เตรียมตัวตายให้ไปสู่สุคติ
โดย ธ. ธรรมรักษ์
เวลาที่น่าโศกสลดเวลาหนึ่งของญาติผู้เจ็บป่วยก็คือ “ระยะทำใจ” อันหมายความว่า ผู้ป่วยคนนั้น ไม่รอดแล้วต้องนอนรอความตายและตายไปอย่างช้าๆ ซึ่งภาวการณ์โศกสลดและความกลัวอาจเกิดขึ้นทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายที่ต้องดูแล และฝ่ายตัวผู้ป่วยเอง หากใครทำใจได้ก่อนก็นับว่ามีประโยชน์และเป็นสุขกว่าเท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ป่วยเริ่มที่จะใกล้ชิดกับความตาย ญาติหรือผู้ดูแลก็ควรเตรียมตัวเตรียมใจ และเตรียมการให้ดีเพื่อวาระสุดท้ายของผู้ป่วยได้แก่
1. จัดสภาพแวดล้อม สภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญต่อจิตใจ ควรจัดให้ผู้ป่วยได้อยู่ในบรรยากาศที่ดี ซึ่งบรรยากาศที่ดีนั้นนอกจากได้อยู่ท่ามกลางคนที่รักแล้ว ควรจัดให้ใกล้ชิดธรรมะที่สุด เช่น ท่ามกลางเสียงสวดมนต์
2. จัดสภาพสังคม คือให้ผู้ป่วยได้อยู่ท่ามกลางผู้ที่มีสติ คนที่มีความรู้ในทางธรรม จิตใจก็จะสงบไม่มีความตระหนกตกใจกับความตายที่กำลังมารออยู่ตรงหน้า
3. จัดสรรเวลา คือให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสเรียนรู้สัจธรรมของชีวิตว่า ความตายเป็นของธรรมดาเพื่อที่จะทำให้เขาได้ทำใจยอมรับความตายได้เสียตั้งแต่ต้นเมื่อยอมรับได้แล้วก็จะได้จากไปอย่างสงบไม่ทุกข์ร้อนหรือมีห่วงใดๆ อีก
4. จัดหาโอกาส คือให้ผู้ป่วยได้ฝึกเจริญสติ ได้ตามดู ตามรู้ลมหายใจตามดูเวทนาของอาการเจ็บไข้ได้ป่วยที่กำลังเจ็บอยู่นั้น จนกระทั่งเกิดความรู้ความเข้าใจว่า ความป่วยไข้เป็นธรรมดาของสังขารซึ่งจะต้องเกิดแบบเลี่ยงไม่ได้ ยอมรับความเป็นจริงให้ได้ โดยหาโอกาสให้ผู้ป่วยปฏิบัติธรรมตามรู้ลมหายใจให้มากที่สุด
ถ้าเรามองความตายด้วยสายตาแห่งปัญญา หรือสายตาของปราชญ์ก็จะพบว่า ความตายนั้นกำลังสอนให้เราอยู่และทำวันนี้ให้ดีที่สุด คนที่เจ็บป่วยหนักและกำลังจะตายก็เป็นคำสอนให้ หนึ่งคนตายแต่ร้อยคนตื่น ตื่นจากความหลง ความเศร้าโศก สิ่งที่จะคงอยู่คือคุณงามความดีที่สร้างไว้ และเป็นการบ่งบอกว่าทำอะไรย่อมเป็นไปตามนั้น ทุกอย่างเป็นไปตามกฎแห่งกรรม
Bookmarks