กำลังแสดงผล 1 ถึง 2 จากทั้งหมด 2

หัวข้อ: ผลงานบางส่วนของท่านจิตร ภูมิศักดิ์ 2 ต่อ

  1. #1
    khmer168
    Guest

    ผลงานบางส่วนของท่านจิตร ภูมิศักดิ์ 2 ต่อ

    ชนชาติ ภาษา และรัฐ ------
    ต่อจากตอนที่1
    ลักษณะของรัฐที่มีชนชั้นปกครองเป็นชนชาติชวา-มลายู, เขมร และไทย ณ บริเวณที่ได้มากลายเป็นเขตชั้นในของกรุงศรีอยุธยาในชั้นหลังดังกล่าวมานี้ เป็นลักษณะที่เราจะสำรวจได้ชัดจากประวัติศาสตร์แห่งศิลปะ.

    พระปรางค์องค์ประธานแห่งวัดพระศรีรัตนมหาธาตุจังหวัดลพบุรี ซึ่งก่อด้วยศิลาแลง เป็นปรางค์โดด ก่อบนฐานแคบลดชั้นสูงโดด, องค์ปรางค์ทรงสูงมีซุ้มประตูหลอกสามทิศ, จระนำเหนือประตูทรงมนผายสูง, ด้านตะวันออกเป็นซุ้มมุขเด็จยื่นเป็นห้องยาว เป็นทางเข้าด้านเดียว, องค์ปรางค์ไม่ประดับด้วยลายจำหลักลายเบาแบบเขมรนครธม หากประดับด้วยปูนปั้นแบบศิลปะมอ?ทวารวดี หรือละโว้-หริภุ?ไชย. นี่เป็นฝีมือช่างสกุลลพบุรีหรือละโว้อย่างชัดเจน. สกุลช่างนี้มีแกนอิทธิพลเขมร, แต่ไม่ใช่ลอกแบบเขมร. ปรางค์เขมรไม่สร้างทรงสูงโดด ส่วนที่เป็นประตูและซุ้มจระนำต่ำกว่านี้มาก. พระมหาธาตุองค์นี้ต่างกันอย่างชัดเจนกับปรางค์สามยอดซึ่งเป็นฝีมือช่างเขมรแท้.

    สังคมรัฐเขมรที่ละโว้ยุคที่สร้างปรางค์มหาธาตุนี้ เป็นรัฐเขมรที่มีพัฒนาการทางศิลปะเฉพาะแบบของตนเอง และมีร่องรอยของมอ?ทวารวดีเดิมในเรื่องศิลปะปูนปั้น รัฐนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐภายใต้อำนาจเขมรนครธมเลย

    ในทางพุทธรูป เราได้พบพระพุทธรูปสำริดเป็นจำนวนมากที่มีเค้าหน้าเป็นเขมร แต่ทรวดทรงเป็นศรีวิชัย สวมเทริดกลีบขนนกแบบศิลปะศรีวิชัย เราเรียกศิลปะสกุลนี้ว่าสกุลลพบุรี นี่เป็นร่องรอยของรัฐละโว้ที่ครั้งหนึ่งเคยมีกษัตริย์ชวา-มลายูแห่งศรีวิชัยขึ้นมาปกครอง (หรืออาจจะหลายครั้ง ระหว่าง พ.ศ. ๑๒๐๐-๑๖๐๐) รัฐเขมร-ชวา หรือชวา-เขมรแห่งละโว้นี้ ได้เป็นสื่อถ่ายทอดศิลปะสกุลศรีวิชัยขึ้นไปยังภาคเหนือ เป็นต้นว่าวัดเจดีย์เจ็ดแถวที่เมืองเชลียง และศิลปกรรมแห่งรัฐหริภุ?ไชย (ลำพูน) นอกจากนั้นยังเป็นทางผ่านของศิลปะชวาขึ้นไปยังบริเวณที่ราบสูงโคราช. ที่ปราสาทหินเมืองแขก ณ ตำบลโคราช เมืองโคราชเก่า จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นเทวสถานบูชาพระศิวะ (พบศิวลึงค์อยู่นอกปราสาท) มีรูปสลักหินลายจำหลักศิลานูนต่ำอยู่รูปหนึ่ง เป็นภาพนางทุรคาชายาของพระศิวะ ปางมหิษาสุรมรรทินี (ปราบพ?าควาย), ซึ่งเป็นเรื่องปรากฏอยู่ในมารกัณเฑยบุราณะ. ภาพที่กล่าวนี้จำหลักเป็นนางทุรคายืนบนหลังควาย งอเข่า แยกขา มีสี่กร มือขวาบนถือจักร ล่างถือตรีศูล (สามง่าม) มือซ้ายบนชำรุดหมด มือล่างพอเห็นรอยได้ว่ายึดหางควายไว้. ภาพจำหลักดังกล่าวนี้เป็นแบบที่พบมากในอินโดนีเซีย ได้พบมากกว่า ๑๐๐ ภาพ และได้มาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงเทพฯ ภาพหนึ่งด้วย

    (J.J. Boeles ใน JSS. Vol. XLVIII pt.2, Nov. 1950 pp. 87-8)

    เมื่อชนชาติไทยได้เข้ามามีบทบาทที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้ ศิลปะสกุลลพบุรีที่เป็นแบบเขมรผสมมอ?บ้าง (ปรางค์และปูนปั้น) หรือเขมรผสมชวาหรือศรีวิชัยบ้าง ได้หลอมตัวใหม่อีกครั้ง เป็นส่วนผสมของมอ? เขมร ไทย และมีศรีวิชัยปน. ศิลปะที่เกิดใหม่นี้คือศิลปะสกุลช่างอู่ทอง. ปรางค์สมัยนี้พัฒนาขึ้นจากปรางค์ทรงสูงของลพบุรี แต่ขยายฐานออกให้ใหญ่มากกว่าเดิมหลายเท่า ยกฐานลดชั้นให้สูงกว่าเดิมจนมีลักษณะเป็นภูเขาย่อมๆ องค์ปรางค์เสริมยอดสูงเพรียวกว่าเดิม แต่คงรักษาเค้าศิลปะลพบุรีหรือละโว้ดั้งเดิมไว้. ศิลปะนี้ได้แลกเปลี่ยนถ่ายทอดกับทางเหนือ เช่นปรางค์มหาธาตุเชลียง จังหวัดสวรรคโลก เป็นต้น. ในบริเวณภาคกลาง ศิลปะฝีมือช่างปรางค์แบบอู่ทองนี้แพร่หลายมาก เราได้พบที่สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี อยุธยา เป็นต้น.

    ส่วนพระพุทธรูปสกุลช่างอู่ทอง ซึ่งมีเค้าศิลปะลพบุรีเดิมมาหล่อหลอมขึ้นใหม่นั้น ก็ได้แพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง นอกจากบริเวณภาคกลางนี้แล้ว, ยังแพร่ไปถึงภาคอีสาน เป็นต้นว่าพระเศียรพระพุทธรูปศิลาที่วัดเดิม, อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา. (มานิต วัลลิโภดม, นำเที่ยวพิมายและโบราณสถานในจังหวัดนครราชสีมา. ๒๕๐๒, หน้า ๑๘-๑๙).

    ตามการศึกษาของนายมานิต วัลลิโภดม, ศิลปะอู่ทองนี้ได้แพร่หลายถ่ายทอดออกไปถึงนครธมของเขมร เช่นที่ปราสาทหินเทพประณมกลางเมืองนครธม ข้างเทวสถานบายน, ปราสาทหินนครวัด ตลอดจนศิลาจำหลักบางชิ้นในพิพิธภัณฑสถานกรุงพนมเป? อันเป็นของเคลื่อนย้ายไปจากกลุ่มปราสาทบายน (เล่มเดียวกัน).

    ข้าพเจ้าเสียดายมาก ที่ได้ไปนครวัด นครธม กว่าสิบครั้งแต่มิได้สังเกตในข้อนี้เลย. เฉพาะปฏิมาที่ตั้งเกลื่อนอยู่ตามระเบียงนครวัดนั้น มิได้เอาใจใส่เลยทีเดียว. มีเตะตาอยู่ก็แต่พระพุทธรูปศิลาองค์ใหญ่มหึมาที่วัดเทพประณม ซึ่งก็ได้แต่มองดูแต่ไกลและบอกตัวเองว่าไม่ใช่ฝีมือเขมร, แต่หาได้พิจารณาอะไรไม่. เมื่อได้อ่านงานของนายมานิต วัลลิโภดม จึงนึกขึ้นได้ทันทีว่าน่าจะเป็นจริงตามนั้น.

    ศิลปะสกุลอู่ทองซึ่งก่อกำเนิดขึ้นตั้งแต่ราว พ.ศ. ๑๕๐๐ และมีชีวิตมาจนราว พ.ศ. ๒๐๐๐ นี้ เป็นศิลปะที่เป็นคู่แข่งสำคั?ของศิลปะลพบุรี และเข่นฆ่าศิลปะลพบุรีลงในที่สุด. พวกเขมรนครธมที่ออกมาปกครองลพบุรี ได้พยายามสร้างศิลปกรรมของตน เช่นปรางค์สามยอด แต่ก็ไม่อาจทำลายศิลปะลพบุรีอันเป็นศิลปะของท้องถิ่นได้. ชาวเขมร-มอ?-ไทยที่บริเวณนี้หล่อหลอมศิลปะของเขาขึ้นเองพร้อมด้วยอิทธิพลบางส่วนของศรีวิชัย, ปรากฏเป็นศิลปะอู่ทองขึ้น และศิลปะนี้เองได้กุมชัยชนะเหนือลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในบั้นปลาย.

    รัฐไทยก็ดี รัฐเขมรก็ดี ที่ใช้ชื่อว่าอโยธยา, ไม่ว่าในครั้งที่เขมรได้ขึ้นเป็นชนชั้นปกครอง หรือไทยเป็นชนชั้นปกครอง ต่างก็ใช้ศิลปกรรมนี้เป็นศิลปกรรมหลักสำคั?ของรัฐ. มีการถ่ายทอดศิลปกรรมจากที่อโยธยากับเขมรนครธม และจากอโยธยากับศรีสัชนาลัยหรือเชลียง ทั้งสองด้าน.

    อักษรขอม ที่เราได้วิเคราะห์กันมาแล้วในบทก่อน คืออักษรที่มีกำเนิดมาจากอักษรเขมร หรือนัยหนึ่งก็คืออักษรเขมรที่ใช้อยู่ ณ บริเวณลุ่มเจ้าพระยานี้ และมีพัฒนาการของตนเฉพาะพิเศษขึ้นที่นี่. ชนชาติเขมรที่เป็นชนชั้นปกครองซึ่งมาจากนครธม อาจจะใช้อักษรเขมรแบบนครธมตามยุคสมัยของเขา แต่สำหรับชาวเขมรที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยารวมทั้งชาวไทย ย่อมใช้อักษรของเขาเองตามความเคยชิน วัดต่างๆ อันเป็นสถานศึกษาก็ย่อมจะสอนหนังสือขอมหรือเขมรแบบพื้นเมืองของตนสืบทอดกันต่อไป. เมื่อเขมรพื้นเมืองได้มีอำนาจปกครองเป็นรัฐอิสระก็ใช้อักษรนี้, และเมื่อไทยได้อำนาจปกครองเป็นอิสระก็ใช้อักษรนี้ เรียกว่าอักษรขอมไทย. จนภายหลังได้พัฒนาอักษรของตนเองเป็นอักษรไทยขึ้น อักษรขอมไทยจึงคงเหลือใช้อยู่แต่ตามวัดหรือในทางศาสนา.

    ตามที่กล่าวมาแล้ว คงจะพอเข้าใจได้แจ่มชัดถึงความแตกต่างระหว่างชนชาติกับรัฐ. และคงเป็นที่เข้าใจมั่นคงว่า เมื่อกล่าวถึงรัฐเขมรในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาหรือทางลุ่มแม่น้ำมูล ย่อมมิได้หมายความว่าเป็นรัฐเมืองขึ้นของเขมรนครธมเสมอไป; หากส่วนใหญ่แล้วคือรัฐของชนชาติที่พูดภาษาเขมรซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่นี่ เกิดที่นี่ ตายที่นี่ มีศิลปวัฒนธรรมของตนเองเป็นอิสระที่นี่ มีอักษรศาสตร์ของตนเองซึ่งมีรากเหง้ามาจากอักษรเขมรเดิม แต่พัฒนาขึ้นที่นี่เป็นเอกเทศ.

    การศึกษาประวัติศาสตร์แต่เดิมมาของเรา มิได้ศึกษาโดยสัมพันธ์กับลักษณะของสังคม. เมื่อเอ่ยถึงรัฐเขมร จึงมักนำเอาความคิดของรัฐเอกภาพอย่างปัจจุบันไปสวมให้ และเข้าใจว่าจะต้องเป็นอาณาจักรเดียว กว้างใหญ่ เป็นชาติใหญ่. นั่นเป็นเรื่องของความไม่เข้าใจพัฒนาการสังคม, เอาสภาพที่เห็นปัจจุบัน ไปสวมให้แก่รูปลักษณะของรัฐโบราณ.

    รัฐโบราณในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็ดี ลุ่มแม่น้ำยมก็ดี ลุ่มแม่น้ำกกก็ดี ลุ่มแม่น้ำมูลก็ดี เป็นรัฐแบบที่เรียกว่ารัฐเจ้าครองนคร หรือนาครรัฐ อย่างที่ยังเป็นอยู่ในเขตสิบสองปันนาและรัฐชานเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้.

    ในเขตสิบสองปันนานั้น มีทั้งหมดสิบสองแคว้นเจ้าฟ้าผู้ครองนคร แคว้นหนึ่งเป็นปันนาหนึ่ง. ปันนานั้นเป็นภาษาไตลื้อ ตรงกับคำไทยว่าพันนา หมายถึงจำนวนที่นานับตามจำนวนข้าวพันธุ์ที่ใช้หว่านหนึ่งพันตาง, และมีความหมายเฉพาะถึงขอบเขตที่ดินที่มี "เจ้าหม่อม" ครอบครอง ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Principality หรือฝรั่งเศสว่า Principaulite คือรัฐเจ้าฟ้า. รัฐเหล่านี้ต่างเป็นอิสระ เมื่อมีรัฐใดเข้มแข็งขึ้น ก็รวบอำนาจการเมืองรวมศูนย์ปกครองเป็นเอกภาพเสียครั้งหนึ่ง แต่ก็ไปได้ไม่จีรัง เอกภาพก็ทลายลงอีก แล้วก็แย่งยิ่งชิงยุ่งกันไปตามแต่กำลังจะอำนวย.

    รัฐไทยแถบลุ่มแม่น้ำกกก็มีลักษณะทำนองเดียวกันนี้. ใครที่อ่านประวัติศาสตร์ลุ่มแม่น้ำกกแล้วคิดว่ารัฐเงินยาง (หิรั?นคร) หรือรัฐโยนกชัยบุรี (เชียงแสน) เป็นรัฐใหญ่มหึมาตลอดกาล นั่นฝันไปกลางวันแสกๆ.

    รัฐเชียงใหม่ รัฐหริภุ?ไชย รัฐพะเยา รัฐศรีสัชนาลัย (เชลียง) เดิม รัฐไตรตรึงษ์ ก็ล้วนเป็นทำนองเดียวกันนี้ทั้งสิ้น. พ่อขุนรามคำแหงแห่งสุโขทัยรวบอำนาจรวมศูนย์ได้ครั้งหนึ่งก็เพียงชั่วคราว สิ้นสมัยพ่อขุนรามคำแหงแล้วก็แตกทลายออกเป็นรัฐเจ้าผู้ครองนครอีกต่อไป.

    ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ยิ่งสับสนมากกว่าทางเหนือ เพราะเป็นเมืองใกล้ทะเล มีการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศมากมายสับสน ชนิดที่เรียกได้ว่าเป็น cosmopolitan. รัฐที่บริเวณนี้มีหนาแน่น และซอยถี่ยิบ เป็นของชนหลายเชื้อชาติ ทั้งที่เป็นชาวพื้นเมืองและชาวต่างประเทศ, มีศิลปวัฒนธรรมหลายกระแส. บางระยะก็มีรัฐที่มั่งคั่งเข้มแข็งรวบอำนาจสำเร็จขึ้นคราวหนึ่ง รักษาเอกภาพไว้ได้เร็วบ้างช้าบ้าง แล้วก็แตกกระจายออกอีกตามเดิม. สิ่งที่คงอยู่และพัฒนาไปไม่ขาดสายคือศิลปกรรม ภาษา และวัฒนธรรม. ศิลปวัตถุแบบทวารวดีที่เราพบเกลื่อนกลาดนั้น มิได้หมายความว่าอาณาจักรทวารวดีจะต้องใหญ่โตคลุมตั้งแต่สุราษฎร์ธานีขึ้นไปถึงเพชรบูรณ์, จากราชบุรีไปถึงปราจีนบุรี และจากกา?จนบุรีไปถึงนครราชสีมาตลอดถึงกาฬสินธุ์ (ตามซากโบราณวัตถุสมัยทวารวดีที่ได้พบ) ตลอดกาล. ในระยะสมัยของศิลปะสกุลนี้อาจมีรัฐผลัดเปลี่ยนกันทรงอำนาจหลายรัฐ หรือทรงอำนาจคู่เคียงกันหลายรัฐ. ทวารวดีอาจเป็นรัฐเล็กๆ รัฐหนึ่งที่แผ่อำนาจรวมศูนย์ได้ชั่วคราวแล้วก็ทลายไป กลายเป็นรัฐเล็กๆ ตามเดิมหรือเป็นเมืองขึ้นของรัฐอื่นที่พัฒนาขึ้นรวบอำนาจแทนที่ เป็นต้นว่ารัฐ

    เขมรจานาศปุระ (อิสระต่างหากจากนครธม) ซึ่งเกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๑๑๐๐-๑๔๐๐.

    ลักษณะของรัฐเจ้าครองนครหรือนครรัฐเช่นกล่าวนี้ มาสิ้นสุดเมื่อพระเจ้ารามาธิบดีผู้สถาปนาอาณาจักรศักดินารวมศูนย์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓, ซึ่งได้พยายามทำลายรัฐเจ้าครองนครลงตามลำดับในช่วงระยะ ๑๐๐ ปีแรกแห่งสมัยศรีอยุธยา.

    ส่วนทางกัมพูชานั้น ต่างกับลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่นั่นเป็นรัฐสังคมทาสที่รวมศูนย์เกือบจะตลอดเวลา ดินแดนชั้นในของอาณาจักรนั้นจึงเป็นเอกภาพอยู่เสมอ. อำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นเอกภาพของรัฐ เปิดโอกาสให้แก่การมีฐานะเป็นรัฐมหาอำนาจ ก่อสร้างถาวรวัตถุตามคติความเชื่อถือของตนได้อย่างมหึมาและมากมาย (ปราสาทหินทั้งหมดมีที่พบแล้วกว่า ๖๐๐ แห่ง!)

    ฉะนั้นในการศึกษาเรื่องของสังคมในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งระบบสังคมเป็นแบบเจ้าครองนครศักดินา (Feudal Principality), นานๆ จะมีการรวมศูนย์แท้จริงสักครั้ง, เราจึงจะนำไปเพ้อฝันให้เป็นรัฐสังคมที่เป็นเอกภาพใหญ่ เกรียงไกร แผ่อิทธิพลได้ถาวร อย่างรัฐสังคมทาสที่เป็นเอกภาพตลอดเวลา (มียกเว้นบ้างบางครั้ง) มิได้. ประวัติศาสตร์พัฒนาไปตามสภาพเศรษฐกิจ และระบบการผลิตของสังคม ไม่ใช่เรื่องยี่เกที่เราจะฝันเอาอย่างไรก็ได้ตามใจชอบ.

    รัฐเจ้าครองนครขนาดใหญ่ที่นับว่าเป็นหลักในบริเวณภาคกลางนี้ ดูเหมือนจะมีรัฐสุพรรณภูมิ (อู่ทอง), เพชรบุรี, ละโว้ (ลพบุรี), อโยธยา, ทวารวดี (แถบนครปฐม?), ศรีมหาโพธิ์ (ในปราจีนบุรี) และจันทบูร (ในจันทบุรี) นอกนั้นยังมีเมืองเล็กเมืองน้อยที่มีอายุถึงรุ่นทวารวดี (พ.ศ. ๑๒๐๐) อีกมาก. รัฐเหล่านี้มีทั้งที่เป็นของชนชาติละว้า มอ? เขมร และไทย. และก็ผลัดเปลี่ยนกันมีอำนาจปกครองสูงสุดเป็นในบางระยะ ยาวบ้าง สั้นบ้าง.

    ฉะนั้นเมื่อเรากล่าวถึงรัฐเขมรที่นี่ จึงต้องไม่เข้าใจว่าหมายถึงเขมรนครธมซึ่งแผ่อำนาจมาเป็นครั้งคราวเสมอไป. ทั้งก็ไม่จำเป็นต้องรังเกียจ พยายามพิสูจน์ว่ารัฐนั้นมิใช่ของชนชาติเขมร หากเป็นชนชาติขอมอะไรสักอย่าง.

    ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ท่านที่เสนอทฤษฎีชนชาติขอมและรัฐขอมขึ้นโดยกล่าวว่ามิใช่เขมรนั้น คงจะมีความประสงค์ที่จะยืนยันออกมาว่า มีรัฐที่มิได้เป็นเมืองขึ้นของนครธมอยู่ที่นี่ แต่เป็นรัฐที่พูดภาษาเดียวกับนครธมและใช้อักษรคล้ายอักษรเขมรนครธม, แล้วก็เลยเรียกชื่อว่าเป็นรัฐของชนชาติขอม.

    ความประสงค์ที่จะยืนยันดังกล่าวนี้, ถ้าเป็นจริงดังข้าพเจ้าคาดคะเน, ก็เป็นความคิดที่ข้าพเจ้ามีความเห็นสอดคล้องด้วยเต็มที่ แต่เรื่องจะปฏิเสธว่าขอมไม่ใช่เขมรนั้น ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย.

    อนึ่งการที่จะสร้างความหมายของคำว่าขอมขึ้นใหม่ ให้หมายถึงชนชาติอื่นนั้น เป็นเรื่องยุ่ง ชวนงงเปล่าๆ เพราะไทยเราใช้คำว่าขอมเรียกเขมรทั้งนอกและในประเทศมาแต่โบราณกาลเหลือเกินแล้ว และในความสำนึกของคนไทยก็ยังคงเข้าใจว่าขอมคือเขมรโบราณอยู่แม้ในทุกวันนี้.

  2. #2
    ดูแลตรวจสอบเนื้อหา สัญลักษณ์ของ เชนเมืองช้าง
    วันที่สมัคร
    Jul 2006
    กระทู้
    140

    Re: ผลงานบางส่วนของท่านจิตร ภูมิศักดิ์ 2 ต่อ

    โอ้ สุดยอดเลยท่าน อ่านแล้วจะได้รู้ที่มา

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •