อิทธิบาท ๔ ได้พูดถึงวิธีการต่างๆ มามาก ต่อแต่นี้ไปจะพูดถึงกฎบังคับตายตัวในพระพุทธศาสนา อีกอย่างหนึ่ง ที่นักปฏิบัติไม่ว่าระดับใดต้องยึดถือเป็นกฎบังคับสำหรับการปฏิบัติ ถ้าทิ้งอิทธิบาท ๔ นี้ เสียแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่มีทางสำเร็จผลสมความปรารถนา แต่ถ้าท่านผู้ใดทรงการปฏิบัติตาม ในอิทธิบาท ๔ นี้แล้ว สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสรับรองผลว่า ต้องสำเร็จสมความมุ่งหมาย ทุกประการ แม้ท่านหวังพระนิพพานในชาตินี้ ก็หวังได้แน่นอน ใจความในอิทธิบาท ๔ มีดังนี้ ๑. ฉันทะ มีความพอใจในปฏิปทาที่ปฏิบัติโดยสม่ำเสมอ ๒. วิริยะ มีความพากเพียรพยายามไม่ท้อถอย ๓. จิตตะ สนใจในข้อวัตรปฏิบัตินั้นเนืองนิจ ๔. วิมังสา ใคร่ครวญพิจารณา ในข้อวัตรปฏิบัตินั้นโดยถูกต้อง กฎ ๔ อย่างนี้ท่านเรียกว่า อิทธิบาท แปลว่า เข้าถึงความสำเร็จ หมายความว่าท่าน นักปฏิบัติท่านใดจะปฏิบัติในสมถะหรือวิปัสสนาก็ตาม ถ้าท่านมีแนวความคิดรักใคร่สนใจในข้อวัตร- ปฏิบัติ มีความพากเพียรไม่ท้อถอย สนใจใคร่อยู่เป็นปกติ พิจารณาสอบสวนทบทวนปฏิปทาทปฏิบัติ แล้ว ว่าเหมาะสมถูกต้องประการใด หรือไม่เพียงใด ต่อไปควรจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะเหมาะสมถูกต้อง ปฏิบัติได้อย่างนี้ สมเด็จพระชินสีห์ตรัสว่า ไม่มีอะไรที่จะทำไม่ได้ไม่สำเร็จ อิทธิบาท ๔ ประการนี้ นักปฏิบัติต้องยึดไว้เป็นหลักปฏิบัติประจำใจ ไม่มีพระอรหันต์องค์ใดที่จะละเลย ไม่ยึดถืออิทธิบาท ๔นี้ เป็นหลักปฏิบัติประจำใจ แม้องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเองก็ทรงยึดอิทธิบาทนี้เป็นกฏในการปฏิบัติ เช่นเดียวกัน ขอท่านนักปฏิบัติทุกท่านจงยึดถืออิทธิบาทนี้เป็นหลักชัยประจำใจไว้เสมอ อิริยาบท นักปฏิบัติผู้หวังผล ส่วนมากมักจะหนักใจอิริยาบท คิดว่านั่งอย่างไร นอนได้ไหม? เดิน ยืน ได้หรือเปล่า? ขอบอกไว้ให้ทราบว่า วิธีปฏิบัติในอิริยาบทนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคไม่ทรงจำกัดไว้ ท่านว่าได้ทั้ง ๔ อิริยาบท คือ นั่ง นอน ยืน เดิน การนั่ง การนี้ท่านไม่จำกัดไว้ ท่านว่านั่งตามสบาย ชอบขัดสมาธิ หรือพับเพียบ หรือท่าใดท่าหนึ่ง ที่พอเห็นว่าเหมาะสม หรือพอสบาย ท่านว่าทำได้ แต่ตามแบบท่านพูดเป็นกลาง ๆ ไว้ว่า เข้าสู่ที่สงัด นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น ท่านว่าอย่างนี้ การตั้งกายให้ตรง เอากันเพียงแค่เท่าที่ จะตรงได้ สังเกตดูด้วยการทดลองสูดลมหายใจเข้าออก เอาพอหายใจสบายๆ ถ้าคนหลังงอหลังโกง บังคับให้ตรงเป๋งย่อมไม่ได้ ต้องให้เหยียดพอดีเท่าที่จะเหยียดได้ นอน ท่านว่าควรนอนตะแคงขวา แบบสีหไสยาสน์ แต่ทว่าถ้านอนตะแคงขวาไม่ได้เพราะเหตุใด ก็ตาม ท่านจะนอนท่าใดก็ได้ ตามแต่ที่ท่านจะเห็นว่าสบาย การยืน แบบยืนนี้เห็นจะไม่ต้องอธิบาย ก็การยืนไม่มีหลายท่า เอากันแค่ยืนได้ ใครขืนเล่นพิเรนทร์ ยืนนอกแบบฉบับก็เห็นจะลำบาก การเดิน การเดินนี้มีความสำคัญมาก ต้องขออธิบายสักหน่อย เดินท่านเรียกว่า "จงกรม" ทำกัน อย่างไร ท่านไม่ได้อธิบายไว้ แต่ตามที่ปฏิบัติกันมา ท่านสอนให้เดินหลายอย่าง คือ ๑. เดินนับก้าว ที่เท้าก้าวไป ๒. เดินกำหนดรู้การก้าวไปและถอยกลับ รู้พร้อมทั้งการแกว่งแขน และยกขาว่า ก้าวเท้าซ้าย หรือเท้าขวา แกว่งแขนซ้ายหรือแขนขวา ก้าวไปข้างหน้าหรือข้างหลัง ดังนี้เป็นต้น ๓. เดินกำหนดอารมณ์สมาธิ คือกำหนดนิมิตสมาธิตามอารมณ์กรรมฐานที่เจริญอยู่ โดยเดิน ไปตามปกติธรรมดา ขอสรุปเอาว่า การเดินปฏิบัติ ท่านเรียกว่าเดินจงกรม คือเดินควบคุมสติให้รู้ว่า ก้าวไปหรือ ถอยกลับใหม่ ๆ ท่านให้ฝึกนับก้าวว่า เดินไปได้กี่ก้าวจึงถึงที่หมาย ต่อมาให้กำหนดรู้ว่า เราเดินด้วย เท้าซ้ายหรือเท้าขวาให้กำหนดรู้ไว้ เพื่อรักษาสมาธิ ต่อไปก็เดินกำหนดอารมณ์กรรมฐาน ถ้าเป็น กรรมฐานที่มีรูป ก็กำหนดรูปกรรมฐานไปพร้อมกัน กรรมฐานกองใดได้สมาธิในขณะเดิน กรรมฐาน กองนั้นสมาธิไม่มีเสื่อม วิธีเดิน ตอนแรกๆ ควรเดินช้าๆ เพราะจิตยังไม่ชิน ต่อเมื่อจิตชินแล้ว ให้เดินตามปกติ แล้วกำหนดรู้ไปด้วย เมื่อใดถ้าเดินเป็นปกติ รู้การก้าวไปและถอยกลับได้จิตไม่เคลื่อนและรักษา อารมณ์สมาธิ หรือนิมิตกรรมฐานได้เป็นปกติ ทั้งเดินในที่ฝึกหรือเดินในธุรกิจแล้ว ก็ชื่อว่าท่าน เป็นนักปฏิบัติที่เข้าระดับแล้ว พอจะเอาตัวรอด บังคับหยุด การเดินควรฝึกทั้งหลับตาและลืมตา ตอนแรกๆ ฝึกลืมตา พอชำนาญเข้าให้ฝึกหลับตา แล้วกำหนดที่หยุดโดยกำหนดใจไว้ว่า ถึงตรงนั้นจงหยุด หรือ บังคับการแยกทางว่า ถึงตรงนั้นจง แยกทาง หรือขณะเดินอยู่นั้นอธิษฐานให้กายเดินย้อนไปย้อนมาตามแนวเส้นทางให้ถูกต้อง ส่วน จิตถอดท่องเที่ยวไปในภพต่างๆ บังคับให้กายเดินให้ตรงทางที่มีส่วนตรงและโค้ง เลี้ยวไปเลี้ยวมา ตามเส้นทาง หรือบังคับให้หยุดตรงที่กำหนด ให้หยุดกี่นาที แล้วเดินต่อไปตามกำหนดอย่างนี้ เป็นวิธี เดินจงกรมฝึกกรรมฐาน การเดินควรฝึกให้ถึงขั้นปกติ อานิสงส์เดินจงกรม การเดินจงกรมเป็นการเปลี่ยนอิริยาบท ไม่ให้เส้นสายยึดจนกลายเป็นคนง่อยเปลี้ยและ ยังทำให้ท้องไม่ผูกอีกด้วย