หน้าที่ 2 จากทั้งหมด 3 หน้า หน้าแรกหน้าแรก 123 หน้าสุดท้ายหน้าสุดท้าย
กำลังแสดงผล 11 ถึง 20 จากทั้งหมด 25

หัวข้อ: ฮีตสิบสอง–คลองสิบสี่

  1. #11
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ Gentleman007
    วันที่สมัคร
    May 2012
    กระทู้
    125
    ฮีตที่ ๑๐บุญข้าวสาก(สลากภัตร)หรือบุญเดือนสิบ

    คำว่า "สาก" ในที่นี้มาจากคำว่า "ฉลาก" ในภาษาไทย ข้าวสากหรือฉลากภัตรนี้แต่ละท้องถิ่นทำไม่เหมือนกัน เช่นในบางท้องถิ่นอาจจะจัดของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ยาสีฟัน ยาตำราหลวง มาทำเป็นห่อๆ นำไปถวายพระ ก่อนจะทำพิธีถวายก็จะมีการจับฉลากก่อน ทีนี้พอตนเองจับฉลากได้เป็นชื่อของพระเณรรูปใด ก็นำไปถวายตามนั้น ลักษณะเช่นนี้ถือว่าเป็นการเสี่ยงสมภาร (บารมี) ว่าในปีนี้ดวงชะตาหรือชีวิตของตนจะเป็นเช่นไร มีการทำนายไปตามลักษณะของพระหรือเณรที่ตนเองจับฉลากได้ เช่น บางคนอาจจะจับได้พระที่เป็นผู้ที่อายุพรรษามากถือว่าเป็นผู้มีชีวิตมั่นคง หรือจับฉลากถูกพระเปรียญหรือเณรมหาก็ถือว่าเป็นผู้ที่สติปัญญามาก เป็นต้น
    บางท้องถิ่นจะมีการทำข้าวสากหรือฉลากภัตรนี้เป็นลักษณะห่อด้วยใบตองกล้วย เอาไม้กลัดหัวกลัดท้ายมีรูปลักษณ์คล้ายๆ กลีบข้าวต้ม แต่ไม่พับสันตองเหมือนการห่อข้าวต้ม แล้วเย็บติดกันเป็นชุดๆ ภายในห่อนั้น บางห่อบรรจุหมาก พลู บุหรี่ ข้าวต้ม ข้าวสาร ปลา เนื้อ เป็นต้น ซึ่งแต่ละห่อนั้นไม่ซ้ำกัน แล้วนำไปแขวนห้อยไว้ตามต้นไม้ หรือรั้วบริเวณวัด ในตอนเช้าดึกของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เสร็จแล้วจะมีการตีโปง กลอง ฆ้อง ระฆัง เป็นสัญญาณป่าวร้องให้เปรตมารับเอา พิธีการเช่นนี้เรียกว่าแจกข้าวสาก หลังจากนั้นเป็นเรื่องของชาวบ้านที่จะเก็บคืนมา ในบางที่มีการแย่งกันเป็นที่สนุกสนาน ซึ่งตอนนี้เรียกว่า "ชิงเปรต" หรือ แย่งข้าวสาก โดยมีความเชื่อท้องถิ่นที่ผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าให้ฟังว่า ผู้ใดแย่งข้าวสากกากเดนเปรตมากิน จะเป็นคนที่อ้วนท้วนสมบูรณ์ ปราศจากโรคหรือพยาธิต่างๆ ใบตองที่ห่อข้าวสาก ก็นำเอามาเก็บไว้ตามไร่นาตากล้า (สถานที่เพาะข้าวกล้าก่อนปักดำ) เชื่อว่าจะทำให้ข้าวกล้าในนาอุดมสมบูรณ์ดี
    บุญข้าวสากเป็นช่วงที่กำลังอุดมสมบูรณ์ บริบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร สังเกตุได้จากบทพญา ที่นักปราชญ์อีสานได้กล่าวไว้ว่า...
    มีแต่สดใสชื่นคืนวันอันแสนม่วน
    ต่างก็ชวนพี่น้องโฮมเต้าแต่งทาน
    ขวงเขตย่านบ้านป่านาหวาย
    กลายมาถึงเดือนสิบ สิก่นมันมาต้ม
    พ่องกะงมกอข้าวเอาเทากำลังอ่อน
    พ่องกะคอนต่าน้อยลงห้วยห่อมนา
    เดือนนี้บ่ได้ช้าพากันแต่งทานถง
    ข้าวสากลงไปวัดถวายหมู่สังโฆเจ้า
    มีลาบเทาพร้อมกับหมกดักแด้ของดีขั่วกุดจี่
    มีทั้งหมกหมากมี้กะมาพร้อมพร่ำกัน

    ในการทำบุญข้าวสากนี้ เป็นเรื่องที่คนอีสานใส่ใจมากกว่าบุญข้าวประดับดิน เพราะว่าเป็นเรื่องของความเชื่อที่ว่า ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เป็นวันที่พระยายมภิบาล เปิดขุมนรกให้สัตว์นรกได้มารับส่วนบุญส่วนกุศลจากญาติพี่น้องที่อยู่ในมนุษย์โลก ตั้งแต่เที่ยงคืนถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ไปจนถึงเที่ยงคืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ทีนี้ในเมื่อพวกเปรตหรือสัตว์นรกเหล่านั้นมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่อยู่ในมนุษย์โลก พวกที่ได้รับบุญกุศลที่เกิดจากการทำบุญข้าวสากนี้ ก็จะอวยพรให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุข มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยสิ่งที่ต้องการและปรารถนา ในทางตรงข้าม ถ้าหากว่ามาแล้วเกิดไม่ได้ส่วนบุญอะไรเลย ก็จะน้อยเนื้อต่ำใจว่า ลูกหลานไม่ใส่ใจ ถึงแม้ว่าผู้อื่นไม่ใช่ญาติสายโลหิตจะอุทิศแผ่ส่วนบุญไปให้ ก็ได้แต่เลียใบตองห่อข้าวสากเท่านั้น ซึ่งไม่ถึงกับอี่มท้องอะไรเลย ก็ได้สาปลูก แช่งหลานที่ไม่เอาใจใส่ มัวแต่แย่งทรัพย์สมบัติมรดก ที่เขาหามาในขณะยังมีชีวิตอยู่ จนกระทั้งลืมผู้มีพระคุณ ในเรื่องนี้ออกจะทำให้น่ากลัวเกรงโทษ ในการทอดทิ้งผู้มีพระคุณโดยเฉพาะพ่อแม่ ญาติสายโลหิต ควรได้รับการเอาใจใส่จากลูกหลาน ทั้งในขณะยังมีชีวิตอยู่ และหลังจากที่ตายไปแล้ว
    ในประเพณีบุญเดือนสิบนี้ บางท้องถิ่นจะจัดให้มีการถวายทาน รักษาศีล เพื่อเป็นอุทิศส่วนกุศลไปให้ปวงญาติที่ตายไปแล้ว นอกจากนี้ยังจัดให้มีการฟังเทศน์ตลอดทั้งวันอีกด้วย โดยเรื่องที่นำมาเทศน์ส่วนมากเป็นเรื่องวรรณกรรมท้องถิ่น และมีอิทธิพลต่อความเชื่อของท้องถิ่น ในลักษณะของการขัดเกลาจิตใจ และเร่งเร้าให้ทำคุณงามความดีในรูปแบบต่างๆ เช่น เรื่องมโหสถ เรื่องพระเจ้าสิบชาติ เรื่องท้าวกำกาดำเป็นต้น บุญเดือนสิบถือได้ว่าเป็นประเพณีอันดีงามของคนอีสาน ที่ควรเอาใจใส่ประพฤติปฏิบัติกัน.
    ทำบุญเข้าสาก (สลากภัต) ทำในวันเพ็ญเดือน 10 เป็นการทำบุญให้เปรตโดยแท้ ระยะห่างจากบุญประดับดิน 15 วัน บางท่านว่าเป็นการส่งเปรตคือเชิญมารับทานวันสิ้นเดือน 9 และเลี้ยงส่งในกลางเดือน 10 บางถิ่นเวลาทำบุญมีการจดชื่อของตนใส่ไว้ที่และเขียนสลากใส่ลงในภาชนะบาตรด้วย เมื่อพระเณรรูปได้รับสลากนั้น ก็เรียกพานยกเจ้าของไปถวาย "เถิงเดือนสิบแล้วทายกทอดบวยบาน เบิกพลีทำทานต่อมาสองซ้ำ เข้าสากน้ำไปให้สิ่งโฆทานทอด พากันหวังยอดแก้วนิพพานพ้นที่สูง"
    ประเพณีบุญข้าวสาก นิยมทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายหรือเปรตผู้เป็นญาติพี่น้อง ชาวบ้านจะทำข้าวสาก (ภาคกลางเรียกข้าวสารทหรือข้าวกระยาสารท) ไปถวายพระภิกษุสามเณร
    มูลเหตุที่ทำให้เกิดบุญข้าวสากมีว่า บุตรกุฏมณีผู้หนึ่งเมื่อพ่อสิ้นชีวิตแล้ว แม่ก็หาภรรยาให้ แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน แม่จึงหาหญิงอื่นให้เป็นภรรยาอีก ต่อมาเมียน้อยมีลูก เมียหลวงอิจฉาจึงคิดฆ่าเมียน้อยและลูก ก่อนตายเมียน้อยคิดอาฆาตเมียหลวง ชาติต่อมาทั้งสองเกิดเป็นสัตว์ชนิดต่าง ๆ และอาฆาตเข่นฆ่ากันเรื่อยมา จนชาติสุดท้าย ฝ่ายหนึ่งเกิดเป็นคน อีกฝ่ายหนึ่งเกิดเป็นยักษิณี ยักษิณีจองเวรได้มากินลูกของผู้เป็นคนถึงสองครั้ง พอเกิดลูกคนที่สามยักษิณีจะตามมากินอีก หญิงคนนั้นพร้อมลูกและสามี จึงหนีไปพึ่งพระพุทธเจ้า ณ เชตวันมหาวิหาร พระพุทธเจ้าได้เทศนาให้ทั้งสองเลิกจองเวรกัน และโปรดให้ทางยักษิณีไปอยู่ตามหัวไร่ปลายนา นางยักษิณีมีความรู้เกณฑ์เกี่ยวกับฝนและน้ำดี ชาวเมืองนับถือมาก จึงได้นำอาหารไปส่งอย่างบริบูรณ์ นางยักษิณีจึงนำอาหารเหล่านั้นไปถวายเป็นสลากภัตแด่พระสงฆ์วันละแปดที่เป็นประจำ ชาวอีสานจึงถือเป็นประเพณีถวายสลากภัต หรือบุญข้าวสากสืบต่อมาและมีการเปลี่ยนเรียกนางยักษิณีว่า ตาแฮก
    พิธีทำบุญข้าวสาก ชาวบ้านจะเตรียมอาหารชนิดต่าง ๆ ใส่ภาชนะหรือห่อด้วยใบตองหรือใส่ชะลอมไว้แต่เช้ามืด วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ตอนเช้าจะนำภัตตาหารไปถวายพระภิกษุสามเณรครั้งหนึ่งก่อน พอตอนสายจวนเพลจึงนำอาหารซึ่งเตรียมไว้แล้วไปวัดอีกครั้ง เพื่อนำไปถวายแด่พระภิกษุสามเณร โดยการถวายจะใช้วิธีจับสลาก นอกจากนี้ชาวบ้านยังนำเอาห่อหรือชะลอมหรือข้าวสากไปวางไว้ตามบริเวณวัด พร้อมจุดเทียนและบอกกล่าวให้ญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้วมารับเอาอาหารและผลบุญที่อุทิศให้ มีการฟังเทศน์ฉลองข้าวสากและกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ล่วงลับ นอกจากนี้ชาวบ้านจะนำอาหารไปเลี้ยง ตาแฮก ณ ที่นาของตนด้วย เป็นเสร็จพิธีทำบุญข้าวสาก
    ฮีตหนึ่งนั้น เมื่อเทิงเดือนสิบแล้วทายกทอดบวยบาน เบิกพลีทำทานต่อมาสองซ้ำ ข้าว สลากนำไปให้สังโฆทานทอด พากันหวังยอดแก้วนิพพานพุ้นพ้นที่สูง ฝูงหมู่ลุงอาว์ป้าคณาเนือง น้อมส่ง ศรัทธาลงทอดไว้ทานให้แผ่ไป อุทิศให้ฝูงเปรตเปโต พากันโมทนานำสู่คนจนเกลี้ยง
    เดือนสิบ ทำบุญข้าวสากหรือข้าวสลาก (สลากภัตร) ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบ ผู้ถวาย จะเขียนชื่อของตนลงในภาชนะที่ใส่ของทาน และเขียนชื่อลงในบาตร ภิกษุสามเณรรูปใดจับได้ สลากของใคร ผู้นั้นจะเข้าไปถวายของ เมื่อพระฉันเสร็จแล้ว มีการฟังเทศน์ เป็นการอุทิศให้แก่ ผู้ตายเช่นเดียวกับบุญข้าวประดับดิน

    cont.....>>>

  2. #12
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ Gentleman007
    วันที่สมัคร
    May 2012
    กระทู้
    125
    ฮีตที่ ๑๑ บุญออกพรรษาหรือบุญเดือนสิบเอ็ด

    หลังจากที่หมู่พระภิกษุสงฆ์ได้อยู่จำพรรษา ๓ เดือน คือ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ การออกจากขอบเขตจำกัดไปพักแรมที่อื่นได้เรียกว่า "ออกพรรษา" ประเพณีการทำบุญในเดือนนี้ที่นอกเหนือไปจากการทำบุญตักบาตร ให้ทานรักษาศีลแล้ว การทำบุญตามประเพณีท้องถิ่นอื่นๆ ในช่วงระยะนี้เรียกว่า "บุญออกพรรษา"
    ในส่วนของพระสงฆ์แล้ว มีการเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันและกัน โดยไม่มีการถือโทษโกรธเคืองกัน โดยพระเถระจะตักเตือนสงฆ์ให้เล็งเห็นความสำคัญในการปวารณา เปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันด้วยความบริสุทธ์ใจ เพื่อจะได้มีการแก้ไขปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น โดยปกติแล้ว คนเรามักจะไม่เห็นความผิดของตน มักจะมีความคิดว่าตนเองเป็นฝ่ายถูกต้องเสมอ ซึ่งก่อนจะมีการปวารณาก็ได้มีการสวดญัตติหรือการตั้งญัตติก่อน
    ในวันออกพรรษามักจะมีกิจกรรมในการบูชาทางพุทธศาสนาหลายอย่าง โดยเฉพาะแถบอีสานบางท้องถิ่น ได้จัดให้มีการไหลเรือไฟ ตามประทีปโคมไฟ บางท้องถิ่นทำปราสาทดอกผึ้งไปถวายพระ นอกจากนี้ ยังมีการแข่งเรือหรือที่คนอีสานเรีอกว่า "ซ่วงเฮือ" อีกด้วย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเชื่อและการสืบทอดประเพณีท้องถิ่นที่บรรพบุรุษปฎิบัติสืบๆ กันมา จนกระทั่งว่าประเพณีเหล่านั้นไม่สามารถที่จะแยกออกไปจากวิถีชีวิตของคนอีสานในแต่ละท้องถิ่นได้
    สำหรับประเพณีการไหลเรือไฟนั้น ได้กลายมาเป็นประเพณีของชาวจังหวัดนครพนมและเป็นกิจกรรมที่เชิดหน้าชูตาชองจังหวัด ในวันเพ็ญเดือน ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกๆ ปี จะมีการไหลเรือไฟ ทั้งนี้เพื่อเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้าได้ประทานไว้ให้กับพระยานาค โดยได้มีเรื่องเล่าไว้ในปุณโณวาทสูตรว่า ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำ นัมมทานที อันเป็นสถานที่อยู่ของพระยานาค และพวกพระยานาคได้อาราธนาพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังเมืองนาค แล้วกระทำการถวายสักการะบูชาพระพุทธเจ้า ก่อนเสด็จกลับพระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมให้พระยานาคฟัง พอจบธรรมเทศนาพระยานาคได้ทูลขอให้พระพุทธเจ้าประทับรอยพระบาทเอาไว้ ณ ริมฝังแม่น้ำนัมมทานที เพื่อให้ นาค คนธรรม์ ครุฑ ตลอดจนเทวดาและมนุษย์ ได้พากันกราบไหว้สืบมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
    เรือไฟในสมัยก่อนทำด้วยท่อนกล้วยหรือไม้ไผ่ที่ต่อเป็นลำเรือหรือแพ ยาวประมาณ ๕ - ๖ วา ภายในบรรจุขนม ข้าวต้ม ข้างนอกเรือมีดอกไม้ ธูป เทียน ตะเกียงหรือประทีปจุดบนเรือให้สว่างไสว แล้วปล่อยไหลไปตามลำแม่น้ำ แต่ในสมัยปัจจุบันได้ประยุกด์เอาวัสดุที่มีความคงทน สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ เช่น พวกโครงเหล็ก ขวดบรรจุน้ำมัน (ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ไม่ข้อวิจารณ์ในที่นี้)
    นอกจากจะมีการไหลเรือไฟทางน้ำแล้ว ในบางท้องถิ่นที่อยู่ไกลจากแหล่งน้ำ ก็ได้จัดให้มีการไต้ประทีป โดยพระสงฆ์สามเณร ทายก ทายิกา ได้จัดทำเรือไฟขึ้นภายในวัดตรงหน้าโบสถ์ ใช้เสาไม้และต้นกล้วย ๔ ต้น พื้นปูด้วยกาบกล้วย มีหัวท้ายรูปลักษณะคล้ายๆ เรือ ตกกลางคืนหลังจากทำวัตรสวดมนต์เสร็จแล้วจะนำประทีป ธูป เทียนมาจุดบูชาพระพุทธเจ้า โดยถือคติเดียวกันกับการไหลเรือไฟ
    นอกจากนี้ บางท้องถิ่น ก็ได้ทำปราสาทผึ้งไปถวายพระ โดยถือว่า การถวายของที่มีความบริสุทธิ์แก่พระนั้นได้อานิสงส์มาก ผึ้ง หรือภาษาอีสานเรียกว่า "เผิ้ง" เป็นของที่บริสุทธิ์ไม่มีมลทิน เป็นสิ่งที่ทำให้เรามองเห็นถึงความอุตสาหะพยายาม และความสามัคคีในการอยู่ร่วมกันแบบแมลงผึ่ง นักปราชญ์โปราณอีสานได้คิดกุศโลบายนี้ และเอามาสอนคน จึงได้ให้มีการทำปราสาทผึ้งไปถวายพระ
    ในอีกความเชื่อหนึ่งคือ ได้มีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบทและเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสามัคคีเช่นเดียวกันว่า ในสมัยหนึ่ง พวกภิกษุชาวเมืองโกสัมพี เกิดวิวาทกัน พระพุทธเจ้าเสด็จไปตักเตือนห้ามปราม แต่ก็ยังไม่เชื่อฟัง พระองค์จึงเสด็จไปจำพรรษาอยู่ในป่า "รักขิตวัน" โดยมีช้างและลิงเป็นพุทธอุปัฎฐาก ในขณะที่จำพรรษาในป่ารักขิตวันนั้น ช้างได้ตักน้ำ และต้มน้ำร้อนถวาย ฝ่ายลิงหารวงผึ้งและน้ำผึ้ง ตลอดทั้งผลไม้ในป่ามาถวาย จนกระทั่งออกพรรษา ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีเกิดสำนึกได้ถึงโทษของการวิวาท จึงไปกราบทูลอารธนาให้พระพุทธเจ้าเสด็จกลับ
    ในหนังสือธรรมบทได้กล่าวอีกว่า ในระหว่างที่พระพุทธเจ้าจำพรรษาอยู่นั้น วันหนึ่ง ลิงเกิดความลิงโลดดีใจที่พระพุทธเจ้ารับประเคนรังผึ้ง เกิดปีติดีใจอยู่ไม่เป็นสุขตามประสาลิง กระโดดโลดเต้นจากกิ่งไม้ไปทั่วราวป่า เกิดพลาดไปจับได้กิ่งไม้ผุ กิ่งไม้หักตกลงมาทับลิงตายในขณะที่กำลังดีใจที่ได้ทำบุญ จึงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรในสวรรค์
    สำหรับพิธีถวาย หลังจากที่ชาวบ้านได้ช่วยกันทำจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยภายในปราสาทนั้น จะมีขนม ข้าวต้ม กล้วย อ้อย เสื่อ หมอน เป็นต้น แล้วตั้งขบวนแห่ลงวัด เวียนขวารอบศาลาโรงธรรม ๓ รอบ แล้วนำไปถวายพระ ในเมื่อพระท่านรับแล้ว ก็จะอนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี
    นอกจากประเพณีต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว บางท้องถิ่นยังจัดให้มีการ "เส็งกลอง" (ตีกลองแข่งกัน) การส่วงเฮือ (แข่งเรือ) และตักบาตรเทโว ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน และได้บุญด้วยขณะเดียวกัน.
    ทำบุญออกพรรษา เมื่อพระสงฆ์จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว ทำพิธีปวารณา ตามวัดต่างๆ จุดประทีปโคมไฟสว่างไสว ใช้น้ำมะพร้าวบ้าง น้ำมันละหุ่งบ้าง น้ำมันหมูบ้าง ใส่กระป๋องหรือกะลามะพร้าวจุดตั้งหรือแขวนตามต้นไม้ตลอดคืน บางคนก็ตัดกระดาษทำรูปสัตว์ หรือบ้านเล็กๆ จุดไฟไว้ข้างใน เป็นการประกวดฝีมือในเชิงศิลปในตัวอย่างสนุกสนาน รุ่งเช้าก็มีการทำบุญตักบาตรเทโว บางวัดมีการกวนข้าวทิพย์ และบางวัดก็มีการแข่งเรือด้วย "เถิงเดือนสิบเอ็ดแล้วเป็นแนวทางป่อง เป็นช่องของพระเจ้าเคยเข้าแล้วออกมา เถิงวัสสามาแล้ว 3 เดือนก็เลยออก เฮียกว่าออกพรรษาปวารณากล่าวไว้ เอาได้เล่ามา"
    ประเพณีบุญออกวัสสา หรือ บุญออกพรรษา เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 พระสงฆ์ทำพิธีออกพรรษาตามหลักธรรมวินัย คือ ปวารณาในวันเพ็ญเดือน 11 ญาติโยมทำบุญถวายทาน รักษาศีล เจริญภาวนา บางแห่งนิยมทำการไต้น้ำมัน หรือไต้ประทีป และพาสาทเผิ่ง (ปราสาทผึ้ง) ไปถวายพระสงฆ์
    มูลเหตุที่ทำให้เกิดบุญออกพรรษามีว่า เนื่องจากพระภิกษุสามเณรได้มารวมกันอยู่ประจำที่วัด โดยจะไปค้างคืนที่อื่นไม่ได้ นอกจากเหตุจำเป็นเป็นเวลา 3 เดือน ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 พระสงฆ์จะมาร่วมกันทำพิธีออกวัสสาปวารณ์ คือการเปิดโอกาสให้มีการว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ทั้งภายหลังนั้นพระภิกษุสสามเณรส่วนมากจะแยกย้ายกันไปอยู่ในที่ต่าง ๆ ตามในชอบ และบางรูปอาจจะลาสิกขาบท โอกาสที่พระภิกษุสามเณรจะอยู่พร้อมกันที่วัดมาก ๆ เช่นนี้ย่อมยาก ชาวบ้านจึงถือโอกาสเป็นวันสำคัญไปทำบุญที่วัด และในช่วงออกพรรษาชาวบ้านหมดภาระในการทำไร่นา และอากาศสดชื่นเย็นดี จึงถือโอกาสทำบุญโดยพร้อมเพรียงกัน
    พิธีทำบุญออกพรรษา วันขึ้น 14 ค่ำ ตอนเย็นมีการไต้น้ำมันน้อย วันขึ้น 15 ค่ำ ตอนเย็นมีการไต้น้ำมันใหญ่ ส่วนวันแรม 1 ค่ำ ตอนเช้ามีการตักบาตร หรือตักบาตรเทโว ถวายภัตตาหาร มีการไต้น้ำมันล้างหางประทีป มีการถวายผ้าห่มหนาวพระภิกษุสามเณร บางแห่งมีการกวนข้าวทิพย์ถวาย มีการรับศีล ฟังเทศน์ ตอนค่ำจะมีจุดประทีป นอกจากนี้บางท้องถิ่นจะมีการถวายต้นพาสาดเผิ่ง หรือปราสาทผึ้ง ล่องเรือไฟ เพื่อเป็นการบูชาและคารวะพระแม่คงคา และการส่วงเรือ(แข่งเรือ) เพื่อความสนุกสนานและร่วมสามัคคี
    ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเดือนสิบเอ็ดแล้วก็เป็นแวทางป่อง เป็นช่องของพระเจ้าเคยเข้าแล้ว อย่าเซา
    เดือนสิบเอ็ด ทำบุญออกพรรษา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด พระสงฆ์จะแสดงอาบัติ ทำการปวารณา คือการเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ต่อมาเจ้าอาวาสหรือพระผู้ใหญ่จะให้ โอวาทเตือนพระสงฆ์ ให้ปฏิบัติตนอย่างผู้ทรงศีลเป็นอันเสร็จพิธี พอตกกลางคืนมีการจุดประทีป โคมไฟ นำไปแขวนไว้ตามต้นไม้ในวัดหรือตามริมรั้ววัด จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บุญจุดประทีป ในจังหวัดนครพนมจะมีประเพณีการไหลเหลือไฟ ซึ่งตกแต่งด้วยตะเกียงน้ำมันก๊าดเป็นรูปต่างๆ สวยงามกลางลำน้ำโขง

    cont....>>>

  3. #13
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ Gentleman007
    วันที่สมัคร
    May 2012
    กระทู้
    125
    ฮีตที่ ๑๒ บุญกฐินหรือบุญเดือนสิบสอง

    คำว่า "กฐิน" เป็นชื่อของสังฆกรรมชนิดหนึ่งในพระพุทธศาสนาที่ต้องใช้พระสงฆ์ร่วมเป็นพยานในการทำ ๕ รูปเป็นอย่างน้อย คือ ๔ รูป เป็นองค์สงฆ์หรือพยาน และอีก ๑ รูปเป็นองค์ครองผ้ากฐิน รวมเป็น ๕ รูป ภาษาสังฆ์กรรมของพระเรียกว่า "ปัญจวรรค"
    นอกจากนี้คำว่า "กฐิน" เป็นชื่อของไม้ชนิดหนึ่งซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ขึงในเวลาเย็บจีวร ภาษาไทยเรียกว่า "ไม้สดึง" ภาษาบาลีใช้คำว่า "กฐิน" ขณะเดียวกันภาษาไทยได้ยืมภาษาบาลีมาเป็นภาษาของตัวเองโดยการเรียกทับศัพท์ไปเลยว่า ผ้ากฐินหรือบุญกฐิน
    บุญกฐิน มีกำหนดทำกันในระหว่างแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ สำหรับจุดประสงค์หลักของการทำบุญกฐินนั้น เพื่อที่จะให้พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาแล้วได้ผลัดเปลี่ยนผ้าใหม่ โดยได้มีมูลเหตุของบุญกฐินปรากฎในกฐินขันธะแห่งพระวินัยปิฎก และฎีกาสมันตปาสาทิกา ไว้ว่า:- สมัยหนึ่ง ได้มีพระภิกษุชาวเมืองปาฐาจำนวน ๓๐ รูป พากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ขณะนั้นวันจำพรรษาได้ไกล้เข้ามา พวกภิษุเหล่านั้นจึงได้พากันจำพรรษาที่เมืองพระเชตวันมหาวิหาร ตลอดระยะเวลาสามเดือนที่จำพรรษาภิษุเหล่านั้นมีความตั้งใจอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องไปเฝ้าพระพุทธเจ้าให้ได้ ครั้นพอ ออกพรรษาแล้ว พากันออกเดินทางกรำฝนทนแดดร้อนไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
    ขณะฤดูฝนยังไม่ทันจะล่วงพ้นสนิท ทำให้พวกภิกษุชาวเมืองปาฐาเหล่านั้นมีจีวรเปียกชุ่มและเปรื่อนด้วยโคลนตม พอไปถึงพระเชตวันมหาวิหารได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงเห็นใจในความยากลำบากของภิษุเหล่านั้น จึงอนุญาตให้หาผ้ากฐินหรือผ้าที่ขึงเย็บด้วยไม้สะดึงมาใช้เปลี่ยนถ่ายแทนผ้าเก่า ฝ่ายนางวิสาขามหาอุบาสิกาเมื่อได้ทราบถึงพุทธประสงค์แล้ว นางก็ได้นำผ้ากฐินไปถวายแด่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน และนางได้เป็นคนแรกที่ได้ถวายผ้ากฐินในพระพุทธศาสนา
    การทำบุญกฐิน หรือการหาผ้ากฐินในสมัยก่อนๆ ของคนอีสานนั้นสันนิษฐานว่าเป็นเรื่องหรือเป็นกิจกรรมของพระที่จะต้องช่วยเหลือกัน และครั้นพอทำสำเร็จแล้วก็มอบ หมายให้พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่ปรากฏในกฐินขันธกะ แห่งพระวินัยปิฎกและฎีกาสมันตปาสาทิกาว่า:- พระที่มีคุณสมบัติ สมควรที่จะได้รับกฐิน คือ เป็นผู้ที่มีอายุมาก มีพรรษามาก เป็นผู้ที่มีจีวรเก่า เป็นผู้ที่ฉลาด สามารถรู้อานิสงค์ ๕ มาติกา ๘ รู้จักการกรานกฐิน พินทุ ปัจจุธรณ์และอธิษฐาน และเป็นผู้ที่สามารถกระทำกฐินัตถารกิจได้ คนอีสานรู้และเข้าใจดีฐานะที่ว่าครองกฐิน ในตอนว่าด้วยบุญกฐินนี้มีบทผญาที่นักปราชญ์อีสานได้กล่าวพรรณนาถึงประเพณีฮีตข้อที่ ๑๒ ไว้ว่า...
    พอแต่เหลียวขึ้นฟ้าเห็นแต่ว่าวเดือนสิบสอง
    ลมคะนองเชยพัดง่า ยม กะเลยม้วน
    พอสมควรกะหาผ้ากฐินทานมาทอด
    ตลอดเดือนหนึ่งหาได้ดั่งประสงค์
    หลวงปู่พรหมไปหาผ้าหลวงตาสีหาน้ำครั่ง
    หลวงปู่สอนนั่งสอดด้ายขวาซ้ายเข้าซ่อยกัน
    พอแต่ตกบ่อนบั้นโลกมันเปลี่ยนเวียนผัน
    ปัจจุบันกะเลยโยมเป็นคนเฮ็ดแห่แหนแพนกั้ง
    ต่างกะหวังเต็มที่ทำความดีบ่ดูหมิ่น
    บุญกฐินซ่อยค้ำทานทอดให้หมู่สงฆ์

    ทุกวันนี้การทำกฐินเป็นเรื่องของผู้ที่มีจิตศรัทธาที่ต้องการจะทำบุญกฐิน เนื่องมาจากสมัยนี้เป็นเรื่องของความสดวก ถ้ามัวแต่ให้หลวงปู่พรหมไปหาผ้าหลวงปู่สีหาน้ำครั่ง หลวงปู่สอนนั่งสอดด้ายเหมือนสมัยก่อนนั้น ผู้เขียนกลัวว่าวันหนึ่ง กับคืนหนึ่งผ้ากฐินคงจะเสร็จไม่ทันกำหนดแน่ เว้นแต่ว่าใช้กำลังคนมาก และอาศัยความพร้อมเพียงสามัคคีกันเท่านั้น
    ผ้าที่พระบรมพุทธานุญาตให้ใช้เป็นผ้ากฐินไดนั้น มีดังนี้ คือ ผ้าใหม่ ๑ ผ้ากลางเก่ากลางใหม่ ๑ ผ้าเก่า ๑ ผ้าบังสุกุล ๑ ผ้าที่มีขายอยู่ตามร้านตลาด ๑ ซึ่งผ้าเหล่านี้เอามาทำเป็นผ้ากฐินได้ ส่วนผ้าที่ทำเป็นผ้ากฐินไม่ได้คือ ผ้าที่ยืมเขามา ๑ ผ้าที่ทำนิมิตได้มา ๑ ผ้าที่พูดเลียบเคียงได้มา ๑ ผ้าเป็นนิสัคคีย์ ๑ ผ้าที่ขโมยมา ๑ เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วผ้าที่เป็นผ้ากฐินได้คือผ้าที่ได้มาโดยชอบหรือโดยสุจริต ส่วนผ้าที่ทำเป็นผ้ากฐินไม่ได้คือ ผ้าที่ได้มาโดยมิชอบหรือโดยทุจริต
    ทีนี้พูดกันถึงเรื่องของประเภทของกฐินบ้าง โดยทั่วไปจะเป็นที่เข้าใจว่ากันว่ากฐินมี ๒ แบบ คือ "จุลลกฐิน" และ "มหากฐิน" จุลกฐินเป็นกฐินเล็กหรือกฐินแล่น เป็นกฐินที่ต้องทำให้เสร็จในวันเดียว เริ่มตั้งแต่การปั่นด้าย ทอด้าย เย็บ ย้อมและถวายต้องให้เสร็จในวันนั้น กฐินชนิดนี้นานๆ จะมีคนทำ เพราะความยุ่งยากและต้องใช้คนมาก ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจกันจริงๆ ส่วนใหญ่จะนิยมทำกันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการทอดกฐิน ส่วนมหากฐินเป็นกฐินใหญ่ เป็นกฐินที่นอกจากจะมีผ้าไตรจีวรแล้ว ยังมีเครื่องบริวารกฐินอีกจำนวนมาก และใช้ระยะเตรียมงานมากกว่าจุลกฐิน แต่ก็เป็นที่นิยมทำกันเพราะมีความสะดวกพอสมควร
    ประเภทของกฐินอีกอย่างหนึ่งคือ "กฐินหลวง" และ "กฐินราษฎร์" กฐินหลวงหมายถึงกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินไปทอดเอง หรือพระราชทานแก่หน่วยงานต่างๆ บริษัท ห้างร้าน พ่อค้า ประชาชนที่มีจิตศรัทธา นำไปถวายตามวัดที่เป็นพระอารามหลวงต่างๆ ทั่วประเทศ ส่วนกฐินราษฎร์หมายถึง กฐินที่ชาวบัานผู้มีจิตศรัทธาได้ชักชวนกันจัดทำขึ้น เพื่อนำไปถวายวัดต่างๆ ที่ได้จองไว้แล้ว ซึ่งกฐินราษฎร์นี้หมายถึง กฐินสามัคคีและกฐินที่ปัจเจกบุคคลด้วย
    ในเรื่องของการทอดกฐินนี้ "ธงกฐิน" ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงให้รู้ว่าวัดนี้ได้รับผ้ากฐินแล้ว โดยเหตุที่ว่า วัดหนึ่งๆ นั้นรับกฐินได้เพียงครั้งเดียว อีกในหนึ่ง ธงกฐินจะมีรูปสัตว์ ๓ - ๔ จำพวก เป็นสัญลักษณ์ คือ รูปจรเข ้ รูปตะขาบ รูปแมลงป่อง รูปนางกินร ีและรูปเต่าคาบดอกบัว
    เรื่องธงกฐินนี้โดยใจความแล้วไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎกหรือในหนังสือคัมภีร์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องของกฐินอย่างชัดเจน สาเหตุอาจจะเป็นเพราะนักปราชญ์อีสานโบราณท่านสอนคนหรือแนะนำคน จะไม่ใช้วิธีการที่บอกหรือกล่าวสอนกันตรงๆ มักจะใช้ทำนองที่ว่าเรียบๆ เคียงๆ เป็นลักษณะของปริศนาธรรม เช่น ลักษณะที่เด่นและเห็นชัดเจนคือ การใช้คำพูดในบทผญาหรืออีสานภาษิต ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงเรื่องกำลังพูดกันตรงๆ เช่นว่า "เจ้าผู้แพรผืนกว้างปูมาให้มันเลื่อมแด่เป็นหยัง สังมาอ่อมส่อมแพงไว้แต่ผู้เดียว แท้น้อ" ซึ่งสำนวนนี้ก็ได้พูดถึงความใจกว้างหรือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
    สำหรับรูปสัตว์ต่างๆ ธงกฐินนี้ท่านบอกสอนไว้ให้รู้ในลักษณะที่ว่า คนที่สามารถทำกฐินหรือเจ้าภาพทอดกฐินได้ ต้องเป็นคนจิตใจกว้าง มีความเสียสละเป็นอันมาก รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แม้กระทั้งสัตว์ที่มีพิษร้ายก็สามารถมาร่วมทำบุญได้ หรืออีกความหมายหนึ่งนักปราชญ์อีสานโบราณท่านอธิบายเปรียบเทียบกับโลภะ โทสะ โมหะ ได้ชัดเจนว่า
    ธงกฐินอันดับแรก เป็นรูปจรเข้คาบดอกบัว หมายถึงความโลภ โดยปกติแล้วจรเข้เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในบางช่วงขึ้นมานอนอ้าปากอยู่บนบกให้แมลงวันเข้ามาตอมอยู่ในปาก พอแมลงวันเข้าไปรวมกันหลายๆ ตัวเข้าจึงได้งับปากเอาแมลงเป็นอาหาร ท่านได้เปรียบถึงคนเราที่มีความโลภ ไม่มีความรู้สึกสำนึกชั่วดี ความถูกต้องหรือไม่ มีแต่จะเอาได้ท่าเดียว โดยไม่คำนึงว่าที่ได้มานั้นมีความสกปรกแปดเปื้อนด้วยความไม่ดีไม่งามคือ อกุศลหรือไม่ ผู้อื่นจะได้รับผลอย่างไรจากการกระทำของตนไม่ได้ใส่ใจ ดังนั้น ธงรูปจรเข้ท่านจึงได้เปรียบเหมือนกับคนโลภ ที่มันทำให้คนกอบโกยทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่มีช่องทางหรือโอกาส
    ธงกฐินอันดับที่สอง เป็นรูปตะขาปหรือแมลงป่องคาบดอกบัว หมายถึงความโกรธ โดยธรรมชาติแล้ว สัตว์ทั้งสองอย่างนี้เป็นสัตว์ที่มีพิษร้าย ถ้าใครโดนตะขาปและแมลงป่องกัดหรือต่อยเข้าแล้วจะรู้สึกเจ็บปวด แต่ความเจ็บปวดเหล่านั้นมียาหรือของที่แก้ให้หายหรือบรรเทาปวดได้ ท่านได้เปรียบถึงโทสะ เพราะโทสะนี้เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นง่ายเกิดขึ้นเร็วและรุนแรง แต่ก็หายเร็วหรือที่เรียกว่า โกรธง่ายหายเร็ว โทสะหรือความโกรธ มีความเจ็บปวดและมีความเสียหายเป็นผล ดังนั้นท่านจึงเปรียบธงรูปตะขาปและธงรูปแมงป่องว่า เหมือนกับความโกรธ เพราะมีลักษณะคล้ายกันคือเกิดขึ้นง่าย เร็ว รุนแรง มีความเจ็บปวดและหายเร็วหรือมีทางที่จะรักษาให้หายได
    ธงกฐินอันดับที่สาม มีรูปเป็นนางกินรีถือดอกบัว หมายถึงความหลงหรือโมหะ โดยที่รูปร่างและศัพท์ที่ใช้เรียกก็มีความชัดเจนอยู่แล้ว กินรี แปลว่า คนอะไร หรือสัตว์อะไร ดูไม่ออกบอกไม่ถูกว่าเป็นรูปสัตว์หรือรูปคนกันแน่ เพราะว่าท่อนล่างมีรูปเป็นปลา ท่อนบนมีรูปร่างเป็นคน ศัพท์ว่า กินรีมาจากภาษาบาลีว่า " กึ นรี" แต่ผ่านกระบวนการแปลงศัพท์ของภาษาบาลีเป็น "กินนรี" แปลว่า "คนอะไร" หรือว่า คนผู้สงสัย, ผู้ยังสงสัย หรือ ผู้ที่ค้นพบเห็นก็เกิดความสงสัย คือคนที่ไม่เป็นตัวของตัวเองนั่นเอง ทั้งทางด้านความคิด ทั้งทางด้านการกระทำหรือพฤติกรรม เพราะฉะนั้น กินนรี หรือ กินรี ท่านจึงเปรียบเสมือน โมหะ คือความหลงหรือผู้หลง ความลังเลสงสัยนั่นเอง
    ธงกฐินอันดับสุดท้าย เป็นรูปเต่าคาบดอกบัว มีความหมายถึง ศีล หรืออินทรีย์สังวร (การสำรวมระวังอินทรีย์) โดยปกติสัญชติญาณการหลบภัยของเต่าคือการหดส่วนต่างๆของร่างกายเข้าไว้ในกระดองอันตรายที่จะเกิดจากสัตว์ไม่ว่าจะมีรูปร่างใหญ่โตสักปานใด ก็ไม่สามารถที่จะทำอันตรายอะไรแก่เต่าได้ หรือสังเกตง่ายๆเวลาหมาเห่าเต่าก็จะเก็บอวัยวะส่วนต่างๆไม่ว่าจะเป็นหัว หางและขาไว้ภายในกระดอง หมาไม่สามารถทำอันตรายใดๆแก่เต่าได้ คนผู้ที่สามารถทำบุญกฐินให้ได้บุญจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่มีศีล คือ มีความสำรวมระวังไม่ให้ อกุศลเกิดขึ้น จากการที่อินทรีย์ทั้ง ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบสิ่งที่เป็นสาเหตุแห่งอารมณ์ขัดเคือง หรือความไม่ได้ดั่งใจตนคิด อันทำให้เกิดความท้อถอยโดยการอาศัย ศีล คือความมั่นคงในตัวเอง นั่นเอง
    ทำบุญกฐิน (กฐินเริ่มแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงกลางเดือน 12) มีการจุดพลุตะไลประทัดด้วย ส่วนวัดใดอยู่ริมแม่น้ำก็มีการแข่งเรือกัน เรียกว่า "ซ่วงเฮือ" เพื่อบูชาอุสุพญานาค 15 ตะกูล รำลึกถึงพญาฟ้างุ่มที่นำพระไตรปิฎกขึ้นมาจากเมืองอินทปัตถะ (เขมร) "ในเดือนนี้เฟิ่นว่าให้ลงทอดพายเฮือ ช่วงกันบูชาฝูงนาโคนาคเนาในพื้น" บางแห่งทำบุญทอดผาสาทเผิ้ง (ปราสาทผึ้ง) หลังจากทอดกฐินแล้ว ละบางบ้านทำบุญถวายดอกฝ้ายเพื่อทำผ้าห่มถวายพระ
    บุญกฐิน เป็นบุญถวายผ้าไตรจีวรแด่พระสงฆ์ ซึ่งจำพรรษาแล้ว เริ่มตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึง วันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นเขตทอดกฐินตามหลักพระวินัย
    มูลเหตุมีการทำบุญกฐินซึ่งมีเรื่องเล่าว่า พระภิกษุชาวเมืองปาฐา 30 รูป จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเชตวันมหาวิหาร แต่จวนใกล้กำหนดเข้าพรรษาเสียก่อน จึงหยุดจำพรรษาที่เมืองสาเกต พอออกพรรษาแล้วก็รีบพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทั้ง ๆ ที่ผ้าสบงจีวรเปื้อนเปรอะ เนื่องจากระยะทางไกลและฝน ผ้าสบงจีวรจึงเปียกน้ำและเปื้อนโคลน จะหาผ้าผลัดเปลี่ยนก็ไม่มี พระพุทธเจ้าทรงเห็นความลำบากของพระภิกษุเช่นกัน จึงมีพุทธบัญญัติให้พระภิกษุแสวงหาผ้าและรับผ้ากฐินได้ตามกำหนด
    ในการทอดกฐินนั้น มีกฐิน 3 ประเภท
    ก. จุลกฐิน (กฐินแล่น) คือ กฐินที่มีการเตรียมและการทอดกฐินเสร็จภายใจ 24 ชั่วโมง
    ข. มหากฐิน
    ค. กฐินตกค้าง คำว่า "กฐินตกค้าง" คือวัดซึ่งพระสงฆ์จำพรรษาและปวารณาแล้ว ไม่มีใครจองกฐิน
    พิธีทำบุญทอดกฐิน เจ้าภาพจะมีการจองวัดและกำหนดวันทอดล่วงหน้า เตรียมผ้าไตร จีวร พร้อมอัฐบริขาร ตลอดบริวารอื่น ๆ และเครื่องไทยทาน ก่อนนำกฐินไปทอดมักมีการคบงัน วันรุ่งขึ้นก็เคลื่อนขบวนไปสู่วัดที่ทอด เมื่อนำองค์กฐินไปถึงวัดจะมีการแห่เวียนประทักษิณรอบวัดหรือรอบพระอุโบสถสามรอบ จึงนำผ้ากฐินและเครื่องประกอบอื่น ๆ ไปถวายพระสงฆ์ที่โบสถ์หรือศาลาการเปรียญ เมื่อทำพิธีถวายผ้ากฐินและบริวารแด่พระสงฆ์ พระสงฆ์ทำพิธีรับแล้วเป็นเสร็จพิธีสามัคคี

    ........................

    ฮีตหนึ่งนั้น เดือนสิบสองมาแล้วลมวอยหนาวสั่น เดือนนี้หนาวสะบั้นบ่คือแท้แต่หลัง ในเดือนนี้เพิ่นว่าให้ลงทอดพายเฮือ ซ่วงกันบูชา ฝูงนาโค นาคเนาว์ในพื้น ชื่อว่าอุชุพะนาโค เนาว์ ในพื้นแผ่น สิบห้าสกุลบอกไว้บูชาให้ส่งสะการ จงทำให้ทุกบ้านบูชาท่านนาโค แล้วลงโมทนาดอม ชื่นชมกันเล่น กลางเว็นกลางคืนให้ระงมกันขับเสพ จึงสิสุขอยู่สร้างสบายเนื้ออยู่เย็น ทุกข์ทั้งหลาย หลีกเว้นหนีห่างบ่มีพาน ของสามานย์ทั้งปวงบ่ได้มีมาใกล้ ไผผู้ทำตามนี้เจริญขึ้นยิ่งๆ ทุกสิ่งบ่ไฮ้ ทั้งข้าวหมู่ของ กรรมบ่ได้ถึกต้องลำบากในตัว โลดบ่มีมัวหมองอย่างใดพอดี้ มีแต่สุขีล้นครองคน สนุกยิ่ง อดในหลิงป่องนี้เด้อเจ้าแก่ชรา

    เดือนสิบสอง เป็นเดือนส่งท้ายปีเก่าตามคติเดิม มีการทำบุญกองกฐินซึ่งเริ่มตั้งแต่วัน แรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ดถึงกลางเดือนสิบสอง แต่ชาวอีสานครั้งก่อนนิยมเริ่มทำบุญทอดกฐินกัน ตั้งแต่ข้างขึ้นเดือนสิบสอง จึงมักจะเรียกบุญกฐินว่า บุญเดือนสิบสอง สำหรับประชาชนที่อาศัย อยู่ตามริมฝั่งน้ำใหญ่ เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี จะมีการจัดส่วงเฮือ (แข่งเรือ) เพื่อระลึกถึง อุสุพญานาค ดังคำกลอนข้างต้น
    บางแห่งทำบุญดอกฝ้ายเพื่อใช้ทอเป็นผ้าห่มกันหนาวถวายพระเณร จะมีพลุตะไล จุดด้วย บางแห่งทำบุญโกนจุกลูกสาวซึ่งนิยมทำกันมากในสมัยก่อน
    ประเพณีที่กล่าวมานี้ถือว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ตั้งแต่ เดือนอ้ายจนถึงเดือนสิบสอง ใครที่ไม่ไปช่วยงานบุญก็จะถูกสังคมตั้งข้อรังเกียจ และยังไม่คบค้า สมาคมด้วย การร่วมประชุมทำบุญเป็นประจำเช่นนี้ จึงทำให้ชาวอีสานมีความสนิทสนมรักใคร่กัน ไม่เฉพาะแต่ในหมู่บ้านของตนเท่านั้น แต่ยังสร้างความสามัคคีกันในหมู่บ้านใกล้เคียงอีกด้วย

    ฮีต ๑๒ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ยังไม่ได้กล่าวถึงรายระเอียดปลีกย่อยต่างๆ เกี่ยวกับแต่ละฮีต เพราะว่าแต่ละท้องถิ่นก็มีความเชื่อในฮีตเดียวกันไม่ค่อยจะตรงกัน มีความแตกต่างกันในรายระเอียดปลีกย่อยอยู่พอสมควรแต่เมื่อพูดโดยภาพรวมของฮีต ๑๒ ก็เป็นไปในแนวทางอันเดียวกัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

    เรื่องฮีต ๑๒ นี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประเพณีที่ดีงามของชาวอีสาน ที่ได้ปฏิบัติสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้ฮีตหรือจารีตประเพณีบางอย่างในบางท้องถิ่นอาจจะไม่เหลือให้เห็น แต่ว่าบางท้องถิ่นก็ยังมีการรักษาปฏิบัติสืบต่อกันมาพอได้เห็นอยู่.ฯ

    ....................................

  4. #14
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ Gentleman007
    วันที่สมัคร
    May 2012
    กระทู้
    125
    คองสิบสี่


    คองสิบสี่ คือ ครองธรรม 14 อย่าง เป็นกรอบหรือแนวทางที่ใช้ปฏิบัติระหว่างกัน ของผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง พระสงฆ์ และระหว่างบุคคลทั่วไป เพื่อความสงบสุขร่มเย็นของ บ้านเมือง

    ครองสิบสี่ที่พระเจ้าแผ่นดินจะทำต่อไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน
    ๑. ทรงแต่งตั้งผู้ซื่อสัตย์สุจริต เคารพยำเกรงขยันหมั่นเพียร ให้เป็นอุปฮาชราชมนตรีเป็นต้น
    ๒. หมั่นประชุมอุปฮาช ราชมนตรี ช่วยกันบริหารบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง
    ๓. ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ๑๐ประการ คือ
    ๑. บริจาคสละทรัพย์สร้างวัดวาอาราม ขุดน้ำบ่อก่อศาลาเป็นต้น
    ๒. ศีล ดำรงมั่นในปัญจศีลและอุโบสถศีล เป็นเนืองนิตย์
    ๓. บริจาคสละทรัพย์สร้างวัดวาอาราม ขุดน้ำบ่อก่อศาลาเป็นต้น
    ๔. อาชชวะ มีใจเที่ยงตรงดำรงมั่นในศีลธรรม
    ๕. มัททวะอ่อนโยนไม่แข็งกระด้าง
    ๖. ตะบะชำระความชั่วจากจิตใจ
    ๗. อักโกธะ ไม่ดุร้าย
    ๘. อวิหิงสา ไม่เบียดเบียน
    ๙. ขันติ อดทนต่อเหตุการณ์ต่างๆ
    ๑๐. อวิโรธนะ ไม่ยินดียินร้าย ในสิ่งที่ควรยินดียินร้าย
    ๔. ถึงวันขึ้นปีใหม่นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ และนำน้ำอบน้ำหอมมาสงภิกษุสงฆ์
    ๕. ถึงวันขึ้นปีใหม่ให้เสนาอามาย์นำเครื่องบรรณาการ น้ำอบน้ำหอมมามุธาภิเศกชาติของตน
    ๖. ถึงเดือนหก นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ ถือน้ำพระพิพัฒสัตยาต่อเจ้ามหาชีวิต
    ๗. ถึงเดือนเจ็ด ให้เลี้ยงมเหสักข์หลักเมือง บูชาเทวดาทั้ง ๔คือ ท้าวจาตุโลกบาล อันได้แก่ท้าวธตรัฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปัก ท้าวกุเวร
    ๘. ถึงเดือนแปด นิมนต์พระสงฆ์มาชำฮะบ๋าเบิกหว่านแฮ่ทรายตอกหลักบ้านเมือง
    ๙. ถึงเดือนเก้า ป่าวเดินให้ประชาชนทำบุญข้าวประดับดิน อุทิศส่วนกุศลแก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว
    ๑๐. ถึงเดือนสิบ ป่าวเดินให้ประชาชนทำบุญข้าวสากอุทิศส่วนกุศลแก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว
    ๑๑. ถึงเดือนสิบเอ็ด ให้ประชาชนไปทำบุญออกพรรษา และไปนมัสการและมุธาภิเษกธาตุหลวง
    ๑๒. พอถึงเดือนสิบสอง ให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมารวมที่หน้าพระลานหลวง แห่เจ้าชีวิตไปสรงน้ำในแม่น้ำ
    ๑๓. ให้วัดที่อยู่ใกล้แม่น้ำ มีเฮือสวง วัดละหนึ่งลำขึ้นสิบสามค่ำเป็นวันสวงเฮือ
    ๑๔. ให้มีสมบัติคูณเมือง หรือค่าควรเมือง ครบ ๑๔อย่างคือ
    ๑. หูเมือง มีทูตานุทูตผู้ฉลาดมีปัญญาดี
    ๒. ตาเมือง มีนักปราชญ์สอนอรรถสอนธรรม
    ๓. แก่นเมือง มีพระสงฆ์ผู้แตกฉานในพระธรรมวินัย
    ๔. ประตูเมือง มีอาวุธยุทโธปกรณ์ป้องกันอริราชศัตรู
    ๕. ฮากเมือง มีหูฮาทายเหตุร้ายและดี
    ๖. เหง้าเมือง มีเสนาอามาย์ผู้เที่ยงธรรม
    ๗. ขื่อเมือง มีโยธาทหารผู้แก่กล้า
    ๘. ฝาเมือง มีตากวนตาแสงผู้ซื่อสัตย์
    ๙. ขาง (แป) เมือง มีเจ้านายตั้งอยู่ในศีลธรรม
    ๑๐. เขตเมือง มีผู้ฉลาดพื้นที่ที่ตั้งเมือง
    ๑๑. สติเมือง มีคหบดีเศรษฐีและทวยค้า
    ๑๒. ใจเมือง มีแพทย์ผู้ฉลาดเชี่ยวชาญ
    ๑๓ คาเมือง มีภูมิภาค มีราคาค่างวด
    ๑๔ เมฆเมือง มีเทวดาอาฮักหลักเมือง

    cont....>>>

  5. #15
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ Gentleman007
    วันที่สมัคร
    May 2012
    กระทู้
    125
    ครองสิบสี่ข้อ - กฎหมายสำหรับพระราชาผู้ปกครองบ้านเมืองพึงปฏิบัติ เพื่อไพร่ฟ้า ข้าแผ่นดินมีความสุขร่มเย็น (ถอดออกมาจากคำกลอนโดยไม่เปลี่ยนแปลงสำนวนเดิม)

    ข้อหนึ่ง เป็นท้าวพระยาจัดตั้งแต่ง ซื่อซามนามกร เสนาอามาตย์ ราชมุนตรี พิจารณา สืบหา ผู้ซื่อผู้คด ผู้ฮ้ายผู้ดี ผู้ช่างแถลงแปงลิ้น มักสับส่อถ้อยคำอันหนักอันเบา อันน้อยอันใหญ่ ให้ไว้ในใจ นั้นก่อ สมที่จะฟัง จิ่งฟัง บ่สมที่จะฟังอย่าฟัง สมตั้ง ใจซื่อ ให้เพียงใดจิ่งตั้งใจเพียงนั้น ให้แต่งตั้งผู้ซื่อสัตย์สุจริตให้หมั่นเที่ยง ผู้ฮู้จัก ราชการบ้านเมือง แต่ก่อนมา บ่มข่มเห็งไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ให้หายใจเข้าออก ได้ จิ่งตั้งให้เป็นเสนาอามาตย์

    ข้อสอง เป็นท้าวพระยา ให้เนามุนตรี เป็นสามัคคีพร้อมเพียงกัน ให้หมั่นประชุมกัน อย่าให้ขาด อันใดอันหนึ่งจักให้อาณัติข้าเสิก (ข้าศึก) เกรงขาม และให้เขาอยู่ ในเงื้อมมือเจ้าตน ด้วยยุทธกรรมปัญญา ให้บ้านเมืองก้านกุ่งฮุ่งเฮือง เป็นที่ กว้างขวาง ให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอยู่เย็นเป็นสุข อย่ากดขี่ข่มเห็ง เทอญ

    ข้อสาม เป็นท้าวพระยา เถิงวันขึ้นสังขารปีใหม่ ถ่ายสังวาสมาสเกณฑ์ ให้เชิญพระแก้ว พระบาง พระพุทธฮูป สรงน้ำอบ น้ำหอม ไว้ในสระพัง สักการะ ด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ฟังธรรมจำศีล คบงัน 7 วัน ทุกๆ วัดให้เป็นการซื่นซมยินดีแก่พระศาสนา ตบพระเจดีย์ทราย บูชาเทวดาทั้งหลายทางน้ำทางบก บ้านเมืองจิ่งวุฒิซุ่มเย็น น้ำฟ้าสายฝน เข้าไฮ่เข้านาบริบูรณ์

    ข้อสี่ เป็นทางพระยา วันสังขารขึ้น ให้นิมนต์พระภิกขุ แห่น้ำฝ่ายใต้เมือฝ่ายเหนือ วันสังขารพักให้ฝ่ายเหนือมาวัดฝ่ายใต้ เพื่อบูชาเทวดา หลวงไปยามหัวเมือง ท้ายเมือง ของทุกๆ ฤดูปี บ้านเมืองจิ่งวุฒิจำเริญ ให้ราษฎรอาบน้ำอบน้ำหอม หดสรงพระภิกษุสงฆ์บ้านเมือง จิ่งอยู่เย็นเป็นสุข ให้ราษฎรแต่งหม้ออุบัง เพื่อ กั้งบังโพยภัยอันตรายแก่ราษฎรทั่วไป เทอญ

    ข้อห้า เป็นท้าวพระยา วันสังขารปีใหม่ ให้เสนาอามาตย์ ราชมุนตรี พญาเพีย ท้าวขุน หัวบ้านหัวเมือง ตำหรวดอาสา มหาดเล็กสีพายใต้แจก มีเทียนคู่ขึ้นทูนเกล้า ทูนกระหม่อมถวายราชบาส เพียกะซักมุงคุลถวายพานหมากหมั้นหมากยืน ปุโรหิตถวายพร ให้มีอายุ วัณโณ สุขัง พะลัง แก่องค์พระเจ้ามหาชีวิต แล้วเอา น้ำมหาพุทธาภิเศก อันพระรัสสิไปสถาปนาไว้ ถ้ำนกแอ่นถ้ำนางอั่น อันชื่อว่า น้ำเที่ยงนั้น แห่มาสรงพระพุทธฮูปวัดหลวง ในเมืองทุกวัด ในถ้ำติ่งทวารทวารา ที่ปากน้ำอู ประตูเมืองฝ่ายเหนือ แล้วจิ่งนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ นำบาลีพระพุทธ- ฮูป ในพระราชวังตามธรรมเนียม จิ่งเป็นอันโครพย่ำแยง แด่พระสงฆ์เจ้าถืก ต้อง ตามพระอรรถกถาจารย์ กล่าวไว้หั้นแล

    ข้อหก เป็นท้าวพระยาในวันสังขาร เป็นวันเสี้ยงฤดูเก่า ปีใหม่จักมาเถิง ให้เจ้านาย เสนา ข้าราชการ มุนตรีผู้มีนามยศ และเพียหัวหลิ่งหัวพัน หัวบ้านหัวเมือง สิบเอ็ดฮ้อยน้อยใหญ่ ซึ่งเป็นข้าน้อยขันฑสีมาตำบล เข้ามาถือน้ำพิพัฒน์ สัตยานุศัตย์ต่อพระพักตร์ พระพุทธเจ้า พระสังฆเจ้า ให้เป็นการซื่อสัตย์ ต่อ แผ่นดิน ป้องกันก่อให้ขบถคึดฮ้ายต่อแผ่นดิน

    ข้อเจ็ด ท้าวพระยา คันเถิงฤดูเดือนเจ็ด ให้เลี้ยงเทพยดาอาฮักษ์ มเหศักดิ์ หลักเมือง ตาเมือง เสื้อเมือง ทรงเมือง ตามคองสิบสี่ แล้วให้เชิญเทพดาอาฮัก มเหศักดิ์ ให้เข้ามาซำฮะบ้านเมือง ป้องกันอันตราย ตามบูฮานราชประเพณีสั่งไว้ว่า เมืองชั่วบ่มีธรรมเป็นเครื่องคุ้มครอง ได้เอาไสยศาสตร์คือ ผีเมืองคุ้มครอง จิ่งมีฤทธิ์อันนี้สืบต่อมา เพื่อบ่ให้เกิดอันตรายโพยภัย ด้วยผีสางคางแดง

    ข้อแปด เป็นท้าวพระยา คันเถิงเดือนแปด ให้สูตรซำฮะบ้านเมือง สืบซะตาเมือง บูชา เทวดาอาฮักษ์ทั้งแปดทิศ บูชาพระรัสสีทั้งแปด สองพี่น้องพระยานาค 15 ตระกูล สูตรเถิงสามวันเจ็ดวัน แล้วให้ราษฎรฮอบเมืองยิงปืน หว่านหินแห่และ ทราย เพื่อให้หายพยาธิโรคา โพยภัยอันตราย ให้อยู่เย็นเป็นสุขแก่บ้านเมือง ทุกประการ

    ข้อเก้า เป็นท้าวพระยาคันเถิงเดือนเก้า จำเริญ (ดับ) ให้ป่าวเตินราษฎรบ้านเมืองท่าน ห่อเข้าประดับดิน ไปหาปู่ย่าตายาย ลูกเต้า หลานเหลน อันเถิงแก่อนิจกรรม ไปสู่ ปรโลก ทั่วทุกแห่งแล้ว ให้เจ้านายเสนาข้าราชการ ทั่วบ้านเมืองสิบฮ้อย น้อยใหญ่ ลงมือถือน้ำพระพิพัฒนิสัยานุศัตย์อีกเทื่อหนึ่ง แล้วซ่วงเฮือฉลอง อุสุภนาคราช ปากดงและปากคาน กับพระยานาคสิบห้าตระกูล อันฮักษา บ้านเมือง จิ่งจะอยู่เย็นเป็นสุข เข้าก้าไฮ่นาบริบูรณ์

    ข้อสิบ เป็นท้าวพระยา คันเถิงเดือนสิบเพ็งให้ป่าวราษฎร ให้ทานสลากภัตร หยาดน้ำ อุทิศไปหาเทพดาอาฮักษ์เมือง อันฮักษาพระพุทธศาสนา กับทั้งพ่อแม่เผ่าพงษ์ วงศาแห่งตนเทอญ

    ข้อสิบเอ็ด เป็นท้าวพระยา เถิงฤดูเดือนสิบเอ้ดเพ็ง ให้ฉลองพุทธาภิเศก พระธาตุจอมศรี ทุกๆ ปีอย่าขาด ด้วยเป็นศรีบ้านศรีเมือง แล้วให้ไปไหว้พระภิกษุสังฆะเจ้า มา ขอดสิม (ผูกพัทธสีมา) ในสนามแล้วให้สังฆเจ้าปวารณาในที่นั้น คันแล้วกิจ สงฆ์ ให้สูตรถอนสิมนั้นเสีย บ้านเมืองจิ่งวุฒิจำเริญ เสนาอามาตย์จิ่งจักเป็น สามัคคี พร้อมเพียงกันจัดราชการบ้านเมือง จิ่งบ่ขัดข้องแก่กันและกัน คันเถิง แฮมค่ำหนึ่ง ให้ป่าวเตินราษฎรไหลเฮือไฟ บูชาพระยานาคสิบห้าตระกูล บ้านเมืองจิ่งจักอยู่สุขเกษมเติมครองแล

    ข้อสิบสอง เป็นท้าวพระยา คันเถิงเดือนสิบสองขึ้นหนึ่งค่ำ ให้เตินหัวบ้านหัวเมือง สิบฮ้อย น้อยใหญ่ในขอบขันฑะสีมา เข้ามาโฮมพระนครหลวงพระบาง เป็นต้นว่า ข้าลาว ชาวดงดอย เพื่อแห่พระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิต ไปลงพ่วง (ด่วง) ส่วงเฮือ และนมัสการพระธาตุศรีธรรมาโสกราช คือ เดือนสิบสองขึ้นสามค่ำ ถือน้ำ ขึ้นสี่ค่ำ สิบสามค่ำ ซ่วงเฮือ ฉลองอุสุภนาคราช วัดหลวงให้เพียวัด มีเฮือ วันละลำ อัครมหาเสนาบดีตั้งแต่เมืองแสนเมืองจันทน์ ลงไปเถิงศรีสะคุต เมือง แกนาใต้นาเหนือ ให้ตั้งเป็นผามทุกตำแหน่ง เป็นเทศกาลบุญส่วงเฮือ ฉลอง พระยานาค 15 ตระกูล และพระเสื้อเมือง ทรงเมือง อาฮักษ์เมือง และมีเครื่อง กิยาบูชา เป็นต้นว่า โภชนะอาหาร ดอกไม้ ธูป เทียน สวายไปหาเทพยดา ทั้ง ทางน้ำและทางบก จิ่งจักอวยพร แก่บ้านเมืองอยู่เย็นเป็สุข และเดือนสิบสอง เพ็ง เสนาอามาตย์ และเจ้าราชคณะสงฆ์ ราษฎร พร้อมกันแห่พระบาทสมเด็จ พระเจ้ามหาชีวิต และเจ้าย่ำขม่อมทั้งห้าพระองค์ไปนมัสการพระธาตุศรีธรรมา โศกราช พร้อมทั้งเครื่องบูชา มีต้นเทียนและดอกไม้ บั้งไฟดอก ไฟหาง กะทุน ว่าย กองปิด กองยาวฮูปหุ่นละคอน ลิงโขนและเครื่องเล่นมหรสพต่างๆ ไปเล่น อยู่ที่เดิ่นหน้าพระลาน พระธาตุถ้วนสามวัน สามคืนแล้ว จิ่งเสด็จคืนมาเทอญ เพื่อให้เป็นที่ชื่นชมยินดีซึ่งกันและกัน ข้าลาวชาวดอยทั้งหลาย ก็จักได้เห็นกัน และกัน และจักได้เว้าลมกัน เป็นมิตรสหายแก่กันและกัน จิ่งจักเป็นเกียรติยศ ฤชา ปรากฏแก่หัวบ้านเมืองน้อยใหญ่ อันอยู่ใกล้เคียงนั้นซะแล

    ข้อสิบสาม เป็นท้าวพระยา ให้แต่งแปงทาวทุกอย่าง เป็นต้นว่า ถวายผ้ากะฐินและบวช พระหดเจ้า ตั้งมะไลไขมหาชาติ ฮักษาศีลห้าศีลแปดเป็นนิจกาล ทุกวันอุโบสถ และมีหัวใจอันเต็มไปด้วยพรหมวิหารทั้ง 4 ประการ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่เสนาอามาตย์ ราษฎร ข้าน้อยใหญ่ ในขอบเขต ขัณฑะสีมา อย่ามีใจอันกระด้างกระเดื่อง เคืองไปด้วยพาล เป็นต้นว่า ไปหลิ้น ป่าล่าเนื้อ จุ่งเลี้ยงนักปราชญ์ผู้อาจให้แก้วยังกิจการเอาไว้ และให้มีเสนา อามาตย์ผู้ฉลาดกล้าหาญกับทั้งสมณะชีพราหมณ์ ผู้ดีมีศีลบริสุทธิ์และความฮู้ สั่งสอนทายก อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายเทอญ และให้ประกอบด้วย ทศพิธ- ราชธรรมสิบประการ บ้านเมืองจิ่งจะวุฒิจำเริญ แล

    ข้อสิบสี่ เป็นท้าวพระยาให้มีสมบัติ อันประเสริฐ 14 ประการ คือ หูเมือง ตาเมือง แก่น เมือง ประตูเมือง ฮากเมือง เหง้าเมือง ขื่อเมือง ฝาเมือง แปเมือง เขตเมือง สติเมือง ใจเมือง ค่าเมือง และเมฆเมือง


    cont...>>>

  6. #16
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ Gentleman007
    วันที่สมัคร
    May 2012
    กระทู้
    125
    สำหรับพระสงฆะเจ้า

    ข้อหนึ่ง ให้พระสังฆะเจ้าสูตรเฮียน ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าและฮักษาศีล 227 อย่าให้ ขาด
    ข้อสอง ให้บัวละบัตรกูฏิวิหาร ปัดตากวาดถู อย่าให้วัดเศร้าหมอง
    ข้อสาม ให้ปฏิบัติจัดทำไปตามศรัทธา ชาวบ้านนิมนต์มีการทำบุญให้ทาน บวชหด เป็นต้น
    ข้อสี่ เถิงเดือนแปด ให้เข้าวัสสา ตลอดสามเดือน จนถึงเดือนสิบเอ็ดแฮมค่ำหนึ่ง แต่เดือน สิบเอ็ดแฮมค่ำหนึ่งไปหาเดือนสิบสองเพ็ง ให้ฮับผกฐิน
    ฮักษาคองผ้าเถิงสี่เดือน
    ข้อห้า ออกวัสสาแล้ว ฤดูเหมันตะ (ฤดูหนาว) ภิกขุสังฆะเจ้าเข้าปริวาสกรรม ฯลฯ
    ข้อหก ให้เที่ยวไปบิณฑบาตร ตามบ้านน้อยบ้านใหญ่ อย่าให้ขาด
    ข้อเจ็ด ให้สูตร ภาวนา ทุกคืน วัน อย่าขาด ฯลฯ
    ข้อแปด เถิงวันศีลดับ ศีลเพ็ง ให้ประชุมกันทำอุโบสถ สังฆกรรม อย่าขาด
    ข้อเก้า เถิงเทศกาลปีใหม่ ทายกไหว้ขี่วอ แห่น้ำไปสรงน้ำพระพุทธรูป พระธาตุเจดีย์ ฯลฯ
    ข้อสิบ สังกาช ปีใหม่ พระเจ้ามหาชีวิต ไหว้พระ ให้สรงน้ำในวันพระราชวัง และบาสี พระสังฆะเจ้า
    ข้อสิบเอ็ด ศรัทธาชาวบ้านนิมนต์สิ่งใด อันบ่ผิดคองวินัย ก็ให้ปฏิบัติตาม
    ข้อสิบสอง เป็นสมณะให้พร้อมกันสร้างวัดวาอาราม พระธาตุเจดีย์
    ข้อสิบสาม ให้ฮับทานของทายก คือ สังฆะภัตร สลากภัตร เป็นต้น
    ข้อสิบสี่ พระเจ้ามหาชีวิต เสนาข้าราชการ มีศรัทธานิมนต์ มาประชุมกันในสิมแห่งใด แห่งหนึ่งในวันเดือนสิบเอ็ดเพ็ง เป็นกาละอันใหญ่อย่าได้ขัดขืน

    หมายเหตุ คองสิบสี่ประการสำหรับพระสงฆ์นี้ เป็นหลักใหญ่ของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และได้สะท้อนให้เห็นท่วงทำนองการดำรงชีวิตของพระภิกษุสงฆ์ในบวรพระพุทธ ศาสนา เป็นชีวิตที่เสียสละเพื่อประโยชน์คนส่วนมาก และเป็นคุณให้แก่ทางฝ่าย บ้านเมือง อย่างไม่มีข้อขัดแย้งที่จะเป็นศัตรูกันได้เลย ถ้าสองฝ่ายยึดมั่นในหลัก พระพุทธศาสนาอย่างเข้าร่วมกันจริงๆ


    cont... >>>

  7. #17
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ Gentleman007
    วันที่สมัคร
    May 2012
    กระทู้
    125
    ครองสิบสี่นี้เป็นครองที่ราษฎรจะทำต่อราษฎรด้วยกัน

    ๑. เมื่อได้ข้าวใหม่หรือผลหมากรากไม้ใหม่ ให้บริจาคทานแก่ท่านผู้มีศีล แล้วตนเองจึงบริโภคและให้แจกแก่ญาติพี่น้องด้วย
    ๒. อย่าโลภล่ายตาชิงตาย้อย อย่าจ่ายเงินแดงอย่าแปลงเงินกว้าง และอย่ากล่าวคำหยาบช้ากล้าแข็งต่อกัน
    ๓. ให้เฮ็ดต้ายหรือกำแพงเฮือนของตน แล้วปลุกหอบูชาเทวดาไว้ในสี่แจบ้านหรือแจเฮือน
    ๔. ให้ล้างตีนก่อนขึ้นเฮือน
    ๕. เมื่อเถิงวันศีล ๗-๘ ค่ำ ๑๔-๑๕ ค่ำ ให้สมมาก้อนเส้า สมมาแม่คีไฟ สมมาแม่บันได สมมาปักตูเฮือนที่ตนอยู่อาศัย
    ๖. ให้ล้างตีน(ล้างเท้า)ก่อนจักนอนในเวลากลางคืน
    ๗. เถิงวันศีล เมียให้เอาดอกไม้ ธูปเทียนสมมาผัวและให้เอาดอกไม้ธูปเทียนไปถวายสังฆเจ้า
    ๘. เถิงวันศีลดับ ศีลเพ็งให้นิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์เฮือน แล้วทำบุญใส่บาตร
    ๙. เมื่อภิกษุมาบิณฑบาต อย่าเอาผ้าปกหัว อย่าอุ้มลูกจูงหลาน อย่าถืออาวุธต่างๆ
    ๑๐. เมือภิกษุเข้าปริวาสกรรมให้มีขันข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียนและเครื่องอัฏฐะบริขารไปถวายทาน
    ๑๑. เมื่อเห็นพระภิกษุสงฆ์ผ่านมา ให้นั่งลงยกมือไหว้แล้วค่อยเจรจา
    ๑๒. อย่าเหยียบเงาเจ้าภิกษุ ตนมีศีลบริสุทธิ์
    ๑๓. อย่าเอาอาหารเงื่อนทานให้แก่สังฆเจ้า และอย่าเอาอาหารเงื่อนให้ผัวตนกิน
    ๑๔. อย่าเสพกามคุณในวันศีล วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันมหาสงกรานต์และวันเกิดของตน

    (หนังสือมูลมังอีสาน สีน้ำ จันทร์เพ็ญและคณะ คัดลอกจากคู่มือบำเพ็ญกุศล คำบุญ พิลาวงค์ วัดองด์ตื้อ นครเวียงจันทร์)

    cont....>>>

  8. #18
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ Gentleman007
    วันที่สมัคร
    May 2012
    กระทู้
    125
    สำหรับบุคคลทั่วไป (ถอดออกมาจากคำกลอนโดยไม่เปลี่ยนแปลงสำนวนเดิม)


    ข้อหนึ่ง เมื่อเข้ากล้าหมากเป็นฮวง เป็นหมากแล้ว อย่าฟ้าวกินก่อน ให้เอาทำบุญให้ทาน แก่ผู้มีศีลกินก่อน แล้วจงกินภายลุน
    ข้อสอง อย่าโลภตาส่าย อย่าจ่ายเงินแดง แปงเงินคว้าง และอย่ากล่าวคำหยาบซ้ากล้าแข็ง ต่อกัน
    ข้อสาม ให้พร้อมกันเฮ็ดฮั้วต้าย และกำแพงอ้อมวัดวา อาฮาม และบ้านเฮือน
    ข้อสี่ เมื่อเจ้าขึ้นเฮือนนั้น ให้สว่ายกล้างตีน เสียก่อนจิ่งขึ้น
    ข้อห้า เมื่อเถิงวันศีล 7-8-14-15 ค่ำ ให้สมมา (ขอขมา) ก้อนเส้า แม่คีไฟหัวคันได และ ประตูที่ตนอาศัยซู่ค่ำคืน
    ข้อหก เมื่อจักนอนให้เอาน้ำส่วนล้างตีนก่อน จิ่งนอน
    ข้อเจ็ด เถิงวันศีล ให้เอาดอกไม้ธูปเทียน สมมาผัวแห่งตน และเถิงวันอุโบสถให้แต่งดอกไม้ ธูปเทียนไปเคนพระสังฆเจ้า
    ข้อแปด เถิงวันศีลดับ ศีลเพ็งมานั้น ให้นิมนต์พระสังฆเจ้ามาสูตรมุงคุลเฮือน และทำบุญ ใส่บาตรถวายทาน
    ข้อเก้า เมื่อพระภิกขุมาบิณฑบาตรนั้น อย่าให้เพิ่นคอยถ้า และเวลาใส่บาตรก็อย่าซุนบาตร และยามใส่บาตรนั้นอย่าใส่เกิบ (รองเท้า) กั้งฮ่มผ้าปกหัว อุ้มหลาน หรือถือเครื่อง ศาสตราอาวุธ
    ข้อสิบ เมื่อพระภิกขุเข้าปริวาสกรรม ซำฮะเบื้องต้นแล้ว ให้แต่งขันดอกไม้ธูปเทียนและ เครื่องอรรถบริขารไปถวายท่าน
    ข้อสิบเอ็ด เมื่อเห็นพระภิกขุสังฆะเจ้ากายมา ให้นั่งลงยอมือไหว้ก่อน และจั่งค่อยเจรจา
    ข้อสิบสอง อย่าเหยียบย่ำเงาเจ้าพระภิกขุตนมีศีลบริสุทธิ์
    ข้อสิบสาม อย่าเอาอาหารเงื่อนกินตนแล้วไปทานให้แก่พระสังฆะเจ้า และเอาไว้ให้ผัวกินจะ กายเป็นบาปได้ อันใดในชาติหน้าก็มีแต่แนวบ่ดี
    ข้อสิบสี่ อย่าเสพเมถุน กามคุณ ในวันศีล วันเข้าวัสสา ออกพรรษา วันมหาสงกรานต์ ถ้าดื้อ เฮ็ดได้ลูกได้หลานมา จะบอกยากสอนยาก


    ...........................................................

  9. #19
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ lungyai1123
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    กระทู้
    3,644
    บล็อก
    63
    อ่านมาแต่ละฮีตลุงใช้เวลาไปเกือบ 45 นาทีแหมโอ้ยบ่เคยอ่านรายละเอียดแบบเช่นนี้มาก่อน
    ขอบคุณครับ

  10. #20
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ Gentleman007
    วันที่สมัคร
    May 2012
    กระทู้
    125
    ..นึกถึงเมื่อครั้งที่ยังเป็นเด็ก (..แสดงว่าตอนนี้แก่แร่ะ 555)
    พอถึงงานบุญเผวส (..น่าจะจำไม่ผิด) จะรู้สึกตื่นเต้นและมีความสุขมาก
    เพราะที่วัดเค้าจะมีเครื่องไฟแล้วประกาศเชิญชวนให้ทำบุญผ่านเครื่องขยายเสียงกัน
    อีตอนทำบุญก็มีกระดาษแผ่นเล็กๆให้เขียนชื่อไปด้วย
    จากนั้นพระท่านก็จะ"แหล่"(..น่าจะเรียกไม่ผิด)ให้ศีลให้พรออกทางเครื่องขยายเสียง
    ..พอได้ยินพระท่านให้พรถึงชื่อตัวเอง ก็ยิ้มซ่ะแก้มปริ .....มีความสุขที่สุดครับ

หน้าที่ 2 จากทั้งหมด 3 หน้า หน้าแรกหน้าแรก 123 หน้าสุดท้ายหน้าสุดท้าย

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •