กล้วยดอกบัวทอง ดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์แห่งยูนนาน
กล้วยดอกบัวทอง ดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์แห่งยูนนาน
พูดถึงเรื่องกล้วย ก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องกล้วยๆ สำหรับบ้านเรา เพราะพบได้ทุกหนทุกแห่ง เป็นพืชที่ปลูกง่ายขึ้นง่าย แตกหน่อแตกกออย่างรวดเร็ว และนำมาใช้ประโยชน์ได้สารพัดอย่างดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว
แต่สำหรับกล้วยที่นำมาให้ชมกันในครั้งนี้ เป็นกล้วยที่แปลกและหายากมาก เรียกได้ว่าเป็นพันธุ์ที่หายากที่สุดในโลก เพราะแหล่งกำเนิดของมันอยู่บนภูเขาที่มีอากาศหนาวเย็น และกล้วยที่ว่านี้ก็รู้จักกันในฐานะของ ‘ดอกไม้’ ที่เป็นไม้ประดับ ไม่ใช่ ‘ผลไม้’ ที่เรานำผลมารับประทานกัน
กล้วยชนิดนี้มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Golden Lotus” แปลว่า ดอกบัวทอง หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “Dwarf Banana” แปลว่า กล้วยแคระ แต่เท่าที่ค้นดูยังไม่พบชื่อที่ได้บัญญัติไว้ในเมืองไทย ดังนั้นจึงขอเรียกกล้วยชนิดนี้ว่า “กล้วยดอกบัวทอง”
กล้วยดอกบัวทองเป็นหนึ่งในวงศ์กล้วย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Musella lasiocarpa” เหตุที่ได้ชื่อว่า “กล้วยแคระจีน” นั้น ก็เนื่องมาจากถิ่นกำเนิดและลักษณะของมันนั่นเอง “กล้วยแคระจีน” หรือ “กล้วยดอกบัวทอง” มีถิ่นกำเนิดทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน พบขึ้นอยู่บนยอดเขาในระดับความสูง 2,500 เมตร ซึ่งมีอากาศหนาวเย็น ขนาดใหญ่ที่สุดของกล้วยชนิดนี้คือมีความสูงประมาณ 1.5 เมตร ครึ่งหนึ่งของลำต้นมีลักษณะอ้วนสั้น ส่วนยอดคล้ายรูปกรวย ใบกว้าง มีสีเขียวอมเทามีนวลเล็กน้อย รูปใบหอก ขอบขนาน เช่นเดียวกับใบกล้วยทั่วไป
เมื่อช่อดอกเติบโตได้ขนาด ดอกขนาดเล็กก็เริ่มปรากฏ และเติบโตขึ้นจนกลายเป็นดอกขนาดใหญ่มีสีเหลือง หรือเหลืองอมส้ม รูปร่างคล้ายดอกบัว ตั้งตรงมีความสูงประมาณ 6 ฟุต ซึ่งสามารถตั้งอยู่ได้หลายเดือน โดยแต่ละชั้นของกลีบดอกค่อยๆ เหี่ยวแห้งไป และโดยทั่วไปจะออกดอกหลังจากปลูกไปแล้วราว 2 ปี
กล้วยดอกบัวทองมีรากที่แข็งแรงมาก และเหง้าของมันสามารถดูดน้ำเก็บไว้ได้มาก เพื่อหล่อเลี้ยงลำต้น การขยายพันธุ์สามารถทำได้ทั้งการเพาะเมล็ดหรือใช้หน่อปักชำ แต่การเพาะเมล็ดค่อนข้างยาก เนื่องจากต้องเพาะชำเมล็ดไว้ในอุณหภูมิที่เย็นจัดราว 5 องศาเซลเซียส ประมาณ 1 เดือนจึงจะช่วยให้การปลูกเป็นไปได้เร็วขึ้น และจะงอกงามดีในช่วงฤดูฝน กล้วยพันธุ์นี้ไม่ได้เติบโตในวงกว้างนอกไปจากถิ่นกำเนิดของมัน
ชาวจีนในมณฑลยูนนานซึ่งนับถือพระพุทธศาสนา ได้ถือว่ากล้วยดอกบัวทองเป็นหนึ่งในดอกไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์ อาจเป็นเพราะความน่าพิศวงที่ดูเหมือนดอกบัวและมีสีเหลืองทองนั่นเอง
เครดิต : บอร์ดต้นไม้ในพุทธประวัติ/บ้านมหา.คอม
Bookmarks