มักน้องสาวหมู่
เมนูสุขภาพจากดอกชมจันทร์
by
, 18-10-2013 at 16:11 (1758 เปิดอ่าน)
เมนูสุขภาพจากดอกชมจันทร์
ในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมานี้ คุณแม่บ้านหลาย ๆ ท่าน ที่ต้องไปจ่ายตลาดด้วยตัวเอง คงเคยได้เห็นดอกไม้สีเขียวอ่อน ๆ รูปร่างหน้าตาน่ารักตามรูปนี้กันบ้างใช่ไหมคะ หรือนักชิมหลาย ๆ ท่านคงอาจเคยเห็นเมนูที่ทำจากเจ้าดอกหน้าตาแบบนี้ผ่านตากันมาบ้าง ผู้เขียนเองได้รู้จักดอกไม้นี้ครั้งแรกเมื่อประมาณ 5 – 6 ปีที่แล้ว กับเมนู “ดอกไม้จีนสดไฟแดง” ณ ร้านอาหารชื่อดัง แห่งหนึ่ง แถว ๆ เขาใหญ่ ด้วยความตื่นตาตื่นใจ ประกอบกับความสนใจว่าเจ้าดอกหน้าตาน่ารักแบบแปลก ๆ นี้นั้น จะมีสรรพคุณอะไรบ้าง ผู้เขียนจึงได้ศึกษาหาข้อมูล จนได้ทราบเบื้องต้นว่า จริง ๆ แล้ว เจ้าดอกไม้ชนิดนี้ คือ “ดอกชมจันทร์” นั่นเอง ซึ่งก็ไม่ใช่ดอกไม้ที่นำมาทำดอกไม้จีนแห้งตามที่เข้าใจในตอนแรกแต่อย่างใด มาทำความรู้จักเจ้าดอกชมจันทร์ และคุณประโยชน์ของมันกันดีกว่า
ดอกชมจันทร์ หรือ ดอกพระจันทร์ (Moonflower) เป็นดอกไม้ของไม้เลื้อยที่ถูกจัดไว้ในวงศ์ Convolvulaceae สกุล Ipomoea มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ipomoea alba L. ถิ่นกำเนิดของ “ชมจันทร์” อยู่ในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ต่อมาถูกนำไปปลูกแพร่หลายทั้งพื้นที่เขตร้อนและเขตอบอุ่นของสหรัฐอเมริกาออสเตรเลียและเอเชีย พืชสกุลนี้มีหลายร้อยชนิดบางชนิดปลูกเป็นไม้ประดับ เช่น มอร์นิ่งกลอรี่ (Morningglory) บางชนิดปลูกเป็นทั้งไม้ประดับ และใช้เป็นอาหาร เช่น ดอกตูมของต้นชมจันทร์
ต้นชมจันทร์เป็นไม้เลื้อยที่มีอายุหลายปี (ปลูกในเขตร้อน) แต่ถ้าปลูกเขตที่อากาศค่อนข้างหนาวมีการปลูกเป็นไม้ประดับปีต่อปี ความสูงของต้นชมจันทร์ขึ้นอยู่กับค้างที่ทำให้ยึดเกาะ ลักษณะต้นและใบคล้ายกันกับต้นมอร์นิ่งกลอรี่ คือ มีใบเป็นรูปหัวใจสีเขียวเข้ม ชมจันทร์ออกดอกบริเวณซอกก้านใบ ความยาวของดอกตูมประมาณ 10-15 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของดอกบานประมาณ 11-14 เซนติเมตร ดอกมีสีขาวและมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ กลีบดอกทั้ง 5 กลีบเชื่อมติดกันดอกจะบานตั้งแต่ช่วงเย็นจนถึงกลางคืน และจะหุบในตอนเช้านี่น่าจะเป็นที่มาของชื่อว่า ชมจันทร์
ส่วนผลของต้นชมจันทร์มีลักษณะคล้ายดอกบัวตูมขนาดเล็กมีเมล็ดอยู่ภายใน 2-4 เมล็ด ใช้สำหรับการขยายพันธุ์ ไม่เป็นที่ทราบอย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยเริ่มมีการเพาะปลูกต้นชมจันทร์ตั้งแต่เมื่อใด โดยพบว่ามีปลูกบางพื้นที่ของภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการนำดอกตูมมากินเป็นอาหาร
นอกจากนี้ มีการนำดอกตูมจำหน่ายในร้านผักปลอดสารพิษที่จังหวัดอุดรธานี โดยจำหน่ายร่วมกับผักปลอดสารพิษอื่น ๆ เช่น ผักหวานบ้าน และเรียกดอกชมจันทร์ว่า ดอกไม้จีน ซึ่งโดยความจริงแล้วเป็นพืชคนละชนิดกันเลยนะคะ
ปัจจุบัน ดอกชมจันทร์ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น สถานีวิจัยลำตะคอง (สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย) อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา จึงได้ทำการทดลองปลูกต้นชมจันทร์ โดยได้นำเมล็ดพันธุ์มาจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อพิจารณาถึงความแตกต่างหรือความแปรปรวนของสายพันธุ์ที่อาจจะมีอยู่บ้าง และจะทำการทดลองผสมพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์ที่มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ในการเพาะปลูกต้นชมจันทร์นั้น ก็ไม่ยุ่งยาก แถมยังเป็นพืชที่ไม่ค่อยมรแมลงมารบกวน จึงไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช ดอกชมจันทร์จึงจัดว่าเป็นพืชที่น่าสนใจในการนำมาทำหาร และแสนจะปลอดภัยจากสารเคมีอีกด้วยนะคะ
การกินดอกชมจันทร์ จะกินในลักษณะที่เหมือนการกินผัก เนื่องจากมีรสชาติหวานเล็กน้อย เช่น นำมาผัดกับน้ำมันหอย นำมาลวกสำหรับทำยำ หรือจิ้มกับน้ำพริก นำมาชุบแป้งทอด และยังสามารถใช้ประกอบอาหารอื่น ๆ ได้ตามความเหมาะสม แต่ยังไม่มีรายงานว่ามีการกินดอกสดของต้นชมจันทร์นี้
ดอกชมจันทร์ยังมีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อน ๆ บางคน (ถ้ากินมาก) อาจมีอาการคล้ายท้องเสียได้ สถานีวิจัยลำตะคองจึงได้ส่งตัวอย่างดอกชมจันทร์ไปวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการที่สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีรายงานคุณค่าทางโภชนาการในแง่พลังงาน และสารอาหารรองอื่น ๆ ของดอกชมจันทร์ 100 กรัม ดังนี้
พลังงาน (กิโลแคลอรี) ผลการวิเคราะห์ 34.96
วิตามินบี 1 (มิลลิกรัม) ผลการวิเคราะห์ 0.04
แคลเซียม (มิลลิกรัม) ผลการวิเคราะห์ 22.78
วิตามินบี 2 (มิลลิกรัม) ผลการวิเคราะห์ 0.05
ฟอสฟอรัส (มิลลิกรัม) ผลการวิเคราะห์ 38.42
วิตามินบี 3 (มิลลิกรัม) ผลการวิเคราะห์ 1.25
เหล็ก (มิลลิกรัม) ผลการวิเคราะห์ < 0.05
วิตามินซี (มิลลิกรัม) ผลการวิเคราะห์ <0.90
วิตามินเอ (g) ผลการวิเคราะห์ 136.11
โคเอนไซม์คิว (มิลลิกรัม) ผลการวิเคราะห์ <0.28
ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้วิเคราะห์ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ พบว่าน้ำที่คั้นได้จากดอกชมจันทร์มีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง และยังได้วิเคราะห์หาปริมาณของสารที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งได้แก่ ปริมาณฟีโนลิกทั้งหมด และปริมาณวิตามินซีของดอกชมจันทร์ ซึ่งมีค่าเท่ากับ 0.32 มิลลิกรัม Gallic acid equivalent/100 กรัม และ 0.98 มิลลิกรัม/100 กรัม ตามลำดับอีกด้วย
จากผลการวิเคราะห์จึงพบสรรพคุณดอกชมจันทร์ ดังนี้
1.ดอกชมจันทร์เป็นผักที่ไขมันต่ำและมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ เหมาะแก่ผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก
2.ดอกชมจันทร์มีธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส และยังประกอบด้วยวิตามินต่าง ๆ ได้แก่ วิตามินเอ บี เป็นต้น ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย
3.ดอกชมจันทร์มีสรรพคุณแก้ร้อนใน บำรุงเลือด ป้องกันโรคโลหิตจาง ป้องกันโรคดีซ่าน ขับปัสสาวะ และบรรเทาริดสีดวงทวาร ขณะที่เกสรดอกชมจันทร์มีสรรพคุณช่วยบำรุงประสาท ช่วยให้ผ่อนคลายทำให้สดชื่น และมีฤทธิ์เป็นยานอนหลับอ่อน ๆ จึงช่วยให้หลับสบาย
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วท่านผู้อ่านที่รักสุขภาพ คงได้ทำความรู้จักกับเจ้าดอกชมจันทร์กันมากขึ้น จนอยากจะหาเมนูดอกชมจันทร์มาทานกันในมื้อถัด ๆ ไปกันแล้วใช่ไหมคะ ทั้งมีคุณค่าทางอาหาร มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ แถมยังมีสารต้านอนุมูลอิสระด้วย สารเคมีใรการเพาะปลูกก็แทบไม่ต้องใช้ ปลอดภัยและมีประโยชน์อย่างนี้ อย่าลืมหาโอกาสนำดอกชมจันทร์มาทำเป็นเมนูเด็ด ๆ ไว้ทานกันบ้างก็ดี
PrincessFangy
twitter.com/PrincessFangy
เนื้อหาบางส่วนจาก http://www.doctor.or.th/
เดลินิวส์ออนไลน์, ศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2556
http://www.dailynews.co.th/article/825/241069