จับสัญญาณ"เต็งเส่ง"มาไทย เปิดศักราชเชื่อมลงทุนพม่า
ขณะนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ระหว่างการจับตาทิศทางการลงทุนในสหภาพเมียนม่าร์ (พม่า) ที่ถือว่าเป็นโอกาสใหม่ครั้งสำคัญของการค้าการลงทุน ชนิดที่เรียกว่าไม่มีประเทศไหนอยากตกขบวน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทาง การของ พลเอกเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่า ระหว่างวันที่ 22-24 ก.ค. 2555 ที่ผ่านมา
นับเป็นการลั่นฆ้องปฐมบทการลงทุนครั้งใหญ่ระหว่างรัฐบาลไทย-พม่าที่ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ!
วัตถุประสงค์การเยือนไทยของผู้นำพม่าในครั้งนี้ วาง "เป้าประสงค์" ไว้ที่นัยยะทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยเฉพาะโครงการที่จำเป็นต้องร่วมมือกับรัฐบาลและภาคเอกชนไทย ในหลายๆ ด้าน
โดยในวันที่ 22 ก.ค.2555 ผู้นำพม่าได้คล้องแขน ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม พร้อมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ลง พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง หรือท่าเรือแหลมฉบัง
ยุทธศาสตร์การค้าและโครงข่ายโลจิสติกส์สำคัญ ในการเชื่อมโยงสู่ท่าเรือน้ำลึก "ทวาย" ของพม่า ที่มีแผนจะลงทุนในอนาคตอันใกล้นี้ โดยผู้นำพม่าให้ความสนใจกับโครงสร้างของท่าเรือ ซึ่งอาจนำไปสู่การวางโมเดลท่าเรือทวายในระยะต่อไป
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สศช. ระบุว่า การเชื่อมต่อท่าเรือทวาย-แหลมฉบัง เป็นมิติใหม่ด้านการค้าการลงทุนของไทย เชื่อว่าจะสามารถลดสัดส่วนต้นทุนระบบขนส่งที่ปัจจุบันอยู่ที่ 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลงได้ รวมถึงช่วยร่นระยะเวลาการขนส่งที่จะเชื่อมต่อไปยังประเทศอินเดียและยุโรปลงได้ครึ่งหนึ่ง
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อาหาร และน้ำตาล จะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ในการส่งสินค้าออกไปยังตลาดหลัก ไม่ต้องอ้อมผ่านแหลม อินโดจีนอย่างที่ผ่านมา
แต่ไฮไลต์การเดินทางมาเยือนครั้งนี้อยู่ในวันที่ 23 ก.ค.2555 เมื่อพลเอกเต็ง เส่ง ได้ร่วมเวทีเจรจาอย่างเป็นทางการกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ผลการหารือนำไปสู่การลงนามบันทึกความตกลง (เอ็มโอยู) 2 ฉบับ คือ
1.บันทึกความตกลงว่าด้วยการพัฒนาพื้นที่ครอบคลุมในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง และ
2.บันทึกความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในเมียนมาร์ใน 4 สาขาหลัก
นอกจากนั้น ยังลงนามในข้อแถลงร่วมว่าด้วยการจัดตั้งเวทีหารือด้านพลังงาน เพื่อตอกย้ำถึงความพร้อมของฝ่ายไทยที่ จะเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-เมียนมาร์ (เจซี) ที่พม่าจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมครั้งต่อไป และยังเสนอให้จัดตั้งสมาคมมิตรภาพเมียนมาร์-ไทย คู่ขนานไปกับสมาคมไทย- เมียนมาร์เพื่อมิตรภาพ เพิ่มขึ้นอีกคณะหนึ่ง
นับว่าภาพการคล้องแขนการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทวาย-ท่าเรือแหลมฉบัง เริ่มเด่นชัดขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2555 ให้ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่ง ประกอบด้วยรัฐมนตรีทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง มีสศช.เป็นฝ่ายเลขาฯ
เพื่อสรุปนโยบายเกี่ยวกับภาพรวมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ประเทศพม่า ซึ่งจะมีการประชุมติดตามความคืบหน้าในเดือนส.ค.นี้
โดย เบื้องต้น ไทยจะต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ก่อสร้างมอเตอร์เวย์ บางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 45,000 ล้านบาท และอยู่ระหว่างศึกษาสร้างเส้นทางเพิ่มกาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อน ระยะทาง 70 กิโลเมตร โดยสศช.ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษารายละเอียดมีทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อหารือในการวางกฎ และกติการ่วมกัน โดยการลงทุนวางโครงสร้างพื้นฐานจะใช้เงินประมาณ 3-4 แสนล้านบาท
สำหรับความร่วมมือด้านพลังงาน นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน ระบุว่าจะมีการเจรจาการทำงานร่วมกันด้านพลังงานในเร็วๆ นี้ ทั้งจากก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ รวมถึงการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมก่อสร้างโรงไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมทวาย
หลังจากนั้น พลเอกเต็ง เส่ง เข้าร่วมหารือกับสภาธุรกิจไทย-พม่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยได้เชิญนักธุรกิจไทย 25 รายเข้าร่วมหารือ มีผู้แทนบริษัทไทยที่สนใจลงทุนในพม่า 3 บริษัท ได้เข้าร่วมหารือด้วยคือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ เครือสหพัฒน์ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานส.อ.ท. ระบุว่าผู้นำ พม่าให้ความสำคัญกับการสนับสนุนนักลงทุนไทยให้เข้าไปลงทุนในพม่าเป็นอย่างมาก โดยยืนยันว่าขณะนี้รัฐบาลพม่าอยู่ระหว่างการเร่งแก้ไขกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวกับการลงทุน การเงินการธนาคาร แรงงาน และด้านพลังงาน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นรัฐสภา
"ผู้นำพม่าระบุว่าต้องการเห็นนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในพม่าเพิ่มขึ้นเป็นชาติแรกๆ เพราะขณะนี้หลายชาติต่างแสดงความต้องการที่จะเข้าไปลงทุน อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ สหรัฐ และประเทศในยุโรป"
สำหรับสาขาที่พม่าต้องการให้ไทยเข้าไปลงทุนประกอบด้วย สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม การแปรรูปยางพารา ปาล์มน้ำมัน อาหาร สัตว์ทะเล แร่ ไอที ดาวเทียม และไฟฟ้า
โดยจะเร่งเปิดช่องทางให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนทั้งในนิคมอุตสาหกรรมทวาย ย่างกุ้ง และยะไข่ และจะแก้ไขปัญหาอุปสรรคการค้าชายแดนทั้งในช่องทางด่านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และที่จังหวัดกาญจนบุรี
ด้านบริษัทไทยขนาดใหญ่ที่สนใจลงทุนในพม่า 3 บริษัท ตกปากรับคำที่จะเข้าไปขยายการลงทุนในพม่ากันอย่างคึกคักเช่นกัน
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด ระบุว่า เครือสหพัฒน์มีแผนที่จะเข้าไปซื้อที่ดินประมาณ 1,500 ไร่ เพื่อทำเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมที่เมืองย่างกุ้ง มูลค่าการลงทุนไม่รวมค่าที่ดินกว่า 1,000-2,000 ล้านบาท พร้อมเตรียมเปิดโรงงานผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และพร้อมจะเข้าไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหลายแห่ง เพราะปัจจุบันสินค้าในเครือหลายชนิดได้นำเข้าไปจำหน่ายในพม่า อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เสื้อผ้า และเครื่องสำอาง
"พม่าได้ยืนยันกับนักลงทุนไทยว่าไม่ต้องกังวล เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ เพราะคาดว่าต้องใช้เวลาอีกนาน ถึงจะปรับขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับค่าแรงในไทย และรัฐบาลกลางจะไม่เข้าไปแทรกแซงการกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำอย่างแน่นอน"
ด้าน นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี ระบุว่า ในปีนี้เอสซีจีมีแผนที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศพม่า วงเงินลงทุน 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนโรงงานปูนซีเมนต์ กำลังผลิต 5 พันตันต่อวัน ระบบโลจิสติกส์บางส่วนสำหรับการขนส่งปูน และโรงงานไฟฟ้า และเตรียมพิจารณางบลงทุนระยะ 5 ปี (2556-2560) ใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม 2 แสนล้าน ในส่วนนี้มีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่พม่าด้วย
อย่างไรก็ดี ทั้งในส่วนสหพัฒน์และเอสซีจีต่างอยู่ระหว่างรอความชัดเจนในเรื่องการแก้ไขกฎหมายด้านการลงทุนของพม่า ที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องสัดส่วนการถือครองหุ้นในบริษัทของต่างชาติ ระยะเวลาการถือครองที่ดินซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลพม่าย้ำว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ ซึ่งหากแล้วเสร็จ เอกชนทั้ง 2 แห่งพร้อมใส่เกียร์ 5 เดินหน้าลงทุนโดยไม่รอโอกาสอีก
การเดินทางเยือนไทยของผู้นำพม่าในครั้งนี้ นับว่าเต็มไปด้วย "รอยยิ้ม" ทั้งจากฝั่งรัฐบาลไทย รัฐบาลพม่า เอกชนไทย และเอกชนพม่า ที่เริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนร่วมกันอีกครั้ง และการลงทุนครั้งนี้ก็มีโอกาสเติบโตมากกว่าที่ผ่านมา นับเป็นเม็ดเงินหลายแสนล้านบาท ที่ภาครัฐและเอกชนไทยพร้อมเทให้พม่า ในการเป็นพาร์ตเนอร์ทางเศรษฐกิจรายใหม่
เมื่อต่างฝ่ายมองเห็น "โอกาส" ซึ่งกันและกัน ไทยได้โอกาสจากโครงการทวาย เชื่อมต่อระบบขนส่งท่าเรือน้ำลึก เปิดตลาดใหม่ให้กับกลุ่มธุรกิจเอกชนไทย และเพิ่มโอกาสสำรองแหล่งพลังงาน
ด้านพม่าก็ใช้โอกาส เปิดตลาดให้กับประเทศตนเอง อาศัยเทคโนโลยี เงินทุน องค์ความรู้ ของไทยไปใช้พัฒนาประเทศ ก็ควรต้องดำเนินการกันอย่างจริงจัง ไม่ให้มีปมทางการเมือง และกฎหมายมาเป็นอุปสรรคทางการค้าการลงทุนอีก
เพื่อให้ไทย-พม่ากอดคอจูง "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" ขึ้นเป็นภูมิภาคชั้นนำทางเศรษฐกิจของ โลก และไม่ให้การเยือนไทยของ "ผู้นำพม่า" ในครั้งนี้ต้องสูญเปล่า
http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNME16VXdOVE0xTlE9PQ==&catid=07
:l-:l-:l-:l-:l-:l-:l-:l-:l-
Bookmarks