ภาษา เป็นสัญลักษณ์สำคัญประจำชาติ ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมายาวนานหลายยุคหลายสมัย
ประเทศไทยมีภาษาเป็นของตัวเองมานานกว่า 700 ปี นับแต่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ อักษรไทย ขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 1826 และโปรดให้จารึกประวัติศาสตร์ในรัฐสมัยของพระองค์ลงบนแท่งศิลา ที่เราเรียกกันว่า จารึกสุโขทัย
ภาษาแสดงให้เห็นถึงอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองของประเทศ พระมหากษัตริย์ นักปราชญ์ ราชบัณฑิตของไทยก็ใช้ภาษาไทย ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนสืบทอดวัฒนธรรมของชาติมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี ตราบจนรัตนโกสินทร์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งที่ทรงมีพระปรีชาสามารถและทรงรอบรู้ในด้านภาษาไทยเห็นได้จากพระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพในการพระราชนิพนธ์บทความภาษาไทย เรื่อง "พระราชานุกิจ ในรัชกาลที่ 8" สำหรับจัดพิมพ์พระราชทานในงานครบรอบ 100วัน พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งในขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมพรรษาเพียง 19 พรรษา นอกจากพระราชนิพนธ์ดังกล่าวแล้ว ยังทรงพระราชนิพนธ์แปล เรื่อง "ติโต" และ "นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ" ทั้งทรงพระราชนิพนธ์ชาดกในพุทธศาสนาเรื่อง "พระมหาชนก" อันเป็นพระราชนิพนธ์ที่นักปราชญ์ราชบัณฑิตผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาและวัฒนธรรมเทิดทูนพระอัจริยภาพว่าเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่เพียบพร้อมอำนวยประโยชน์แก่ผู้ฝักใฝ่อ่านเพื่อศึกษาเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ในหลายทศวรรษที่ผ่านมาภาษาไทยได้เสื่อมลงมากเนื่องจากคนไทยขาดสำนึกในคุณค่าของภาษาประจำชาติ จวบจนเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดการประชุมทางวิชาการและก่อตั้งชุมนุมภาษาไทยขึ้น โดยกราบทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ เป็นองค์ประธาน นับเป็นวันประวัติศาสตร์สำคัญแห่งวงการภาษาไทย เพราะการประชุมในครั้งนั้นมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาไทยมาร่วมประชุมเป็นอันมาก เช่น พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ น.พ.อวย เกตุสิงห์ และนายเจือ สตะเวทิน เป็นต้น ในการประชุมครั้งนั้นพระองค์ทรงพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการรักษาและทะนุบำรุงภาษาไทยโดยมีความตอนหนึ่งว่า " ภาษาทั้งหลายเป็นเครื่องหมายของมนุษย์ชนิดหนึ่ง คือเป็นทางสำหรับแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่งเป็นสิ่งที่สวยงามอย่างหนึ่ง เช่น ในทางวรรณคดี เป็นต้น ฉะนั้นจึงต้องรักษาให้ดี ประเทศไทยมีภาษาของเราเอง ซึ่งต้องหวงแหน … เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้"
ด้วยพระราชหฤทัยที่ห่วงใยปัญหาการใช้ภาษาไทยดังกล่าว หลายหน่วยงานจึงมีความคิดที่จะให้มีวันภาษาไทยแห่งชาติ ขึ้นเพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ซึ่งคณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่าวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 เป็นวันประวัติศาสตร์แห่งภาษาไทย เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นองค์ประธานและร่วมประชุมทางวิชาการกับสมาชิกชุมนุมภาษาไทย จึงได้เสนอต่อรัฐบาลให้ประกาศวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่าเพื่อเป็นการแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาะคุณที่รงมีต่อ "ภาษา" และ "วรรณกรรม" ของชาติ อีกทั้งเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2542 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้ประกาศวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2542
"วันภาษาไทยแห่งชาติ" 29 กรกฎาคม ของทุกปีจึงถือกำเนิดขึ้น ด้วยเดชะพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงคุณอันประเสริฐยิ่ง
Bookmarks