อสุภกรรมฐาน

  1. ญา ทิวาราช
    ญา ทิวาราช
    อสุภกรรมฐาน

    อสุภ แปลว่า ไม่สวย ไม่งาม กรรมฐาน แปลว่า ตั้งอารมณ์ไว้ให้เป็นการเป็นงาน
    รวมความแล้วได้ความว่า ตั้งอารมณ์เป็นการเป็นงานในอารมณ์ที่เห็นว่า ไม่มีอะไรสวยสดงดงาม
    มีแต่ความสกปรกโสโครก น่าเกลียดน่าสะอิดสะเอียน

    กำลังสมาธิของอสุภกรรมฐาน

    อสุภกรรมฐานทั้ง ๑๐ อย่างนี้ มีกำลังสมาธิเพียงปฐมฌานเป็นอย่างสูงสุด ไม่สามารถ
    จะทรงฌานให้มีกำลังให้สูงกว่านั้นได้ เพราะเป็นกรรมฐานที่มีอารมณ์ด้านพิจารณามากกว่า
    การเพ่ง ใช้อารมณ์จิตใคร่ครวญพิจารณาอยู่เป็นปกติ จึงทรงสมาธิได้อย่างสูงก็เพียงปฐมฌาน
    เป็นกรรมฐานที่มีอารมณ์คล้ายคลึงกับวิปัสสนาญาณมาก นักปฏิบัติที่พิจารณาอสุภกรรมฐาน
    จนทรงปฐมฌานได้ดีแล้วพิจารณาวิปัสสนาญาณควบคู่กันไป จะบังเกิดผลรู้แจ้งเห็นจริงในอารมณ์
    วิปัสสนาญาณได้อย่างไม่ยากนัก สำหรับอสุภกรรมฐานนี้เป็นสมถกรรมฐานที่ให้ผลในทางกำจัด
    ราคจริตเหมือนกันทั้ง ๑๐ กอง คือค้นคว้าหาความจริงจากวัตถุที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตที่นิยมชมชอบ
    กันว่าสวยสดงดงามที่บรรดามวลชนทั้งหลายพากันมัวเมา หลงไหลใฝ่ฝันว่าสวยสดงดงามจนเป็นเหตุ
    ให้เกิดภยันตรายแก่ตน ลืมชีวิตความเป็นอยู่ของตน มอบหมายความรักความปรารถนาให้แก่วัตถุ
    ที่ตนหลงรัก เป็นการประพฤติที่ฝืนต่อกฎของความเป็นจริง เป็นเหตุของความทุกข์ที่ไม่รู้จักจบสิ้น
    กรรมฐานนี้จะค้นคว้าหาความจริงจากสรรพวัสดุต่างๆ ที่เห็นว่าสวยสดงดงามเอามาตีแผ่ให้เห็นเหตุ
    เห็นผลว่า สิ่งที่สัตว์และคนหลงไหลใฝ่ฝันนั้น ความจริงไม่มีอะไรสวย ไม่มีอะไรงาม เป็นของน่าเกลียด
    โสโครกทั้งสิ้น กรรมฐานในหมวดอสุภกรรมฐานมีความหมายในรูปนี้ จึงเป็นกรรมฐานที่ระงับ
    ดับอารมณ์ที่ใคร่อยู่ในกามารมณ์เสียได้ ท่านที่เจริญกรรมฐานหมวดอสุภนี้ชำนาญเป็นพื้นฐานแล้ว
    ต่อไปเจริญวิปัสสนาญาณ จะเข้าถึงการบรรลุเป็นพระอนาคามีผลไม่ยากนักเพราะพระอนาคามี
    ผลเป็นพระอริยบุคคลที่มีความสงบ ระงับดับความรู้สึกในกามารมณ์ได้เด็ดขาด ท่านที่เจริญกรรมฐาน
    หมวดอสุภนี้ ก็เป็นการเริ่มต้นในการเจริญฌานด้านที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกามารมณ์ ฉะนั้น นักปฏิบัติ-
    กรรมฐานที่มีความชำนาญในอสุภกรรมฐานจึงเป็นของง่ายในการเจริญวิปัสสนาญาณ เพื่อให้บรรลุุ
    เป็น อนาคามีผลและอรหัตตผล

    อสุภกรรมฐาน ๑๐ อย่าง

    อสุภกรรมฐาน ท่านจำแนกไว้เป็น ๑๐ อย่างด้วยกัน คือ
    ๑. อุทธุมาตกอสุภ คือ ร่างกายของคนและสัตว์ที่ตายไปแล้ว นับแต่วันตายเป็นต้นไป
    มีร่างกายขึ้นบวม พองไปด้วยลม ที่เรียกกันว่า ผีตายขึ้นอืดนั่นเอง
    ๒. วินิลกอสุภ เป็นร่างกายที่มีสีเขียว สีแดง สีขาว คละปนระคนกัน คือ มีสีแดงในที่มีเนื้อ
    มาก มีสีขาวในที่มีน้ำเหลืองน้ำหนองมาก มีสีเขียวที่มีผ้าสีเขียวคลุมไว้ อาศัยที่ร่างกายของผู้ตาย
    ส่วนใหญ่ก็ปกคลุมด้วยผ้า ฉะนั้น สีเขียวตามร่างกายของผู้ตายจึงมีสีเขียวมาก ท่านจึงเรียกว่า
    วินีลกะ แปลว่าสีเขียว
    ๓. วิปุพพกอสุภ เป็นซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลอยู่เป็นปกติ
    ๔. วิฉิททกอสุภ คือซากศพที่มีร่างกายขาดเป็นสองท่อนในท่ามกลาง มีกายขาด
    ออกจากกัน
    ๕. วิกขายิตกอสุภ เป็นร่างกายของซากศพที่ถูกสัตว์ยื้อแย่งกัดกิน
    ๖. วิกขิตตกอสุภ เป็นซากศพที่ถูกทอดทิ้งไว้จนส่วนต่าง ๆ กระจัดกระจายมีมือ แขน
    ขา ศีรษะ กระจัดพลัดพรากออกไปคนละทาง
    ๗. หตวิกขิตตกอสุภ คือซากศพที่ถูกสับฟันเป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่
    ๘. โลหิตกอสุภ คือซากศพที่มีเลือดไหลออกเป็นปกติ
    ๙. ปุฬุวกอสุภ คือซากศพที่เต็มไปด้วยตัวหนอนคลานกินอยู่
    ๑๐. อัฏฐิกอสุภ คือซากศพที่มีแต่กระดูก


    อสุภกรรมฐานนี้ ท่านพระพุทธโฆษาจารย์เจ้า ได้พรรณนาไว้ในวิสุทธิมรรครวมเป็นอสุภที่มี
    อาการ ๑๐ อย่างตามที่กล่าวมาแล้ว



    การพิจารณาอสุภ

    การพิจารณาอสุภทั้ง ๑๐ อย่างนี้ ท่านสอนให้พิจารณาเพื่อถือเอานิมิตโดยอาการ ๖ อย่าง
    ดังต่อไปนี้
    ๑. พิจารณาโดยสี คือให้กำหนดว่า ซากศพนี้เป็นร่างกายของคนดำหรือคนขาวหรือเป็น
    ร่างกายของคนที่มีผิวด่างพร้อย คือผิวไม่เกลี้ยงเกลา
    ๒. พิจารณาโดยเพศ อย่ากำหนดว่า ร่างกายนี้เป็นหญิงหรือชาย พึงพิจารณาว่าซากศพ
    นี้เป็นร่างกายของคนที่มีอายุน้อย มีอายุกลางคน หรือเป็นคนแก่
    ๓. กำหนดพิจารณาโดยสัณฐาน คือกำหนดพิจารณาว่า นี่เป็นคอ เป็นศีรษะ เป็นท้อง
    เป็นเอว เป็นขา เป็นเท้า เป็นแขน เป็นมือ ดังนี้เป็นต้น
    ๔. กำหนดโดยทิศ ทิศนี้ท่านหมายเอาสองทิศ คือ ทิศเบื้องบน ได้แก่ทางด้านศีรษะ
    ทิศเบื้องต่ำ ได้แก่ทางด้านปลายเท้าของซากศพ ท่านมิได้หมายถึงทิศเหนือทิศใต้ตามที่นิยมกัน
    ท่านให้สังเกตว่า ที่เห็นอยู่นั้นเป็นทางศีรษะ หรือด้านปลายเท้า
    ๕. กำหนดพิจารณาโดยที่ตั้ง ท่านให้พิจารณากำหนดจดจำว่า ซากศพนี้ศีรษะวางอยู่ที่
    ตรงนี้ มือวางอยู่ตรงนี้ เท้าวางอยู่ตรงนี้ ตัวเราเอง เวลาที่พิจารณาอสุภนี้ เรายืนอยู่ตรงนี้
    ๖. กำหนดพิจารณาโดยกำหนดรู้ หมายถึงการกำหนดรู้ว่า ร่างกายสัตว์และมนุษย์นี้
    มีอาการ ๓๒ เป็นที่สุด ไม่มีอะไรสวยสดงดงามจริงตามที่ชาวโลกผู้มัวเมาไปด้วยกิเลสหลงใหล
    ใฝ่ฝันอยู่ ความจริงแล้วก็เป็นของน่าเกลียดโสโครก มีกลิ่นเหม็นคุ้งมีสภาพขึ้นอืดพอง มีน้ำเลือด
    น้ำหนองเต็มร่างกาย หาอะไรที่จะพอพิสูจน์ได้ว่า น่ารักน่าชมไม่มีเลย สภาพของ ร่างกายที่พอจะ
    มองเห็นว่าสวยสดงดงามพอที่จะอวดได้ก็มีนิดเดียว คือ หนังกำพร้าที่ปกปิด อวัยวะภายในทำให้มอง
    ไม่เห็นสิ่งโสโครก คือ น้ำเลือด น้ำหนอง ดี เสลด ไขมัน อุจจาระ ปัสสาวะ ที่ปรากฏอยู่ภายในแต่
    ทว่าหนังกำพร้านั้นใช่ว่าจะสวยสดงดงามจริงเสมอไปก็หาไม่ ถ้าไม่คอยขัดถูแล้ว ไม่นานเท่าใด
    คือไม่เกินสองวันที่ไม่ได้อาบน้ำชำระร่างกาย หนังที่สดใส ก็กลายเป็นสิ่งโสโครก เหม็นสาบ
    เหม็นสาง ตัวเองก็รังเกียจตัวเอง เมื่อมีชีวิตอยู่ก็เอาดีไม่ได้ พอตายแล้วยิ่งโสโครกใหญ่ร่างกาย
    ที่เคยผ่องใส ก็กลายเป็นซากศพที่ขึ้นอืดพอง น้ำเหลืองไหลมีกลิ่นเหม็นตลบไปทั่วบริเวณ
    คนที่เคยรักกันปานจะกลืน พอสิ้นลมปราณลงไปในทันทีก็พลันเกลียดกัน แม้แต่จะเอามือเข้าไป
    แตะต้องก็ไม่ต้องการ บางรายแม้แต่จะมองก็ไม่อยากมอง มีความรังเกียจซากศพ ซ้ำร้ายกว่านั้น
    เมื่ออยู่รักและหวงแหน จะไปสังคมสมาคมคบหา สมาคมกับใครอื่นไม่ได้ ทราบเข้าเมื่อไรเป็น
    มีเรื่อง แต่พอตายจากกันวันเดียวก็มองเห็นคนที่แสนรักกลายเป็นศัตรูกัน กลัววิญญาณคนตาย
    จะมาหลอกมาหลอน เกรงคนที่แสนรักจะมาทำอันตราย ความเลวร้ายของสังขารร่างกายเป็น
    อย่างนี้ เมื่อพิจารณากำหนดทราบร่างกายของซากศพทั้งหลายที่พิจารณาเห็นแล้วก็น้อมนึกถึง
    สิ่งที่ตนรัก คือคนที่รัก ที่ปรารถนา ที่เราเห็น ว่าเขาสวยเขางาม เอาความจริงจากซากอสุภ
    เข้าไปเปรียบเทียบดู พิจารณาว่า คนที่เรารักแสนรัก ที่เห็นว่าเขาสวยสดงดงามนั้นเขากับ
    ซากศพนี้มีอะไรแตกต่างกันบ้าง เดิมซากศพนี้ก็มีชีวิตเหมือนเขา พูดได้ เดินได้ ทำงานได้
    แสดงความรักได้ เอาอกเอาใจได้ แต่งตัวให้สวยสดงดงามได้ ทำอะไร ๆ ได้ทุกอย่างตามที่
    คนรักของเราทำ แต่บัดนี้เขาเป็นอย่างนี้ คนรักของเราก็เป็นอย่างเขา เราจะมานั่งหลอกตนเอง
    ว่าเขาสวย เขางาม น่ารัก น่าปรารถนาอยู่เพื่อเหตุใด แม้แต่ตัวเราเอง สิ่งที่เรามัวเมากาย
    เมาชีวิต หลงใหลว่า ร่างกายเราสวยสดงามวิไล ไม่ว่าอะไรน่ารักน่าชมไปหมด ผิวที่เต็มไปด้วย
    เหงื่อไคล เราก็เอาน้ำมาล้าง เอาสบู่มาฟอก นำแป้งมาทา เอาน้ำหอมมาพรมแล้วก็เอาผ้าที่เต็มไป
    ด้วยสีมาหุ้มห่อเอาวัตถุมีสีต่างๆ มาห้อยมาคล้องมองดูคล้ายบ้าหอบฟางแล้วก็ชมตัวเองว่าสวยสด
    งดงามลืมคิดถึงสภาพความเป็นจริง ที่เราเองก็หอบเอาความโสโครกเข้าไว้พอแรงเราเองเรารู้ว่า
    ในกายเราสะอาดหรือสกปรก ปากเราที่ชมว่าปากสวย ในปากเต็มไปด้วยเสลดน้ำลาย น้ำลายของ
    เราเองเมื่ออยู่ในปากอมได้ กลืนได้ แต่พอบ้วนออกมาแล้ว กลับรังเกียจไม่กล้าแม้แต่จะเอามือแตะ
    นี่เป็นสิ่งสกปรกที่เรามีหนึ่งอย่างละ

    ต่อไปก็อุจจาระ ปัสสาวะ เลือด น้ำเหลือง ที่หลั่งไหลอยู่ในร่างกาย พอไหลออกมานอก
    กายเราก็รังเกียจทั้ง ๆ ที่เป็นตัวของเราเอง นี้ก็เป็นสิ่งโสโครกที่เป็นสมบัติของเราเองอีก
    น้ำเลือด น้ำเหลือง ของซากศพที่เรามองเห็นนั้น ซากศพนั้นมีสภาพอย่างไร เมื่อตาย
    ไปแล้วจากความเป็นคนหรือสัตว์ เราเรียกกันว่าผีตาย เขามีสภาพอย่างไร คือตายแล้วมีน้ำเลือด
    น้ำเหลืองหลั่งไหลออกจากร่างกายฉันใด เราแม้ยังไม่ตาย สิ่งเหล่านั้นก็มีครบแล้ว คนที่เราคิดว่า
    สวยสดงดงามตามที่นิยมกัน ก็เต็มไปด้วยความโสโครกที่น่ารังเกียจเหมือนกัน เอาอะไร มาเป็น
    ของน่ารักน่าปรารถนา เรารักคนก็มีสภาพเท่ารักศพ ศพนี้น่าเกลียดน่าชังเพียงใด คนรักที่เรารัก
    ก็มีสภาพอย่างนั้น พยายามพิจารณาใคร่ครวญให้เห็นติดอกติดใจจนกระทั่งเห็นสภาพของผู้ใด
    ก็ตามที่เขานิยมกันว่า น่ารัก น่าชมนั้น เห็นแล้วมีความรู้สึกว่าเป็นซากศพทันที มีความรังเกียจ
    สะอิดสะเอียนขึ้นมาทันทีทันใด เห็นคนหรือสัตว์มีสภาพเป็นซากศพไปหมด เต็มไปด้วยความ
    รังเกียจที่จะสัมผัสถูกต้อง รังเกียจที่จะคิดว่าน่ารักน่าเอ็นดู เพราะความสวยสดงดงามเห็นผิว
    ภายนอกก็มองเห็นภายใน คือเห็นเป็นสภาพถุงน้ำเลือด น้ำหนอง ถุงอุจจาระปัสสาวะที่เคลื่อนที่ได้
    พูดด้วยสนทนาด้วย ก็เห็นสภาพผู้ที่พูดจาสนทนาด้วย เป็นถุงอุจจาระปัสสาวะ และถุงน้ำเลือด
    น้ำหนองมาพูดคุยด้วย คิดว่าขณะนี้มีสภาพเป็นถุงน้ำเลือดน้ำหนอง มาสนทนาปราศรัยกับเรา
    ต่อไปเขาก็จะกลายเป็นซากศพที่มีร่างกายอืดพอง น้ำเหลืองไหล ต่อไปกายก็จะขาดจากกัน
    เป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่ สัตว์จะกัดกิน และในที่สุด ก็จะเหลือแต่กระดูกกระจัดกระจายไป
    เขานี่เป็นผีตายชัดๆ เราก็เช่นเดียวกัน เขามีสภาพเช่นไร เราก็มีสภาพเช่นนั้น กายนี้ล้วนแต่
    เป็นอนิจจัง หาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้เลย แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่สะสมของโสโครกแล้ว แต่ถ้า
    จะยังยืนคู่ฟ้าคู่ดินก็พอที่จะทนรักทนชอบได้บ้าง แต่นี่เปล่าเลยท่านหลงว่าสวยสดงดงามนั้น
    ก็เป็นสิ่งหลอกลวง เต็มไปด้วยความโสโครกเท่านั้นยังไม่พอ กลับหาความเที่ยงแท้แน่นอน
    ไม่ได้อีก ดิ้นรนกลับกลอกทรุดโทรมลงทุกวันทุกเวลาเคลื่อนเข้าไปหาความแก่ทุกวันทุกนาที
    ยิ่งมากวันความเสื่อมโทรมของร่างกายก็ทวีมากขึ้น จากความเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ มาเป็นคนหนุ่ม
    คนสาว จากความเป็นคนหนุ่มคนสาวมาเป็นคนแก่ การเคลื่อนไปนั้นมิใช่เคลื่อนเปล่า ยังนำเอา
    โรคภัยไข้เจ็บมาทับถมให้ไม่เว้นแต่ละวัน ปวดที่โน่น ปวดที่นี่ โรคแน่น โรคจุกเสียด ปวดร้าว
    มีตลอดเวลา อวัยวะที่เคยใช้คล่องแคล่วสมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยกำลัง ก็ง่อนแง่นคลอนแคลน กำลัง
    วังชาหมดไป ทำอะไรไม่ได้สะดวก หูก็หนัก ตาก็ฟาง ได้ยินเห็นอะไรไม่ถนัดเต็มไปด้วยความ
    ทุกข์ จะห้ามปรามรักษาด้วยหมอวิเศษ ท่านใดก็ไม่สามารถจะยับยั้งความเคลื่อนความทรุดโทรม
    นี้ได้ ในที่สุดก็พังทลายกลายเป็นซากศพที่ชาวโลกรังเกียจอย่างนี้ อัตภาพนี้เป็นสภาพโสโครก
    อย่างนี้ เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงอย่างนี้ เป็นทุกขัง ความทุกข์อันเกิดแต่ความเคลื่อนไหวไปหาความ
    เสื่อมอย่างนี้ เป็นอนัตตา เพราะเราจะบังคับบัญชาควบคุมไม่ให้เคลื่อนไปไม่ได้ ต้องเป็นไปตาม
    กฎธรรมดา

    พิจารณาเห็นโทษเห็นทุกข์อันเกิดแต่ร่างกาย เกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในร่างกาย
    ของตนเองและร่างกายของผู้อื่น เห็นสภาพร่างกายของตนเองและของผู้อื่นเป็นซากศพ หมด
    ความพิสมัยรักใคร่ โดยเห็นว่าไม่มีอะไรสวยงาม เห็นเมื่อไรเบื่อหน่ายหมดความพอใจเมื่อนั้น
    เห็นคนมีสภาพเป็นศพทุกขณะที่เห็นอย่างนี้ท่านเรียกว่าได้อสุภกรรมฐานในส่วนของสมถภาวนา

    เห็นร่างกายเป็นซากศพ เบื่อหน่ายในร่างกาย และเห็นว่าร่างกายนี้เต็มไปด้วยความ
    ไม่เที่ยง สกปรกโสมมแล้วยังหาความแน่นอนไม่ได้อีก เคลื่อนไปหาความแก่ตายทุกวันเวลา
    ขณะที่เคลื่อนไปก็เต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะต้องได้รับทุกข์จากโรค รับทุกข์จากการบริหาร
    ร่างกาย มีการประกอบการงานเป็นต้น ทุกข์เพราะมีลาภแล้วลาภหมดไป มียศแล้ว ยศสิ้นไป
    มีสุขแล้วก็มีทุกข์มาทับถม เดี๋ยวมีคำสรรเสริญมาป้อยอ แต่ก็ไม่นานก็ถูกนินทา เป็นเหตุให้ใจ
    เป็นทุกข์ ทุกข์เพราะความเสื่อมโทรมของร่างกายมีอวัยวะทุพพลภาพ หูหนัก ตาฟาง ฟันหัก
    ร่างกายร่วงโรย ความจำเสื่อม ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนของความทุกข์ทั้งสิ้น
    เห็นร่างกายเป็นทุกข์แล้ว ก็เห็นความดื้อด้านของสังขารร่างกายที่บังคับบัญชาไม่ได้
    คือเห็นว่าความเสื่อมโทรมอย่างนี้เราไม่ต้องการ ก็บังคับไม่ได้ ไม่ต้องการให้ปวดเจ็บเมื่อยล้า
    แต่มันก็จะเป็น ไม่มีใครห้ามได้ ไม่ต้องการให้ระบบประสาทเสื่อมมันก็จะเสื่อม ใครก็ห้ามไม่ได้
    ไม่ต้องการตาย มันก็ต้องตาย ไม่มีใครห้ามได้ สิ่งที่ห้ามไม่ได้นี้ ท่านเรียกว่า อนัตตา แปลว่า
    เป็นสิ่งเหลือวิสัยที่จะบังคับ ที่ท่านแปล อนัตตาว่า ไม่ใช่ตัวตนนั่นเอง เพราะถ้าเป็นตัวตนของเรา
    จริงแล้ว เราก็บังคับได้ ถ้าบังคับไม่ได้ก็ไม่ใช่ตัวตนของเราแน่

    อารมณ์ที่เห็นว่า ร่างกายนอกจากจะโสโครกน่าสะอิดสะเอียนเป็นซากศพแล้ว ยังไม่
    เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดความเบื่อหน่ายในการทรงสังขารร่างกาย เบื่อที่จะเกิดต่อไป
    เพราะถ้าเกิดมีร่างกายในภพใด ร่างกายก็จะมีสภาพโสโครกสกปรกเป็นซากศพและไม่เที่ยง
    เป็นทุกข์ บังคับบัญชาไม่ได้อย่างนี้อีก ความเบื่อหน่ายในร่างกาย เบื่อในการเกิด เป็น
    นิพพิทาญาณในวิปัสสนาญาณ ถ้าท่านคิดใคร่ครวญในรูปสมถะให้เห็นซากศพอยู่เสมอ และใคร่
    ครวญหากฎธรรมดาควบคู่กันไป คือ เมื่อเกิดความทุกข์อันเกิดแต่การป่วยไข้ หรืออารมณ์ที่
    ไม่พอใจหรือความแก่เฒ่าเข้ารบกวน ท่านก็วางใจเฉยเสียไม่ดิ้นรนกระเสือกกระสน โดยคิดว่า
    นี่เป็นเรื่องของธรรมดาเกิดมามันก็ต้องเจ็บไข้ไม่สบาย มีลาภแล้วลาภมันก็เสื่อมได้ มียศแล้ว
    ยศมันก็สิ้นได้ มีสุขแล้วทุกข์มันก็มีได้ มีคนสรรเสริญแล้วคนนินทาก็มีได้ เกิดแล้วก็ต้องตายได้
    ทุกอย่างมันธรรมดาแท้ๆ จนจิตชินต่ออารมณ์ มีอะไรที่เป็นทุกข์เกิดขึ้นก็รู้สึกว่าเป็นปกติ ไม่
    ดิ้นรนหวั่นไหวอย่างนี้ ท่านเรียกว่าได้สังขารุเปกขาญาณในวิปัสสนาญาณ เป็นคุณธรรมที่ใกล้
    ความเป็นผู้บรรลุพระโสดาบันแล้ว หมั่นคิดนึกไปเสมอ ๆ ถึงร่างกายที่มี สภาพเป็นซากศพ
    ร่างกายที่ไม่มีอะไรแน่นอนจนจิตคิดเป็นปกติว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มี
    ในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ไม่หวั่นไหวต่อมรณภัย มีจิตใจศรัทธาเชื่อมั่นในคำสั่งสอน
    ของพระพุทธเจ้า จิตว่างจากกรรมชั่วครู่ คือรักษาศีล ๕ ได้เป็นปกติ มีอารมณ์รักพระนิพพาน
    เป็นปกติ คือ ใคร่ครวญปรารถนาแต่พระนิพพานไม่ต้องการความเกิดต่อไปอีก อย่างนี้ท่านว่า
    ทรงคุณได้ในระดับพระโสดาบัน
    ฉะนั้น ขอให้นักปฏิบัติที่ปฏิบัติในอสุภกรรมฐาน จงอุตส่าห์พยายามกำหนดพิจารณาให้
    ขึ้นใจจนได้ปฏิภาคนิมิตในที่สุด แล้วรักษานิมิตนั้นไว้อย่าให้เสื่อม ต่อไปก็ยกเอานิมิตนั้นขึ้นสู่
    อารมณ์วิปัสสนาญาณ ท่านจะเข้าถึงมรรคผลนิพพานได้ภายในไม่ช้าเลย การพิจารณาอย่างนี้
    เรียกว่า พิจารณากำหนดรู้

    นิมิตในอสุภกรรมฐาน

    อสุภกรรมฐานก็มีนิมิตเป็นเครื่องกำหนดในการเข้าถึงเหมือนกสิณ แต่ต่างจากกสิณตรง
    ที่เอารูปซากศพเป็นนิมิต ไม่ยกเอาธาตุหรือสีภายนอกเป็นนิมิต นิมิตในอสุภนี้ก็มีเป็นสองระดับ
    เหมือนกัน คือ
    ๑. อุคคหนิมิต ได้แก่ นิมิตติดตา คือ รูปเดิมที่กำหนดจดจำไว้ และ
    ๒. ปฏิภาคนิมิตได้แก่ นิมิตที่เป็นอัปปนาสมาธิ คือ รูปต่างจากภาพเดิมดังจะได้ยกมา
    เขียนไว้ดังต่อไปนี้

    ๑. อุทธุมาตกอสุภ

    อสุภที่มีร่างกายขึ้นอืดพอง อสุภนี้เมื่อเริ่มปฏิบัติ เมื่อเห็นภาพอสุภที่เป็นนิมิต ท่านให้
    กำหนดรูปแล้วภาวนา " อุทธุมาตะกัง ปะฏิกุลัง " ภาวนาอย่างนี้ตลอดไป เมื่อเพ่งพิจารณา
    จนจำรูปได้ชัดเจนแล้ว ให้หลับตาภาวนาพร้อมด้วยกำหนดจดจำรูปไปด้วยตามที่กล่าวไว้แล้วใน
    กสิณ จนรูปอสุภนั้นติดตาติดใจ จะนึกเมื่อไรก็เห็นภาพนั้นได้ทันที ภาพนั้นเกิดขึ้นแก่จิต คือ อยู่ใน
    ความทรงจำ ไม่ใช่ภาพลอยมาให้เห็นเหมือนภาพที่ลอยในอากาศ เกิดจากการกำหนดรู้โดยเฉพาะ
    เมื่อภาพนั้นติดใจจนชินตามที่กำหนดจดจำไว้ได้แล้ว ท่านเรียกว่า " อุคคหนิมิต " แปลว่า
    นิมิตติดตา
    สำหรับปฏิภาคนิมิตนี้ รูปที่ปรากฏนั้นผิดไปจากเดิม คือรูปเปลี่ยนไปเสมือนคนอ้วนพี
    ผ่องใสผิวสดสวย อารมณ์จิตใจเป็นสมาธิตั้งมั่นไม่หวั่นไหว อย่างนี้ท่านเรียกว่าเข้าถึง อัปปนาสมาธิ
    ได้ปฐมฌาน

    ปฏิภาคนิมิตกำจัดนิวรณ์ ๕

    นิวรณ์ ๕ ก็คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธิ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ตามที่กล่าว
    มาแล้วนั่นเอง เมื่อท่านนักปฏิบัติทรงสมาธิได้ถึง อัปปนาสมาธิ มีนิมิตเข้าถึงปฏิภาค คือเข้าถึงปฐม-
    ฌานแล้ว นิวรณ์ทั้ง ๕ ประการก็ระงับไปเอง ตามที่กล่าวมาแล้วในตอนว่าด้วยฌาน

    ๒. วินีลกอสุภ

    อสุภนี้ ปกติพิจารณาสี มีสีแดง สีเขียว สีขาวปนกัน เมื่อขณะกำหนดภาวนาว่า
    "วินีละกัง ปะฏิกุลัง" จนภาพนิมิตที่มีสี แดง ขาว เขียว เกิดติดตาติดใจคละกันอย่างนี้
    ท่านเรียกว่า อุคคหนิมิต
    ต่อไปถ้าปรากฏว่าในจำนวนสีสามสีนั้น สีใดสีหนึ่งแผ่ปกคลุมสีอีกสองสีนั้นจนหนาทึบ
    ปิดบังสีอื่นหมดแล้วทรงสภาพอยู่ได้นาน ท่านเรียกนิมิตอย่างนี้ว่า ปฏิภาคนิมิต ทางสมาธิเรียกว่า
    อัปปนาสมาธิ ทางฌานเรียกว่า ปฐมฌาน

    ๓. วิปุพพกอสุภ

    อสุภนี้ ท่านให้พิจารณาน้ำเหลืองน้ำหนองเป็นอารมณ์ ภาวนาว่า" วิปุพพะกัง ปะฏิกุลัง"
    จนเกิดอุคคหนิมิต อุคคหนิมิตของอสุภนี้มีลักษณะดังนี้ ปรากฏเห็นเป็นน้ำหนองไหลอยู่เป็นปกติ
    สำหรับปฏิภาคนิมิตนั้นมีสภาพเป็นนิมิตตั้งอยู่เป็นปกติ ไม่มีอาการไหลออกเหมือนอุคคหนิมิต


    ๔. วิฉิททกอสุภ

    อสุภนี้ ท่านให้พิจารณาซากศพที่ถูกสับฟันเป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่ ขณะพิจารณา
    ให้ท่านภาวนาว่า " วิฉิททะกัง ปะฏิกุลัง " สำหรับอุคคหนิมิตในอสุภนี้ท่านว่ามีรูปซากศพขาด
    เป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่ ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้นมีรูปเป็นบริบูรณ์ เสมือนมีอวัยวะครบถ้วนบริบูรณ์

    ๕. วิกขายิตกอสุภ

    อสุภนี้ ท่านให้พิจารณาอสุภที่ถูกสัตว์กัดกินเป็นซากศพที่แหว่งเว้าทั้งด้านหน้าหลัง
    และในฐานต่างๆ ขณะพิจารณา ท่านให้ภาวนาว่า " วิกขายิตตะกัง ปะฏิกุลัง " สำหรับ
    อุคคหนิมิตในอสุภนี้ ปรากฏเป็นรูปซากศพที่ถูกสัตว์กัดกิน ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น ปรากฏเป็น
    รูปซากศพที่มีร่างกายบริบูรณ์

    ๖. วิกขิตตกอสุภ

    วิกขิตตกอสุภนี้ ท่านให้รวบรวมเอาซากศพที่กระจัดกระจายพลัดพรากกันในป่าช้า
    มาวางรวมเข้าแล้วพิจารณา ขณะพิจารณา ท่านให้ภาวนาว่าดังนี้ " วิกขิตตะกัง ปะฏิกุลัง "
    สำหรับอุคคหนิมิตในอสุภนี้ มีรูปเป็นอสุภนั้นตามที่นำมาวางไว้ วางไว้มีรูปอย่างไร อุคคหนิมิต
    ก็มีรูปร่างอย่างนั้น ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น เห็นเป็นรูปมีร่างกายบริบูรณ์ไม่บกพร่อง จะได้มีช่องว่าง
    ก็หามิได้

    ๗. หตวิกขิตตกอสุภ

    ท่านให้พิจารณาซากศพที่ถูกสับฟันเป็นท่อนๆ แล้วเอามาวางห่างกันท่อนละ ๑ นิ้ว
    แล้วเพ่งพิจารณา ขณะพิจารณาท่านให้ภาวนาว่า " หะตะวิกขิตตะกัง ปะฏิกุลัง " สำหรับนิมิต
    คืออุคคหนิมิตในอสุภนี้ ปรากฏเป็นปากแผลที่ถูกสับฟัน ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น ปรากฏเป็นร่างบริบูรณ์
    จะปรากฏริ้วรอยที่ถูกสับฟันนั้นหามิได้

    ๘. โลหิตกอสุภ

    อสุภนี้ ท่านให้พิจารณาซากศพที่ถูกประหาร มีมือเท้าขาดเลือดไหล ขณะพิจารณา
    ท่านให้ภาวนาว่า "โลหิตะกัง ปะฏิกุลัง " สำหรับอุคคหนิมิตในอสุภนี้ ปรากฏเหมือนผ้าแดง
    ที่ถูกลมปลิวไสวอยู่ ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น ปรากฏเป็นสีแดงนิ่งสงบไม่เคลื่อนไหว

    ๙. ปุฬุวกอสุภ

    อสุภนี้ ท่านให้พิจารณาซากศพที่ตายมาแล้วสองสามวัน มีหนอนคลานอยู่บนซากศพนั้น
    ขณะพิจารณา ท่านให้ภาวนาว่า " ปุฬุวะกัง ปะฏิกุลัง " สำหรับอุคคหนิมิตใน อสุภนี้ ปรากฏเป็น
    รูปซากศพที่มีหนอนคลานอยู่บนซากศพ แต่สำหรับปฏิภาคนิมิตนั้นปรากฏเป็นภาพนิ่งคล้ายกองสำลี
    ที่กองอยู่เป็นปกติ

    ๑๐. อัฏฐิกอสุภ

    อัฏฐิกอสุภนี้ ท่านให้เอากระดูกของซากศพเท่าที่พึงหาได้ จะเป็นกระดูกที่มี เนื้อ เลือด
    เส้น เอ็น รัดรึงอยู่ก็ตาม หรือจะเป็นกระดูกล้วนก็ตาม หรือจะเป็นกระดูกบางส่วนของร่างกายมี
    เพียงส่วนน้อยหรือท่อนเดียวก็ตาม เอามาเป็นวัตถุพิจารณา เวลาพิจารณา ท่านให้ภาวนาว่าดังนี้
    " อัฏฐิกัง ปะฏิกุลัง " สำหรับอุคคหนิมิตในอัฏฐิกอสุภนี้ จะมีรูปเป็นกระดูกเคลื่อนไหวไปมา
    สำหรับปฏิภาคนิมิตนั้น จะมีสภาพเป็นกระดูกวางเฉยเป็นปกติ


    (จบนิมิตในอสุภ ๑๐ อย่างเพียงเท่านี้)



    การพิจารณา


    การเพ่ง

    เมื่อจะเข้าไปเพ่งดูซากศพ ท่านให้เข้าไปยืนไม่ให้ห่างเกินไป และไม่ชิดเกินไป การยืน
    อย่ายืนใต้ลม เพราะกลิ่นอสุภจะทำให้ไม่สบาย จะเกิดการอาเจียน และเดือดร้อน เพราะกลิ่นอาจทำ
    ให้เกิดโรค มีอาการทางท้อง หรือปวดศีรษะได้ อย่ายืนเหนือลมเกินไปเพราะพวกอมนุษย์ที่กำลัง
    กัดกินเนื้ออสุภนั้นจะโกรธ จงยืนเฉียงอสุภด้านเหนือลม ลืมตาเพ่งจดจำรูปอสุภ นั้นด้วย สี สัณฐาน
    อาการที่วางอยู่ จำให้ได้ครบถ้วน แล้วหลับตานึกถึงภาพนั้น ถ้าภาพนั้นเลอะเลือนไปก็ลืมตาดูใหม่
    จำได้แล้วก็หลับตานึกคิดถึงภาพนั้นใหม่ เมื่อจำได้แล้วให้กลับมาที่อยู่ นั่งเพ่งรูปอสุภนั้นให้ติดตา
    ติดใจ จนภาพนั้นเกิดเป็นอุคคหนิมิต คือภาพที่เห็นมานั้นติดอารมณ์อยู่เสมอ จะหลับตาหรือลืมตา
    ก็คิดเห็นภาพนั้นเป็นปกติ อย่างนี้เรียกว่าได้อุคคหนิมิต คือนิมิตติดตา คือติดใจนั่นเอง
    ต่ออารมณ์ที่กำหนดนั้นมั่นคงแจ่มใสขึ้น ภาพที่จำได้นั้นมีสภาพแจ่มใสชัดเจนคล้ายกับ
    เห็นด้วยตา และภาพนั้นก็มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากรูปเดิม มีสภาพผุดผ่องเป็นร่างบริบูรณ์
    หรือผ่องใสกว่าภาพที่เพ่งมา อย่างนี้ท่านเรียกว่าปฏิภาคนิมิต

    พิจารณา

    การเจริญอสุภกรรมฐาน ต้องหนักไปในทางพิจารณา เพราะถ้าใช้แต่การเพ่งจำภาพ
    เฉยๆ จะกลายเป็นกสิณไป ในขณะที่เพ่งจำภาพนั้น ท่านให้พิจารณาพร้อมๆ กันไปด้วย โดย
    พิจารณาตามความรู้สึกที่แท้จริงว่า อสุภ คือซากศพนี้ เป็นของน่าเกลียด น่าสะอิดสะเอียน ไม่มี
    อะไรเป็นที่น่ารักน่าปรารถนาเลย ร่างกายคนและสัตว์ทั้งสิ้น มีสภาพน่าสะอิดสะเอียนอย่างนี้ แล้ว
    น้อมภาพนั้นเข้าไปเทียบเคียงกับคนที่มีชีวิตอยู่ โดยคิดแสวงหาความเป็นจริงว่า ร่างที่เพริศพริ้ง
    แพรวพราวไปด้วยทรวดทรง และตระการตาไปด้วยเครื่องประดับนั้น ความจริงไม่มีอะไรสวยงาม
    เลย ภายใต้หนังกำพร้ามีแต่ความโสโครก น่าเกลียด น่าสะอิดสะเอียน เลอะเทอะโสมมไปด้วย
    กลิ่นคาวที่เหม็นคลุ้งไปทั่วบริเวณร่างกาย ไม่มีส่วนใดที่จะหาว่า สะอาด น่ารัก แม้แต่น้อยหนึ่ง
    ก็หาไม่ได้ เมื่อเทียบกับร่างของผู้อื่นแล้วก็เอามาเทียบกับตนเอง พิจารณาให้เห็นชัดว่า เราเอง
    ก็เป็นซากศพเคลื่อนที่ เป็นผีเน่าเดินได้ดี ๆ นั่นเอง ซากศพนี้มีสภาพเช่นใด เราเองก็มีสภาพ
    เช่นนั้นที่ยังมองไม่ชัดเพราะหนังกำพร้าหุ้มห่อไว้ แต่ทว่าสภาพที่เลอะเทอะน่าเกลียดโสโครก
    นี้ใช่ว่าจะพ้นการพิจารณาใคร่ครวญของท่านผู้มีปัญญาก็หาไม่ ความจริงสิ่งโสโครกที่ปรากฏ
    ภายในก็หลั่งไหลออกมาปรากฏทุกวันคืน เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ เลือด เสลด น้ำหนอง เหงื่อไคล
    สิ่งเหล่านี้เมื่อหลั่งไหลออกมาจากร่างกาย เราเองผู้เป็นเจ้าของก็ไม่ปรารถนาจะแตะต้อง
    เพราะรังเกียจว่าเป็นสิ่งสกปรกโสโครก ความจริงสิ่งเหล่านั้นมีอยู่ในกายของเราเอง ฉะนั้น
    อสุภ คือ สิ่งที่น่าเกลียดนี้มีอยู่ในร่างกายของเราครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว เราก็คือส้วมเคลื่อนที่
    หรือป่าช้า ที่บรรจุซากศพเคลื่อนที่นั่นเองที่ยังไม่ปรากฏแก่ตาชาวโลกก็เพราะหนังกำพร้ายัง
    หุ้มไว้ ถ้าหนังกำพร้าขาดเมื่อไร เมื่อนั้นแหละความศิวิไลซ์ก็จะสิ้นซากเมื่อนั้น สภาพที่แท้จริง
    จะปรากฏเช่นซากศพที่กำลังพิจารณาอยู่นี้ จงพยายามพิจารณาให้เห็นชัดเจนตามความเป็นจริง
    ก่อนพิจารณาต้องเพ่งรูปให้อารมณ์จิตมีสมาธิสมบูรณ์บริบูรณ์เสียก่อน เมื่อพิจารณาเห็นว่า
    ตนของตนเองไม่สวยไม่งามแล้ว ก็เห็นคนอื่นว่าไม่สวยไม่งามได้ง่าย การเห็นตนเองเป็นความ
    เห็นที่เกิดได้ยาก แต่ถ้าพยายามฝึกฝนเสมอ ๆ แล้ว อารมณ์จะเคยชิน จะเห็นว่าการพิจารณา
    ตนนี้ง่าย เมื่อเห็นตนแล้วก็เห็นคนอื่นชัด ถ้าเห็นตนชัดว่าไม่มีอะไรสวย เพราะมีแต่ของน่าเกลียด
    โสโครก เราก็มองเห็นคนอื่นเป็นอย่างนั้น พยายามทำให้ชิน ให้ขึ้นใจจนมองเห็นไม่ว่าใคร
    มีสภาพเป็นซากศพ ตัดความกำหนัดยินดีในส่วนกามารมณ์เสียได้แล้วชื่อว่าท่านได้อสุภกรรมฐาน
    ในส่วนของสมถภาวนาแล้ว การได้อสุภกรรมฐานในส่วนสมถะนี้เป็นผลได้ที่อยู่ในสภาพง่อนแง่น
    คลอนแคลน อารมณ์ความเบื่อหน่ายจะเสื่อมทรามลงเมื่อไรก็ได้ เพราะปกติของอารมณ์จิต
    มีปกติฝักใฝ่ฝ่ายต่ำอยู่แล้ว หากไปกระทบความยั่วยุเพียงเล็กน้อย อารมณ์ฌานเพียงแค่
    ปฐมฌานก็จะพลันสลายตัวลงอย่างไม่ยากนัก เพื่อรักษาอารมณ์ฌานที่หามาได้ยากอย่างยิ่งนี้
    ไม่ให้เสื่อมเสียไป เมื่ออารมณ์จิตหมด ความหวั่นไหวนี้ ท่านให้ใช้วิปัสสนาญาณเข้าสนับสนุน
    เพื่อทรงพลังสมาธิให้มั่นคง เพราะฌานใดที่ได้ไว้แล้ว และมีอารมณ์วิปัสสนาญาณสนับสนุน
    ฌานนั้นท่านว่าไม่มีวันที่จะเสื่อมสลายการเจริญวิปัสสนาญาณต่อจากอสุภฌานนี้ ท่านสอนให้
    พิจารณาดังต่อไปนี้


    ยกนิมิตอสุภเป็นวิปัสสนา

    ธรรมดาของนิมิตที่เกิดจากอารมณ์ของสมาธิ จะเป็นนิมิตของอุปจารฌานหรือที่เรียกว่า
    อุคคหนิมิต หรือขั้นอัปปนาสมาธิ ที่เป็นอารมณ์ปฐมฌานก็ตาม จะเกิดยืนสภาพตลอดกาลตลอดสมัย
    นั้นไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วชั่วครู่ชั่วพักก็หายไป ทั้งนี้ก็เพราะจิตไม่สามารถจะทรงสมาธิไว้ได้นานมากนัก
    จิตก็จะเคลื่อนจากฌาน ตอนที่จิตเคลื่อนจากฌานนี่แหละภาพนิมิตก็จะเลือนหายไป ถ้าต้องการเห็น
    ภาพใหม่ ก็ต้องตั้งต้นสมาธิกันใหม่ ถ้าประสงค์จะเอานิมิตเป็นวิปัสสนา เมื่อเพ่งพินิจอยู่ พอนิมิต
    หายไปก็ยกอารมณ์เข้าสู่ระดับวิปัสสนาโดยพิจารณาว่า นิมิตนี้ เราพยายามรักษาด้วยอารมณ์ใจ โดย
    ควบคุมสมาธิจนเต็มกำลังอย่างนี้ แต่นิมิตนี้จะได้เห็นใจเรา จะอยู่กับเราโดยที่เราหรืออุตสาห์ประคับ
    ประคองจนอย่างยิ่งอย่างนี้ นิมิตนี้จะเห็นอกเห็นใจเราก็หาไม่ กลับมาอันตรธานหายไปเสียทั้ง ๆ ที่
    เรายังต้องการ ยังมีความปรารถนา นิมิตนี้มีสภาพที่จะต้องเคลื่อนหายไปตามกฎของธรรมดาฉันใด
    ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายที่มีความเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องมีอันตรธานไปในที่สุด ฉะนั้น ความไม่เที่ยงของ
    ชีวิตที่มีความเกิดขึ้นนี้ มีความตายเป็นที่สุด เช่นเดียวกับนิมิตนี้ ขึ้นชื่อว่าความเกิด ไม่ว่าจะเกิด
    เป็นอะไร เป็นสัตว์ มนุษย์ เทวดา พรหม ต่างก็มีความไม่เที่ยงเสมอเหมือนกันหมดเมื่อเกิดแล้ว
    ก็มีอันที่จะต้องตายเหมือนกันหมด เอาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้เลย เมื่อความไม่เที่ยงมีอยู่
    ความทุกข์ก็ต้องมี เพราะการต้องการให้คงอยู่ยังมีตราบใด ความทุกข์ก็มีอยู่ตราบนั้น เพราะ
    ความปรารถนาให้คงอยู่โดยไม่ต้องการให้เสื่อมสิ้นนั้น เป็นอารมณ์ที่ฝืนต่อกฎของความเป็นจริง
    การทรงชีวิตนั้น ไม่ว่าจะทรงอยู่ในสภาพใด ๆ ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ทั้งสิ้น เพราะทุกข์จาก
    การแสวงหาอาหาร และเครื่องอุปโภคมาเลี้ยงชีวิตและครอบครัว ทุกข์เพราะโรคภัยไข้เจ็บรบกวน
    ทุกข์เพราะไม่อยากให้ของรักของชอบใจ แม้ในที่สุดชีวิตที่จะต้องแตกทำลายนั้นต้องอันตรธานไป
    ความปรารถนาที่ฝืนความจริงตามกฎธรรมดานี้เป็นเหตุของความทุกข์ แต่ในที่สุดก็ฝืนไม่ไหว
    ต้องแตกทำลายอย่างนิมิตอสุภนี้เหมือนกัน นิมิตอสุภนี้ เดิมทีก็มีปัญจขันธ์เช่นเรา บัดนี้เขาต้อง
    กระจัดพลัดพรากแตกกายทำลายขันธ์ออกเป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่อย่างนี้ ความที่ขันธ์เป็นอย่างนี้
    เขาจะมีความปรารถนาให้เป็นอย่างนี้ก็หาไม่ แม้เขาจะฝืนอย่างไร ก็ฝืนกฎธรรมดาไม่ได้
    ในที่สุดก็ต้องสลายอย่างนี้ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า โลก เป็น อนัตตา คือไม่มีอะไรทรงสภาพ
    ไม่มีใครบังคับการสิ้นไปของชาวโลกนั้นเป็นความจริง สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงไม่มีความทุกข์
    ์มีแต่ความสุขทรงสภาพปกตินั้นมีพระนิพพานแห่งเดียว ผู้ที่จะถึงพระนิพพานได้ ท่านปฏิบัติอย่าง
    เรานี้ ท่านเห็นสังขารทั้งหลายเป็นของน่าเกลียด เห็นสังขารทั้งหลายเป็นแดนของความทุกข์
    เพราะกิเลสและตัณหาปกปิดความรู้ความคิด สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ท่านไม่ยึดมั่นในสังขาร
    ท่านเบื่อในสังขาร โดยท่านถือว่าธรรมดาของการเกิดมามีสังขารต้องเป็นทุกข์อย่างนี้ ท่านไม่
    ปรารถนาการเกิดอีก ท่านไม่ต้องการชาติภพใดๆ อีก ท่านหวังนิพพานเป็นอารมณ์ คือท่าน
    คิดนึกถึงพระนิพพานเป็นปกติ ไม่มีอารมณ์รัก ความเกิด รักสมบัติ รักยศ รักสรรเสริญ ไม่รัก
    แม้แต่สุขที่เกิดแต่ลาภที่ได้มาโดยชอบธรรม ท่านตัด ฉันทะ ความพอใจในโลกทั้งสิ้น ท่านตัด
    ราคะ ความกำหนัดยินดีในโลกทั้งสิ้น ท่านพอใจในพระนิพพาน เมื่อทรงชีวิตอยู่ท่านก็ทรงเมตตา
    เป็นปุเรจาริกคือมีเมตตาเป็นปกติ ท่านไม่ติดโลกามีสคือสมบัติของโลก ท่านที่เข้า พระนิพพาน
    ท่านมีอารมณ์เป็นอย่างไร บัดนี้เราผู้เป็นพุทธสาวกก็กำลังทรงอารมณ์อย่างนั้นเราเห็นความ
    ไม่เที่ยงของสังขารแล้ว เพราะมีอสุภเป็นพยาน เราเห็นความทุกข์เพราะการเกิดแล้ว เพราะมี
    อสุภเป็นพยาน เราเห็นอนัตตาแล้ว เพราะมีอสุภเป็นพยาน เราจะพยายามตัดความไม่พอใจ
    ในโลกามีสทั้งหมดเพื่อได้ถึงพระนิพพานเป็นที่สุด

    จงคิดอย่างนี้ พิจารณาอย่างนี้เนืองๆ ทุกวันทุกลมหายใจเข้าออกท่านจะเข้าถึงนิพพาน
    ในชาติปัจจุบัน พระนิพพานเป็นของมีจริง พระนิพพานเป็นสุขไม่มีทุกข์เจือปน ผู้ที่มีจิตผูกพัน
    พระนิพพานเป็นปกติ จะมีความสุขในสมัยที่ทรงชีวิตอยู่ ความสุขนี้อธิบายให้สมเหตุสมผลไม่ได้
    เพราะเป็นสุขประณีต สุขยิ่งกว่าความสุขใด ๆ ที่เจือด้วยอามิส ท่านที่เข้าถึงแล้วเท่านั้นที่ท่านจะ
    ทราบความสุขใจของท่านที่เข้าถึงพระนิพพานได้จริง ขออธิบายวิปัสสนาญาณโดยอาศัยนิมิต
    อสุภกรรมฐานเป็นบาทไว้โดยย่อเพียงเท่านี้ ขอนักปฏิบัติจงคิดคำนึงเป็นปกติ ท่าน จะเข้าถึง
    พระนิพพานได้อย่างคาดไม่ถึง


    ภาพประสาทหลอน

    นักปฏิบัติกรรมฐานในอสุภกรรมฐานนี้ มักจะถูกอารมณ์อย่างหนึ่งที่คอยหลอกหลอน
    อยู่เสมอ อารมณ์ที่คอยหลอกหลอนนั้นคืออารมณ์อุปทาน อารมณ์อุปทานนี้มีความรู้สึกอยู่เสมอว่า
    จะถูกอสุภคือซากศพนั้นคอยหลอกหลอน การที่ออกไปเยี่ยมป่าช้าเพื่อพิจารณาอสุภ ก็ดี หรือกำลัง
    ที่พิจารณาอสุภอยู่ที่วิหารก็ดี ในกาลบางครั้งอารมณ์จะหลอนตนเองว่าเหมือนมี ภาพซากศพที่
    พิจารณานั้นบ้างมีภาพปีศาจจากที่อื่นบ้างแสดงอาการต่างๆ จะเข้ามาทำร้ายตน บางรายถึงกับ
    ตกใจกลายเป็นคนเสียสติไปก็มี ที่เป็นดังนี้ความจริงซากศพนั้นไม่ได้หลอกหลอน ผีปีศาจอื่นใด
    ก็มิได้หลอกหลอน ที่เป็นดังนั้นก็อาศัยอุปทาน การยึดถือเดิมที่มีประจำจิตใจคนเรามาแต่อดีตว่า
    ผีทำร้ายหลอกหลอน
    ถ้าอารมณ์อย่างนั้นเกิดขึ้นแล้ว ท่านให้ตัดใจว่านี่เราจะฝึกเพื่อมรรคผลความดีเพื่อพ้น
    จากทุกข์ ซากศพที่ตายแล้วไม่มีวันจะลุกขึ้นมาทำร้ายได้ และปีศาจใดที่จะทำอันตรายแก่
    พระโยคาวจรอย่างเรานี้ก็ไม่มี พระอริยเจ้าทั้งหลายที่ท่านได้สำเร็จมรรคผลนับไม่ถ้วน ไม่มี
    พระอริยเจ้าแม้แต่องค์เดียวที่ท่านไม่ได้ เจริญอสุภกรรมฐานแล้วสำเร็จมรรคผลทุกท่านต่างก็
    สำเร็จมรรคผลมาด้วยผ่านการเจริญอสุภกรรมฐานมาแล้วทั้งสิ้น ทุกท่านผ่านมาได้ไม่มีอันตราย
    ต่อชีวิต เพราะซากศพหรือปีศาจเลย ภาพที่ปรากฏต่อหน้าเรานี้เป็นภาพประสาทหลอนเป็นอารมณ์
    ของอุปทาน ไม่มีอะไรจริงจัง แล้วตัดใจปฏิบัติต่อไปด้วยการทรงสมาธิมั่นเพียงเท่านี้ภาพหลอน
    ที่เห็นนั้นก็จะอันตรธานหายไป บางรายตัดสินใจด้วยเอาชีวิตเป็นเดิมพันคือจะเห็นภาพหลอกหลอน
    หรือเกิดอารมณ์กลัวขึ้นมาก็ตามท่านตัดสินใจ เชิญเถิด ถ้าเราจะต้องตายเสีย ในระหว่างปฏิบัติ
    ความดีนี้จะตายเมื่อสิ้นลมปราณก็ดี จะตายเพราะถูกปีศาจทำอันตรายก็ดี เราพร้อมที่จะตาย
    เพราะเราไม่ ปรารถนาการเกิด และไม่ปรารถนาจะอยู่คู่กับโลกที่เต็มไปด้วยความเร่าร้อน เต็ม
    ไปด้วยความทุกข์ มีแต่ความหลอกหลอนปลิ้นปล้อน หาความจริงที่เป็นเหตุของความสุขไม่ได้
    ใครต้องการชีวิตก็เชิญเถิดแล้วท่านก็ทำไม่รู้ไม่ชี้เสีย จะมีเสียงมีอาการอะไรปรากฏท่านไม่สนใจ
    เท่านี้ ภาพหลอนและอารมณ์กลัวก็จะหายไป ท่านก็กลับได้สมาธิตั้งมั่นอย่างคาดไม่ถึงและมีผลทาง
    วิปัสสนาญาณอย่างเลิศ ท่านที่ตัดสินใจเอาชีวิตเป็นเดิมพันนี้ นอกจากจะหมดความกลัวแล้ว ถ้าทำ
    ถูกทางรู้สึกว่าฌานและวิปัสสนาญาณไม่มีอะไรยากสำหรับท่าน ทำได้ดี ได้รับผลรวดเร็วเกินกว่า
    ที่คาดคิดไว้ ขอท่านนักปฏิบัติจงสนใจและนำไปปฏิบัติท่านจะได้รับผลสมความตั้งใจ

    ภาพหลอน


    นอกจากอารมณ์หลอน ก็ยังมีภาพหลอนอีก ภาพหลอนนี้ไม่มีอะไรน่ากลัว แต่เป็นภาพ
    ที่น่ารัก เป็นภาพคนสวยๆ บ้าง เป็นเทวดาบ้างเป็นภาพปราสาท หรือวิมานบ้างเมื่อปรากฏขึ้นก็
    สร้างอารมณ์ปลาบปลื้มแก่ท่านที่ได้เห็น ขอเตือนนักปฏิบัติว่าภาพอื่นนอกจากภาพนิมิตที่ท่านกำหนด
    ไว้เดิมแล้วท่านอย่าสนใจเป็นอันขาด เพราะจะทำให้จิตซ่านออกจากอารมณ์สมาธิเป็นภาพลวงตา
    จงรักษาแต่ภาพนิมิตที่กำหนดแล้วเท่านั้น จงทิ้งภาพอื่นเสียเพราะจะทำให้สมาธิเสีย

    ความมุ่งหมายในอสุภ


    อสุภกรรมฐานนี้ ท่านสอนไว้ถึง ๑๐ อย่าง ก็ด้วยมีความมุ่งหมายดังต่อไปนี้
    ๑. อุทธุมาตกอสุภ ท่านสอนไว้เพื่อเป็นที่สบายของบุคคลผู้มีความกำหนัดยินดีใน
    ทรวดทรงสัณฐาน เพราะอสุภกรรมฐานข้อนี้แสดงให้เห็นเนื้อแท้ของทรวดทรงสัณฐานว่า
    ไม่มีสภาพคงที่ในที่สุดก็ต้องอืดพองเหม็นเน่าเป็นสิ่งโสโครกที่ไม่น่าใคร่ไม่น่าชอบใจอย่างนี้
    ๒. วินีลกอสุภ เป็นที่น่าสบายของบุคคลที่หนักไปในทางมีความใคร่พอใจในผิวพรรณ
    ที่ผุดผ่อง เพราะอสุภกรรมฐานข้อนี้แสดงให้เห็นว่า ผิวพรรณนั้นไม่สวยจริงในที่สุดก็จะกลายเป็นผิว
    ที่มีสีสันวรรณะ ที่เขียว ขาว แดง เละเทะ เลอะเลือน แปดเปื้อนไป ด้วยสิ่งโสโครกที่มีอยู่ภายใน
    ผิวพรรณที่หุ้มห่อไว้นั้นจะหลั่งไหลออกมาให้กลายเป็นของ น่าเกลียดโสโครก
    ๓. วิปุพพกอสุภ เป็นที่สบายของบุคคลที่มีความยินดีในผิวพรรณที่ปรุงด้วยเครื่องหอมเอา
    มาฉาบทาไว้ อสุภนี้แสดงให้เห็นว่าเครื่องหอมที่ฉาบทาประทินผิวไว้นั้นไม่มี ความหมาย ในที่สุดก็ต้าน
    ทานสิ่งโสโครกที่อยู่ภายในไม่ได้ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง ที่มีอยู่ภายในก็จะทะลักออกมาทับถม
    เครื่องประทินผิวเหล่านั้นให้หายไป ร่างกายจะเต็มไปด้วยสิ่งโสโครกที่สิงอยู่ภายใน
    ๔. วิฉิททกอสุภ เป็นที่สบายของผู้ที่มีความกำหนัดยินดีร่างกายที่มีแท่งทึบมีเนื้อล่ำที่พอก
    นูนออกมา เป็นเครื่องบำรุงราคะของผู้ที่มักมากในเนื้อแท่งที่กำเริบกรรมฐานนี้แสดงให้เห็นว่าร่างกาย
    นี้มิใช่เป็นแท่งทึบตามที่คิดไว้ ความจริงเป็นโพรงโปร่งอยู่ภายในและเต็มไปด้วยของโสโครก
    ๕. วิกขายิตกอสุภ กรรมฐานนี้เป็นที่สบายของผู้ที่มีความกำหนัดยินดีในเนื้อกล้ามบางส่วน
    ของร่างกาย กรรมฐานนี้แสดงให้เห็นว่าส่วนของกล้ามเนื้อบางส่วนของร่างกายที่ตนใคร่และปรารถนา
    อย่างแรงกล้านั้น ในไม่ช้าก็ต้องวิปริตสลายตัวไปและเป็นกล้ามเนื้อที่เต็มไปด้วยสิ่งโสโครกไม่น่าใคร่
    ไม่น่าพอใจ
    ๖. วิกขิตตกอสุภ อสุภนี้เป็นที่สบายของผู้ที่มีความกำหนัดยินดี ในลีลาอิริยาบถ
    มีการยกย่าง ก้าวไป ถอยกลับ และการคู้แขนเหยียดแขน ของเพศตรงข้าม เรียกว่า เป็น
    ผู้ใคร่ในอิริยาบถ พอใจกำหนัดยินดีในในท่อนแห่งกล้ามเนื้อที่เคลื่อนไหวนั้นเป็นอารมณ์กรรมฐาน
    ข้อนี้แสดงให้เห็นว่าอวัยวะต่างๆ ที่เคลื่อนไหวในอิริยาบถนั้นไม่มีอะไรแน่นอน ไม่สามารถจะ
    รวมกลุ่มกันได้ตลอดกาลตลอดสมัย ในที่สุดก็ต้องกระจัดพลัดพรากจากกันไปเป็นท่อนน้อย
    ท่อนใหญ่ตามที่ปรากฏนี้
    ๗. หตวิขิตตกอสุภ เป็นที่สบายของผู้ที่มีความกำหนัดยินดีในข้อต่อ คือร่างกาย
    ที่มีอาการ ๓๒ ครบถ้วน คนประเภทนี้รักไม่เลือก ถ้าเห็นว่าเป็นคนที่มีอวัยวะไม่บกพร่อง
    แล้วเป็นรักได้ กรรมฐานนี้แสดงให้เห็นว่า การติดต่อส่วนต่างๆ ของร่างกายนี้ ไม่จีรังยั่งยืน
    ในไม่ช้าก็จะต้องพลัดพรากจากกันตามกฎของธรรมดา
    ๘. โลหิตกอสุภ เป็นที่สบายของคนรักความงามของร่างกายที่ตกแต่งด้วยเครื่อง
    ประดับ คือเป็นคนที่บูชาเครื่องอาภรณ์มากกว่าเนื้อแท้ กรรมฐานนี้แสดงให้เห็นว่า
    อาภรณ์นั้นไม่สามารถจะรักษาแท่งทึบของก้อนเนื้อที่รับรองเครื่องประดับไว้ได้ ในไม่ช้า
    สิ่งโสโครกภายในก็จะหลั่งไหลออกมา เครื่องประดับที่เป็นเครื่องเจริญตามิได้มีอำนาจ
    ต้านทานกฎธรรมดาไว้ได้เลย
    ๙. ปุฬุวกอสุภ เป็นที่สบายของคนที่ยึดถือว่า ร่างกายนี้เป็นของเรา แต่กรรมฐาน
    นี้แสดงว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา ร่างกายนี้เป็นสาธารณะแก่หมู่หนอนที่กำลังกินอยู่ ถ้า
    ร่างกายเป็นของเราจริง เจ้าของร่างคงไม่ปล่อยให้หนอนกัดกินเป็นอาหารได้
    ๑๐. อัฎฐิกอสุภ เป็นที่สบายของผู้มีความกำหนัดยินดีในฟันที่ราบเรียบขาวเป็น
    เงางาม กรรมฐานนี้แสดงให้เห็นว่า กระดูกฟันนี้ก็ต้องหลุดถอนเป็นธรรมดาไม่คงสภาพ
    สวยสดงดงามให้ชมอยู่ตลอดกาล ตลอดสมัยได้ ตัวไม่ทันตาย ฟันก็หลุดออกก่อนแล้วและ
    ความศิวิไลซ์ของฟันที่ว่าสวยนั้นก็ไม่จริง ถ้าปล่อยไว้ไม่ชำระขัดสีเพียงวันเดียวสีขาวไข่มุก
    นั้นก็จะเริ่มกลายเป็นสีเหลืองเพราะสิ่งโสโครกที่ฟันเกาะไว้นอกจากจะโสโครกแล้ว ฟันก็
    จะปรากฏกลิ่นเหม็นจนเจ้าของเองทนไม่ไหว
    อสุภกรรมฐานที่ท่านกล่าวสอนไว้ถึง ๑๐ อย่าง มีความหมายอย่างที่ว่ามานี้แล้วของ
    ท่านนักปฏิบัติ ที่จะฝึกหัดกำจัดอำนาจราคะ คือความกำหนัดยินดีในเพศตรงข้าม หรือ
    เป็นนักนิยมสีสันวรรณะแล้ว ท่านจงเลือกฝึกในอสุภทั้ง ๑๐ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งที่
    เหมาะสมแก่ความรู้สึกเดิม ที่มีความกำหนัดยินดีอยู่นั้น เพื่อผลในการปฏิบัติในส่วน
    วิปัสสนาญาณ เพื่อมรรคผลต่อไปเถิด

กำลังแสดงผล 1 ถึง 1 จากทั้งหมด 1
Bookmarks