นิทานก้อม เป็นนิทานพื้นบ้านสั้นๆ (ก้อม ว. สั้น เช่น สากสั้นเรียก สากก้อม นิทานสั้นเรียก นิทานก้อม)มักจะเป็นนิทานตลกโปกฮา สองแง่ สองง่าม หรือประเภทชิงไหวชิงพริบ เช่น พี่อ้าย (พี่เขย) ฝากเยี่ยวน้าสาว (น้องเมีย) พ่อเถ้า (พ่อตา) กับลูกเขย บักเซียงเหมี้ยง หัวพ่อ (หลวงตา) กับจัว (เณร) น้อย เป็นต้น
นิทานก้อมจัดเป็นวรรณกรรมไม่เป็นลายลักษณ์หรือแบบมุขปาฐะ เช่นเดียวกับคำทวย เพลงเด็ก หมอลำ ลำเซิ้ง คำสอย เป็นวรรณกรรมที่บอกเล่าต่อๆ กันมา วรรณกรรมบางอย่างนั้นเป็นทั้งแบบมุขปาฐะและแบบลายลักษณ์ แล้วแต่ว่าจะปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่
เป็นที่รู้กันว่าถ้าเป็นนิทานก้อมแล้วต้องตลกเสมอ แล้วก็คิดล่วงหน้าได้เลยว่าจะต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับเพศหรือเรื่องผิดปกติเกินความจริง ผู้ฟังเตรียมหัวเราะกันได้ การเล่านิทานก้อมที่เน้นเรื่องเพศมักจะเล่าสู่กันฟังในกลุ่มคนไม่กี่คนที่คุ้นเคยสนิทสนมกัน แต่บางครั้งสังคมก็ยอมให้เล่าได้ในโอกาสพิเศษ เมื่อมีงานบุญประเพณีพิธีกรรมสำคัญ คนทุกเพศทุกวัยจึงได้เห็นและรับรู้เรื่องเพศกันจนเป็นธรรมดา แม้ว่าเนื้อหาของ?นิทานก้อม? มักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็แฝงสาระที่จะทำให้ผู้ฟังโดยเฉพาะผู้ที่อยู่นอกพื้นที่อีสานได้รู้จักชาวอีสานมากขึ้น ได้รู้จักวิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณีของชาวอีสานอย่างแท้จริง ซึ่งมีอยู่หลายเรื่องทีเดียวที่คนนอกพื้นที่ไม่เคยรู้มาก่อน และที่สำคัญต้องการสะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์ขันและปฏิภาณปัญญาของคนท้องถิ่นที่บางครั้งคนกรุงยังอดทึ่งไม่ได้
แต่ในปัจจุบันการเล่านิทานโดยเฉพาะนิทานก้อม เริ่มจะหมดหายไปจากสังคมไทย เนื่องจากผู้ที่เล่าเรื่องส่วนมากจะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่อีกทั้งวัยรุ่นในปัจจุบันไม่ค่อยสนใจที่มานั่งฟังนิทานเหมือนสมัยก่อน นิทานก้อมจึงค่อยๆถูกลืมไป
Bookmarks