"เพลงกล่อมลูก" บทลำนำข้างเปลที่กลั่นจากหัวใจแม่
...นอนสาหล่า หลับตาแม่สิกล่อม เจ้าบ่นอนบ่ให้กินกล้วย แม่ไปห่วยไปส่อนปลาซิว เก็บผักติ้วมาใส่แกงเห็ด ไปใส่เบ็ดได้ปลาค้อใหญ่ อย่าฮ้องไห้แมวโพลงสิจกตา...
บทกล่อมลูกเพลงนี้ถ้าล่องลอยไปเข้าหูลูกอีสานทั้งหลาย น้ำตาอาจรื้นกันได้ง่ายๆ คนไกลบ้านห่างแม่ฟังเพลงแล้วก็เห็นภาพออกอาการซาบซึ้งคิดถึงแม่ขึ้นมาแทบขาดใจได้เลยทีเดียว ด้วยรูปรสกลิ่นเสียงทุกประสาทสัมผัสที่สื่อออกมาจากแม่นั้น คือสิ่งบำรุงจิตใจของลูก และไม่น่าเชื่อว่าจนลูกเติบใหญ่ไปแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็ยังเด่นชัดอยู่ในความทรงจำ หากแต่จะด้วยกาลเวลาหรืออาจเพราะความเร่งรีบของชีวิต บทลำนำกล่อมลูกน้อยจึงถูกพรากหายไปจากวิถีชีวิตคุณแม่ยุคสมัยใหม่ ด้วยเหตุนี้ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล จึงจัดงานประกวดขับร้องเพลงกล่อมลูก 4 ภาค ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของเพลงกล่อมลูกซึ่งเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีคุณค่าสมควรได้รับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู โดยเริ่มจัดการประกวดเมื่อปี 2531 และได้จัดการประกวดมาอย่างต่อเนื่อง ในงาน "มหิดล-วันแม่" เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ในปีนี้มีผู้ส่งเข้าประกวดประเภทประชาชน รวม 32 คน ประเภทนักเรียน นักศึกษา 64 คน โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้าชิงชนะเลิศ 4 ภาค รวม 40 คน โดยผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้เข้ารับประทานรางวัลจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ในงาน "มหิดล-วันแม่" วันที่ 11 สิงหาคมนี้ ที่สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จ.นครปฐม ท่วงทำนอนเห่กล่อมเนิบช้า ฟังแล้วรู้สึกเย็นสบาย ช่วยทำให้เด็กนอนหลับอย่างเป็นสุข ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศประเภทประชาชนทั่วไป (ภาคใต้) ณัฐพร ทองเพิ่ม วัย 57 ปี คุณแม่อาชีพรับราชการครูจาก จ.พัทลุง และตอนนี้ก็ได้เป็นคุณยายไปอีกตำแหน่ง ไม่น่าเชื่อเลยว่าสำเนียงภาษาใต้ที่แข็งเข้มจะเอื้อนบทเพลงเห่กล่อมลูกได้ไพเราะนุ่มนวลจับใจเช่นนี้ "แม่ครูณัฐพร" บอกเล่าถึงบทเพลงร้องประกวดว่า ชื่อเพลง 'ไปคอน' ซึ่งก็คือ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่วัดมหาธาตุ จ.นครศรีธรรมราช คนในภาคใต้ถือว่าวัดแห่งนี้คือที่สุดแห่งความงามและการสักการบูชา
"สมัยก่อนถนนหนทางรถราก็ไม่สะดวกสบายเหมือนสมัยนี้ คนไม่ย่อท้อ 'คนเมืองลุง' หรือ จ.พัทลุง เกิดมาครั้งหนึ่งก็อยากไปไหว้พระธาตุ เพราะได้บุญเยอะ เป็นเพลงเก่าที่เราไปสืบค้นมาจากคนแก่ๆ ให้ท่านร้องให้ฟัง"
เหตุเพราะเพลงกล่อมลูกนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏ ว่าเริ่มร้องกันเมื่อไร จัดเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ หรือเรื่องราวที่สืบทอดด้วยปาก บอกเล่าต่อกันมาหลายชั่วอายุคน และไม่มีผู้ใดบันทึกเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร อ.ณัฐพร อธิบายว่า ร้องแล้วก็ให้นึกถึงความงามของวัดเก่าแก่แห่งนี้ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ภาพเจดีย์ โบสถ์ ที่มีเสาต้นใหญ่โต หลังคามุงกระเบื้อง เป็นบทบันทึกยุคสมัยก็บอกเล่าจากปากแม่ไปสู่ลูก ที่กำลังหลับพริ้มอยู่ในเปลนอน คือความสวยงามและเพลิดเพลินโดยแท้จริง
"...อ้า เห้อ เหอ ไปคอน ไปแลพระนอนและพระนั่ง พระพิงเ***ั้งหลังคามุงเบื้อง เข้าไปในห้องไปแลพระทองเขาทรงเครื่อง หลังคามุงเบื้อง ทรงเครื่องดอกไม้..."
ท่วงทำนองใต้ไพเราะลึกซึ้งถ่ายทอดจากปากแม่ครูอีกครั้ง เพลงกล่อมลูกยังเป็นเครื่องมือที่แม่บอกสอนลูกได้อีกด้วย "ลูกในเปลยังเล็ก ไม่รู้เรื่องแต่พี่สาวที่เล่นอยู่ใกล้ๆ เปลน้องได้ยินเสียงกล่อม ก็จะเป็นการบอก สอนลูกได้หมดทุกคน เป็นกลวิธีการเลี้ยงแบบเก่าที่อบอุ่น สิ่งเหล่านี้แม่อย่าบอกนะว่า ไม่มีเวลา เพลงหนึ่งไม่เกิน 1-2 นาที เดี๋ยวลูกก็หลับ แล้วแม่ร้องๆ ไป แม่ก็คลายเหงา เนื้อเพลงยังสอนใจให้ข้อคิดกับคนร้องได้อีกด้วยนะ" อ.ณัฐพร กล่าวทิ้งท้าย
ถ้าเนื้อหาบทกล่อมภาคใต้บอกเล่าถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ แม่จากแดนอีสานก็จะบอกต่างกันว่า แม่ต้องไปหากล้วยมาสู่ลูกกิน ไปเสาะหาปลาหาผักตามห้วยหนองมาให้ลูกอิ่มท้อง ท่วงทำนองภาษาพื้นบ้านแท้ๆ ฟังเพลงกลอมลูกภาคใต้แล้วก็มาฟังเพลงกล่อมของภาคอีสาน ใจก็โหยให้คิดถึงอกอุ่นๆ ของแม่ได้ไม่แพ้กัน
คุณแม่บุญจันทร์ ยอดอ่อน ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศประเภทประชาชนทั่วไป (ภาคอีสาน) บอกว่าเพลงกล่อมลูกภาคอีสานเรียกว่า "เพลงนอนสาหล่า" เนื้อเพลงนั้นบอกว่าลูกนอนเถอะนะ แม่จะได้ไปทำไร่ดำนา ลูกทั้งสามคนได้ฟังเพลงกล่อมลูกทุกคน จนตอนนี้เติบโตให้แม่บุญจันทร์ได้สะใภ้ได้เขยกันทั้งสามคนแล้ว
"ลูกชายคนโตไม่สบายเป็นไทรอยด์มาตั้งแต่น้อยๆ สองวันสามวันแม่ก็ต้องพาลูกไปหาหมอแล้ว เลี้ยงยาก ทั้งทุกข์ใจเวลาเห็นเขาเจ็บป่วย แม่ก็ร้องเพลงกล่อมนี่แหละช่วยลูกให้นอนหลับง่ายขึ้น ตอนนี้ได้เป็นยายใช้เพลงกล่อมหลานแล้วก็ถือว่าเป็นการอนุรักษ์ไปรุ่นต่อรุ่น" แม่บุญจันทร์ ว่า
แม้ว่าเพลงกล่อมเด็กของไทยที่มีแพร่หลายทุกภาคจะเรียกแตกต่างกันไป ภาคเหนือเรียกว่า "เพลงอื่อลูก" และภาคใต้เรียกว่า "เพลงชาน้องหรือช้าน้อง" ส่วนภาคกลางเรียกว่า "เพลงกล่อมลูก" แต่ละภาคก็มีเนื้อหาท่วงทำนองที่แตกต่างกันไป แต่มีสิ่งหนึ่งที่คล้ายคลึงกัน นั่นก็คือจังหวะที่ช้าเนิบ เพื่อให้ลูกเคลิ้มหลับไป เป็นจังหวะและอารมณ์ของผู้เป็นแม่ที่มุ่งหวังจะให้ลูกของตัวรู้สึกอบอุ่น เพราะเด็กแรกเกิดนั้นมีสัญชาตญานของการระแวงภัย และรู้สึกว่าตัวเองต้องอยู่คนเดียว การที่แม่ร้องเพลงกล่อมทุกคืน ก็เพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกมั่นใจว่าอย่างไรเสีย เขายังมีแม่อยู่เคียงข้างตลอดเวลาที่เขาหลับ ทุกวันนี้คุณแม่หลายคนเลือกใช้สื่ออื่นๆ กล่อมลูกน้อยให้นอนหลับ ไม่ว่าจะเป็นเสียงเพลงจากเครื่องเล่น หรือเทปนิทานก่อนนอน แต่ลำนำเพลงกล่อมที่แสนไพเราะงดงามซึ่งเป็นศิลปะที่สัมผัสได้ด้วยหัวใจเช่นนี้ ด้วยรสนิยมคนไทยรุ่นใหม่ก็ไม่น่าเก็บไว้ให้เป็นเรื่องอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านอีกต่อไป
[wma]http://wcs.hopto.org/up/file/Catporng.wma[/wma]
ที่มา : คมชัดลึก
Bookmarks