ประเพณี ?ผูกเสี่ยว? (เป็นเพื่อนตาย) ของคนอีสานนั้น มีการคบกันอยู่ 2 ระดับ คือการคบกันเป็นเพื่อนฝูงในระดับธรรมดาทั่ว ๆ ไป ซึ่งจะเรียกกันว่า ?เป็นหมู่กัน? (เป็นเพื่อนกัน) และการคบกันแบบในระดับเพื่อนสนิทเป็นพิเศษ มีความรักผูกพันกันถึงขนาดพึ่งพาอาศัยกัน สามารถเป็นตายแทนกันได้ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า ?เป็นเสี่ยว? กัน (เป็นเพื่อนตายหรือมิตรแท้) การที่จะเป็นเพื่อนตายหรือเป็นเสี่ยวกันนั้น จะต้องผ่านขั้นตอนการทำพิธีผูกเสี่ยวกันก่อน จึงจะถือได้ว่า ?เป็นเสี่ยวแท้? (เป็นเพื่อนแท้) เป็นได้ทั้งชายและหญิง ที่มีความสมัครใจทั้งสองฝ่าย โดยมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน หรือมีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกัน การผูกเสี่ยวเป็นวิธีการหนึ่งที่เป็นการส่งเสริมการขยายสังคม เพื่อนฝูงให้กว้างขวางออกไป ซึ่งมี คู่เสี่ยวมากเท่าใดยิ่งทำให้สังคมเกิดความรัก ความ ผูกพัน เปรียบเสมือนหนึ่งเป็นพี่น้องร่วมสายญาติเดียวกัน

สำหรับขั้นตอนของการผูกเสี่ยวนั้นมี 3 ขั้นตอน คือ การหาคู่เสี่ยว พิธีผูกเสี่ยวและการปฏิบัติตนต่อกันของคู่เสี่ยว ส่วนขั้นตอนการหาคู่เสี่ยวนั้น มีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ คู่เสี่ยวหากันเอง กรณีนี้ เมื่อชายหรือหญิงที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันมีความสนิทสนมกัน รักกันถูกนิสัยกัน พร้อมใจตกลงจะเป็นเสี่ยวกันด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่าย จึงได้มีการจัดพิธีผูกเสี่ยวขึ้น เพื่อเป็นการประกาศให้ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงทั้งสองฝ่ายมาร่วมกันเป็นสักขีพยาน

ส่วนอีกวิธี คือพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่หามาให้โดยไปพบบุคคลที่อยู่ต่างถิ่น มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับลูกหลานของตนจึงเกิดการทาบทามขอผูกเสี่ยวให้กับลูกหลานไว้ก่อน ซึ่งตอนนี้จะเรียกว่า ?แฮก เสี่ยว? หลังจากนั้นจึงหาโอกาสพาคู่เสี่ยวมาพบคบค้ากันจัดให้มีพิธีผูกเสี่ยวให้โดยจะมี ?หมอสูดขวัญ? (หมอพราหมณ์) มา ?เฮียกขวัญ? (เรียกขวัญ) ให้ โดยพิธีจะเริ่มตั้งแต่ให้คู่เสี่ยวจุดเทียนที่ปักไว้ยอดพาขวัญ จากนั้นพราหมณ์จะนำไหว้พระเสร็จแล้วกล่าวเชิญเทวดาพร้อมกับสวดคำสู่ขวัญ เอาข้าวเหนียวใส่มือคู่เสี่ยวคนละหนึ่งปั้น ไข่ต้มคนละฟอง กล้วยน้ำว้าสุกคนละใบแล้วใช้ด้ายหรือฝ้ายผูก ข้อมือให้แก่เสี่ยวเป็นครั้งแรกเรียกว่า ?การผูกเสี่ยว? หลังจากนั้น ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงของแต่ละฝ่ายจะมาผูกแขนให้ คู่เสี่ยวพร้อมกล่าวอวยพรแก่คู่เสี่ยว