จิตยึดมั่นมันก็สับสนวุ่นวาย

[p]ธรรมชาติของใจเรามันก็อย่างนั้น เมื่อใดที่เกาะเกี่ยวผูกพันยึดมั่นถือมั่นก็จะเกิดความวุ่นวายสับสน เดี๋ยวมันก็จะวิ่งวุ่นไปโน่นไปนี่ พอมันวุ่นวายสับสนมากๆเข้า เราก็คิดว่าคงจะฝึกอบรมมันไม่ได้แล้ว แล้วก็เป็นทุกข์ นี่ก็เพราะไม่เข้าใจว่ามันต้องเป็นของมันอย่างนั้นเอง ความคิด ความรู้สึก มันจะวิ่งไปวิ่งมาอยู่อย่างนี้ แม้เราจะพยายามฝึกปฏิบัติ พยายามให้มันสงบ มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น มันจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เมื่อเราติดตามพิจารณาดูธรรมชาติของใจอยู่บ่อยๆ ก็จะค่อยๆเข้าใจว่าธรรมชาติของใจมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น มันจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้

ปล่อยวางได้จิตใจก็สงบ

ถ้าเราเห็นอันนี้ชัด เราก็จะทิ้งความคิดความรู้สึกอย่างนั้นได้ ทีนี้ก็ไม่ต้องคิดนั่นคิดนี่อีก คอยแต่บอกตัวเองไว้อย่างเดียวว่า "มันเป็นของมันอย่างนั้นเอง" พอเข้าใจได้ชัด เห็นแจ้งอย่างนี้แล้ว ทีนี้ก็จะปล่อยอะไรๆได้ทั้งหมด ก็ไม่ใช่ว่าความคิดความรู้สึกมันจะหายไป มันก็ยังอยู่นั่นแหละ แต่มันหมดอำนาจเสียแล้ว

เปรียบก็เหมือนกับเด็กที่ชอบซน เล่นสนุก ทำให้รำคาญ จนเราต้องดุเอา ตีเอา แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของเด็กก็เป็นอย่างนั้นเอง พอรู้อย่างนี้ เราก็ปล่อยให้เด็กเล่นไปตามเรื่องของเขา ความเดือดร้อนรำคาญของเราก็หมดไป มันไปได้อย่างไร ก็เพราะเรายอมรับธรรมชาติของเด็ก ความรู้สึกของเราเปลี่ยน และเรายอมรับธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย เราปล่อยวาง จิตของเราก็มีความสงบเยือกเย็น นี่เรามีความเข้าใจถูกต้องแล้ว เป็นสัมมาทิฎฐิ

ถ้ายังไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ยังเป็นมิจฉาทิฎฐิอยู่ แม้จะไปอยู่ในถ้ำลึกมืดสักเท่าใด ใจมันก็ยังยุ่งเหยิงอยู่ ใจจะสงบได้ก็ด้วยความเห็นที่ถูกต้อง เป็นสัมมาทิฎฐิเท่านั้น ทีนี้ก็หมดปัญหาจะต้องแก้ เพราะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น นี่มันเป็นอย่างนี้ เราไม่ชอบมัน เราปล่อยวางมัน เมื่อใดที่มีความรู้สึกเกาะเกี่ยวยึดมั่นถือมั่นเกิดขึ้น เราปล่อยวางทันที เพราะรู้แล้วว่าความรู้สึกอย่างนั้นมันไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อจะกวนเรา แม้บางทีเราอาจจะคิดอย่างนั้น แต่ความเป็นจริงความรู้สึกนั้นเป็นของมันอย่างนั้นเอง

ถ้าเราปล่อยวางมันเสีย รูปก็เป็นสักแต่ว่ารูป เสียก็สักแต่ว่าเสียง กลิ่นก็สักแต่ว่ากลิ่น รสก็สักแต่ว่ารส โผฎฐัพพะก็สักแต่ว่าโผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ก็สักแต่ว่าธรรมารมณ์ เปรียบเหมือนน้ำมันกับน้ำท่า ถ้าเราเอาทั้งสองอย่างนี้เทใส่ขวดเดียวกัน มันก็ไม่ปนกัน เพราะธรรมชาติมันต่างกัน เหมือนกับคนที่ฉลาดก็ต่างกับคนโง่ พระพุทธเจ้าก็ทรงอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ แต่พระองค์ทรงเป็นพระอรหันต์ พระองค์จึงทรงเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสิ่ง "สักว่า" เท่านั้น