้พ่อแม่คืน โดยเฉพาะผ้าซิ่นไหมตีนแดงปีนั้นขายหมดก่อนเพื่อนเลย ผู้นำมาชื่ออิ๋วเรียนเอกอังกฤษเราจำไม่ได้ว่าเธอชื่อจริงว่าอะไร พวกแคนน้อยเครื่องดนตรีพื้นบ้านของวิทยาลัยครูกาฬสินธุ์นำมาแสดงด้วยก็ขายดีเกลี้ยงหมดทุกอย่างเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกและครั้งเดียวที่ประทับใจมาก กลางคืนมีโปงลางแสดงพวกเราให้เพื่อนนักศึกษาชวนและบอกต่อคนข้างนอกมาดูได้คนแน่นโรงยิมแทบไม่มี่เบียดกันสนุกมาก อธิบการบดีเป็นประธานกล่าวเปิดงาน พี่วีระเป็นผู้อ่านรายงาน อธิการบดีกล่าวชมพวกเราทุกคน ให้พวกเราติดป้ายชื่อที่น่าอกไว้ให้รู้ว่าใคร อยู่ฝ่ายไหน รู้สึกว่าเราจะถูกอ่านชื่อบ่อยที่สุดเพราะเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์หน้าบานสิคะ เหมือนๆจะลอยได้ด้วยตอนนั้น
ทีนี้เป็นเรื่องขำๆถ้าจะพูดก็หลายเรื่องมากเล่าไม่จบเพราะเก่งในด้านสร้างวีรกรรมสนุกๆ มีอยู่วันหนึ่งเราเดินไปไหว้พ่อปู่โป่งลางเพราะใกล้สอบปลายภาค แวะหาเพื่อนๆเอกเกษตรที่บ้านพักและมีหน้าที่เลี้ยงวัวด้วยถึงจะได้พักฟรี เพื่อนๆนั่งเหงาหงอย ซึมเศร้า เป็นอะไรกันวะ หันหน้ามาดีใจที่เห็นเรา อ๋อ..รู้แระพวกมึงเห็นหน้าข้าเป็นธนาคารเคลื่อนที่ ไม่รวยหรอกแต่ให้ยืมได้ถึงวันไม่จ่ายตามตกลงต่อไปก็ไม่ให้กฏเป็นกฏ ตกลงกันยอมรับได้ถึงให้ยืม ก็ไม่เคยมีใครมีปัญหาอะไรเพราะทุกคนมีเงินจากทางบ้านส่งมาให้ทุกเดือนอยู่แล้ว. นั่งคุยกันสัพเพเหระความคิดสัปดนเราก็เกิดขึ้น พวกต้อนวัวเข้าคอกหลายตัวเราก็เลยพูดเล่นๆว่าทำไมไม่เชือดกินสักตัวไล่มันตกเขื่อนก็ได้ตั๊ว..เพิ่นว่า ก็ไปบอกอาจารย์ว่าวัวตกเขื่อนน้ำตอนไหนไม่รู้ เพื่อนทำตามโว๊ย..ไอ้ต้อมคนกาฬสินธ์มันเล่นเลยเลือกเอาตัวที่พอดีๆไล่ต้อนวัวตกน้ำ พอรู้ว่ามันจะจมมิจมแหล่ให้เพื่อนเอาเชือกไปผูกขาแล้วก็ช่วยกันฉุด ตัวมันก็วิ่งไปบอกอาจารย์ซิกที่ดูแลวัวของเอกเกษตรอยู่ให้รู้ อาจารย์ก็ขับรถมากับมัน เห็นหลายคนพยายามช่วยกันอยู่จนเอาวัวขึ้นมาได้ อาจารย์ก็พิเรนอ่ะบอก เออ..พวกมึงทำมันเลยเขาเดินบนบกกัน แต่มันจะไปเดินในน้ำ จัดการมันก็ได้ วันนั้นทั้งลาบ ก้อย ซอยแซ ทั้งปิ้งทั้งย่าง กินกันจนดึก ขออโหสิกรรมให้เราด้วยนะ..เราแค่พูดแต่ไอ้ต้อมมันเป็นคนทำ...เพื่อนคนหนึ่งแซวขึ้นมาบอกว่า ติ่งมึงบ่เฮ็ดเนื้อแห้งไปขายอยู่หอเบาะ มันว่า ประชดหรือว่าหวังดีวะนี่ แต่เราก็ไม่ได้ทำหรอก แค่กินจนอิ่ม และก็เดินไปกินทุกวันกับเพื่อนตอนเลิกเรียนแค่นั้น ประหยัดค่าข้าวไปเป็นอาทิตย์สองอาทิตย์..
นี่แหละบรรยากาศโดยรวมตอนเรียนหนังสือ ถ้ามีเวลาเราจะเล่าให้ฟังต่อตอนจบและทำงานว่ามันจะสนุกขนาดไหน ชีวิตไม่ใช่มีแต่สนุกนะ บางครั้งก็อาบด้วยน้ำตาเหมือนกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นเราต้องมีสติ "ความสุข อยู่ที่วิธีคิด" คำพูดนี้ถูกต้องสำหรับเราเสมอ..ไว้เจอกันใหม่ค่ะ พี่ติ่ง บุรีรัมย์:*-

Submit "ไกลบ้านครั้งแรกของชีวิต" to แชร์ไปที่ Facebook Submit "ไกลบ้านครั้งแรกของชีวิต" to แชร์ไปที่ Twitter Submit "ไกลบ้านครั้งแรกของชีวิต" to แชร์ไปที่ Printerest

แท็ก: ไม่มี แก้ไข Tags คำค้นหา
Categories
Uncategorized

Comments

Trackbacks

Total Trackbacks 0
Trackback URL: