(๔) มหัศจรรย์ “ต้นตำนานสงกรานต์ไทย”
(๔) มหัศจรรย์ “ต้นตำนานสงกรานต์ไทย”
ศิลาจารึกความเป็นมาของประเพณีสงกรานต์
คติความเชื่อตำนานสงกรานต์
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ให้จารึกลงในแผ่นศิลาติดไว้ที่วัดโพธิ์
เป็นเรื่องเล่าถึงความเป็นมาของประเพณีดังกล่าว
โดยสมมุติผ่านเรื่องราวธรรมบาลกุมาร
และนางสงกรานต์ทั้งเจ็ดเทียบกับแต่ละวันในสัปดาห์
ความโดยย่อกล่าวไว้ว่า เศรษฐีคนหนึ่ง ไม่มีบุตร
บ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุรา ซึ่งมีบุตร ๒ คน มีผิวเนื้อเหมือนทอง
วันหนึ่งนักเลงสุรานั้นเข้าไปกล่าวคำหยาบคายต่อเศรษฐี
เศรษฐีจึงถามว่าเหตุใดจึงมาหมิ่นประมาทต่อเราผู้มีสมบัติมาก
นักเลงสุราจึงตอบว่า ถึงท่านมีสมบัติก็ไม่มีบุตร
ตายแล้วสมบัติก็จะสูญเปล่า เรามีบุตรเห็นว่าประเสริฐกว่า
ท่านเศรษฐีมีความละอายใจจึงบวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์
ตั้งอธิษฐานขอบุตรถึงสามปีก็มิได้มีบุตร อยู่มาถึงวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์
พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีจึงพาบริวารไปยังต้นไทร
อันเป็นที่อยู่แห่งฝูงนกทั้งปวงริมฝั่งน้ำ จึงเอาข้าวสารล้างน้ำ ๗ ครั้ง
แล้วหุงขึ้นบูชาพระไทรประโคมพิณพาทย์ตั้งอธิษฐานขอบุตร
พระไทรมีความกรุณาจึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์
พระอินทร์จึงให้ธรรมบาลเทวบุตรลงมาปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี
เมื่อคลอดแล้วจึงให้ชื่อว่า ธรรมบาลกุมาร
ปลูกปราสาทเจ็ดชั้นให้อยู่ใต้ต้นไทรริมฝั่งน้ำนั้น
กุมารเจริญขึ้น ก็รู้ภาษานกแล้วเรียนไตรเพทจบ
เมื่ออายุได้เจ็ดขวบได้เป็นอาจารย์บอกมงคลการต่างๆ แก่มนุษย์ทั้งปวง
ในขณะนั้นโลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหม และกบิลพรหมองค์หนึ่ง
ว่าเป็นผู้แสดงมงคลแก่มนุษย์ทั้งปวง เมื่อกบิลพรหมทราบ
จึงลงมาถามปัญหาธรรมบาลกุมาร ๓ ข้อ
สัญญาไว้ว่าถ้าแก้ปัญหาได้จะตัดศีรษะบูชา
ถ้าแก้ไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ปัญหานั้นว่า
ข้อ ๑ เช้าราศีอยู่แห่งใด
ข้อ ๒ เที่ยวราศีอยู่แห่งใด
ข้อ ๓ ค่ำราศีอยู่แห่งใด
ธรรมบาลกุมารขอผลัด ๗ วันเพื่อตอบปัญหา
ครั้นล่วงไปได้หกวันธรรมบาลกุมารก็ยังคิดไม่ได้
จึงนึกว่าพรุ่งนี้จะตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหม
ไม่ต้องการจำจะหนีไปซุกซ่อนตายเสียดีกว่า
จึงลงจากปราสาทไปนอนอยู่ใต้ต้นตาล ๒ ต้น
มีนกอินทรี ๒ ตัวผัวเมียทำรังอยู่บนต้นตาลนั้น
ครั้นเวลาค่ำนางนกอินทรีจึงถามสามีว่าพรุ่งนี้จะได้อาหารแห่งใด
สามีบอกว่าจะกิน..พธรรมบาลกุมาร
ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสียเพราะทายปัญหาไม่ออก
นางนกถามว่าปัญหานั้นอย่างไร สามีจึงบอกเล่าปัญหาให้เมียฟัง
นางนกถามว่าจะแก้อย่างไร สามีบอกว่าเช้าราศีอยู่ที่หน้า
มนุษย์จึงเอาน้ำล้างหน้า เวลาเที่ยงราศีอยู่ที่อก
มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อกเวลา
ค่ำราศีอยู่ที่เท้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า
ธรรมบาลกุมารได้ยินดังนั้นก็กลับไปปราสาท
วันรุ่งขึ้นท้าวกบิลพรหมถามปัญหา ธรรมบาลกุมารก็แก้ตามที่ได้ยินมา
ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกเทพธิดาทั้ง ๗
อันเป็นบริจาริกาพระอินทร์มาพร้อมกันแล้วบอกว่า
เราจะตัดศีรษะบูชาธรรมบาลกุมาร ศีรษะของเราถ้าตั้งไว้บนแผ่นดิน
ไฟจะไหม้ทั่วโลก ถ้าทิ้งขึ้นบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง
ถ้าทิ้งในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้ง ๗ นั้นเอาพานมารับศีรษะ
แล้วก็ตัดศีรษะส่งให้ธิดาองค์ใหญ่ นางจึงเอาพานมารับพระเศียรบิดาไว้
แล้วแห่ทำประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ ๖๐ นาที
แล้วก็เชิญประดิษฐานไว้ในมณฑปถ้ำคันธุรีเขาไกรลาศ
บูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่างๆ พระเวสสุกรรมก็นฤมิตรแล้วด้วยแก้วเจ็ดประการ
ชื่อภควดี ให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงก็นำเอาเถาฉมู
ลาดลงมาล้างในสระอโนดาตเจ็ดครั้งแล้ว แจกกันสังเวยทุกๆ องค์
ครั้นถึงครบกำหนด ๓๖๕ วันโลกสมมุติว่าปีหนึ่งเป็นสงกรานต์
นางเทพธิดาเจ็ดองค์จึงผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหม
ออกแห่ประทักษิณเขาพระสุเมรุทุกปี
ธิดาทั้ง ๗ ของท้าวกบิลพรหม
ซึ่งเราสมมุติเรียกว่านางสงกรานต์นั้น มีชื่อต่างๆ ดังนี้คือ
- ถ้าปีใดวันสงกรานต์ ตรงกับวันอาทิตย์ นางสงกรานต์มีชื่อว่า ทุงษ
- ถ้าปีใดวันสงกรานต์ ตรงกับวันจันทร์ นางสงกรานต์มีชื่อว่า โคราด
- ถ้าปีใดวันสงกรานต์ ตรงกับวันอังคาร นางสงกรานต์มีชื่อว่า รากษส
- ถ้าปีใดวันสงกรานต์ ตรงกับวันพุธ นางสงกรานต์มีชื่อว่า มัณฑา
- ถ้าปีใดวันสงกรานต์ ตรงกับวันพฤหัสบดี นางสงกรานต์มีชื่อว่า กิริณี
- ถ้าปีใดวันสงกรานต์ ตรงกับวันศุกร์ นางสงกรานต์มีชื่อว่า กิมิทา
- ถ้าปีใดวันสงกรานต์ ตรงกับวันเสาร์ นางสงกรานต์มีชื่อว่า มโหทร
ที่มา : dhammajak/บ้านมหา.คอม
Bookmarks