ตาล ที่มาของตาลปัตร


ตาล ที่มาของตาลปัตร ต้นไม้ในพุทธประวัติ


ตาล ที่มาของตาลปัตร

ตาล เป็นไม้ยืนต้นในตระกูลปาล์ม มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Borassus flabellifer Linn.” อยู่ในวงศ์ Palamae มีชื่อพื้นเมืองที่เรียกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นของไทย เช่น ตาลโตนด, ตาลใหญ่, ตาลนา เป็นต้น มีความสูงราว 15-40 เมตร โคนต้นอวบใหญ่ ลำต้นสีน้ำตาลเข้ม ขณะที่ต้นยังเตี้ยอยู่จะมีทางใบแห้งติดแน่น และมีกาบขอบใบติดอยู่ประมาณ 5 เมตร ไม่แตกกิ่งก้านสาขา

ใบเป็นใบเดี่ยวอยู่ตรงยอดลำต้นมีรูปร่างคล้ายพัด มีก้านเป็นทางยาวราว 1-2 เมตร ขอบก้านใบหยักเป็นฟันเลื่อย ดอกเพศผู้และเพศเมียแยกกันอยู่คนละต้น ตาลตัวผู้ออก ดอกเป็นงวงคล้ายมะพร้าว ไม่มีผล ส่วนตาลตัวเมียออกดอกเป็นช่อเดี่ยวๆ ดอกสีขาว อมเหลือง และมีผลใหญ่กลมโตสีเขียวอมน้ำตาล ภายในมีเมล็ดราว 2-4 เมล็ด เมื่อยังอ่อนเรียกว่า ลอนตาล ถ้าจาวที่เกิดจากเมล็ดแก่ที่งอกแล้วเรียกว่า จาวตาล



ตาล ที่มาของตาลปัตร ต้นไม้ในพุทธประวัติ

ประโยชน์ของต้นตาลนั้นมีมากมาย อาทิเช่น ลำต้น ใช้ในการก่อสร้าง ทำเครื่องเรือนเครื่องใช้ต่างๆ และใช้ทำเรือขุด ที่เรียกว่าเรืออีโปง, ใบอ่อน ใช้ในการจักสาน เช่น ทำหมวก ทำของเล่นเด็ก, ส่วนใบแก่ ใช้มุงหลังคา ทำพัด, ราก ใช้ต้มกินแก้โรคตานขโมย, ผล ใช้เปลือกหุ้มผลอ่อน ปรุงเป็นอาหาร และคั้นนำจากผลแก่ใช้ปรุงแต่งกลิ่นขนม, ใยตาล ใช้ทำเครื่องจักสาน และทำเป็นเชือก, งวงตาล ให้น้ำหวานที่เรียกว่าน้ำตาลสด นำมากินสดๆ หรือใช้ทำน้ำตาล, ส่วนเมล็ด ที่มักเรียกกันว่าลูกตาล นำมารับประทานสดหรือกินกับน้ำเชื่อม และจาวตาล นำมาเชื่อมรับประทานเป็นของหวาน

ในพุทธประวัติได้กล่าวไว้ว่า หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ในพรรษาที่สองได้เสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ผู้ครองเมืองราชคฤห์ แต่เนื่องจากในเวลานั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงนับถือ ชฎิลสามพี่น้อง คือ อุรุเวลกัสสป นทีกัสสป และคยากัสสป ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงไปโปรดชฎิลสามพี่น้องก่อน เมื่อทรงแสดงธรรมจนกระทั่งชฎิลสามพี่น้องละความเชื่อดังเดิมของตน ยอมเป็นสาวกของพระองค์แล้ว พระองค์ก็ทรงพาชฏิลทั้งสามพร้อมสาวกอีกพันรูป เสด็จไปประทับยัง ลัฏฐิวัน (สวนตาลหนุ่ม) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองราชคฤห์

เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้สดับข่าว จึงเสด็จพร้อมประชาชนจำนวนมากไปยังสวนตาลหนุ่ม และเมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์แล้ว ก็เกิดธรรมจักษุ และประกาศพระองค์เป็นอุบาสก



ตาล ที่มาของตาลปัตร ต้นไม้ในพุทธประวัติ

นอกจากนี้ ตาลปัตร ที่พระสงฆ์ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ นั้น สมัยโบราณทำมาจากใบตาล ซึ่งมาจากภาษาบาลีว่า ‘ตาลปตฺต’ ซึ่งแปลว่าใบตาลนั่นเอง ซึ่งปัจจุบันพระสงฆ์บ้านเราไม่นิยมใช้ตาลปัตรที่ทำจากใบตาลแล้ว แต่พระสงฆ์ในประเทศอื่นที่นับถือพระพุทธศาสนา เช่น พม่า, ศรีลังกา, กัมพูชา และลาว ยังนิยมใช้ตาลปัตรที่ทำจากใบตาลอยู่ และถือเป็นพัดสารพัดประโยชน์ใช้พัดวีโบกไล่แมลง รวมทั้งใช้บังแดดด้วย

และด้วยลักษณะของต้นตาลซึ่งเมื่อตัดยอดไปแล้วกลายเป็น “ตาลยอดด้วน” ไม่สามารถเจริญเติบโตได้อีกต่อไป ดังคำที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในพระสูตรต่างๆ ในพระไตรปิฎก ซึ่งขอยกมาบางตอนดังนี้



ตาล ที่มาของตาลปัตร ต้นไม้ในพุทธประวัติ

“...สมบัติ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านั้น ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา... ”

“...ดูกรชีวก บุคคลพึงมีความพยาบาท เพราะราคะ โทสะ โมหะใด ราคะ โทสะ โมหะนั้น ตถาคตละแล้ว มีมูลอันขาดแล้ว เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา...”

“...ดูกรราธะ เธอจงสละความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากในรูปเสีย ด้วยอาการอย่างนี้ รูปนั้นจักเป็นของอันเธอละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เธอจงละความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ในเวทนา...ในสัญญา...ในสังขาร...ในวิญญาณเสีย ด้วยอาการอย่างนี้ เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณนั้นจักเป็นของอันเธอละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา...”



ตาล ที่มาของตาลปัตร ต้นไม้ในพุทธประวัติ



เครดิต : เวปธรรมจักร.เน็ต/บ้านมหา.คอม