ตอนที่ ๔ เครื่องเตือนใจ - เรื่องบัณฑิตกับนิวรณ์ ๕



เรื่องบัณฑิตกับนิวรณ์ ๕

พระธรรมประจำตอน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ละองค์ ๕ ได้แล้ว ผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ บัณฑิตเรียกว่าผู้ประกอบด้วยคุณทั้งมวล ผู้อยู่จบพรหมจรรย์ เป็นอุดมบุรุษ ในธรรมวินัยนี้ ฯกามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา ย่อมไม่มีแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวงเทียว ภิกษุผู้เช่นนั้นสมบูรณ์ด้วยศีลอันเป็นของพระอเสขะ ด้วยสมาธิอันเป็นของพระอเสขะ ด้วยปัญญาอันเป็นของพระอเสขะด้วยวิมุตติอันเป็นของพระอเสขะ และด้วยวิมุตติญาณทัสสนะอันเป็นของพระอเสขะ ภิกษุนั้นแล เป็นผู้ละองค์ ๕ สมบูรณ์แล้วด้วยองค์ ๕ ภิกษุนั้นแล บัณฑิตเรียกว่า ผู้ประกอบด้วยคุณทั้งมวลในธรรมวินัยนี้ ฯ

ข้อพิจารณาประจำตอน
๑.ผู้กำหนดรู้จึงจักพ้นทุกข์ไปได้ มิใช่ปล่อยให้ทุกข์มันผ่านไปเฉยๆ อาศัยความไม่รับรู้ ขาดสติสัมปชัญญะ
ก็ใช้ไม่ได้ ตถาคตเจ้าทั้งหลายสอนสติสัมปชัญญะให้มีแก่พุทธบริษัททุกๆพุทธันดร มิใช่สอนให้ไม่รู้
สอนให้ขาดสติสัมปชัญญะนั้น ย่อมมิใช่ทางของผู้พ้นทุกข์
๒.เมื่อรู้ทุกข์ก็ให้พิจารณาทุกข์นั้นตามหลักของอริยสัจ ๔ รู้แจ้งเห็นจริงตามนั้นเป็นปกติ แล้ววางทุกข์
นั้นลงเสียอย่าให้เกาะยึดอยู่ในใจ
๓.จงอย่ากลัวอารมณ์กระทบให้เอามาเป็นครูพิจารณาให้ลงตัวธรรมดา ทุกอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป
ตามสภาวะของธรรม ซึ่งมีความไม่เที่ยงเป็นปกติ

การเริ่มลงปฏิบัติภาคต่อ (การระงับนิวรณ์ ๕)
๑.ต่อจากตอนที่แล้วเราพูดถึงขั้นต้นก่อนเริ่มเจริญสมถภาวนา(อุบายเป็นเครื่องสงบใจ)โดยพูดถึงหน้า
ตาของนิวรณ์ ๕ ไว้แต่คราวนี้เราจะพูดถึงการระงับนิวรณ์ ๕ โดยพิจารณาให้เห็นโทษของนิวรณ์ปกติคือ
-เห็นโทษของกามฉันทะความมั่วสุมในกามารมณ์กามคุณ ๕ ว่าเป็นทุกข์เป็นภัยอย่างยิ่ง
-เห็นโทษของโกรธพยาบาทมาดร้ายตนเองผู้อื่นเป็นเหมือนไฟคอยผลาญความสุข
-คอยกำจัดความง่วงเหงาหาวนอน เมื่อขณะปฏิบัติสมณธรรม
-คอยควบคุมอารมณ์ไม่ให้ฟุ้งซ่านออกนอกลู่นอกทางเมื่อขณะภาวณา
-ตัดความสงสัยในพระรัตนตรัย ในมรรคผลเสียโดยมั่นใจว่าผลของการปฏิบัติมีแน่ถ้าเราทำถึง
๒.อุบายธรรมที่ช่วยระงับนิวรณ์ ๕ ได้ดีคือ
กามฉันทะ = ให้นึกถึงสิ่งไม่ดีไม่งามไม่สวยความเลวความสกปรกในสิ่งที่เราชอบพอใจ เช่นขี้ตา ขี้มูก
โทษความโกรธ = ให้ใช้เมตตากรุณาความรักความสงสาร และคิดว่าเราเขาเป็นเพื่อนร่วมทุกข์เหมือนกัน
ความง่วงซึมเศร้า = ให้ลืมตา ขยี้ตา ล้างหน้า แหงนดูดาว มองของสว่างๆ เดินไปเดินมา
ความฟุ้งซ่าน = ท่านให้กำหนดดูลมหายใจเข้า-ออก ไม่ต้องภาวนาบทใดๆทั้งหมด
ความสงสัย = คิดว่าผู้ทำได้มีอยู่ วิชาความรู้มีอยู่ ผลสำเร็จมีให้เห็นเขาก็คนเราก็คนเราต้องทำได้ขอให้ลงมือทำจริงพอ
๓.นิวรณ์ ๕ นี้เป็นอกุศลธรรมที่คอยทำลายล้างความดีที่เป็นกุศล คือ ฌาน ถ้าเราระงับนิวรณ์ ๕ ไม่ได้ก็
เข้าถึงปฐมฌานไม่ได้ มนุษย์เราจะคุ้นเคยกับอารมณ์ ๕ ของนิวรณ์ดีเพราะมีเป็นประจำสลับไปมาตลอดวัน
ซึ่งในองค์ ๕ ของปฐมฌานนั้นเป็นอารมณ์ที่หักล้างอารมณ์ ๕ ของนิวรณ์นั้นเอง




เครดิต : lampang108.com