การเจริญภาวนาสมาธิ

  1. ญา ทิวาราช
    ญา ทิวาราช
    การเจริญภาวนาสมาธิ



    การเจริญภาวนา แบบกรรมฐานจะแบ่งการฝึกสมาธิออกเป็นขั้นต่างๆ ๓ ขั้น(ภาวนา ๓) ดังนี้คือ
    ๑.บริกรรมภาวนา
    เป็นขั้นตอนแรกในการฝึกจิตให้มีสมาธิโดยกำหนดใช้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอารมณ์กรรมฐาน เช่นการระลึกถึงพุทธคุณเป็นต้น หรือกองใดกองหนึ่งใน กรรมฐาน ๔๐
    ๒.อุปจารภาวนา
    ความหมายทางตรงของคำนี้ แปลว่าจวนเจียน ความหมายโดยนัยก็คือสมาธิขั้นจวนเจียนหรือเกือบจะสงบนิ่งดีแล้ว เป็นขั้นตอนที่ได้หลังจากการกำหนดจิตในขั้นแรกเป็นอารมณ์กรรมฐาน แล้วเกิดความสงบตัดจากอารมณ์*นิวรณ์ได้ (อารมณ์ของกามฉันทะ การคิดร้าย ความหดหู่ ฟุ้งซ่าน สงสัย)
    ๓.อัปปนาภาวนา
    หมายความว่าขั้นแน่วแน่ กล่าวคือ เมื่อผ่านสองขั้นต้นมาแล้ว นิมิตที่เกิดขึ้นนั้นจะสม่ำเสมอไม่ขาดตอนด้วยอุปจารสมาธิ ประคองความสงบนิ่งและอารมณ์ของจิตได้ไปจนถึงขั้นปฐมฌานอันถือว่าได้บรรลุการเจริญภาวนาขั้นต้นแล้ว



    นิมิต ๓ (บางตำราเรียก นิมิตต์ ๓) คือเครื่องหมายสำหรับใช้กำหนดจิตเป็นอารมณ์ในการเจริญกรรมฐาน มี ๓ อย่างดังนี้คือ
    ๑.บริกรรมนิมิต
    เป็นขั้นตอนแรกเริ่มในการเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งเอามาเป็นอารมณ์กรรมฐานทั้ง ๔๐ อย่าง (ดูที่กรรมฐาน ๔๐) เช่นการระลึกถึงพุทธคุณเป็นต้น
    ๒.อุคคหนิมิต
    หลังจากขั้นตอนแรกแล้วก็นึกกำหนดจนเห็นในใจอย่างชัดเจน ติดตา หรือการตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์จนแน่วแน่นั่นเอง (ใช้ได้กับกรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง)
    ๓.ปฏิภาคนิมิต
    หลังจากได้ถึงขั้นที่สองแล้ว ก็ภาพในใจที่ได้มาฝึกการปรับแต่ง ย่อ ขยายภาพที่มีอยู่ในใจนั้นตามพอใจ (ใช้ได้กับเฉพาะกรรมฐาน ๒๒ กอง คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ และอานาปานสติ ๑) จิตที่ถึงขั้นนี้แสดงว่ามีสมาธิอยู่ในขั้นอุปจารสมาธิแล้ว ซึ่งถือเป็นอารมณ์ของอุปจารภาวนาด้วย



    ระดับขั้นต่างๆ ของสมาธิและการได้ฌาน
    ระดับของความตั้งมั่นในความสงบนิ่งของจิต แบ่งออกเป็น ๓ ขั้นกล่าวคือ (สมาธิ ๓)
    ๑.สมาธิที่เกิดขึ้นชั่วขณะ แต่ตั้งมั่นอยู่ไม่ได้นาน (ขณิกสมาธิ)
    ๒.สมาธิที่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวได้นิ่งสงบ และนานกว่าระดับแรกแต่ยังไม่ตัดขาดจากสิ่งรบกวนภายนอกหรือเรียกว่าสมาธิขั้นจวนเจียน (อุปจารสมาธิ)
    ๓.สมาธิที่แนบแน่นและมั่นคงอยู่ในอารมณ์นั้นๆ จนตัดจากสิ่งรบกวนภายนอกได้สิ้น เป็นสมาธิในฌาน (อัปปนาสมาธิ)
    ญาณหยั่งรู้ที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญวิปัสสนาตามลำดับมีดังนี้ (ญาณ ๑๖)
    ๑.ญาณกำหนดรู้เรื่องของนามและรูป แยกแยะออกได้ว่าอะไรคือนามธรรม อะไรคือรูปธรรม (นามรูปปริจเฉทญาณ)
    ๒.ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป คือรู้ว่าอะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ที่ทำให้เกิดรูปและนามอาศัยซึ่งกันและกัน (ปัจจยปริคคหญาณ)
    ๓.ญาณกำหนดรู้ด้วยการพิจารณาเห็นนามและรูปตามหลักไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ยกรูปและนามมาพิจารณาอย่างลึกซึ้ง (สัมมสนญาณ)
    ๔.ญาณที่เห็นว่าการเกิดมาและดับไปของเบญจขันธ์เป็นเรื่องธรรมดา (อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ)
    ๕.ญาณที่เห็นการสลายไปของสังขารว่าต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา (ภังคานุปัสสนาญาณ)
    ๖.ญาณที่เห็นสังขารเป็นของน่ากลัวไม่ว่าภพใด เพราะว่าต้องสลายไปทั้งสิ้น (ภยตูปัฏฐานญาณ)
    ๗.ญาณที่เห็นเป็นโทษ เพราะว่าสังขารเป็นของน่ากลัวจึงต้องมีข้อบกพร่อง มีทุกข์ (อาทีนวานุปัสสนาญาณ)
    ๘.ญาณที่เห็นความเบื่อหน่าย เมื่อเห็นว่าเป็นโทษแล้วก็บังเกิดความเบื่อหน่ายในสังขาร ไม่ติดใจ (นิพพิทานุปัสสนาญาณ)
    ๙.ญาณที่ปรารถนาจะพ้นไปจากสังขารเหล่านั้น เพราะว่าเกิดความเบื่อหน่ายแล้ว (มุญจิตุกัมยตาญาณ)
    ๑๐.ญาณที่พิจารณาหาทางเพื่อพ้นจากสังขาร ได้แก่การยกเอาสังขารทั้งหลายมาพิจารณาเพื่อให้หลุดพ้นไป (ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ)
    ๑๑.ญาณที่เห็นอย่างเป็นกลางในความเป็นไปของสังขาร ไม่ยินดียินร้ายในสิ่งที่เห็น (สังขารุเปกขาญาณ)
    ๑๒.เมื่อเป็นกลางแล้ว ญาณก็คล้อยเข้าสู่การเห็นอริสัจจ์อันจะนำพาไปสู่ขั้นต่อไป จนกระทั่งจิตดิ่งลงเกิดมรรคญาณขึ้นจึงจะถึงที่สุดคือนิพพาน (สัจจานุโลมิกญาณ หรืออนุโลมญาณ)
    ๑๓.ญาณหยั่งรู้ที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการข้ามขั้นจากปุถุชนไปเป็นอริยบุคคล (โคตรภูญาณ)
    ๑๔.ญาณหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะระดับอริยบุคคลในแต่ละขั้น (มัคคญาณ)
    ๑๕.ญาณหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จในระดับอริยบุคคลในชั้นนั้นๆ จนได้อริยผล (ผลญาณ)
    ๑๖.ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน มรรคผล กิเลสที่ละแล้ว ที่ยังเหลืออยู่ และนิพพาน ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็ไม่มีการพิจารณากิเลสที่เหลืออยู่ (ปัจจเวกขณญาณ)









    ที่มา .salatham.com
กำลังแสดงผล 1 ถึง 1 จากทั้งหมด 1
Bookmarks