มหาสติปัฏฐานสูตร จากพระพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค (คัดลอกเพียง"พระสูตร"ธรรมที่กล่าวตรงจากพระสัมมาสัมพุทธองค์) อุทเทสวาร [ ๒๗๓ ] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ในหมู่ชนชาวกุรุ นิคมของหมู่ชนชาวกุรุ ชื่อ กัมมาสทัมมะ ในกาลนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดังนี้ ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นทูลรับพระพุทธพจน์ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าพระเจ้าข้า ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสพระพุทธภาษิตนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความหมดจดวิเศษของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อความก้าวล่วงซึ่งความโศกและความร่ำไร เพื่ออัสดงค์ดับไปแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อกระทำพระนิพพานให้แจ้ง ทางนี้คือสติปัฏฐาน ( ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ ) ๔ อย่าง สติปัฏฐาน ๔ อย่างเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่ มีความเพียร(อาตาปี) มีสัมปชัญญะ(สมฺปชาโน) มีสติ(สติมา) นำอภิชฌาและโทมนัส(ความยินดียินร้าย)ในโลกเสียให้พินาศ เธอย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียให้พินาศ เธอย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัส ในโลกเสียให้พินาศ เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียให้พินาศ กายานุปัสสนา อานาปานบรรพ [ ๒๗๔ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่ อย่างไรเล่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปแล้วสู่ป่าก็ดี ไปแล้วสู่โคนไม้ก็ดี ไปแล้วสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์( ขัดสมาธิ ) ตั้งกายตรงดำรงสติเฉพาะหน้า เธอย่อมมีสติ หายใจเข้า ย่อมมีสติ หายใจออก เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว หรือเมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น หรือเมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร(คือลมหายใจเข้าและหายใจออก) หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจออก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ฉันใด นายช่างกลึง หรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ฉลาด เมื่อชักเชือกกลึงยาว ก็รู้ชัดว่าเราชักเชือกกลึงยาว หรือเมื่อชักเชือกกลึงสั้น ก็รู้ชัดว่า เราชักเชือกกลึงสั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นนั่นแหละ เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว หรือเมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น หรือเมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจออก ดังนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย เป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย เป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเสื่อมไปในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมไปในกายบ้าง ก็หรือสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่ากายมีอยู่ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่อย่างนี้ อิริยาบถบรรพ [ ๒๗๕ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุเมื่อเดินอยู่ ก็รู้ชัดว่า เราเดิน หรือเมื่อยืน ก็รู้ชัดว่า เรายืน หรือเมื่อนั่ง ก็รู้ชัดว่า เรานั่ง หรือเมื่อนอน ก็รู้ชัดว่า เรานอน อนึ่งเมื่อเธอนั้น เป็นผู้ตั้งกายไว้ แล้วอย่างใดๆ ก็ย่อมรู้ชัดอาการกายนั้น อย่างนั้นๆ ดังนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย เป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายในภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเสื่อมไปในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมไปในกายบ้าง ก็หรือสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่ากายมีอยู่ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่อย่างนี้ สัมปชัญญบรรพ [ ๒๗๖ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ( ความเป็นผู้รู้พร้อม ) ในการก้าวไปข้างหน้า และถอยกลับมาข้างหลัง ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ในการแลไปข้างหน้า แลเหลียวไปข้างซ้ายข้างขวา ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ในการคู้อวัยวะเข้า เหยียดอวัยวะออก ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ในการกิน ดื่ม เคี้ยว และลิ้ม ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด และความเป็นผู้นิ่งอยู่ ดังนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย เป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็น กายในกายเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายในภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเสื่อมไปในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมไปในกายบ้าง ก็หรือสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่ากายมีอยู่ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่อย่างนี้ ปฏิกูลมนสิการบรรพ [ ๒๗๗ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุย่อมพิจารณากายนี้นี่แล เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า มันสมอง น้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลายน้ำมูก ไขข้อ น้ำมูตร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไถ้ ( ถุงยาวๆ สำหรับใส่เงินหรือสิ่งของ ) มีปาก ๒ ข้าง เต็มด้วยธัญญชาติ มีประการต่างๆ ด้วย ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง งา ข้าวสาร บุรุษมีจักษุแก้ไถ้นั้นออกแล้วพึงเห็นได้ว่า เหล่านี้ข้าวสาลี เหล่านี้ข้าวเปลือก เหล่านี้ถั่วเขียว เหล่านี้ถั่วเหลือง เหล่านี้งา เหล่านี้ข้าวสาร ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นนั่นแล ภิกษุย่อมพิจารณากายนี้นี่แล เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไปเบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อยอาหารใหม่ อาหารเก่า มันสมอง น้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูกไขข้อ น้ำมูตร ดังนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย เป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็น กายในกายเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายในภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเสื่อมไปในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในกายบ้าง ก็หรือสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่ากายมีอยู่ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่อย่างนี้ ธาตุมนสิการบรรพ [ ๒๗๘ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุย่อมพิจารณากายอันตั้งอยู่ตามที่ตั้งตามปกตินี้นี่แล โดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนฆ่าโค หรือลูกมือคนฆ่าโคผู้ฉลาด ฆ่าแม่โคแล้ว พึงแบ่งออกเป็นส่วน แล้วนั่งอยู่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ฉันนั้นนั่นแล ย่อมพิจารณากายอันตั้งอยู่ตามที่ตั้งตามปกตินี้นี่แล โดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ดังนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย เป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็น กายในกายเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายในภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเสื่อมไปในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในกายบ้าง ก็หรือสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่ากายมีอยู่ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่อย่างนี้ นวสีวถิกาบรรพ [ ๒๗๙ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุเหมือนกะว่า จะพึงเห็นสรีระ ( ซากศพ ) ที่เขาทิ้งไว้แล้วในป่าช้า ตายแล้ววันหนึ่ง หรือตายแล้ว ๒ วัน หรือตายแล้ว ๓ วัน อันพองขึ้น สีเขียวน่าเกลียดเป็นสรีระมีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด เธอก็น้อมเข้ามาสู่กายนี้นี่แลว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย เป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็น กายในกายเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายในภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเสื่อมไปในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในกายบ้าง ก็หรือสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่ากายมีอยู่ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่อย่างนี้ [ ๒๘๐ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุเหมือนกะว่า จะพึงเห็นสรีระ ( ซากศพ ) ที่เขาทิ้งไว้แล้วในป่าช้า อันฝูงกาจิกกินอยู่บ้าง ฝูงแร้งจิกกินอยู่บ้าง ฝูงนกตระกรุมจิกกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขกัดกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขจิ้งจอกกัดกินอยู่บ้าง หมู่สัตว์ตัวเล็กๆ ต่างๆ กัดกินอยู่บ้าง เธอก็น้อมเข้ามาสู่กายนี้นี่แลว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย เป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็น กายในกายเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายในภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเสื่อมไปในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในกายบ้าง ก็หรือสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่ากายมีอยู่ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่อย่างนี้ [ ๒๘๑ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุเหมือนกะว่า จะพึงเห็นสรีระ ( ซากศพ ) ที่เขาทิ้งไว้แล้วในป่าช้า เป็นร่างกระดูก ยังมีเนื้อและเลือด อันเส้นเอ็นรัดรึงอยู่ เธอก็น้อมเข้ามาสู่กายนี้นี่แลว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย เป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็น กายในกายเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายในภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเสื่อมไปในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในกายบ้าง ก็หรือสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่ากายมีอยู่ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่อย่างนี้ [ ๒๘๒ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุเหมือนกะว่า จะพึงเห็นสรีระ ( ซากศพ ) ที่เขาทิ้งไว้แล้วในป่าช้า เป็นร่างกระดูก เปื้อนด้วยเลือด แต่ปราศจากเนื้อแล้ว ยังมีเส้นเอ็นรัดรึงอยู่ เธอก็น้อมเข้ามาสู่กายนี้นี่แลว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย เป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็น กายในกายเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายในภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเสื่อมไปในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในกายบ้าง ก็หรือสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่ากายมีอยู่ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่อย่างนี้ [ ๒๘๓ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุเหมือนกะว่า จะพึงเห็นสรีระ ( ซากศพ ) ที่เขาทิ้งไว้แล้วในป่าช้า เป็นร่างกระดูก ปราศจากเนื้อและเลือดแล้ว ยังมีเส้นเอ็นรัดรึงอยู่ เธอก็น้อมเข้ามาสู่กายนี้นี่แลว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย เป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็น กายในกายเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายในภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเสื่อมไปในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในกายบ้าง ก็หรือสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่ากายมีอยู่ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่อย่างนี้ [ ๒๘๔ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุเหมือนกะว่า จะพึงเห็นสรีระ ( ซากศพ ) ที่เขาทิ้งไว้แล้วในป่าช้า คือ เป็น(ท่อน)กระดูก ปราศจากเส้นเอ็นเครื่องรัดรึงแล้ว กระจายไปแล้วในทิศน้อยและทิศใหญ่ คือ กระดูกมือ(ไปอยู่)ทางอื่น กระดูกเท้า(ไปอยู่)ทางอื่น กระดูกแข้ง(ไปอยู่)ทางอื่น กระดูกขา(ไปอยู่)ทางอื่น กระดูกสะเอว(ไปอยู่)ทางอื่น กระดูกหลัง(ไปอยู่)ทางอื่น กระดูกสันหลัง(ไปอยู่)ทางอื่น กระดูกซี่โครง(ไปอยู่)ทางอื่น กระดูกหน้าอก(ไปอยู่)ทางอื่น กระดูกไหล่(ไปอยู่)ทางอื่น กระดูกแขน(ไปอยู่)ทางอื่น กระดูกคอ(ไปอยู่)ทางอื่น กระดูกคาง(ไปอยู่)ทางอื่น กระดูกฟัน(ไปอยู่)ทางอื่น กระโหลกศีรษะ(ไปอยู่)ทางอื่น เธอก็น้อมเข้ามาสู่กายนี้นี่แลว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย เป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็น กายในกายเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายในภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเสื่อมไปในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในกายบ้าง ก็หรือสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่ากายมีอยู่ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่อย่างนี้ [ ๒๘๕ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุเหมือนกะว่า จะพึงเห็นสรีระ ( ซากศพ ) ที่เขาทิ้งไว้แล้วในป่าช้า คือ เป็น(ท่อน)กระดูก มีสีขาวเปรียบด้วยสีสังข์ เธอก็น้อมเข้ามาสู่กายนี้นี่แลว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย เป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็น กายในกายเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายในภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเสื่อมไปในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในกายบ้าง ก็หรือสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่ากายมีอยู่ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่อย่างนี้ [ ๒๘๖ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุเหมือนกะว่า จะพึงเห็นสรีระ ( ซากศพ ) ที่เขาทิ้งไว้แล้วในป่าช้า คือ เป็น(ท่อน)กระดูก เป็นกองเรี่ยรายแล้ว มีในภายนอก(เกิน)ปีหนึ่งไปแล้ว เธอก็น้อมเข้ามาสู่กายนี้นี่แลว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย เป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็น กายในกายเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายในภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเสื่อมไปในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในกายบ้าง ก็หรือสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่ากายมีอยู่ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่อย่างนี้ [ ๒๘๗ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุเหมือนกะว่า จะพึงเห็นสรีระ ( ซากศพ ) ที่เขาทิ้งไว้แล้วในป่าช้า คือ เป็น(ท่อน)กระดูก ผุละเอียดแล้ว เธอก็น้อมเข้ามาสู่กายนี้นี่แลว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย เป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็น กายในกายเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายในภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเสื่อมไปในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในกายบ้าง ก็หรือสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่ากายมีอยู่ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่อย่างนี้ เวทนานุปัสสนา [ ๒๘๘ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนา(ความเสวยอารมณ์)ในเวทนาเนืองๆ อยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อเสวย สุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า บัดนี้เราเสวยสุขเวทนา เมื่อเสวย ทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่า บัดนี้เราเสวยทุกขเวทนา เมื่อเสวย อทุกขมสุขเวทนา (ไม่สุข ไม่ทุกข์ คือ อุเบกขาเวทนา) ก็รู้ชัดว่า บัดนี้เราเสวยอทุกขมสุขเวทนา หรือเมื่อเสวย สุขเวทนามีอามิส (คือเจือกามคุณ) ก็รู้ชัดว่า บัดนี้เราเสวยสุขเวทนามีอามิส หรือเมื่อเสวย สุขเวทนาไม่มีอามิส (คือไม่เจือกามคุณ) ก็รู้ชัดว่า บัดนี้เราเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส หรือเมื่อเสวย ทุกขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่า บัดนี้เราเสวยทุกขเวทนามีอามิส หรือเมื่อเสวย ทุกขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า บัดนี้เราเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส หรือเมื่อเสวย อทุกขมสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่า บัดนี้เราเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส หรือเมื่อเสวย อทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า บัดนี้เราเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส ดังนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา เป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา เป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา ทั้งภายในภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในเวทนาบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเสื่อมไปในเวทนาบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในเวทนาบ้าง ก็หรือสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่าเวทนามีอยู่ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ อยู่อย่างนี้ จิตตานุปัสสนา [ ๒๘๙ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆ อยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อนึ่ง จิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีราคะ หรือจิตไม่มีราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตไม่มีราคะ หรือจิตมีโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีโทสะ หรือจิตไม่มีโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตไม่มีโทสะ หรือจิตมีโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีโมหะ หรือจิตไม่มีโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตไม่มีโมหะ หรือจิตหดหู่ ก็รู้ชัดว่า จิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ชัดว่า จิตฟุ้งซ่าน หรือจิตเป็นมหรคต (คือ มหัคคตะจิต คือถึงความเป็นใหญ่ หมายเอาจิตที่เป็นฌาน หรือเป็นอัปปมัญญาพรหมวิหาร ) ก็รู้ชัดว่า จิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ชัดว่า จิตไม่เป็นมหรคต หรือจิตเป็นสอุตตระ (คือ กามาวจรจิต ซึ่งมีจิตอื่นยิ่งกว่า ไม่ถึงอุปจารสมาธิ) ก็รู้ชัดว่า จิตเป็นสอุตตระ หรือจิตเป็นอนุตตระ (จิตที่เป็นรูปาวจร และอรูปาวจร ) ก็รู้ชัดว่า จิตเป็นอนุตตระ หรือจิตตั้งมั่น ก็รู้ชัดว่า จิตตั้งมั่น หรือจิตไม่ตั้งมั่น ก็รู้ชัดว่า จิตไม่ตั้งมั่น หรือจิตวิมุตติ (คือ หลุดพ้นด้วยตทังควิมุตติ และวิกขัมภนวิมุตติ) ก็รู้ชัดว่า จิตวิมุตติ หรือจิตยังไม่วิมุตติ ก็รู้ชัดว่า จิตยังไม่วิมุตติ ดังนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิต เป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิต เป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิต ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในจิตบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเสื่อมไปในจิตบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในจิตบ้าง ก็หรือสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่าจิตมีอยู่ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆ อยู่อย่างนี้ ธัมมานุปัสสนา นีวรณบรรพ [ ๒๙๐ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนืองๆ อยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ นิวรณ์ ๕ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ นิวรณ์ ๕ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกามฉันท์ (ความพอใจติดใจในกามคุณอารมณ์ อันมี รูป เสียง กลิ่น รส และการสัมผัสถูกต้อง) มี ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า กามฉันท์ มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อกามฉันท์ไม่มี ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า กามฉันท์ ไม่มี ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง ความที่กามฉันท์อันยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการใดย่อมรู้ประการนั้นด้วย อนึ่ง ความละกามฉันท์ที่เกิดขึ้นแล้ว เสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย อนึ่งความที่กามฉันท์อันตนละเสียแล้ว ไม่เกิดขึ้นต่อไปได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย อนึ่ง เมื่อพยาบาท (ความมุ่งจะปองร้ายผู้อื่น) มี ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า พยาบาท มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อพยาบาทไม่มี ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า พยาบาทไม่มี ณ ภายในจิตของเรา ความที่พยาบาทอันยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย ความละพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้ว เสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย ความที่พยาบาทอันตนละเสียแล้ว ไม่เกิดขึ้นต่อไปได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย อนึ่ง เมื่อถีนมิทธะ(ความหดหู่ ความท้อถอย ไม่ใส่ใจเป็นอันดีต่ออารมณ์) มี ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า ถีนมิทธะ มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อถีนมิทธะไม่มี ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า ถีนมิทธะไม่มี ณ ภายในจิตของเรา ความที่ถีนมิทธะอันยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย ความละถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว เสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย ความที่ถีนมิทธะอันตนละเสียแล้ว ไม่เกิดขึ้นต่อไปได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย อนึ่ง เมื่ออุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ) มี ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า อุทธัจจกุกกุจจะ มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่ออุทธัจจกุกกุจจะไม่มี ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า อุทธัจจกุกกุจจะไม่มี ณ ภายในจิตของเรา ความที่อุทธัจจกุกกุจจะอันยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย ความละอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว เสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย ความที่อุทธัจจกุกกุจจะอันตนละเสียแล้ว ไม่เกิดขึ้นต่อไปได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย อนึ่ง เมื่อวิจิกิจฉา (ความสงสัยลังเลไม่แน่ใจ) มี ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า วิจิกิจฉามีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อวิจิกิจฉาไม่มี ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า วิจิกิจฉาไม่มี ณ ภายในจิตของเรา ความที่วิจิกิจฉาอันยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย ความละวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว เสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย ความที่วิจิกิจฉาอันตนละเสียแล้ว ไม่เกิดขึ้นต่อไปได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ประการนั้นด้วย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม เป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม เป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเสื่อมไปในธรรมบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในธรรมบ้าง ก็หรือสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่าธรรมมีอยู่ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือนิวรณ์ ๕ อย่างนี้แล ขันธบรรพ [ ๒๙๑ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือ อุปาทานขันธ์ ๕ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือ อุปาทานขันธ์ ๕ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ( ย่อมพิจารณาดังนี้ว่า ) อย่างนี้ รูป ( สิ่งที่ทรุดโทรม ) อย่างนี้ ความเกิดขึ้นของรูป อย่างนี้ ความดับไปของรูป อย่างนี้ เวทนา ( ความเสวยอารมณ์ ) อย่างนี้ ความเกิดขึ้นของเวทนา อย่างนี้ ความดับไปของเวทนา อย่างนี้ สัญญา ( ความจำได้ หมายรู้ ) อย่างนี้ ความเกิดขึ้นของสัญญา อย่างนี้ ความดับไปของสัญญา อย่างนี้ สังขาร ( สภาพปรุงแต่ง ) อย่างนี้ ความเกิดขึ้นของสังขาร อย่างนี้ ความดับไปของสังขาร อย่างนี้ วิญญาณ ( ความรู้ในอารมณ์ต่างๆ ) อย่างนี้ ความเกิดขึ้นของวิญญาณ อย่างนี้ ความดับไปของวิญญาณ ดังนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม เป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม เป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเสื่อมไปในธรรมบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในธรรมบ้าง ก็หรือสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่าธรรมมีอยู่ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ อุปาทานขันธ์ ๕ อย่างนี้แล อายตนบรรพ [ ๒๙๒ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ อายตนะภายใน ๖ และ อายตนะภายนอก ๖ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร อายตนบรรพภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ อายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักตาด้วย ย่อมรู้จักรูปด้วย อนึ่ง สังโยชน์ (เครื่องผูก)ย่อมเกิดขึ้น อาศัยตาและรูปทั้ง ๒ นั้นอันใด ย่อมรู้จักอันนั้นด้วย อนึ่ง ความที่สังโยชน์ อันยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้จักประการนั้นด้วย อนึ่ง ความที่ละสังโยชน์ ที่เกิดขึ้นแล้ว เสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้จักประการนั้นด้วย อนึ่ง ความที่สังโยชน์ อันตนละเสียแล้ว ย่อมไม่เกิดขึ้นต่อไปได้ด้วยประการใด ย่อมรู้จักประการนั้นด้วย ย่อมรู้จักหูด้วย ย่อมรู้จักเสียงด้วย อนึ่ง สังโยชน์ (เครื่องผูก)ย่อมเกิดขึ้น อาศัยหูและเสียงทั้ง ๒ นั้นอันใด ย่อมรู้จักอันนั้นด้วย อนึ่ง ความที่สังโยชน์ อันยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้จักประการนั้นด้วย อนึ่ง ความที่ละสังโยชน์ ที่เกิดขึ้นแล้ว เสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้จักประการนั้นด้วย อนึ่ง ความที่สังโยชน์ อันตนละเสียแล้ว ย่อมไม่เกิดขึ้นต่อไปได้ด้วยประการใด ย่อมรู้จักประการนั้นด้วย ย่อมรู้จักจมูกด้วย ย่อมรู้จักกลิ่นด้วย อนึ่ง สังโยชน์ (เครื่องผูก)ย่อมเกิดขึ้น อาศัยจมูกและกลิ่นทั้ง ๒ นั้นอันใด ย่อมรู้จักอันนั้นด้วย อนึ่ง ความที่สังโยชน์ อันยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้จักประการนั้นด้วย อนึ่ง ความที่ละสังโยชน์ ที่เกิดขึ้นแล้ว เสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้จักประการนั้นด้วย อนึ่ง ความที่สังโยชน์ อันตนละเสียแล้ว ย่อมไม่เกิดขึ้นต่อไปได้ด้วยประการใด ย่อมรู้จักประการนั้นด้วย ย่อมรู้จักลิ้นด้วย ย่อมรู้จักรสด้วย อนึ่ง สังโยชน์(เครื่องผูก)ย่อมเกิดขึ้น อาศัยลิ้นและรสทั้ง ๒ นั้นอันใดย่อมรู้จักอันนั้นด้วย อนึ่ง ความที่สังโยชน์ อันยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้จักประการนั้นด้วย อนึ่ง ความที่ละสังโยชน์ ที่เกิดขึ้นแล้ว เสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้จักประการนั้นด้วย อนึ่ง ความที่สังโยชน์ อันตนละเสียแล้ว ย่อมไม่เกิดขึ้นต่อไปได้ด้วยประการใด ย่อมรู้จักประการนั้นด้วย ย่อมรู้จักกายด้วย ย่อมรู้จักโผฏฐัพพะ(สิ่งที่พึงถูกต้องด้วยกาย)ด้วย อนึ่ง สังโยชน์(เครื่องผูก)ย่อมเกิดขึ้น อาศัยกายและโผฏฐัพพะทั้ง ๒ นั้นอันใด ย่อมรู้จักอันนั้นด้วย อนึ่ง ความที่สังโยชน์ อันยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้จักประการนั้นด้วย อนึ่ง ความที่ละสังโยชน์ ที่เกิดขึ้นแล้ว เสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้จักประการนั้นด้วย อนึ่ง ความที่สังโยชน์ อันตนละเสียแล้ว ย่อมไม่เกิดขึ้นต่อไปได้ด้วยประการใด ย่อมรู้จักประการนั้นด้วย ย่อมรู้จักใจด้วย ย่อมรู้จักธรรมารมณ์ (สิ่งที่พึงรู้ได้ด้วยใจ) ด้วย อนึ่ง สังโยชน์ ( เครื่องผูก )ย่อมเกิดขึ้น อาศัยใจและธรรมารมณ์ ทั้ง ๒ นั้นอันใด ย่อมรู้จักอันนั้นด้วย อนึ่ง ความที่สังโยชน์ อันยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้จักประการนั้นด้วย อนึ่ง ความที่ละสังโยชน์ ที่เกิดขึ้นแล้ว เสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้จักประการนั้นด้วย อนึ่ง ความที่สังโยชน์ อันตนละเสียแล้ว ย่อมไม่เกิดขึ้นต่อไปได้ด้วยประการใด ย่อมรู้จักประการนั้นด้วย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม เป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม เป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเสื่อมไปในธรรมบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในธรรมบ้าง ก็หรือสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่าธรรมมีอยู่ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ อายตนะภายนอก ๖ อายตนะภายใน ๖ อย่างนี้แล โพชฌงคบรรพ [๒๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ โพชฌงค์ ๗ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือโพชฌงค์ ๗ อย่างไรเล่า? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อสติสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า สติสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อสติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า สติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง สติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อีกอย่างหนึ่ง เมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ฯลฯ อีกอย่างหนึ่ง เมื่อวิริยสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ฯลฯ อีกอย่างหนึ่ง เมื่อปีติสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ฯลฯ อีกอย่างหนึ่ง เมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ฯลฯ อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ฯลฯ อีกอย่างหนึ่ง เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม เป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม เป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเสื่อมไปในธรรมบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในธรรมบ้าง ก็หรือสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่าธรรมมีอยู่ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ โพชฌงค์ ๗ อย่างนี้แล สัจจบรรพ [๒๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ อริยสัจ ๔ อยู่ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ อริยสัจ ๔ อยู่ อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน แม้ชาติก็เป็นทุกข์ แม้ชราก็เป็นทุกข์ แม้มรณะก็เป็นทุกข์ แม้โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ก็เป็นทุกข์ แม้ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ แม้ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ ฯ [๒๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ชาติเป็นไฉน ความเกิด ความบังเกิด ความหยั่งลงเกิด เกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะครบ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่าชาติ ฯ ก็ชราเป็นไฉน ความแก่ ภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนังเป็นเกลียว ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่าชรา ฯ ก็มรณะเป็นไฉน ความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความทำลายแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งซากศพไว้ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ จากหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่ามรณะ ฯ ก็โสกะเป็นไฉน ความแห้งใจ กิริยาที่แห้งใจ ภาวะแห่งบุคคลผู้แห้งใจ ความผาก ณ ภายใน ความแห้งผาก ณ ภายใน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าโสกะ ฯ ก็ปริเทวะเป็นไฉน ความคร่ำครวญ ความร่ำไรรำพัน กิริยาที่คร่ำครวญ กิริยาที่ร่ำไรรำพัน ภาวะของบุคคลผู้คร่ำครวญ ภาวะของบุคคลผู้ร่ำไรรำพัน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าปริเทวะ ฯ ก็ทุกข์เป็นไฉน ความลำบากทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่กายสัมผัส อันนี้เรียกว่าทุกข์ ฯ ก็โทมนัสเป็นไฉน ความทุกข์ทางจิต ความไม่สำราญทางจิต ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่มโนสัมผัส อันนี้เรียกว่าโทมนัส ฯ ก็อุปายาสเป็นไฉน ความแค้น ความคับแค้น ภาวะของบุคคลผู้แค้น ภาวะของบุคคลผู้คับแค้น ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าอุปายาส ฯ ก็ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน ความประสบความพรั่งพร้อม ความร่วม ความระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาความไม่ผาสุก ปรารถนาความไม่เกษมจากโยคะ ซึ่งมีแก่ผู้นั้น อันนี้เรียกว่า ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ฯ ก็ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน ความไม่ประสบ ความไม่พรั่งพร้อม ความไม่ร่วม ความไม่ระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่เกื้อกูล ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความเกษมจากโยคะ คือ มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่หญิง น้องหญิง มิตร อมาตย์ หรือ ญาติสาโลหิต ซึ่งมีแก่ผู้นั้น อันนี้เรียกว่า ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ ฯ ก็ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเกิดเป็นธรรมดา ขอความเกิดอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความแก่เป็นธรรมดา ขอความแก่อย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเจ็บเป็นธรรมดา ขอความเจ็บอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่า ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอขอเราไม่พึงมีความตายเป็นธรรมดา ขอความตายอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ ผู้มีโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสเป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสเป็นธรรมดา ขอโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส อย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ฯ ก็โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นไฉน อุปาทานขันธ์ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้เรียกว่า โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ ฯ [๒๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขสมุทัยอริยสัจ เป็นไฉน ตัณหาใดอันมีความเกิดอีก ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน เพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ฯ [๒๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ตัณหานี้นั้นเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่ไหน เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่ไหน ที่ใดเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหานั้นเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ อะไรเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ฯ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ ณ ที่นี้ ฯ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ เป็นที่รักที่เจริญในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดขึ้นในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธัมมสัญญา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ รูปสัญเจตนา สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา รสสัญเจตนา โผฏฐัพพสัญเจตนา ธัมมสัญเจตนา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ รูปวิตก สัททวิตก คันธวิตก รสวิตก โผฏฐัพพวิตก ธัมมวิตก เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ รูปวิจาร สัททวิจาร คันธวิจาร รสวิจาร โผฏฐัพพวิจาร ธัมมวิจาร เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจ ฯ [๒๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธอริยสัจเป็นไฉน ความสำรอก และความดับโดยไม่เหลือ ความสละ ความส่งคืน ความปล่อยวาง ความไม่มีอาลัยในตัณหานั้น ก็ตัณหานั้น เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่ไหน เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่ไหน ที่ใดเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อบุคคลจะละย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ ฯ อะไรเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ฯ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อบุคคลจะละย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ ฯ รูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อบุคคลจะละย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ ฯ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อบุคคลจะละย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ ฯ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อบุคคลจะละย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ ฯ จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อบุคคลจะละย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ ฯ รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธัมมสัญญา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อบุคคลจะละย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ ฯ รูปสัญเจตนา สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา รสสัญเจตนา โผฏฐัพพสัญเจตนา ธัมมสัญเจตนา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อบุคคลจะละย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ ฯ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อบุคคลจะละย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ ฯ รูปวิตก สัททวิตก คันธวิตก รสวิตก โผฏฐัพพวิตก ธัมมวิตก เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อบุคคลจะละย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ ฯ รูปวิจาร สัททวิจาร คันธวิจาร รสวิจาร โผฏฐัพพวิจาร ธัมมวิจาร เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อบุคคลจะละย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ ฯ [๒๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นไฉน นี้คือมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ก็ สัมมาทิฏฐิ เป็นไฉน ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา อันนี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ฯ สัมมาสังกัปปะ เป็นไฉน ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในความไม่พยาบาท ความดำริในอันไม่เบียดเบียน อันนี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ ฯ สัมมาวาจา เป็นไฉน การงดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการพูดส่อเสียด งดเว้นจากการพูดคำหยาบ งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ อันนี้เรียกว่า สัมมาวาจา ฯ สัมมากัมมันตะ เป็นไฉน การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม อันนี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ ฯ สัมมาอาชีวะ เป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ละการเลี้ยงชีพที่ผิดเสีย สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงชีพที่ชอบ อันนี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ ฯ สัมมาวายามะ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกิดฉันทะพยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ไม่เลือนหาย เจริญยิ่ง ไพบูลย์ มีขึ้น เต็มเปี่ยม แห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว อันนี้เรียกว่า สัมมาวายามะ ฯ สัมมาสติ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ อันนี้เรียกว่า สัมมาสติ ฯ สัมมาสมาธิ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะ วิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามิมีปฏิปทาอริยสัจ ฯ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม เป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม เป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเสื่อมไปในธรรมบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมไปในธรรมบ้าง ก็หรือสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่าธรรมมีอยู่ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกด้วย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนืองๆ อยู่อย่างนี้ อานิสงส์ ฯ [ ๓๐๐ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๗ ปี ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่ ก็เป็นพระอนาคามี ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๗ ปียกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๖ ปี ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่ ก็เป็นพระอนาคามี ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๖ ปียกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๕ ปี ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่ ก็เป็นพระอนาคามี ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๕ ปียกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๔ ปี ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่ ก็เป็นพระอนาคามี ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๔ ปียกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๓ ปี ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่ ก็เป็นพระอนาคามี ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๓ ปียกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๒ ปี ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่ ก็เป็นพระอนาคามี ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๒ ปียกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๑ ปี ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่ ก็เป็นพระอนาคามี ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปีหนึ่งยกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๗ เดือน ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่ ก็เป็นพระอนาคามี ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๗ เดือนยกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๖ เดือน ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่ ก็เป็นพระอนาคามี ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๖ เดือนยกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๕ เดือน ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่ ก็เป็นพระอนาคามี ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๕ เดือนยกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๔ เดือน ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่ ก็เป็นพระอนาคามี ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๔ เดือนยกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๓ เดือน ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่ ก็เป็นพระอนาคามี ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๓ เดือนยกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๒ เดือน ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่ ก็เป็นพระอนาคามี ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๒ เดือนยกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๑ เดือน ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่ ก็เป็นพระอนาคามี ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๑ เดือนยกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอดกึ่งเดือน ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่ ก็เป็นพระอนาคามี ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กึ่งเดือนยกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๗ วัน ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่ ก็เป็นพระอนาคามี ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความหมดจดวิเศษของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงเสียซึ่งความโศกและความร่ำไร เพื่ออัสดงค์ดับไปแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อกระทำพระนิพพานให้แจ้ง ทางนี้คือ สติปัฏฐาน ๔ อย่าง ด้วยประการฉะนี้ คำอันใด ที่กล่าวแล้วอย่างนี้ คำอันนั้น เราอาศัยเอกายนมรรค ( คือ สติปัฏฐาน ๔ ) นี้กล่าวแล้ว ด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระสูตรนี้จบแล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีเพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยประการฉะนี้แล