การฝึกดูจิตสำหรับนักวิปัสนากรรมฐาน การใช้พลังจิตที่สำคัญที่สุด และเป็นจุดสูงสุดของชีวิตมนุษย์ทุกคน คือ การใช้พลังจิตชนะใจตนเอง จนจิตสามารถทำงานเป็น “นายของใจ” ได้สมบูรณ์ เมื่อนั้น ก็สามารถทำกิจต่างๆ ประกอบด้วยปัญญาและพลังอำนาจมากมาย ใจจะทำหน้าที่เป็นเรขานุการให้จิต และมีร่างกายเป็นบ่าว แต่จำต้องปราบให้ใจยอมสิโรราบแก่จิตก่อน อันจิตนั้นเป็นความบริสุทธิ์ใสซื่อตรงไปตรงมา เป็นผู้รู้ ผู้เห็น ผู้สั่งการ ผู้ตัดสินใจ ผู้ก่อกรรม และเป็นผู้ดำเนินไปในแต่ละชาติภพไม่สิ้นสุดตราบจนกว่าจะนิพพาน จึงจะไม่มีชาติภพใหม่อีก มีแต่จิตที่เป็นทิพย์มีความสุขตลอดกาล จิตนั้นเป็นพุทธะอยู่แล้ว เป็นธรรมดา ธรรมชาติ เป็นธรรมะในตัว ไร้กิเลส เป็นเราแท้ ไม่ใช่อัตตา และไม่ใช่ความว่าง แต่เป็นเราที่แท้จริง คือ เราเป็นพุทธะ พุทธะเป็นเรา พุทธะไร้กิเลส เราไร้กิเลส พุทธะไม่อยาก ไม่ยึด เราไม่อยากไม่ยึด แต่กิเลส ความอยาก ความยึดมั่นนั้น ไม่ได้มาจากจิต ไม่ได้มาจากเรา ไม่ใช่ของเรา เราจึงต้องสละทิ้งสิ่งที่เราเคยหลงผิดว่าเป็นเรา เป็นของเรา (อัตตา) ออกไป เมื่อจิตมีพลังอำนาจกล้าแข็ง ย่อมมีกำลังสลัดสิ่งที่ไม่ใช่ของเราทิ้งไป คือ ละคลายการยึดมั่นถือมั่น, ความอยากผิดธรรมดา และกิเลสตัณหาต่างๆ ได้หมดสิ้น เข้าสู่ความเป็นเราแท้ ที่ไม่ใช่อัตตา เป็นอาตมัน ที่เป็นส่วนหนึ่งของสรรพสิ่งที่เรียกว่าปรมาตมัน คือ เราแท้แล้วเป็นส่วนหนึ่งของสรรพสิ่ง ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่สิ่งที่แปลกแยกเป็นตัวตนของตน สรรพสิ่งไม่ใช่ของเรา แต่เราเป็นส่วนหนึ่งของสรรพสิ่ง เราได้รับผลกระทบบีบเค้นจากสรรพสิ่งได้ (ทุกขัง) และเราก็ก่อกรรมต่อสรรพสิ่งได้ (อกุศลกรรม) สรรพสิ่งและเรากระทบถึงกันอย่างไม่อาจหลีกพ้นได้ มีการกระทำจากเราเมื่อใด ย่อมมีการกระทบย้อนกลับมาสู่เราในอนาคตได้เมื่อนั้น (วิบากกรรม) ดังนี้ เราจึงต้องก่อแต่สิ่งดีให้แก่สรรพสิ่ง เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของสรรพสิ่งนั้น เราจึงจะอยู่เป็นส่วนหนึ่งของสรรพสิ่งได้โดยไม่ทุกข์นั่นเอง การฝึกจิตกับการปล่อยตามใจแตกต่างกันอย่างไร การฝึกจิตเป็นการกระทำโดยมีเจตนาและเป้าหมายชัดเจน มุ่งหวังผลสำเร็จจากการกระทำนั้นๆ จึงเป็นเสมือนแผนการชีวิตของตนเอง เป็นแผนการสำหรับจิต เป็นมรรคหรือทางเดินแห่งจิตวิญญาณของตนเอง ในขณะที่การปล่อยให้จิตถูกใจบงการตามอำเภอใจ คือ การยอมสูญเสีย “จิต” ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของพลังอำนาจและปัญญาความรู้ทั้งมวลของตนเอง ให้กับใจไป เช่น การเห็นอาหารครั้งใดก็ห้ามใจไม่ได้ที่จะกิน เมื่อกินมากๆ ก็อ้วน เมื่ออ้วนก็วิตกกังวลเป็นทุกข์ และหาทางลดน้ำหนัก บ้างพยายามฝืนใจห้ามใจไม่ให้กินมากเกินไป นี่คือ ตัวอย่างของการตกเป็นทาสใจ ปล่อยตนเองไปตามอำเภอใจ และรับผลกรรมจากใจที่บงการจิต เป็นบุคคลที่มีกำลังจิตอ่อนแอ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ซึ่งแม้นภายนอกจะแสดงออกด้วยความดื้อด้านก้าวร้าว แต่ภายในกลับอ่อนแอ จิตใจไม่มั่นคง มักเผลอเอนเอียงตามคำยั่วยุหรือโฆษณาอยู่เสมอ ดังนั้น หากขาดซึ่งการฝึกจิต ก็เท่ากับปล่อยให้จิตเป็นทาสของใจ สูญเสียพลังจิตและปัญญาความรู้จากจิต และเท่ากับขาดการวางแผนทางเดินชีวิต หรือขาดมรรควิธีของการดำรงชีพที่ถูกต้อง แม้นจะร่ำรวยมหาศาล แต่ก็เป็นได้แค่เถ้าแก่กรรมกรที่จ้างตนเองทำงานหนักไปวันๆ จนตายจากโลกนี้ไปเท่านั้นเอง ทรัพย์สินมหาศาลอันใดก็ไม่อาจพกพาไปได้แม้นสตางค์แดงเดียว มรดกที่คิดไว้ให้ลูกหลาน ลูกก็อาจจะดำเนินธุรกิจผิดพลาด ผลาญหมดสิ้นไป หรือไม่ก็ถูกผู้ถือหุ้นที่ชำนาญกว่าโกงหมดตัวก็เป็นได้ เพราะความร่ำรวยนั้น มันไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เราแท้ เราแท้ คือ จิต คือ พุทธะ ที่ยังต้องดำเนินต่อไปในจักรวาลนี้ หลังจากละสังขารนี้ลงไป ก็ยังต้องเดินทางไปต่อ หากเดินอย่างไร้ทิศทาง ไม่มีมรรควิธี ก็คือ “ผู้หลงทาง” นั่นเอง ดังนั้น จะปล่อยให้จิตตกเป็นทาสใจต่อไป ไม่อาจมีกำลังอำนาจและปัญญาเป็นอิสระ หรือจะหันมาดูแลจิตใจ ฝึกจิตเพื่อใช้อำนาจและปัญญาจากจิต และฝึกใจให้ประสานการทำงานร่วมกับจิต ให้รู้ว่า “ใจ” เป็น “เรขานุการ” ของจิต ไม่ใช่เป็น “เจ้านาย” ของจิต ทำงานอย่างรู้หน้าที่ ประสานกันดีระหว่างจิตและใจ ก็จะสามารถพัฒนาตนเองได้สูงสุด ทั้งพลังอำนาจและปัญญาญาณ ด้วยเพราะใจนั้น เหมือนเรขานุการที่มักฟังความรอบด้าน รับรู้สรรพสิ่งรอบตัว และมักไหวเอนง่าย เลือกที่รักมักที่ชัง และยึดมั่นไม่ใช้ปัญญาพิจารณา ดังนั้นจำต้องฝึกให้จิตมีพลังอำนาจเหนือใจ และใช้ใจที่เปรียบเป็นเลขานุการแทน การทำงานและตัดสินใจจึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด การฝึกจิตกับการฝึกสมองแตกต่างกันอย่างไร สำหรับผู้ฝึกจิตแล้ว จำต้องเข้าใจว่าจิตและสมองนั้นไม่ใช่อย่างเดียวกัน และจำต้องแยกแยะการทำงานของจิตใจในส่วนที่เป็น “สมอง” และในส่วนที่เป็น “จิต” ออกจากกันให้ได้ เพื่อเลือกฝึกจิตให้ถูกวิธี ไม่ใช่ฝึกได้แต่สมองแต่จิตไม่มีพัฒนาการ อนึ่ง การศึกษาเล่าเรียนในปัจจุบันนั้นเป็นการฝึกสมอง และมีโอกาสได้พัฒนาจิตใจบ้างเพียงเล็กน้อย แต่ไม่อาจเรียกได้ว่าการเรียนในปัจจุบันนั้นเป็นการฝึกจิตแต่อย่างใด การฝึกโดยใช้การ “จำ”, “เข้าใจ”, “รับรู้”, “คิด”, “จินตนาการ” นั้น ล้วนเป็นการทำงานของสมอง ไม่ใช่ผลของจิต แต่จิตนั้นสามารถรู้ในสิ่งที่ไม่มีในสมองได้ เช่น รู้ได้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ทายได้ว่ามีอะไรที่ซ่อนอยู่ที่ตามองไม่เห็น ฯลฯ เหล่านี้ มีหลายท่านใช้พลังจิตหยั่งรู้และพิสูจน์ให้เห็นประจักษ์แก่ตามาบ้างแล้ว จึงเห็นได้ชัดว่าการฝึกจิต ไม่ใช่วิธีแบบเดียวกับการฝึกสมองแน่นอน หากท่านพอใจในตัวท่าน ของๆ ท่าน สิ่งที่ท่านเป็นอยู่ขณะนี้ดีแล้ว ท่านย่อมมีแต่ความสุขแท้ เบาสบายใจ ไร้ความกังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตข้างหน้า หรือพะวักพะวงกับสิ่งของในอดีต เช่น เกรงว่าหุ้นของท่านราคาจะตก, ทรัพย์สินของท่านจะมีอันเป็นไปหรือไม่, คนรักของท่านจะยังดีอยู่และรักท่านเหมือนเดิม, เงินเดือนที่ได้รับทุกเดือนยังจะดีอยู่, กำไรยังจะดีอยู่พอใจอยู่, ผู้ร่วมงานจะยังตอบรับท่านดีอยู่, สถานภาพของท่านยังได้รับการยอมรับจากสังคมในปัจจุบันอยู่ ฯลฯ หากท่านมีความสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง เบาสบายใจไร้กังวลใดๆ ถึงแม้ความตายและสรรพสิ่งหายนะตรงหน้าท่านก็เบาสบายใจได้ไม่ทุกข์ร้อน ขอแสดงความดีใจอย่างยิ่ง เพราะว่าท่านได้สัมผัสจิตพุทธะแล้ว ซึ่งอยู่ในตัวของท่านเอง แต่หากท่านยังไม่ได้สัมผัสจิตพุทธะ เพราะมัวคิดว่านั่นไม่ใช่ท่าน ท่านไม่ใช่พุทธะ ท่านไม่ใช่คนที่มีสติปัญญาและมีความสุขสงบเต็มอิ่มสมบูรณ์แบบนั้นได้ ก็ขอแสดงความเสียใจที่ท่านได้ดูถูกตัวเอง ดูถูกวิวัฒนาการสูงสุดของมนุษย์ที่เหนือสัตว์ชนิดใดในโลกนี้ และละทิ้งโอกาสทองที่มีค่าที่สุดในชีวิตของท่านไป เพราะหากท่านเห็นความสำคัญของตัวเองสักนิด และยอมเสียเวลาทำบางสิ่งที่เรียบง่ายเพื่อตนเองวันละหน่อย ท่านกลับพบสิ่งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของท่าน ก็คือ ตัวท่านเอง ไม่ใช่สิ่งที่ท่านสร้างขึ้นนั้น จะมายิ่งใหญ่เหนือท่านได้อย่างไร นั่นก็หมายรวมถึงทุกสรรพสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาแลกเปลี่ยนค้าขายกันนี้ วัตถุต่างๆ เหล่านี้ ก็ย่อมไม่ยิ่งใหญ่เหนือท่าน หรือแม้แต่สรรพสิ่งรอบตัวท่าน ที่ท่านไม่ได้สร้างขึ้น มนุษย์ไม่ได้สร้างขึ้น เป็นธรรมชาติใหญ่สร้างขึ้นมาเอง สิ่งนั้นก็ไม่ใช่ท่าน ดังนั้น หากท่านจะค้นหาความยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของท่าน ขอตอบว่ามันอยู่ในตัวท่านเอง และเป็นท่านเองนั่นแหละที่ยิ่งใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของสรรพสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งท่านไม่จำเป็นต้องไปไขว่คว้าหาสิ่งใดๆ ที่ยิ่งใหญ่ภายนอก เพราะตัวท่านเองก็คือหนึ่งเดียวกันกับสิ่งที่ยิ่งใหญ่นั้น คือ อาตมันนั้นหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของปรมาตมันอยู่แล้ว พุทธะคือส่วนหนึ่งของธรรมะอยู่แล้ว ดังนี้ เราคือพุทธะ พุทธะคือธรรม เราก็คือธรรม เป็นส่วนหนึ่งของธรรม อยู่ได้ด้วยธรรมสร้าง ธรรมรักษา และธรรมเปลี่ยนแปลงพัฒนา และเราผู้เป็นพุทธะ ก็คือผู้สร้างธรรม ผู้รักษาธรรม และผู้เปลี่ยนแปลงพัฒนาธรรม และเป็นเฉกเช่นนี้ทุกทั่วตัวคนทั้งสิ้น เมื่อท่านเข้าสู่ภาวะพุทธะอันแท้จริงในตัวของท่านเอง ละคลายการยึดมั่นและความอยากอันแสดงออกมาในรูปกิเลสตัณหาต่างๆ ได้หมดสิ้นแล้ว ท่านจะได้รับพลังที่เติมเต็มจิตวิญญาณให้เต็มอิ่มสมบูรณ์ มีความสุขสงบอันละเมียดละไม ละเอียดอ่อนเหนือคำบรรยาย มีความเบาสบายใจเป็นเนืองนิตย์ ไร้ซึ่งความวิตกกังวลใดๆ มองเห็นโลกที่เคยหนักและแปลก กลายเป็นโลกที่เบาสบายและคุ้นเคยราวกับเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน สรรพสิ่งล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้ท่านมีความสุขแม้นแต่สิ่งนั้นเคยทำให้ท่านทุกข์ก็ตาม สิ่งใหญ่ๆ กลายเป็นเรื่องเล็กๆ และสิ่งเล็กๆ กลายเป็นความสุขสวยงามที่ยิ่งใหญ่สำหรับท่าน บางครั้ง สรรพสิ่งเหมือนหยุดนิ่งไม่ไหวติงตลอดกาลนาน เหมือนการหลับอันยาวนานที่ไม่ต้องตื่นอีกเลย แต่เป็นการหลับที่สว่างไสวไปด้วยความรู้ความเข้าใจโลกและตัวท่านเอง เป็นความเชื่อมั่นที่เข้มแข็ง ไม่ไหวเอน ไม่โยกโคลง ไม่คลอนแคลน ไม่ต้องหาที่เกาะยึดพึ่งพิงทางใจ ไม่ต้องเป็นทาสของการผูกมัดหรือเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น คือ ความเป็นอิสรภาพและเสรีภาพและความเป็นหนึ่งเดียวกันของสรรพสิ่ง สูงสุดทั้ง อุดมคติแห่งโลกเสรีประชาธิปไตยและสังคมนิยม ผสมผสานเป็นหนึ่งเดียวกันในตัวท่านเองอยู่แล้ว ท่านจะพึงพอใจสภาวะเช่นนี้ มากกว่าสภาวะเดิม ก่อนที่ท่านจะค้นพบตัวท่านเอง และพึงพอใจในความมหัศจรรย์ในตัวของท่านอย่างที่สุดเหนือสิ่งใดๆ จนแม้นแต่ความหายนะของสรรพสิ่งหรือแม้นแต่ความตายมาพรากสรรพสิ่งไปจากท่าน ท่านก็ไม่รู้สึกสะทกสะท้านแต่อย่างใด เมื่อท่านค้นพบตัวท่านถึงสภาวะเช่นนี้ ท่านย่อมมั่นใจแน่นอนว่าท่านคือพุทธะแท้จริง การฝึกจิตมีวิธีการอย่างไร การฝึกจิตระดับแรกคือการฝึกให้สมองรับรู้ก่อนว่ามี “จิต” อยู่ในร่างกายของมนุษย์จริงๆ และรับรู้ได้ว่าจิตมีลักษณะอย่างไร ดำเนินงานอย่างไร อยู่อย่างไร เป็นต้น จากนั้น จึงแยกแยะเลือกฝึก เวลาจะฝึกสมองก็ฝึกตรงจุด คือ สมอง เวลาจะฝึกจิตก็เลือกฝึกตรงจุด คือ จิต เสมือนการเลือกออกกำลังกายทีละส่วน จะออกกำลังกายแขนก็ต้องให้แขนออกแรง จะออกกำลังกายขาก็ต้องให้ขาออกแรง ดังนั้น เมื่อเห็นชัดว่าจิตไม่ใช่สมองแล้ว ก็สามารถเลือกฝึกได้อย่างถูกส่วน การฝึกจิตต่างจากการฝึกสมองมาก และจำต้องฝึกขณะทีสมองไม่รบกวนจิต กล่าวคือ ปกติ จิตและสมองจะทำงานร่วมกัน ที่เราเรียกว่า “จิตใจ” นั่นเอง แต่เมื่อเราจะฝึกจิตก็ต้องใช้กำลังจิตโดยมาก และใช้ส่วนของสมองแต่น้อยๆ จนถึงระดับที่ไม่ใช้สมองเลย (ฌานสี่) เมื่อฝึกจิตจนจิตมีกำลังมาก เข้มแข็งดีแล้ว ก็ค่อยเข้าสู่เวลาประลอง คือ เอาจิตมากำราบใจ ให้ใจยอมรับจิต ให้ใจเป็นเรขานุการของจิต และทำงานให้จิต ไม่ใช่ให้จิตต้องเป็นทาสใจ และต้องไม่ทำอะไรตามอำเภอใจ เมื่อได้ถึงขั้นนี้แล้ว ก็เข้าสู่ขั้นจิตประสานใจ คือ จิตใจทำงานร่วมกันประสานเป็นหนึ่งเดียว ประดุจ ผู้บริหารและเรขานุการที่ทำงานร่วมกันอย่างรู้บทบาทหน้าที่ และเข้าใจกันและกันเป็นอย่างดี การฝึกจิตเพื่อให้สมองสัมผัสกับจิต หรือการเข้าสู่จิตพุทธะ จำต้องตัดส่วนของการทำงานที่เป็นสมองออกทีละส่วน จนสมองไม่รบกวนการทำงานของจิต สมองนิ่งดูจิต หรือใจนิ่งดูจิต นั่นเอง จากนั้น ใจจะเริ่มเข้าใจจิต มีความเข้าใจในจิตตนเอง หรือก็คือ ความเข้าใจในตนเอง นั่นเอง มีลำดับขั้นตอนง่ายๆ ดังต่อไปนี้ ขั้นตอนการเข้าสู่จิตเดิมแท้ (ตัดนิวรณ์ห้าประการ) ตัดความฟุ้งซ่านแตกกระจายของจิต หากจิตไม่รวมเป็นหนึ่งเดียวได้ มีความฟุ้งซ่าน คิดสะเปะสะปะ ไร้ทิศทาง เหมือนคนฟุ้งซ่านทั้งหลาย (แต่ไม่แสดงออกเป็นอาการทางกาย) อาการแบบนี้พบได้ทั่วไป คือ เมื่อจิตขาดที่พึ่งพึงทางใจ ขาดที่ยึดมั่นยึดเหนี่ยว ก็จะมีอาการสับสนอลหม่าน เหมือนฝูงผึ้งไร้รังเกาะอาศัย ก็บินว่อนฟุ้งกระจายมากมายไม่อาจรวมกันได้เป็นรังเดียว จิตก็เหมือนกัน ต้องการจุดร่วม จุดรวม ต้องการความมั่นคงทางใจ จึงจะไม่ฟุ้งซ่าน ดังนี้ การเข้าสู่จิตเดิมแท้ที่มีแต่จิตอย่างเดียว จำต้องหาที่ “เกาะชั่วคราว” ที่จิตจะเกาะได้นานอย่างเต็มใจ คือ มีความสุขก่อนเป็นเบื้องต้น เราเรียกกันว่า “อารมณ์กรรมฐาน” ซึ่งมีหลายอารมณ์ให้เลือกตามกรรมฐานสี่สิบวิธี แต่ให้เลือกที่เกาะชั่วคราวนี้เพียงอารมณ์เดียว เพื่อไม่ให้จิตฟุ้งซ่านนั่นเอง เราจึงเรียกอารมณ์ในขณะฝึกจิตว่าเป็น “เอกัคตารมณ์” คือ อารมณ์เดียว ไม่เอาอย่างอื่น ไม่หลุดไปอย่างอื่น มีสมาธินิ่งเพียงหนึ่งเดียว แต่ไม่ใช่ว่าต้องไม่มีอะไรเลย คือ มีได้เพียงหนึ่งเดียวก่อนชั่วคราว ก่อนเข้าสู่จิตเดิมแท้ต่อไป อาจเลือกเป็น “ความว่าง” ที่เบาสบายก็ได้ เพราะทำให้จิตใจได้พักผ่อน สามารถอยู่ได้นานไม่ทุกข์ หากเลือกเป็นสิ่งที่ทนอยู่ได้ยาก อย่างพวก บำเพ็ญทุกขกิริยา เช่น นอนบนตะปู แบบนั้น การฝึกจิตจะไปได้ช้า จะใช้ความอดทนสูงต้องผ่านด่านความอดทนเป็นกำแพงกั้นไว้ก่อน ดังนั้น ขอให้เลือก “อารมณ์กรรมฐาน” ที่ไม่เป็นทุกขกิริยา ให้เป็นอารมณ์ที่สุขสงบสบาย เช่น นั่งดูท้องฟ้าและทะเลไกลโพ้นคนเดียว สงบจนเพลินได้นาน จนไม่มีความคิดฟุ้งซ่านใดๆ จิตสงบเป็นสุขเพลิดเพลินกับภาพเบื้องหน้านั้นๆ ถือว่าสำเร็จขั้นแรก ตัดความยินดียินร้าย ในการพิจารณาสิ่งใดๆ ให้เกิด “อารมณ์เดียว” นั้น จำต้องมีการหยิบมาพิจารณาเนืองๆ เป็นระยะ เพื่อไม่ให้หลุด หรือหลงลืมสิ่งที่เพ่งพิจารณานั้นๆ เช่น จะดูทะเลให้นานๆ ก็ต้องระลึกถึงทะเลเรื่อยๆ ไม่เผลอออกไปคิดเรื่องอื่น การหยิบอารมณ์ให้จิตอยู่กับทะเลอย่างต่อเนื่องนี้ เราเรียกว่า “วิตก” เป็นหนึ่งในองค์ฌานทุกชนิด หรือองค์ประกอบของการเข้าฌานอย่างหนึ่งนั่นเอง ในขั้นแรกของการเข้าฌานขั้นที่หนึ่ง จำเป็นต้องมี “วิตก” คือ จิตที่แสดงอาการยกเอามาพิจารณาเนืองๆ ไม่ใช่จิตที่วิตกกังวล อันนี้ต้องระวังเพราะความหมายแตกต่างกัน จากนั้น เมื่อยกเอาสิ่งนั้นๆ มาพิจารณาแล้ว ก็มักเผลอไปแต่งเติมเสริมเข้ามา เช่น มองดูทะเล ก็เผลอไปวิจารณ์ว่าสกปรกจริงๆ อย่างนี้ใช้ไม่ได้ จำต้องวิจารณ์ตรงทาง เรียกว่าจิตตรงดิ่งไม่เอนเอียง ไม่วิจารณ์ด้านดีหรือร้าย ด้านซ้ายหรือขวา ไม่ยินดีและไม่ยินร้าย คือ วิจารณ์ด้วยจิตอุเบกขา คือ เห็นความสงบสุขที่อยู่ข้างในของอารมณ์กรรมฐานนั้นๆ จนจิตคลายความอยากความยึดมั่นอื่นๆ ออกได้ และไม่เอาพลังจิตไปใส่ความดีความเลว หรือการยินดียินร้ายอะไรในสิ่งที่เห็นนั้นๆ อนึ่ง ความยินดี เป็นเหตุให้เกิด “กามคุณห้า” และความยินร้าย เป็นเหตุให้เกิด “พยาบาท”ในการเข้าสู่ฌานขั้นที่หนึ่ง จำต้องไม่เกิดทั้งกามคุณห้าและพยาบาทด้วย จึงจะเรียกว่าได้เข้าสู่ฌานหนึ่งได้ อย่างไรก็ตามในการฝึกจิตแบบง่ายๆ นี้จะยังไม่เข้าสู่การฝึกฌาน จะค่อยๆ เริ่มจัดการกับนิวรณ์ห้าทีละตัวสองตัว เพื่อเตรียมการณ์ให้จิตพร้อม จิตมีความพร้อมก็จะเข้าฌานได้ง่ายขึ้น ตัดความเคลือบแคลงไม่ก้าวลงให้มั่น เมื่อจิตได้พบอารมณ์กรรมฐานหนึ่งเดียวนั้น ว่าเป็นทางสู่ความสงบสุขแล้ว หากจิตไม่น้อมเอาอารมณ์กรรมฐานนั้นเป็นอารมณ์จิต ก็ไม่เกิด “เอกัคตารมณ์” คือ ไม่วางจิตลงในอารมณ์กรรมฐานนั้นๆ ได้ เพราะอาจมีความระแวงสงสัย เคลือบแคลงใจในสิ่งที่ทำ หรือสิ่งที่พบเห็น หรือสิ่งที่สัมผัสนั้นๆ อนึ่ง การที่จิตจะก้าวลงน้อมเอาอารมณ์กรรมฐานเป็นหนึ่งเดียวกับจิตนี้ จะมี “วิจิกิจฉา” มากั้น คำว่า “วิจิกิจฉา” ไม่ได้แปลว่าความสงสัย คนเรามีความสงสัยและใครรู้และต้องการพิสูจน์นั้นเป็นมรรคที่ถูกต้องของการฝึกจิต แต่การที่เห็นสิ่งดีงามแล้ว กลับไม่กล้าตัดสินใจน้อมเอา ไม่รับเอามา ไม่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับอารมณ์นั้นๆ ได้ เรียกว่ามี “วิจิกิจฉา” คือ ความเคลือบแคลงใจเมื่อเห็นสิ่งที่เป็นสัมมา หรือสิ่งที่ดีงาม แม้นว่าคนเราจะไม่มีใครรู้ตั้งแต่เกิด ไม่มีใครรู้ก่อนทดลอง และไม่มีใครรู้ก่อนผลลัพธ์จะปรากฏ แต่เราจำเป็นต้องมีการเสี่ยงทำตาม “ความเห็น” ของเราเป็นเบื้องต้นก่อน ความเห็นของเราเรียกว่า “ทิฐิ” หากเห็นสิ่งใดทำแล้วเป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น จึงตัดสินใจหรือเห็นว่าควรทำบ้าง เรียกว่า “สัมมาทิฐิ” แต่หากเห็นเป็นตรงข้ามเรียกว่าเป็น “มิจฉาทิฐิ” การไม่ก้าวลงหลอมรวมจิตกับอารมณ์กรรมฐานนั้น เรียกว่าเป็น “มิจฉาทิฐิ” แบบหนึ่ง คือ ความเคลือบแคลงระแวงใจ นั่นเอง ส่วนการสงสัยใคร่รู้นั้น ไม่ใช่วิจิกิจฉา เพราะความสงสัยใครรู้ในสิ่งที่ดีงามนั้น เป็น “สัมมาทิฐิ” จะยังผลให้เกิดการก้าวลงและหลอมรวมจิตได้ง่ายขึ้นต่างหาก เพราะความท้าทายที่จะรู้ให้ได้นั่นเอง ดังนั้น จำต้องเข้าใจให้ชัดเจนด้วยว่าวิจิกิจฉานั้นมีอาการทางจิตอย่างไร ซึ่งการจะตัดวิจิกิจฉาหรือความเคลือบแคลงนั้น ก็คือ อธิโมก หรือความเด็ดขาด การตัดสินใจลองเสี่ยงเป็นเสี่ยงกัน หรือเสี่ยงตายกันไปข้างหนึ่งเลย แม้นนั่งสมาธิตายก็ยอม เป็นต้น หากสามารถคิดได้ถึงขั้นนี้เมื่อต้องต่อสู้กับมารในใจของตนเอง ที่เรียกว่า “มัจจุราชมาร” จะสามารถผ่านด่านมารด่านนี้ได้ง่าย และบรรลุธรรมโดยง่าย ตัดความหดหู่ง่วงหาวขาดสติขาดพลัง เมื่อจิตใจมีความสงบสุขสงัด ก็จะมีอาการ “พักผ่อน” โดยธรรมชาติ หรือก็คือ “หลับ” นั่นเอง เมื่อจิตใจพักผ่อนโดยธรรมชาติเสียแล้ว ก็ไม่ทันได้ฝึกก้าวต่อไปในขั้นสูงขึ้น ดังนั้น การที่จิตใจจะพักนั้น ไม่ผิด แต่หากจิตมีกำลังกล้าแข็งกว่าใจแล้ว ปล่อยให้ใจพักสงบลง คือ สมองพักผ่อนจากการความวุ่นวายสับสนและคิดสะเปะสะปะทั้งหลาย แต่จิตยังมีกำลังกล้าแข็ง เห็นการดับไปของความคิด หรือการสงบของใจได้ ย่อมเห็นว่าแท้แล้วตนเองไม่ใช่ “ใจ” คือ รับรู้ได้ว่า “จิตไม่ใช่ใจ” หรือ “จิตไม่ใช่สมอง” จิตนั้นมีความเป็นตัวเอง เป็นอิสระ และไม่ต้องการยึดมั่นถือมั่นใดๆ เมื่อเข้าสู่ภาวะนี้แล้วจิตย่อมมีพละกำลังสลัดคายทิ้งซึ่ง “อัตตา” ที่หลงยึดมั่นผิดๆ ไปทั้งหมด การคิดเอาว่าสิ่งต่างๆ รอบตัวสนองสุขแท้ ก็ถูกดับสลัดทิ้งหายไปหมด เพราะเห็นแล้วว่าตนที่แท้ คือ จิต จิตที่แท้คือพุทธะ หรืออาตมาคือจิต จิตคือพุทธะ อาตมาคือพุทธะ นั่นเอง ในการฝึกจิตนั้น ถือว่าขั้นนี้เป็นขั้นสูงสุด ดังนั้น ให้ฝึกค่อยๆ เริ่มจากง่ายก่อน แล้วค่อยเอาชนะนิวรณ์ที่ยากขึ้นตามลำดับ ซึ่งจะเอาชนะ “ถีนะมิทธะ” หรือ ความหดหู่ง่วงหาวขาดสติขาดพลังนี้ จำต้องฝึก “สติ” ขั้นสูง ให้สามารถมีสติก่อนที่สมองจะเข้าสู่ภาวการณ์หลับให้ได้ หากสามารถมีสติที่ไวเห็นทันก่อนหลับแล้วจิตหลับทีหลัง การบรรลุธรรมจะเป็นเรื่องที่ไม่ยากเลย เมื่อได้ค้นพบแล้วว่าตนเองนั้น ไม่ใช่ร่างกายเนื้อที่จะต้องตายลงในวันหนึ่ง แต่เรานั้น คือ จิตที่อยู่ข้างใน และยังเวียนว่ายตายเกิดได้อีกไม่จบสิ้น หากจิตมีแรงอยากหรือยึดมั่นเมื่อยามตายลง และเรานั้นก็ไม่ใช่ความอยากหรือการยึดมั่นในกิเลสใดๆ แต่คือพุทธะอันบริสุทธิ์ และธรรมะนั้นอยู่ในพุทธะนั่นเอง กล่าวคือ เมื่อจิตสลัดคายทิ้งซึ่งกิเลสที่บดบังแล้ว ธรรมะก็ปรากฏขึ้นมาเอง ผ่านการฝึกจิตขั้นสูงสุดแล้วจริงหรือไม่ จะรู้ได้อย่างไร มีหลายท่านที่ใช้การปะลองวิชากับผู้ฝึกจิตด้วยกัน เพื่อวัดตนเองว่าได้สำเร็จวิชาทางจิตขั้นสูงแล้ว ที่เรียกกันว่า “ลองของ” และ “ลูกศิษย์คิดล้างครู” นั่นเอง การปะลองว่าตนเองเหนือผู้อื่นนั้น หาใช่การวัดผลสำเร็จของการฝึกจิตไม่ หรือแม้นแต่การแสดงตนว่ามีความสามารถทางจิตก็หาใช่เป็นการวัดผลสำเร็จของการฝึกจิตได้ไม่ สำหรับผู้ฝึกจิตแต่ละแนวทางจะมีหลักการวัดผลตามหลักวิชชานั้นๆ แต่สำหรับขั้นสูงสุดของวิชชาจะพบด่านมารมากั้นไว้ก่อนสำเร็จขั้นสูงสุดเหมือนกัน ก่อนจะสำเร็จ การวัดผลสำเร็จของการฝึกจิตที่แท้จริง คือ การเอาชนะใจตนเอง นี่คือชัยชนะที่ยิ่งใหญ่กว่าชัยชนะใดๆ ทั้งหมด เราจึงไม่จำเป็นต้องไปแข่งขันเอาชนะใคร และไม่จำเป็นต้องแสดงให้ใครเห็นว่าเรามีความสามารถทางจิต ขอเพียงเราเอาชนะใจตนเองได้ นี่แหละ คือ การวัดผลการฝึกจิตที่แสดงถึงการฝึกจิตที่สำเร็จขั้นสูงสุดที่แท้จริง แต่ก่อนจะเข้าสู่การชนะใจตนเองนั้น ใจเราเองนั่นแหละคือคู่ต่อสู้ เราเรียกว่า “มารในใจ” ของเรานั่นเอง ไม่ใช่ของผู้อื่นใด มารนี้เป็นด่านในใจของเราเองที่เราจะผ่านไปให้ได้ เมื่อสามารถผ่านไปได้ก็จะมีความสามารถทางจิตขั้นสูงสุด ด่านเหล่านี้มีห้าประเภท ซึ่งผู้ฝึกจิตจะต้องผ่านอย่างน้อยด่านใดด่านหนึ่งก่อนที่จะบรรลุธรรมขั้นสูง หากไม่พบด่านเหล่านี้ขณะฝึกจิต แสดงว่ายังไม่บรรลุการฝึกจิตขั้นสูง อันได้แก่ อภิสังขารมาร คือ การปรุงแต่งจิตต่างๆ เพราะแท้แล้วธรรมะนั้นเปลือยเปล่า มีอยู่แล้วรอบตัวตามธรรมชาติไม่ต้องค้นหาใดๆ ปรากฏให้เห็นอย่างไม่มีการปกปิดและไร้การเสริมแต่งใดๆ เมื่อบุคคลเห็นธรรมะแท้ที่บริสุทธิ์ไม่ถูกปรุงแต่งแต้มใดๆ ก็จะบรรลุโดยฉับพลัน ซึ่งจิตจะเข้าใจเห็นธรรมได้ในระดับนี้ จิตจำต้องบริสุทธิ์ไร้ซึ่งการปรุงแต่งใดๆ เช่นกัน การบรรลุธรรมระดับนี้ จะพบในผู้มีปัญญาสูง มีจิตบริสุทธิ์ ก่อกรรมน้อยเป็นส่วนใหญ่ มัจจุราชมาร คือ ความกลัวตายอาลัยโลก อาลัยชีวิต หากผู้บำเพ็ญเพียรทางจิตมีความกลัวตายอาลัยชีวิต อาลัยโลกแล้วจะไม่บรรลุการฝึกจิตขั้นสูงสุด เมื่อผ่านด่านความกลัวตาย จะพบว่าความตายไม่น่ากลัว เป็นสิ่งที่คุ้นเคยและเข้าใจได้ง่าย จึงมีชัยชนะเหนือมัจจุราชมาร เฉกเช่น พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้ ย่อมปรากฏมารทั้งห้ามาก่อนที่ท่านจะตรัสรู้ธรรม จึงรู้ได้ว่าผ่านการฝึกจิตขั้นสูงสุดแล้วนั่นเอง สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้บำเพ็ญเพียรเพื่อพุทธภูมินั้น (ไม่มุ่งหวังเป็นพระพุทธเจ้า) ไม่จำเป็นต้องพบมารครบทั้งห้า เพียงเอาชนะด่านมารได้เพียงด่านเดียวก็สามารถบรรลุธรรมได้แล้ว เช่น ผ่านด่านการกลัวตาย จะคิดได้ว่าสุดท้ายคนเราก็ตาย จะหมดสิ้นความอาลัยของในโลกและชีวิต ความยึดมั่นและความอยากในกิเลสจะดับสิ้นหมด ดังที่เราเรียกว่า “ตายก่อนตาย” หรือ “ดับก่อนดับ” นั่นเอง นั่นแหละจึงมั่นใจได้ว่าบรรลุธรรมแล้วจริงๆ กิเลสมาร คือ กิเลสทั้งสามประการอันได้แก่ โลภะ, โทสะ, โมหะ ในใจของผู้ฝึกจิตนั่นเอง หากผู้ฝึกจิตมีกำลังจิตสูงมีอิทธิฤทธิ์มาก แต่มีความหลงในลาภยศสรรเสริญ หรือเครื่องลาภสักการะแล้ว ย่อมจะไม่อาจผ่านด่านมารด่านนี้ได้ จำต้องพ่ายแพ้กิเลสมารไป จำต้องมีชัยชนะเหนือความ โลภ, โกรธ, และหลง นั่นแหละจึงมั่นใจได้ว่าบรรลุแล้ว ขันธมาร คือ ขันธ์ทั้งห้าประการ อันเป็นเครื่องพรางลวงตา บดบังไม่ให้เห็นธรรม อันได้แก่ รูปขันธ์ที่ชวนให้หลงใหลแต่ไม่แน่นอน, เวทนาขันธ์ที่รบกวนจิตแปรเปลี่ยนอยู่ตลอด, สัญญาขันธ์ที่ปรุงแต่งธรรมจนไม่เห็นธรรมเนื้อแท้, สังขารขันธ์ที่หยาบและเป็นเปลือกหุ้มธรรมแท้ข้างใน และวิญญาณขันธ์ที่มีขีดจำกัดทำให้การรับรู้แคบดั่งมีภาพมายาหลอกหลอน เมื่อผ่านด่านขันธมารได้ ย่อมมีโอกาสสำเร็จการฝึกจิตขั้นสูงสุด เทวบุตรมาร คือ ความหลงเพลินในอิทธิฤทธิ์, ผลบุญ, สวรรค์วิมาน ฯลฯ ต่างๆ เมื่อผู้ฝึกจิตขั้นสูงสามารถสัมผัสได้ถึงสวรรค์ที่สวยงามน่าหลงใหลกว่าโลกใบนี้ได้ สัมผัสได้ถึงผลบุญ, เห็นกายทิพย์, ของทิพย์, อาหารทิพย์ที่สวยงาม และอภิญญาต่างๆ เกิดความยึดติดในสวรรค์ เรียกว่าพ่ายแพ้แก่เทวบุตรมาร อันเทวบุตรมารนี้มีตัวตนจริง อยู่บนสวรรค์ ก่อนที่จะหลุดพ้นเหนือสวรรค์ชั้นต่างๆ ไป ผู้ฝึกจิตขั้นสูงมากจริงๆ เช่น พระโพธิสัตว์เมื่อจิตจะกลับสู่จิตเดิมแท้ จิตจะสื่อกับมิติอื่นๆ ได้ เรียกว่า “มีภูมิจิตเทียบเท่าภพๆ หนึ่ง” จะย้อนระลึกเรื่องราวในภพนั้นๆ หรือ จิตส่งกระแสออกไปถึงภพนั้นๆ ดังนี้ จะผ่านด่านสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัสตี ซึ่งจะมี “เทวบุตรมาร” อยู่ เทวบุตรมารเมื่อเห็นกระแสจิตผู้ฝึกสูงถึงขั้นนี้แล้ว ก็จะพยายามดึงรั้งไว้เพื่อให้เป็นพวกเดียวกับตน ด้วยความริษยาไม่อยากให้ผู้อื่นใดสูงกว่าตนนั่นเอง นี่คือหน้าที่ของภาคมารที่มีต่อสมดุลจักรวาล ที่จะเป็นผู้ทดสอบด่านสุดท้ายของผู้ฝึกจิตขั้นสูง ก่อนบรรลุโพธิสัตว์ธรรม อนึ่ง ต้องเข้าใจว่าการบรรลุธรรมมีหลายระดับตามระดับจิตที่บำเพ็ญเพียรมา หากจิตนั้นเป็น “สาวกภูมิจิต” การบรรลุธรรม จะบรรลุเพียง “อรหันตสาวก” คือ พ้นทุกข์และการเวียนว่ายตายเกิด แต่หากจิตนั้นบำเพ็ญเพียรเหนือกว่าขึ้นไป เช่น โพธิจิต เมื่อบรรลุธรรม จะบรรลุ “โพธิสัตว์ธรรม” ซึ่งจะสูงกว่า “อรหันต์สาวก” และหากการบรรลุโพธิสัตว์ธรรมนั้น เป็นการบรรลุโดยบุญบารมีที่สะสมมาทั้งหมดในชาติสุดท้าย จะเรียกว่า “ตรัสรู้ธรรม” คือ ได้ “สัพพัญญูญาณ” ผู้รู้ทุกสิ่ง ผู้ที่มีจิตพุทธะที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งพุทธะเป็นส่วนหนึ่งของสรรพสิ่ง ส่วนหนึ่งของธรรมใหญ่ แต่ดวงจิตนั้นยิ่งใหญ่เทียบเท่าสรรพสิ่ง จิตพุทธะนั้นๆ จึงเทียบเท่าธรรมใหญ่ จึงรู้ได้ทุกสรรพสิ่งนั่นเอง สรุปการผ่านด่านมารทั้งห้า บุคคลจะบรรลุอรหันต์เข้านิพพานอย่างแท้จริง หากเป็น “โพธิสัตว์” จำต้องผ่านด่านมารทั้งห้า ซึ่งจะผ่านในชาติสุดท้ายที่ตรัสรู้เป็น “พระพุทธเจ้า” หากพระโพธิสัตว์ผ่านด่านมารไม่ครบห้าด่าน จะบรรลุเพียง “โพธิสัตว์ธรรม” ไม่เข้านิพพาน แต่จะเอาชนะกิเลสได้ทั้งหมด และสอนสาวกภูมิให้เอาชนะด่านมารที่ตนผ่านในชาตินั้นๆ จนบรรลุธรรมได้เช่นกัน เพราะสำหรับ “สาวกภูมิ” คือ ผู้ที่ไม่ใช่พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาพุทธภูมิ จะสามารถบรรลุอรหันต์ได้ด้วยการผ่านมารเพียงด่านเดียวเท่านั้น ยกตัวอย่างพระโพธิสัตว์ที่บรรลุธรรม โดยผ่านด่านมารไม่ครบห้าด่าน แล้วสอนให้สาวกบรรลุอรหันต์โดยตนยังคงไปเกิดใหม่ช่วยสรรพสัตว์ได้อีกเรื่อยๆ เช่น พระอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์ (พระกวนอิม), พระจี้กง, พระเมตตรัยมหาโพธิสัตว์ ฯลฯ เสี้ยววินาทีทองที่สำเร็จการฝึกจิตขั้นสูงสุด จะสังเกตได้อย่างไร แม้นว่าตามหลักวิชชาต่างๆ จะมีหลักการชัดเจนในการวัดผลที่เป็นสากลเหมือนกัน เช่น “ธรรมกาย” จะต้องเห็นกายในที่ละเอียดสุดละเอียด คือ “ธรรมกาย” จึงจะสำเร็จวิชชาสูงสุดสำหรับวิชชาธรรมกาย ทว่าการสำเร็จธรรมกายก็ยังไม่ใช่การสำเร็จการฝึกจิตสูงสุด ยังเป็นเพียงมรรควิธีแห่งสมถะกรรมฐาน คือ เจริญจิตให้มีพลังสูง ทำให้จิตมีพลัง แต่ยังไม่สามารถใช้พลังจิตเอาชนะใจจนสำเร็จขั้นสูงสุดได้ ดังนั้น จะขออธิบายต่อยอดวิชชาการฝึกจิตต่างๆ เพื่อนำทางท่านให้ถึงที่สุดแห่งการฝึกจิต คือ การบรรลุธรรมพร้อมจิตมีความแน่วแน่มั่นคงไม่เสื่อมตกลง ไม่เป็นโลกียอภิญญา สำหรับผู้ดูลมหายใจ (อานาปานสติ) ผู้ที่เอาลมหายใจเป็นอารมณ์กรรมฐาน จำต้องฝึกดูลมหายใจ จนเห็น “ลมหายใจดับหาย” ณ จุดนี้เอง คือ เสี้ยววินาทีที่จะบรรลุธรรม หากมีสติพิจารณาสภาวธรรมได้ทัน จะปรากฏมารมาขวางทางก่อนจะบรรลุทันที คือ “มัจจุราชมาร” หรือความกลัวตาย กลัวขาดลมหายใจตาย ณ จุดนี้ หากสามารถผ่านด่านความกลัวตายได้ ก็จะบรรลุธรรม เห็นลมหายใจดับหาย กล้าไม่กลัวตาย ตั้งสตินิ่ง จิตจดจ่อสภาวะที่ปรากฏ ธรรมก็จะปรากฏเองอย่างเปลือยเปล่าไร้สิ่งปกปิด แรกๆ เป็นวิมุติธรรม เป็นแก่นแท้ ไม่รู้จะอธิบายเป็นคำพูดได้อย่างไร จนเมื่อผ่านไปสักระยะจึงอธิบายได้เองเป็นปัจตัง สำหรับผู้ดูจิต (จิตานุสติปัฏฐาน) ผู้ที่เอาจิตใจหรือความรู้สึกนึกคิดเป็นอารมณ์กรรมฐาน จำต้องฝึกดูจิตใจ จนเห็น “ความคิดหรือจิตใจดับหาย” ณ จุดนี้เอง คือ เสี้ยววินาทีที่จะบรรลุธรรม หากมีสติพิจารณาสภาวธรรมได้ทัน จะปรากฏมารมาขวางทางก่อนจะบรรลุทันที คือ “อภิสังขารมาร” เมื่อสมองว่างโล่งไปจากความรู้สึกนึกคิด และความทุกข์ความสุข จุดนี้แหละ จะรู้สึกตะลึงพรึงเพลิด แปลกใจอย่างยิ่งว่าเกิดอะไรขึ้นกับตนเอง หากจิตมีสติที่ไวพอที่จะหยุดนิ่งดูสภาวธรรมที่กำลังจะปรากฏ ก็จะเห็นสภาวธรรมเนื้อแท้ แต่ก่อนหน้านั้น “อภิสังขารมาร” คือ ความคิดปรุงแต่งต่างๆ นานา จะแทรกเข้ามาก่อน เพื่อบิดเบือนเบี่ยงเบนสภาวธรรมที่แท้จริงนั้นๆ จำต้องมีสติมั่นไม่หวั่นไหวจึงบรรลุธรรม สำหรับผู้ดูกาย (กายานุสติปัฏฐานและวิชชาธรรมกาย) ผู้ที่เอาความรู้สึกกายในกายเป็นอารมณ์กรรมฐาน จำต้องฝึกดู “กายในกาย” จนเห็น “ความรู้สึกว่ามีกายดับหายไป” หรือ “กายดับหาย” นั่งสมาธิแล้วรู้สึกไม่มีตัว หรือตัวเราหายไป ณ จุดนี้เอง คือ เสี้ยววินาทีที่จะบรรลุธรรม หากมีสติพิจารณาสภาวธรรมได้ทัน จะปรากฏมารมาขวางทางก่อนจะบรรลุทันที คือ “ขันธมาร” คือ เมื่อความรู้สึกในกายหายไป จะเกิดความอาลัยอาวรณ์ใน “สังขารร่างกาย” กังวลว่าเกิดอะไรขึ้นกับกายก็ดี ทำให้ไม่ทันได้เห็นสภาวธรรมที่ปรากฏขณะนั้น หรือหากบรรลุทิพย์จักษุ ซึ่งมองเห็นกายในกาย หรือมองเห็นกายทิพย์ ก็จะกังวลใน “กายทิพย์” หรือ “วิญญาณขันธ์” ที่แปรเปลี่ยนไป เช่น “ธรรมกาย” ที่จู่ๆ ก็ดับหายไป เกิดความกังวลเสียดายธรรมกายที่ดับหายไปนั้น ไม่ทันเห็นอนิจจัง เพราะจิตหวั่นไหวนั่นเอง จำต้องตั้งสติหยุดนิ่งดูเฉยๆ สภาวธรรมจะค่อยๆ ปรากฏมาให้เห็นว่าแท้แล้วธรรมะคืออะไร สำหรับผู้เพ่งนิมิตสีขณะหลับตา (กสิณสิบกอง) ผู้ที่เอาความรู้สึกจากนิมิตสีขณะหลับตาเป็นอารมณ์กรรมฐาน จำต้องฝึกดู “นิมิต” จนเห็น “นิมิตดับหายไป” หรือ “นิมิตแสดงอนิจจังธรรม” กล่าวคือ นั่งสมาธิหลับตาเพ่งนิมิตแล้วอยู่ๆ นิมิตหายไป ณ จุดนี้เอง คือ เสี้ยววินาทีที่จะบรรลุธรรม หากมีสติพิจารณาสภาวธรรมได้ทัน จะปรากฏมารมาขวางทางก่อนจะบรรลุทันที คือ “อภิสังขารมาร” หรืออาจจะเป็น “เทวบุตรมาร” คือ การปรุงแต่งความคิดขณะนิมิตดับหายไป คือ คิดเอาเอง ปรุงแต่งเอาเองว่านิมิตหายไปด้วยเหตุนั้นเหตุนี้ (อภิสังขารมาร) หรือ การยึดมั่นอยากได้หรือยื้อนิมิตไว้ มีความอาลัยอยากในอภิญญาเดิมที่มี หรือความเป็นทิพย์ หรือ นิมิตที่เห็น (เทวบุตรมาร) ทำให้ไม่ทันได้ตั้งสติดูสภาวธรรมที่เปลือยเปล่าเที่ยงแท้ที่ปรากฏให้เห็น ณ ขณะที่นิมิตดับหายไป ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงช่วยพระสาวกที่เพ่งดอกบัวเป็นนิมิต ด้วยการเนรมิตให้ดอกบัวเหี่ยวแห้งไปทันทีขณะกำลังเพ่ง พระสาวกมิได้ปรุงแต่งสภาวะที่เห็นนั้น จึงได้ละคลายความยึดมั่นในสรรพสิ่งใดๆ ในโลก แม้นแต่กระทั่งวิชชากสิณที่ตนฝึก จนบรรลุอรหันต์ในที่สุด เรียกได้ว่าบรรลุวิชชาสูงสุดเมื่อละความอยากในวิชชานั้นเอง บทสรุปส่งท้าย ไม่ว่าจะเดินมรรคตามวิชชาในการฝึกจิตใดๆ ก็ตาม ขั้นสูงสุดของวิชชาคือ “ไร้วิชชา” หรือ “วิชชาเก่าดับหาย” ทั้งสิ้น เมื่อวิชชาดับหายแล้ว ก็จะปรากฏวิชชาใหม่ที่แท้จริงของตนเองขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่ “อวิชชา” เพราะอวิชชานั้น เกิดขึ้นเมื่อยังมีวิชชา เมื่อยังมีวิชชาแล้วพยายามเปลี่ยนแปลงปรับปรุงเป็นวิชชาของตนเอง จนหลงออกนอกมรรค หรือแนวทางเดิมของวิชชา หลงเข้าป่าเข้ารก จึงกลายเป็นอวิชชา คือ วิชชาเก่ายังไม่ดับ แต่กลับปรุงแต่งวิชชาขึ้นมาใหม่นั่นเอง ในการบรรลุธรรม หากยังอาศัยธรรมจากผู้อื่น จะยังไม่เรียกว่าบรรลุ จำต้องบรรลุด้วยตนเอง เห็นด้วยตนเอง รู้เอง และได้ค้นพบสิ่งที่เป็น “ปัจตัง” ซึ่งเป็นความรู้เฉพาะแบบตน อันเป็นธรรมะสากล ที่ผู้บรรลุธรรมด้วยกัน จะสามารถตรวจสอบและพิสูจน์ได้ ส่วนอวิชชานั้น เป็น “ความหลงส่วนตน” ที่ไม่มีผู้บรรลุธรรมอื่นใดยอมรับ หรือรับรองได้เลยสักคน เพราะไม่ใช่ “ธรรมะ อันเป็นสากล” นั่นเอง (ทั้งนี้ ไม่รวมใบไม้นอกกำมือที่ผู้อื่นไม่อาจรู้แบบผู้บรรลุได้)